xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความเสื่อมของ"ฉื่อ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กัลยาณมิตรของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประธานสอบอีเมลสินบนสื่อฉาว ร่วม 200 คน รวมพลังแสดงน้ำใจต่อนพ.วิชัย

กัลยาณมิตรเหล่านั้น เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา

ทั้งนี้ คนเหล่านี้ได้ร่วมงาน FOV - Friends of Vichai Chokevivat ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้กำลังใจภายหลังถูก นสพ.มติชนโจมตี หลังจากเปิดเผยผลสอบอีเมลฉาวเกี่ยวกับสินบนสื่อ และถูกกลุ่มแพทย์บางกลุ่ม ยื่นเรื่องต่อนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ให้ปลดออกจากตำแหน่งบอร์ด สปสช.

ทั้งนี้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างชื่นมื่น กัลยาณมิตรเหล่านั้นได้มอบดอกไม้และกล่าวอวยพรให้กำลังใจอย่างเนืองแน่น

“นพ.วิชัย เป็นเพชรแท้ไม่มีวันเสื่อมคลาย  พร้อมกับยกคำกล่าวของ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตสธ. ที่ระบุว่า นพ.วิชัย เป็นนักสู้จึงไม่แปลกที่จะมีแผลเต็มตัว” นพ.มงคล กล่าวยกย่องไว้ตอนหนึ่ง

นพ.วิชัย เปิดใจกับกัลยาณมิตรว่า สภาการหนังสือพิมพ์ได้เชิญมาเป็นกรรมการสอบ โดยใช้เวลาร่วม 30 วัน ผ่านกระบวนการอย่างมีขั้นตอนที่เปิดเผย แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีการแถลงข่าวออกไป สภาการหนังสือพิมพ์ กลับไม่รับ และบอกว่าเป็นผลสอบของนพ.วิชัยเอง จึงรู้สึกเสียใจ แต่จะไม่ท้อเด็ดขาด

ผลสอบการให้สินบนสื่อมวลนในการนำเสนอข่าวพรรคเพื่อไทย มีบทสรุปที่สำคัญคือ

"การนำเสนอของข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงบางฉบับ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ข่าวสด และรองลงมาคือมติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ มีการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่จะนำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมือง และบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย" นพ.วิชัย-ประธานคณะอนุกรรมการตรวจกรณีดังกล่าวอธิบายนักข่าว ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น นพ.วิชัย ก็ถูกโจมตีอย่างเป็นระบบจากเครือมติชน

ผลสรุปคราวนั้นพบว่า พรรคเพื่อไทยบริหารสื่อทั้งด้านบุคคล และองค์กรอย่างเป็นระบบ รวมทั้งในการแถลงข่าวครั้งนั้นได้มี นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ นพ.วิชัย-ประธานคณะอนุกรรมการเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าวเกิดจากมีอีเมลอื้อฉาว 2 ฉบับ ที่ใช้หัวข้อว่า “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” ส่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 54 และ “ข้อเสนอของวิม” ส่งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.54 เผยแพร่ โดยเนื้อหาข่าวพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ข่าวอื้อฉาวดังกล่าว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจริยธรรมของสื่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงมีมติให้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง

อันที่จริงพรรคในเครือชินวัตร บริหารสื่ออย่างเป็นระบบมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยก่อตั้งแล้ว

จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทย จะดำเนินการเช่นเดียวกัน

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ผลการสอบสวนมีระบุแน่ชัดว่าหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน นำเสนอข่าวและภาพด้วยความเอนเอียง !!

สร้างความเสื่อมถอยต่อวงการสื่อมวลชนอย่างรุนแรง

จนทำให้เครือมติชน-ข่าวสด ต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้ พร้อมกับนำเสนอข่าวโจมตี “นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อบั่นทอนความเชื่อถืออย่างเป็นระบบเหมือนที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการออกแถลงการณ์ตอบโต้ผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการ

“เครือมติชน-ข่าวสด ย่อมไม่สามารถรับผลการสอบสวนที่ออกมา และเห็นว่าแถลงการณ์ฉบับล่าสุดนี้ ยิ่งตอกย้ำและเปิดเผยจุดยืน และเจตนารมณ์อันไม่บริสุทธิ์ของกระบวนการและขบวนการดังกล่าวได้” เนื้อหาตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุ

หลังจากนั้นเครือมติชนก็ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกสภาการนสพ. โดยอ้างว่า ถูกอิทธิพลการเมืองแทรกแซงสภาการหนังสือพิมพ์

             โดยนายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ให้แก่ ประธานคณะกรรมการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นหนังสือแจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และชี้แจงข้อเท็จจริง อ้างถึง หนังสือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ สนช.129/13/2554 วันที่ 19 สิงหาคม 2554 ตามลำดับ

“หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ ขอลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2554” หนังสือฉบับแรก ระบุ

“ ตลอดเวลากว่า 30 ปี เครือมติชนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคงในวิชาชีพ เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชน ด้วยความเป็นมืออาชีพและวัตรปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียด้านจรรยาบรรณ จนกระทั่งประสบกับข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้สาระเช่นนี้” หนังสือแจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกระบุ
 

แต่หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมลของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแถลงการณ์ของเครือมติชน-ข่าวสด ถึง 8 ข้ออย่างละเอียดยิบ

ยกตัวอย่างเช่น   

 “คณะอนุกรรมการฯ ไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง จึงเป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่? ”

รายงานของคณะอนุกรรมการฯ ระบุอย่างชัดเจนว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พยายามติดต่อเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงผ่านองค์กรหนังสือ พิมพ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เว้นแต่ในกรณีของเครือมติชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือเชิญไปถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาให้ข้อเท็จจริง แม้แถลงการณ์ของเครือมติชน จะอ้างว่า บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ได้ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการชี้แจงเป็นเอกสารก็ตาม หากพิจารณาเอกสารดังกล่าว จะพบว่า ไม่มีสาระใดที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบเลย นอกจากการยืนยันในทำนองที่ว่า มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในแล้ว แต่ไม่พบพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด

จดหมายตอบกลับของเครือมติชน ยังแสดงถึงท่าทีของการไม่ต้อนรับการตรวจสอบจากภายนอก ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “เป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง”

ทั้งที่การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วนนั้น ก็เนื่องมาจากเห็นว่า พฤติกรรมตามข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง และมีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับตรวจสอบกันเอง เป็นการภายใน

“คณะอนุกรรมการฯ นำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรอง มาเปิดเผยก่อนหรือไม่?”

แถลงการณ์ของเครือมติชน และการลงข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ซึ่งพาดหัวข่าวใหญ่ว่า “สภานสพ. ไม่รับรองผลสอบที่หมอวิชัยแถลง” มีเนื้อหาที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง เนื่องจากที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้พิจารณาและรับรองผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว ดังปรากฏในแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ว่า “สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยืนยันรับรองรายงานของอนุกรรมการสอบฯ อีเมลฉาว”

นอกจากนี้ การที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติให้ส่งรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ไปให้แก่ผู้ถูกพาดพิง ย่อมเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้พิจารณาและรับรองรายงานดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความจริงที่ว่า คณะอนุกรรมการนำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผย

นอกจากนี้ การเปิดเผยรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการแถลงข่าว ยังเกิดขึ้นตามมติของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นัดพิเศษเมื่อวัน ที่ 17 สิงหาคม 2554 และสอดคล้องกับข้อความในเอกสารเผยแพร่ข่าว (press release) ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ออกหลังการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 ที่กำหนดให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทราบ เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบแก่สาธารณชนต่อไป

ทั้งนี้ ในการเปิดเผยรายงานดังกล่าว รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 ในฐานะประธานที่ประชุม และประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยมีกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมากเป็นสักขี พยาน จึงมีหลักฐานที่หนักแน่นที่ยืนยันว่า ประธานคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ “ชิงแถลงผลสอบ” ตามที่แถลงการณ์ของเครือมติชนกล่าวอ้าง

ที่สำคัญความมัวหมองที่เกิดขึ้นกับ “สื่อมวลชน” หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศ ยิ่งมีมากมาย     
  
มีการโพสต์อีเมล์ข่มขู่ผู้สื่อข่าวช่อง 7 จากฝีมือของ นางพรทิพย์ ปักษานนท์ ประธานกลุ่มคนเสื้อแดง จ.เพชรบุรี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภายในสื่อของรัฐ เพราะมีการถอดรายการที่วิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายชินวัตรทั้งหมดในช่อง 11 และ อสมท.

หากใครคิดอยากรวย และอยู่สบายต้องทำรายการแบบ สรยุทธ์ ฟาดกำไรไปปีละหลายร้อยล้านบาท

แต่อย่าถามจุดยืนทางการเมืองก็แล้วกัน เพราะสะกดไม่เป็น !!

กำลังโหลดความคิดเห็น