xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สภาฯยุค“ขุนค้อน”สุดเสื่อม โดดร่ม– คุมเกมไม่อยู่ แถมเล่น“ปาหี่”กันกลางฟลอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สิ้นสุดลงไปแล้ว สำหรับการทำงาน 4 เดือนแรกของ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ที่มี "ขุนค้อน" สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธาน ซึ่งหากเป็นการประเมินผลช่วงทดลองงาน หรือช่วงผ่านโปร เหมือนระบบในบริษัทเอกชนทั่วไป คงต้องประเมินให้ท่านผู้แทน “สอบตก” ทั้งหมด เพราะ 500 ส.ส. ยังไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นความหวังของประชาชนได้เลย

โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดผลงานตลอด 120 วัน หลังจากที่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 และเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป มาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.54 พบว่า มีการเปิดประชุมไปเพียง 23 ครั้งเท่านั้น และการประชุมร่วมของรัฐสภา 6 ครั้ง

ไม่น่าเชื่อว่า จะไม่มีการผ่านกฎหมาย หรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วาระ 3 เพื่อให้มีผลบังคับใช้แม้แต่ฉบับเดียว ทั้งที่เป็นหน้าที่หลักของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ในการตรากฎหมายเพื่อนำออกมาใช้ในการปกครองประเทศ

การจะอ้างว่า เป็นสมัยสามัญทั่วไป ที่ไม่เน้นการออกพ.ร.บ. แต่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า ก็เป็นเรื่องที่อ้างไม่ขึ้น เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็มีการทำคลอดกฎหมายในช่วงการประชุมสมัยสามัญทั่วไปมาแล้วนักต่อนัก และที่สำคัญมีกฎหมายที่คั่งค้างในการพิจารณาของรัฐสภาถึงกว่า 200 ฉบับ ทั้งที่เสนอโดยรัฐบาล พรรคการเมือง และประชาชนที่เข้าชื่อกันเข้ามาตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

มีเพียงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เท่านั้น ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม และลงมติผ่านไปให้คณะกรรมาธิการพิจารณาอย่างเร่งด่วน เหตุเพราะเป็นกฎหมายสำคัญต่อการรบริหารจัดการประเทศ และได้ล่าช้ามานาน หลังติดห้วงเวลาช่วงเลือกตั้งไปหลายเดือน จนต้องอาศัยกรอบงบประมาณปี 2554 ใช้อยู่ในตอนนี้

ขณะที่กฎหมายสำคัญๆ กลับไม่ได้รับความใส่ใจจากทั้งสภาฯเอง และคณะรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ยืนยันที่จะพิจารณากฎหมายทุกฉบับที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมของสภาฯ กว่าที่จะลงมติ และขอเปิดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อยืนยันร่างกฎหมายก็ปาเข้าไปในวันสุดท้ายของสมัยประชุม เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ก็แสดงเจตจำนงค์เป็นการสานต่อเพียง 24 ฉบับเท่านั้น ทั้งที่อีกนับร้อยฉบับ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลายฉบับผ่านขั้นตอนการดำเนินการซ้ำซ้อนวุ่นวาย จนเกินกว่าที่จะโยนทิ้งอย่าง่ายดายเช่นนี้

ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ไม่ต่างกับสมัยของพี่ชาย “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติน้อยมาก มองเป็นเพียง “สภาฯตรายาง” ที่เอาไว้สั่งการให้ยกมือผ่านกฎหมายที่มีประโยชน์กับตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น

จึงจะเห็นได้ว่า ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่ “ยิ่งลักษณ์” จะเดินทางมาตอบกระทู้ถามด้วยตัวเอง โดยมอบหมายให้รัฐมนตรี มาตอบแทนทุกครั้ง จะมีก็แต่เพียง “กระทู้อวย” ของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ “ยิ่งลักษณ์” จะเข้ามาตอบ เหมือนกับมั่นใจใน “สคริปต์” ที่เตี๊ยมกันมาอย่างดีแล้ว

นอกนั้นก็จะให้ “เฉลิม อยู่บำรุง” รับบทสู้รบตบมือกับฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง และบางเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย

ในส่วนของการพิจารณาญัตติในสมัยประชุมครั้งนี้ ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีกันทางการเมืองมากกว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เห็นได้ชัดในญัตติเรื่องการตรวจสอบการทุจริตโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือการติดกล้องดัมมี่อันฉาวโฉ่ ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ยื่นให้ตรวจสอบในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ขณะที่ถัดไปเพียงสัปดาห์เดียว พรรคประชาธิปัตย์ก็ยื่นอีกญัตติเพื่อให้ตรวจสอบการติดตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคาบเกี่ยวกับสมัยที่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ

และเห็นได้ชัดอีกว่า ญัตติเรื่องขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ได้รับความสำคัญมากกว่า ญัตติเรื่องแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่เป็นความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชนโดยตรง

กลายเป็นเกมที่ใช้ “แก้เกี้ยว” กันทางการเมืองมากกว่าที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาชาวบ้าน

จากญัตติที่ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว 96 ญัตติ ญัตติที่สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวจับ “ประชา พรหมนอก” รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นเขียง หวังที่จะบีบใหม่มั่น คั้นให้ตาย กับข้อกล่าวหาว่ามี ส่วนพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งเงินภาษีและเงินบริจาคของประชาชน ผ่านกลไกของ ศปภ.

บรรยากาศ 1 วัน 1 คืน ของการอภิปรายนั้น แม้จะมีความเข้มข้นน่าติดตาม แต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกปรามาสว่า เอาเรื่องเก่ามาพูดบ้าง ยำข่าวจากสื่อมาใช้บ้าง ขณะที่ฝ่ายแก้ตัวที่แม้จะเจอแต่ข้อมูลเก่าๆ ก็ยังต้องถูไถ เอาตัวรอดไปแบบเกือบหมดสภาพ

นอกจากนั้นน้ำหนักของการอภิปรายแทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ “ประชา” กลับเน้นจัดหนักไปที่ 2 ส.ส.พรรคเพื่อไทย “การุณ โหสกุล - จิรายุ ห่วงทรัพย์” ในความเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงงานของ ศปภ. มากกว่า เหมือนต้องการแค่ขยายแผลการยื่นถอดถอน 7 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 265 - 266 ของรัฐธรรมนูญ ในการแทรกแซงงานราชการเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เป้าใหญ่อย่าง “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะผู้นำรัฐบาล กลับรอดพ้นการถูกพาดพิงอย่างไม่น่าเชื่อ

เช่นเดียวกับประเด็นร้อนเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ ที่ว่ากันว่าเป็น “หมัดน็อก” ที่จะสอย “ประชา” ร่วงจากตำแหน่ง ก็กลับถูกลืมเลือนไป ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยต่างก็กล่าวอ้างว่า สุ่มเสี่ยงกับการก้าวล่วงพระราชอำนาจ

ศึกซักฟอกที่ผ่านไปก็ไม่ต่างกับเวที “ปาหี่การเมือง” อีกฉากหนึ่งเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยประชุมนี้กลับไม่มีเหตุการณ์ “สภาฯล่ม” เพราะไม่ครบองค์ประชุมแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่การทำหน้าที่ของ “สมศักดิ์” บนบัลลังก์ ก็ไม่ได้สมราคาคุย เหมือนตอนก่อนรับตำแหน่ง เพราะท่านประธานสมศักดิ์ กลายเป็นเป้าโจมตีการทำหน้าที่ว่า เข้าข้างพรรคเพื่อไทยมากกว่ารองประธานอีก 2 คนด้วยซ้ำ

ส่วนที่ยังรอดพ้นไม่มีเหตุการณ์ “สภาฯล่ม” ให้เสียประวัติ ก็ไม่ใช่ว่าวิปรัฐบาลสามารถคุม ส.ส.ไม่ให้โดดร่มได้ แต่เป็นเพราะประธาน ชิงสั่งปิดประชุมก่อนที่จะมีนับองค์ประชุมในทุกครั้ง

หลายครั้งยังเป็นคนสุมไฟเร่งอุณหภูมิในที่ประชุมมากกว่า “คนกลาง” ด้วยซ้ำ ทำให้เครดิตของ “ขุนค้อน” ที่สั่งสมมาในอดีต กลับสิ้นมนต์ขลัง และคะแนนความน่าเชื่อถือติดลบอย่างรวดเร็ว

กรณีที่ยังเป็นคำถามคาใจอยู่จนถึงตอนนี้ ก็คือ กรณีที่ “สมศักดิ์” สั่งงดประชุมยาวนานถึง 4 สัปดาห์ โดยอ้างเหตุน้ำท่วม ทำให้การเดินทางลำบาก จนกลายเป็นว่าผู้แทนประชาชนในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้ทำตัวสมเป็น “ผู้แทนราษฎร” ที่ใช้เวทีสภาฯ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเลย

หลายปัจจัยจึงทำให้ “สภาผู้แทนราษฎร” ในวันนี้ ต้องจมปลักอยู่กับคะแนนิยมที่ตกต่ำ และก็มองไม่เห็นหนทางที่จะกอบกู้คืนมาได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น