xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง “อภิสิทธิ์” กับ “ชาญชัย” บนลีลาที่พลิ้วไหว !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เป็นสัปดาห์แห่งการแฉระดับชาติ ฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกอภิปรายไม่ไว้วายใจกรณีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ไร้ประสิทธิภาพและการทุจริต ในขณะที่รัฐบาลก็เปิดโปงขยายผลความไม่โปร่งใสในการประมูลรถไฟฟ้าในสมัยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

สำหรับประชาชนไม่มีอะไรนอกจากมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นทุกวันว่า นักการเมืองไม่ว่ามาจากฝ่ายไหนต่างก็มีการทุจริตโกงบ้านกินเมืองกันทั้งสิ้น เหลือแต่เพียงว่าใครจะกลบเกลื่อนแนบเนียนได้ดีกว่ากัน และฝ่ายไหนจะทุเรศและน่าสะอิดสะเอียนมากกว่ากันเท่านั้น


ใครตามที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยประเทศชาติให้รอดพ้นจากการทุจริตด้วยความจริงใจ (ไม่ใช่ดีแต่พูด)ก็คงต้องผิดหวังมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องพบเห็นการตัดสินใจของนักการเมืองที่ต้องสยบสมยอมปล่อยให้การทุจริตโกงกินผ่านไปต่อหน้าต่อตาแทบทุกยุคทุกสมัย

เหตุเกิดเช่นนี้ได้เพราะนักการเมืองในระบบที่เป็นอยู่นี้มันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง !!!

กรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือกรณีโครงการถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เคยอยู่ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง หัวลำโพง-บางแค และช่วงบาซื่อ-ท่าพระ โดยได้เคยตั้งความหวังกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าจะเป็นผู้ยืนหยัดในการหยุดยั้งโครงการดังกล่าวที่มีความไม่ชอบมาพากลได้

โครงการนี้เกิดความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่มีกระแสข่าวลือว่า มีการแบ่งงานเพื่อสลับกันได้งาน ในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ระหว่าง กลุ่มอิตาเลียนไทย กับ กลุ่ม ช.การช่าง แต่เมื่อเปิดซองประมูลจริงจะเกิดเพราะมีการหักหลังกันหรือจะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบได้ ปรากฏว่าพอเปิดราคาซองประกวดราคาผลปรากฏว่า กลุ่ม ช.การช่าง ชนะประมูลต่ำกว่า กลุ่มอิตาเลียนไทยทั้ง 2 สัญญา

แต่สิ่งที่พยายามฝืนดันทุรังกันให้ตามที่ทำให้หลายคนเชื่อข่าวลือที่มีมาก่อนหน้านี้ก็คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กลับเดินหน้าเซ็นสัญญาที่ 2 กลุ่มช.การช่าง และเดินหน้าเซ็นสัญญาที่ 1 กับ กลุ่มอิตาเลียนไทย ฝ่ายละ 1 สัญญา โดยอ้างว่าสัญญาที่ 1 “กลุ่มอิตาเลียนไทย คำนวณราคาผิดพลาด หลังจากยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว” ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขราคาหลังการประมูลซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการประกวดราคาโครงการก่อสร้าง ในขณะที่กลุ่ม ช.การช่าง ก็ยินยอมไม่ได้มีการร้องเรียนใดๆอีกด้วยเช่นกัน

ในเวลานั้น นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการโครงการนี้ ได้เดินหน้าตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยได้เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ถึงผลการตรวจสอบโดยมีข้อสังเกตด้วยกัน 3 ข้อ คือ

1.การตั้งราคากลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตามระเบียบ ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมาธิการได้ท้วงติงไป กลับชี้แจงว่าเอกสารมีจำนวนมากกว่าแสนหน้า และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถพิจารณาได้อย่างละเอียด และขอเวลากลับไปพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งที่ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนประมูลไปแล้ว ทำให้ผู้ยื่นราคาต่ำเป็นอันดับ 2 เป็นผู้ชนะในการประมูล รวมทั้งยังไม่มีการระบุแบบในการก่อสร้างอย่างชัดเจน โดยระบุเพียงว่าเป็นการก่อสร้างในลักษณะดีไซน์บิวท์

2.การปรับรายละเอียดของบริษัทเอกชนภายหลังจากที่มีการยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ชัดเจน

3.การกำหนดราคากลางที่อ้าสงว่าใช้ราคาการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เมื่อปี 2539 เป็นเกณฑ์แต่กลับคำนวณราคาต่อระยะทางสูงกว่าของเดิม 4 เท่าตัว

นายชาญชัย ได้กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่า มีการใช้งบประมาณเกินกว่าความเป็นจริงที่คาดไว้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งกลิ่นความไม่ชอบมาพากลว่า น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงต้อการให้มีการตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้นายชาญชัยยังได้ให้สัมภาษณ์เชื่อมั่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น
ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา มีความพยายามนำเรื่องการลงนามจัดจ้างก่อสร้างทั้ง 5 สัญญา ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้เข้าไปเป็นวาระจรในที่ประชุม แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ได้ระงับไว้ก่อน โดยนายชาญชัยในเวลานั้นเชื่อว่าที่นายอภิสิทธิ์ ได้ระงับไปเวลานั้น เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลถึงความไม่ชอบมาพากลที่นายชาญชัยได้ยื่นเรื่องให้กับนายอภิสิทธิ์เองก่อนหน้านี้

นายชาญชัย ได้กล่าวต่ออีกว่า หวังว่านายกรัฐมนตรีจะสั่งระงับการเซ็นสัญญาทั้งหมด เพื่อนำงบประมาณกว่า 5.2 หมื่นล้านบาทของโครงการนี้กลับไปพิจารณาอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคณะรัฐมนตรีชุดนี้ต้องสั่งระงับด้วย

22 พฤศจิกายน 2552
ปรากฏว่ามีการถอนเงินสดจากธนาคารทหารไทย ซึ่งต่อมาโจรที่ปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมอ้างว่า เงินสดก้อนดังกล่าวอยู่ในบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม (ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าหรือไม่ต้องติดตามตอนต่อไปอย่างใกล้ชิด)

จะเป็นความบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะหลังจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากเดิมที่นายชาญชัย คาดหวังว่าจะระงับโครงการดังกล่าวแต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติผลการทบทวนกรอบเงินค่าก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากจำนวน 48,821 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินใหม่จำนวน 52,460 ล้านบาท เป็นเงินเพิ่มขึ้นอีก 3,636 ล้านบาท

ไม่มีคำสั่งใดๆให้มีการระงับการเซ็นสัญญา ไม่มีการลดงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมามากมายอย่างมหาศาล อย่างที่นายชาญชัยเรียกร้องแต่ประการใด

ผ่านไปอีกเกือบ 11 เดือน วันที่ 20 ตุลาคม 2553 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การที่ รฟม. ที่ได้ขอปรับเพิ่มงบประมาณของโครงการจาก 48,000 ล้านบาท ไปเป็น 53,000 ล้านบาทนั้น ขัดต่อความเห็นของสำนักงบประมาณที่กำหนดราคากลางไว้ที่ประมาณ 50,300 ล้านบาทเท่านั้น จึงเห็นว่าส่อไปในทางทุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้สำหรับกรณีที่ รฟม. ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบโครงการนั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า 5 ใน 7 บริษัท เคยเป็นบริษัทที่ปรึกษาออกแบบโครงการขุดคลองที่สุวรรณภูมิ และพัฒนาพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีการส่งมอบงานล่าช้า และเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหาย เนื่องจากทำให้งบประมาณบานปลายโดยที่รัฐไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะมีการแก้ TOR ในภายหลังเพื่อเอื้อต่อบริษัทที่ปรึกษาเหล่านั้น

4 พฤศจิกายน 2553 วันครบรอบ 1 ปีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ได้ออกมาแถลงข่าวในเรื่องนี้เหมือนเดิม คือออกมายืนยันผลการศึกษา 3 ข้อเดิมที่เคยได้แถลงไว้ 1 ปีที่แล้ว โดยตั้งข้อสังเกตว่าการประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอาจเป็นโมฆะ

11 กุมภาพันธ์ 2554 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ได้ออกมาแถลงข่าวอีกครั้งว่า มีการรายงานข้อสังเกตต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ระงับการลงนามในสัญญาจัดจ้างไปเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 มายังคณะกรรมาธิการฯแจ้งว่า ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรวจสอบข้อสังเกตตามที่ กรรมาธิการเสนอมา พบว่า การกำหนดราคากลางชอบแล้วตามกฎหมาย และนายชาญชัยยังได้แจ้งอีกว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ได้มีคำสั่งให้จัดการลงนามในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

ทั้งนี้ นายชาญชัยกล่าวต่อว่า เหตุผลที่กรมบัญชีกลางชี้แจงมาถึงนายกรัฐมนตรีว่าการกำหนดราคานั้นชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่าเป็นความเท็จและต่างจากข้อเท็จจริงที่ให้ไว้กับ กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยจะทำข้อสังเกตด่วนถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อให้นายกรัฐมนตรีระงับการลงนามในสัญญา เนื่องจากหากมีการลงนามจะมีผลให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะส่งผลเสียหายทำให้รัฐอาจจะต้องเสียค่าโง่ในภายหลัง โดยตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริตถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณ 52,000 ล้านบาท

17 กุมภาพันธ์ 2554 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม
ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวดเดียวครบทั้ง 7 สัญญา โดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย

การต่อสู้ของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดระเวลา 1 ปี 3 เดือน ไม่สามารถทัดทานมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในการเพิ่มงบประมาณดังกล่าวได้ ไม่สามารถโน้มน้าวให้นายอภิสิทธิ์ให้ระงับโครงการดังกล่าวได้ และไม่สามารถหยุดยั้งขบวนการในกระทรวงการคลังที่ร่วมแสวงหาผลประโยชน์ครั้งนี้ได้

และทำให้สังคมและประชาชนได้มองเห็นชัดเจนในกรณีนี้ว่าใครที่สร้างภาพว่าจะปกป้องและยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นเพียงวาทกรรมที่ “ดีแต่พูด”เท่านั้น ส่วนเนื้อแท้ก็ไม่ได้ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ต่างกันสวาปามโกงบ้านกินเมืองกันทั้งสิ้น

ภาพลักษณ์และวาทกรรมที่พูดให้ดูดี จึงเป็นเพียงลีลาที่พลิ้วไหวเท่านั้น!!!
ชาญชัย อิสระเสนารักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น