xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตน้ำเน่า...ขยะล้นเมือง หายนะภัยที่น่าสะพรึงกลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กล่าวได้ว่ามหาอุทกภัยในครั้งนี้มิได้มีแต่ความเสียหายจากพิบัติภัยน้ำท่วมเท่านั้น หากแต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่กำลังกลายเป็นวิกฤติของชาติ นั่นคือ ‘ปัญหาน้ำเน่าและขยะล้นเมือง’ ซึ่งดูจะลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ที่มหันตภัยน้ำคุกคามไปถึง ขณะที่รัฐบาลยังไร้มาตรการป้องกันและแก้ไขทั้งที่ปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือนมาแล้ว

และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทุกพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม ไม่เฉพาะในเขตเมืองที่มักมีขยะและน้ำเน่าจากท่อน้ำทิ้งซึ่งไหลลงคูคลองต่างๆ แม้แต่ในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนแม่น้ำเจ้าพระยาเกือบทั้งสายขณะนี้ก็ได้กลายเป็นน้ำเน่าที่มีสภาพไม่ต่างจากน้ำเน่าเสียที่ส่งกลิ่นคละคลุ้งในคลองแสนแสบ !!

**พื้นที่น้ำเน่านับล้านไร่ ขยะกว่า 3 ล้านตัน

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ทำการสำรวจพื้นที่ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมในเขตชุมชนและพื้นที่การเกษตร ใน 10 จังหวัด จากทั้งหมด 13 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี อุทัยธานี นนทบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่ 1,946, 045 ไร่ พบว่ามีพื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำเน่าเสียถึง 1,007,547 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 650,007 ไร่ และพื้นที่ชุมชน 357,540 ไร่

ขณะที่ข้อมูลจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน พื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมขัง รวม 149 จุด ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และ กทม. พบว่า ภาพรวมคุณภาพน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง 23% อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก เช่น หมู่ที่ 4 ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ค่าออกซิเจนละลาย (ดีโอ) อยู่ในระดับต่ำมาก คือ 0.0 - 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

ส่วนที่ ต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี อยู่ที่ 2.0-4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร เช่นเดียวกับพื้นที่หมู่ 3 ต.อินทรประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ค่าดีโอ 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น

ส่วนคุณภาพน้ำในชุมชน พบว่า 24% อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 32% อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และ 21% อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนแหล่งน้ำผิวดินที่ตรวจวัดทั้งหมด 18 จุดอยู่เกณฑ์เสื่อมโทรมมาก 6% อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 11% อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และ 6% อยู่ในเกณฑ์ดี

อีกประเด็นที่สนใจอย่างยิ่งคือข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีบ่อกำจัดขยะที่ถูกน้ำท่วมถึง 12 บ่อ จากพื้นที่ 8 จังหวัด ซึ่งส่งผลให้มีขยะและน้ำเน่าเสียจากบ่อบำบัดจำนวนมหาศาลไหลรวมมากับน้ำท่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมขังอีก กว่า 3 ล้านตัน

“ จากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังนานจนเริ่มเน่า จากการประเมินขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษพบว่า มีบ่อบำบัดถึง 12 บ่อในพื้นที่ 8 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมขัง ซึ่งถือเป็นเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 14 จังหวัด ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาจนถึง จ.ฉะเชิงเทรา ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 7 ล้านคนได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย นอกจากนั้นจะมีขยะหลังน้ำลดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน ถือเป็นปริมาณขยะมหาศาลมาก ซึ่งการอุปโภคบริโภคของผู้ประสบภัยแต่ละคนจะทำให้เกิดขยะเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อคน โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.เป็นแหล่งผลิตขยะมากที่สุดเฉลี่ย 8,000 ตันต่อวัน ” นายวรศาสน์ อภัยวงษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าว

ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทของขยะจะพบว่า ขยะส่วนใหญ่ที่ออกจากครัวเรือนช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวด หนังสือ เศษไม้ ตู้ เตียง ทีวี ที่นอนและเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เนื่องจากประชาชนส่วนมากไม่สามารถขนย้ายข้าวของเหล่านี้ออกมาได้ทันทำให้ได้ความเสียหายทั้งหมด ขณะที่ขยะจากยานยนต์นั้น คาดว่าจะมีรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคันที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ ถ่ายน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่มากับน้ำเน่าและขยะล้นเมือง คือโรคระบาดต่างๆ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโรคที่ปะปนมากับน้ำ โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้หญิงคือโรคช่องคลอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้หญิงต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา พยาธิ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าสู่ช่องคลอดได้ ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แพ้ คัน ขณะที่เด็กๆ มักเป็นโรคตาแดง และโรคที่เกิดจากเชื้อโรคในน้ำที่อาจเข้าสู่ หู ตา จมูก ปาก นอกจากนั้นยังมีโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ได้แก่ ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ น้ำกัดเท้า ไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู

โดยเพาะโรคฉี่หนูนั้นถือว่าเป็นโรคที่มีความน่ากลัวและกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้เฝ้าระวังในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากโรคนี้เจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ รวมถึงคนที่เคยป่วยมีโอกาสป่วยซ้ำ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือรอยขีดขวนที่ผิวหนัง หรืออาจจะเข้าทางตา จมูก ปาก หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมก็ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เนื่องจากหากเป็นแผลจะลุกลามและรักษาให้หายยาก เมื่อจำเป็นต้องลุยน้ำ หรือย่ำในน้ำที่เน่าเสีย อาจเกิดโรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อยและทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งถือเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคนี้

**แก้น้ำเน่าสะดุด ทหารปูดรัฐไม่ให้งบ

แต่ที่น่าเศร้ากว่าปัญหาขยะและน้ำเน่าที่แพร่กระจายไปทุกพื้นที่ที่มหันตภัยน้ำไหลลามไปถึงก็คือความไม่ใส่ใจต่อปัญหาของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้ปัญหาน้ำเน่าและขยะล้นเมืองจะเกิดมานานกว่า 2 เดือนแล้ว และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากน้ำที่หลากมาจากภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางนั้นไหลผ่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีทั้งกากอุตสาหกรรม บ่อบำบัดน้ำเสีย แหล่งกักเก็บขยะ และสารพิษต่างๆที่ไหลปนมากับน้ำ เมื่อมาถึงปลายทางกรุงเทพฯจึงทวีความเน่าเสียมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ชาวบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยก็ไม่สามารถนำขยะออกไปทิ้งนอกพื้นที่ได้หรือทิ้งอย่างถูกสุขลักษณะ รวมทั้งไม่สามารถขับถ่ายในห้องสุขาได้ จึงจำต้องทิ้งขยะและขับถ่ายลงในน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็หาได้มีมาตรการใดๆออกมา ทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วน และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

ภาพที่เห็นในห้วงเวลาที่ผ่านมาคือ ศปภ.(ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) และกทม.ยังคังมุ่งไปที่การระบายน้ำ โดยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาขยะและน้ำเน่าที่ท่วมขังซึ่งสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้แก่ประชาชนในพื้นที่อยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่น่าจะสามารถวางแผนจัดการล่วงหน้าได้

แทนที่รัฐบาลจะนำห้องสุขาลอยน้ำที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นไปแจกในชุมชนต่างๆ ศภป.กลับทิ้งให้สุขาดังกล่าวลอยเกลื่อนไร้ค่าอยู่ในศูนย์ ศปภ.ดอนเมือง แทนที่รัฐบาลและ กทม.จะสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำรถขนขยะ รถบรรทุก หรือเรือขนาดใหญ่ เข้าไปจัดเก็บขยะตามชุมชนต่างๆ หรือจัดจุดทิ้งขยะในชุมชนเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปจัดเก็บได้ง่าย รัฐบาลและ กทม.กลับไม่ทำอะไรเลย กระทั่งประชาชนอดรนทนไม่ไหวลุกขึ้นมา “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แห่งพรรคประชาธิปัตย์ถึงเพิ่งงัวเงียป่าวประกาศว่า กทม.ทำไม่ไหวและจำจ้างภาคเอกชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขยะในกทม.

ขณะที่การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียก็มีเพียงการโยนอีเอ็มบอลเพื่อปรับปรุงสภาพน้ำ ซึ่งเป็นการทำตามที่ภาคเอกชนนำร่องไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้พยายามหาแนวทางอื่นๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

รัฐบาลมัวแต่สนใจเรื่องการฟื้นฟูหลังน้ำลด ตั้ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ เพื่อกู้ซากศพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่กลับไม่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาขยะและน้ำเน่าซึ่งกำลังเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอยู่ในขณะนี้ กระทั่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

แม้ที่ผ่านมา นายกฯยิ่งลักษณ์จะได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการจัดการปัญหามลภาวะทั้งขยะและน้ำเสีย โดยวิธีทิ้งจุลินทรีย์หรืออีเอ็มลงไปบำบัด แต่กลับไม่อนุมัติงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงาน

“ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทหารได้เข้าไปดำเนินการในบางพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว แต่ล่าสุดรัฐบาลยังไม่อนุมัติงบประมาณมา ทุกอย่างจึงต้องหยุดชะงัก เพราะทหารก็ไม่มีงบไปทำ เนื่องจากที่ผ่านมาใช้งบไปมากมายสำหรับการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบอุทกภัย” แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม ระบุ

หลังจากนี้คงไม่ต้องแปลกใจหากคนไทยในหลายพื้นที่จะต้องผจญกับปัญหาน้ำเสียและขยะเน่าเหม็นไปอีกนานหลายเดือน และสิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของ 'นายกฯยิ่งลักษณ์' นั่นคือ '”ขอให้อดทน” !!



กำลังโหลดความคิดเห็น