xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไขปริศนา ใครขวาง Flood way

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะเหตุใดพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ตั้งแต่คลองรังสิต มีนบุรี ลาดกระบัง และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่ต่ำและถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ มีการก่อสร้างคลองระบายน้ำเพื่อให้ไหลออกสู่ทะเลได้หลายเส้นทาง จนถึงวันนี้น้ำยังคงแห้งขอดอย่างผิดสังเกต

ทั้งๆ ที่ผังเมืองกรุงเทพมหานครปี 2549 ที่ใช้ในปัจจุบัน กำหนดพื้นที่ชนบทอนุรักษ์และเกษตรกรรมหรือพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (ขาวลายเขียวและสีเขียว) ซึ่งเป็นจุดที่ปล่อยให้น้ำไหล อันได้แก่เขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอกและลาดกระบัง การระบายน้ำในโซนนี้จะผ่านคลองต่างๆ ได้แก่ คลองสามวา คลองหลวงเพ่ง คลองหนองงูเห่า และคลองลาดกระบังที่คั่นกลางด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรับน้ำจากเขตลาดกระบัง ส่งไปยังคลองด่าน และคลองสำโรง

แน่นอนว่าพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในโซนตะวันออกของกทม. ซึ่งมีการเตรียมพร้อมไว้เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่วันนี้พื้นที่ดังกลับเพิ่งมีน้ำเข้าท่วมเล็กน้อย ขณะที่พื้นที่อื่นๆ รวมถึงกทม.ซึ่งมีพื้นที่สูงกว่า กลับมีน้ำไหลเข้าท่วมก่อน

คำถามก็คือ...อุปสรรคอะไรที่ทำให้การผันน้ำออกมายังกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกทำได้ยาก ล่าช้า ไม่ทันการณ์ จนคนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม ต้องแบกรับภาระมวลน้ำมากมายมหาศาลนานนับเดือน ทั้งๆ ที่มีการหากระบายน้ำไปยังฝั่งตะวันออกก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

… จากการพูดคุยกับนักวิชาการด้านผังเมือง ระบุว่า การที่น้ำจากคลองรังสิตไม่ไหลมายังพื้นที่โซนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าและถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เกิดจากการบล็อกหรือปิดกั้นเส้นทางน้ำไว้ และใช้วิธีสูบน้ำเพื่อส่งน้ำให้ไหลไปยังกทม.ด้านอื่นแทน บางส่วนไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพชั้นใน

“พื้นที่ของกทม.นั้นเป็นพื้นที่ต่ำมีความลาดเอียงน้อย กทม.จึงระบายน้ำด้วยการสูบน้ำ หรือส่งน้ำไปยังคลองส่งน้ำเท่านั้น เมื่อสูบให้น้ำไหลไปด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูง น้ำก็ไหลย้อนเข้าสู่ใจกลางเมืองประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ถึงได้สูบน้ำกลับมาใหม่ เมื่อน้ำไม่ได้ไหลตามธรรมชาติ จึงสรุปได้ว่ามีคนขวางการระบายน้ำไปยังกรุงเทพฝั่งตะวันออก ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีการขวางทางระบายของน้ำ หรืออ้างว่าพื้นที่ด้านตะวันออกสูงกว่าน้ำจึงไหลไปได้ยาก” แหล่งข่าวกล่าว

…. สำหรับไอ้โม่งที่มีอิทธิพลมากพอที่รัฐบาลยอมให้ขวางทางน้ำจนสร้างความเดือดร้อนไปทุกย่อมหญ้าเป็นใครนั้น ก็สามารถไล่เรียงกันตั้งแต่ กลุ่มนักการเมืองที่ไม่ต้องการให้พื้นที่ของตัวเองได้รับผลกระทบ เพราะจะส่งผลต่อฐานเสียงทันที ดูจะมีน้ำหนักมากที่สุด ส่วนเป็นใครนั้นก็ต้องไปดูว่า นักการเมืองในโซนนี้มีใครบ้าง เป็นคนของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ คงไม่ต้องเอ่ยชื่อ

ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นอีกตัวการสำคัญ แม้ว่าจะต้องปกป้องเพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ แต่หากไล่บี้กันจริงๆ ทั้งๆที่รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ ก็ยังดันทุลังก่อสร้างขึ้นมา เมื่อไปดูในผังเมืองแล้วสนามบินสุวรรณภูมิสมรภูมิที่ตั้งขวางทางฟลัดเวย์พอดิบพอดี ขนาบข้างด้วยคลองลาดกระบังและคลองหนองงูเห่า

ทั้งนี้ เดิมพื้นที่ฝั่งตะวันออก เป็นบริเวณตามแนวพระราชดำริ กำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำมาตั้งแต่ปี 2535 หรือ แนวฟลัดเวย์ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำมาจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เพื่อระบายลงสู่อ่าวไทย แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่มีความพยายามจากนักการเมืองในกลุ่มทุนของระบอบทักษิณ รวมถึงนักการเมืองบางคนที่มีที่ดินในบริเวณดังกล่าว พยายามให้มีการปรับสีผังบริเวณแนว"ฟลัดเวย์" (ผังสีขาวลายเขียวและสีเขียว) โดยให้ปรับเป็นผังสีเหลือง อ้างเหตุผลไม่เคยปรากฎว่ามีน้ำท่วมเกิดขึ้น

" ปัญหาของบ้านเมืองในตอนนี้ เกิดขึ้นเพราะน้ำมือของนักการเมือง หากเราปล่อยให้ผังเมืองโซนตะวันออก เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว น้ำคงไม่ท่วม โดยเฉพาะมรดกที่อดีตนายกรัฐมนตรีวางไว้ ก็ทำให้เห็นว่า ที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิขวางทางน้ำ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว หนองงูเห่า แต่ก็ยังไปทำ ทำให้เวลานี้เหลือพื้นที่ฟลัดเวย์ที่ยังไม่ถูกเข้าไปครอบครองเพียงแค่ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น”แหล่งข่าวให้ข้อมูล

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีนักการเมือง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ครอบครองที่ดินไว้ในมือจำนวนมาก อาทิ กลุ่มของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี พรรคไทยรักไทย และกลุ่มพี่น้องซึ่งเป็นทั้งสมาชิกสภา กทม.(ส.ก.) และสมาชิกสภาเขตกทม.(ส.ข.) มีที่ดินใกล้แยกมีนบุรีและกระจายในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ กลุ่มนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท เวชธานี กรุ๊ป ประมาณ 500 ไร่ นางราศี บัวเลิศ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท แชลเลนจ์ กรุ๊ป มีที่ดินบริเวณย่านสุวินทวงศ์ จำนวน 600 ไร่ นายประสงค์ เอาฬาร กรรมการบริษัท ฟอร์ร่าวิลล์ จำกัด มีที่ดินบริเวณสุวินทวงศ์ 300 ไร่ ที่บางส่วนมีการพัฒนาไปบ้างแล้ว กลุ่มบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 50 ไร่บริเวณถนนเจ้าคุณทหาร

นายวันชัย ชูประภาวรรณ เจ้าของบริษัท ประภาวรรณ กรุ๊ป มีดินที่ย่านสุวินทวงศ์ประมาณ 100-200 ไร่ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก บริษัท แลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด(มหาชน) ของนายอนันต์ อัศวโภคินมีที่ดินจำนวน 50 ไร่ นางเพียงใจ อัศวโภคิน ซึ่งเป็นมารดาของนายอนันต์มีที่ดินอยู่บริเวณเขตลาดกระบังใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 2 แปลง รวม 1,000 กว่าไร่ บริษัท เค.ซี.กรุ๊ปของนายอภิสิทธิ งามอัจฉริยะกุล มีที่ดินประมาณ1,000 ไร่บริเวณคลองสามวา

นี่ไม่นับรวมถึงตระกูลดังเมืองปากน้ำอย่าง “อัศวเหม” ที่มีที่ดินในย่านดังกล่าวหลายร้อยไร่เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อสังเกตว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ที่ทำให้โซนตะวันออกถูกมองว่า เป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ เพราะในช่วงก่อนที่จะก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มทุนของทักษิณ ชินวัตร และนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดิน เพื่อพัฒนาโครงการส่งผลให้ราคาที่ดินขยับขึ้น และที่ในปัจจุบันน้ำยังไม่ท่วมก็เพราะแรงผลักดันและอิทธิพลของนักการเมืองที่ทำให้มีการผันน้ำออกไปในพื้นที่อื่นๆ แทนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น