xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” สงสาร “ปู พรีเซ็นเตอร์” ชี้หมดอนาคตการเมือง-กังขางบฟื้นฟู 9 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทสัมภาษณ์นายกรณ์ จาติกวณิช ในเว็บไซต์ไทยพับลิก้า
”กรณ์” ชำแหละ รบ.ยิ่งลักษณ์ แก้น้ำท่วม ชี้ ดึง “สุดารัตน์” ขึ้น ฮ.-วิชาญ คุมประตูคลองสามวา เป็นเรื่องการเมือง ปัดออกมาช่วยน้ำท่วมสร้างผลบวกแก่พรรค แต่รัฐบาลกลับทำตรงกันข้าม เห็นใจ “ยิ่งลักษณ์” แค่พรีเซ็นเตอร์โฆษณา เชื่อ งบ 9 แสนล้าน ทำลายความเชื่อมั่นจากต้นเหตุการเมืองมีผลประโยชน์

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.นายกรณ์ จาติกวณิช รองนายกรัฐมนตรีเงา รองหัวหน้าภาค กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ไทยพับลิก้า ในหัวข้อ “กรณ์ จาติกวณิช” เปิดอภิปรายนอกสภาน้ำท่วม-ถนนลื่น-นารีแหกโค้ง กับ “บูทเจ้าปัญหา” รองเท้าไม่กัด แต่คนกัด ซึ่งกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าอาจกลายเป็นจุดจบของรัฐบาลก่อนครบวาระ โดยกล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำท่วมในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มองว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของพรรคเลย เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างอิสระ ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรฯ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องสวมหมวก กทม.ไม่ใช่สวมหมวกพรรค จะสังเกตเห็นว่าพวกตนไม่เคยไปยุ่ง ไม่เคยมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของกทม. แม้แต่คนเดียว

ทั้งนี้ ในขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. เต็มไปด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ดังนั้น จะเห็นว่า กทม. เป็นอิสระ แต่ถ้ามีแนวทางบริหารที่เห็นไม่ตรงกัน เราก็พูดคุย ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยกสายคุยกับผู้ว่าฯ และยกสายคุยกับคนใน ศปภ.ด้วย อย่างตอนที่ลงพื้นที่แล้วเห็นระดับน้ำในคลองประปาสูงขึ้น นายอภิสิทธิ์ก็ยกหูถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เดี๋ยวนั้นเลยเพื่อบอกให้รีบมาดู ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องการเมือง กทม. แต่เป็นเรื่องการเมืองวันที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำภาค กทม.พรรคเพื่อไทยเข้ามา

• การเมืองกักน้ำกรุงเทพฯ ตอ.

“เพื่อนผมดูแลสนามกอล์ฟอยู่ที่บางบ่อ ติดกับคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เขาบอกว่าสนามกอล์ฟนี้แล้งเลย ต้องปั๊มน้ำมารดสนามกอล์ฟทุกวัน อย่างเครื่องสูบน้ำที่คลองด่าน เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด เพราะตามสถิติมันใช้งานอยู่แค่ร้อยละ 10 ดังนั้นน้ำไม่ได้ไปจริง นอกจากนี้สถานีสูบน้ำ 3 สถานีหลักในฝั่งตะวันออก ทั้งสถานีหนองจอก ประเวศบุรีรมย์ และคลองสิบสาม ซึ่งมีเครื่องสูบทั้งหมด 52 เครื่อง เราลงพื้นที่เห็นว่าแทบจะไม่ได้เปิดเลย นี่คือสาเหตุให้ฝั่งตะวันตก ฝั่งธนบุรีเละตุ้มเปะเลย น้ำมันถึงทะลักเข้ามาที่ช่วงกลางทั้งวิภาวดีฯ ดอนเมืองไง นอกจากนี้ระบบน้ำทั้งหมดตั้งแต่คลองหกถึงคลองยี่สิบเอ็ด สร้างไว้เพื่อระบายไปทางนั้น นั่นคือทางน้ำ แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลทางการเมืองในเรื่องการปกป้องพื้นที่ของตัวเอง หรือความหวาดกลัวว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ ผมไม่รู้ แต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ผันน้ำไปฝั่งตะวันออก” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ตนอยู่กับนายอภิสิทธิ์ตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำท่วมจนถึงตอนนี้ ยืนยันได้ว่าไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ตัวละครของทาง ศปภ. หรือรัฐบาลที่ออกมาเป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น อย่างบทบาทของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาในเรื่องการเปิด-ปิดประตูคลองสามวา ซึ่งตนสงสัยว่าไปทำหน้าที่อะไร เพราะเป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และไปมีส่วนร่วมในการทำลายทรัพย์สินที่อาจจะทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งนิคมต้องจมน้ำ อันนี้ยังไม่รวมพื้นที่ กทม.ชั้นในที่ท่วมเพิ่มขึ้น ถามว่ารับผิดชอบอย่างไร ตนอยากเห็นคนออกมาฟ้อง หรือคุณหญิงสุดารัตน์ที่ออกมามีบทบาท ทั้งการนั่งเฮลิคอปเตอร์ หรือการได้ออกสื่อ ซึ่งตนเห็นว่ามาในฐานะอะไร และเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ

• งดประชุมสภา ส.ส.เอาเปรียบ ปชช.

เมื่อถามถึงสมมติฐานของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการปรากฏตัวของคุณหญิงสุดารัตน์คือเกี่ยวข้องกับการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงต้นปี 2555 นายกรณ์ตอบว่ามันมีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว แต่ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิด เราก็ทำงานของเราไป ทั้งการตั้งมูลนิธิเพื่อระดมเงินบริจาค ก่อนรัฐบาลจะเริ่มเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ มีโครงการอาสาคนไทยช่วยน้ำท่วม วันเดียวกับที่พวกเขาไปเตะฟุตบอลที่เขมร พวกตนเตะฟุตบอลระดมเงินช่วยน้ำท่วม คือความตื่นตัวมันเร็วกว่ากัน เมื่อถามว่า แม้คนในพรรคประชาธิปัตย์จะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง แต่ภาพที่เด่นชัดกลับเป็นการจ้องจับผิดรัฐบาล ชวนไปสาดน้ำลายในสภามากกว่า นายกรณ์ตอบว่า ไม่เห็นมีสภาให้ประชุมตั้งเดือนกว่าแล้ว

“จริงๆ มันตรงกันข้ามกับที่ถามด้วย เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คุณอภิสิทธิ์เคยให้ความเห็นว่ายังไม่ควรเปิดสภา หลังจากนั้นเขาเรียกประชุมเลย ก่อนมาสั่งยกเลิกในนาทีสุดท้าย คือเหมือนกับว่ารัฐบาลทำตรงข้ามกับสิ่งที่เราแนะนำ มาครั้งนี้ก็ยกเลิกอีก ซึ่งผมรับไม่ได้ เพราะไม่รู้จะอธิบายกับประชาชนอย่างไร คุณบอกให้หยุดยาว (รัฐบาลประกาศวันหยุดราชการกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 27-31 ตุลาคม) ให้ประชาชนอพยพ เขาหยุดจริง อพยพจริง ตอนนั้นบ้านเขาน้ำยังไม่ท่วม พอครบ 5 วันเนี่ย คุณไม่ต่อวันหยุดให้เขา ซึ่งบ้านเขาน้ำท่วมแล้ว อพยพไปก็ต้องอพยพกลับมา ค่าใช้จ่ายมากมาย มาถึงที่อยู่ก็ไม่มี เดินทางก็ไม่สะดวก แต่คุณให้เขาทำงาน สุดท้ายคุณยกเลิกประชุมสภา ทำไมประชาชนต้องทำงาน แต่ ส.ส.ไม่ต้องทำงานล่ะ บอกว่า ส.ส ยุ่ง ยุ่งอะไร งานของเราอยู่ในสภา”

• เย้ย “ลาก่อนน้ำท่วม” แค่คิดก็ผิด-เก้าอี้ “นายกฯ ปู” ไม่ใช่งานถนัด

ในตอนหนึ่ง นายกรณ์ เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มองว่าสถานการณ์นี้ต้องสร้างอะไรให้กับพรรค และไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นบวกกับพรรคประชาธิปัตย์ เราพยายามออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่การรับรู้อยู่ในวงจำกัดอยู่แล้ว เพราะสื่อบ้านเราก็อย่างที่รู้กัน และเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปบริหารแทนรัฐบาล คันไม้คันมือกันมาก เพราะเชื่อว่าทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ทำได้ ดังนั้นโอกาสทำสถานการณ์ให้เป็นบวก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถามว่าเราได้อานิสงส์อะไร ก็อาจจะเกิดจากการเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ การเมืองเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ถ้าเราอยู่กับที่ แต่เขาตกลงมา ทางการเมืองก็พูดได้ว่าเราได้ประโยชน์ แต่เราไม่ได้หวังผลในเรื่องประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้

เมื่อถามว่า ประเมินว่าจำนวนคนที่ผิดหวังกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมากขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่อเดือนกันยายน 2554 เคยเขียนในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย 15 ล้านเสียง ที่รู้สึกผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาล มารวมกับ 11 ล้านเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ตอบว่า ทางการเมืองนั่นคือเป้าหมายอยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าหลายสิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดจะทำเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่เมื่อเขาได้รับเลือกแล้ว อะไรที่เคยสัญญาไว้ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะเสียหลักทางการเมืองหมด ใครคิดจะพูดอะไรก็ได้ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

โดยยกตัวอย่างโครงการลาก่อนน้ำท่วมของพรรคเพื่อไทย สะท้อนว่า คิดผิดตั้งแต่แรก เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาคดีอาญาแผ่นดิน คิดไว้ว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาทในการถมที่ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาที่ กทม. ลองนึกภาพดู หากทำแบบนั้นไปแล้ว มันมีผลอย่างไรต่อการป้องกันอุทกภัยครั้งนี้ เขาหันหน้าไปทางนั้น นึกว่าศัตรูมาจากทางนั้น ความจริงศัตรูมันมาจากข้างหลัง มาจากน้ำเหนือ ซึ่งคิดผิดหมด ดีไม่ดียิ่งไปถมที่ ยิ่งทำให้ระบายน้ำไม่ได้อีกต่างหาก ดังนั้นแค่คิดก็ผิดแล้ว ถึงวันนี้พูดได้เลยว่าตนและพรรคไม่ได้มีเจตนาล้มรัฐบาล เหมือนที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามพูด พวกเราไม่มีปัญหาเลยในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านต่อไปจนกระทั่งเขายุบสภา ซึ่งไม่รู้จะเป็นเมื่อไร ส่วนตัวคิดว่าเขาน่าจะคิดเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องยุบสภา เพราะคนส่วนใหญ่เลือกเพื่อไทยมาแล้ว เชื่อว่าก็ยังอยากได้พรรคเพื่อไทยอยู่ พรรคเพื่อไทยก็บริหารต่อไป แต่มันไม่ใช่

“ผมเข้าใจเกม ณ วันนั้น คุณยิ่งลักษณ์เป็นตัวเลือกทางการตลาดที่ดีที่สุด พวกผมคิดมาตั้งแต่ต้นปี 2554 ว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเลือกตั้งคือ ถ้าเขาเอาคุณยิ่งลักษณ์ออกมาเล่นในช่วงโค้งสุดท้าย และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่บทบาทของคุณยิ่งลักษณ์จบแล้ว ผมเห็น ผมก็สงสารเขานะ เขาจะชอบงานที่ทำอยู่หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่มันไม่ใช่งานที่เขาถนัด คนอื่นในพรรคคุณก็มีตั้งเยอะ เอาคนที่เป็นนักการเมือง หรือรู้ระบบราชการ เคยบริหารองค์กรมาจริงๆ จังๆ คุณก็มีรองนายกฯ ตั้งหลายคน ก็เลือกมาสักคนสิ” นายกรณ์กล่าว

เมื่อถามถึงสมมุติฐานว่าหลังน้ำลด อาจมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกรณ์ตอบว่าไม่ใช่สมมติฐาน แต่เป็นความเห็นส่วนตัว ยืนยันว่าตนและพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐบาล ไม่มีความพยายามจะทำเช่นนั้นด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าอย่าดันทุรังเลย ประเทศชาติต้องการมืออาชีพ ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาในฐานะมืออาชีพ แต่มาในฐานะสัญลักษณ์ เป็นตัวเรียกคะแนน บทบาทหน้าที่นั้นทำได้ดีที่สุดเต็ม 100 แต่มันจบไปแล้ว และมีความชัดเจนว่าจบแล้วเพราะบังเอิญเกิดวิกฤตที่ท้าทาย ต้องการมืออาชีพจริงๆ มาบริหาร และพิสูจน์ให้เห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ใช่มืออาชีพในการบริหาร ทั้งนี้ แรงผลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายกฯ คือ พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว

เมื่อถามว่า หากไม่เปลี่ยนตัวนายกฯ การปรับคณะรัฐมนตรี ถือว่าเพียงพอหรือไม่ในการกู้วิกฤตศรัทธา นายกรณ์เห็นว่าก่อนจะทำอะไรขอให้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก่อน มองว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร แล้วค่อยมาว่ากัน ผู้นำต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหา และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมาคืออะไร หลังจากนั้นการกระทำมันจะมีตรรกะ มีเหตุผล แต่อยู่ดีๆ ตั้งใจจะไม่พูดอะไรเลย แล้วก็เปลี่ยนตัวละคร คนเขาก็นึกว่าเป็นเรื่องการเมืองอีก หาแพะอีก มันยังไม่มีการสื่อสารว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ผิดพลาดตรงไหน วันก่อนนายกฯ ยังมาพูดเลยว่าตอนมารับตำแหน่ง น้ำในเขื่อนเต็มแล้ว เมื่อพูดอย่างนี้จะให้คนมั่นใจได้อย่างไรว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวนายกฯ ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กับตั้งใจพูดเท็จ ไม่มีทางเลือกที่ 3 ตนคิดว่านางสาวยิ่งลักษณ์รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้รู้ข้อมูลจริง ไปฟังเขามาแล้วนึกว่าเป็นจริง

• คาด “ธีระ” อึดอัด-เพื่อไทยโยนบาป

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์จากพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาประกาศขอดูพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันตกเองว่าเป็นเพราะอะไร นายกรณ์ตอบว่า ถ้าให้ตนเดานายธีระคงอึดอัดว่าพรรคเพื่อไทยกำลังให้เขาเป็นแพะ ซึ่งตัวนายธีระรู้งานอยู่แล้ว แน่นอนที่สุดคือมีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นเจ้านาย แต่นอกจากนั้นเขาเป็นลักษณะเทคโนแครต (ข้าราชการประจำ) มากกว่านักการเมือง ดังนั้นส่วนหนึ่งก็คือทำในระบบราชการ โดยรอรับฟังคำสั่งจากนายบรรหารด้วยต่างหาก ทีนี้ระบบราชการของกรมชลประทานบกพร่อง เพราะระบบทั้งหมดอยู่ที่การวัดน้ำในลำน้ำ ไม่เคยมาวัดน้ำในทุ่งนา ดังนั้นที่นายธีระออกมาพูดเมื่อ 10 วันก่อนว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้ว พวกตนฟังอยู่รู้ทันทีเลยว่าเขาหมายถึงน้ำในแม่น้ำ แต่ไม่ได้เอาน้ำในทุ่งมาคำนวณ ซึ่งตนก็ยังแปลกใจว่าทำไมนายธีระถึงพลาดได้

“มันเป็นเพราะระบบกรมชลประทาน ตัววัดทุกตัววัดในแม่น้ำ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือนักการเมืองมีสัญชาตญาณในการปกป้องพื้นที่และฐานเสียงของตัวเองเยอะกว่ามองส่วนรวม เพราะระบบมันพาไป บางทีคนทั่วไปจะรู้สึกว่าทำไมไม่มองภาพใหญ่ ทำไมไม่มองส่วนรวม แต่ระบบเลือกตั้ง เราไม่ได้เลือกโดยคนส่วนรวม แต่เลือกโดยคนในพื้นที่ ดังนั้นสัญชาตญาณสำคัญคือต้องดูแลคนในพื้นที่ก่อน ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พูดถึงทุกพรรค คนที่เป็นผู้นำต้องบริหารในระดับประเทศ ต้องรู้ว่าทางโน้นเขาต้องพูดอย่างนี้ ทางนี้ต้องพูดอย่างนั้น เพื่อปกป้องเขตพื้นที่ของเขา หน้าที่ของผู้ที่อยู่ข้างบนคือบริหารให้ส่งผลดีที่สุดแก่ประเทศและส่วนรวม ปัญหาคือไปคาดหวังกับผู้นำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีความรู้ วันที่เขามารับตำแหน่ง กรมชลประทานอยู่กระทรวงไหน เขารู้หรือเปล่า ผมยังไม่รู้เลย แล้วเราจะคาดหวังให้เขารู้ก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ผมไม่ได้ว่าเขานะ แต่พูดตามข้อเท็จจริง” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวย้อนไปถึงตอนสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ปลายปี 2547 เริ่มหาเสียง ตนต้องถามนายอภิสิทธิ์ว่า ส.ก. (สมาชิกสภา กทม.) ส.ข. (สมาชิกสภาเขต) คืออะไร มีหน้าที่อะไร ซึ่งตนไม่รู้จริงๆ เพราะชีวิตนี้ไม่เคยออกไปเลือก ส.ก. และส.ข. เลือกแต่ส.ส. เท่านั้น เราไม่รู้เพราะไม่ได้อยู่ในวงการดังนั้นบังเอิญเรามีผิดคน ผิดจังหวะ และไม่สามารถบริหารความขัดแย้งทางการเมืองที่มันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติได้ ก็เลยส่งผลตามที่ปรากฏ ซึ่งมันเป็นเงื่อนไข ประเทศไหนก็ตามที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้ สำคัญคือตัวผู้นำต้องสามารถฝ่าเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดได้ แต่เขาเพิ่งเข้ามา เขาทำไม่ได้ ตนเห็นใจ แต่มันเหมือนกับ เขาเป็นตัวที่ใช้เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโฆษณา มันไม่ใช่ตัวที่จะมาทำจริงแค่นั้นเอง

• ยันไม่คิดล้มรัฐบาลปู ทหารทำไปตามหน้าที่

นายกรณ์กล่าวต่อว่า อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของการล้มรัฐบาล ไม่ใช่จริงๆ จากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลประชาชน ซึ่งมีความรู้สึกว่ารัฐบาลห่างเหินประชาชนมาก ตนแทบไม่เห็นบทบาทของสำนักนายกฯ เลย ตอนน้ำท่วมสมัยเรา ทหารก็ส่วนทหาร สำนักนายกฯ ก็ส่วนสำนักนายกฯ และภาคประชาชนก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ครั้งนี้มีทหาร มีภาคประชาชน และตนอยากจะเสริมด้วยซ้ำว่ามีฝ่ายค้าน แต่บทบาทของรัฐบาลในการลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ค่อยเห็น เหมือนกับเขาพึ่งพาทหารให้ทำแทน ซึ่งมันไม่เห็นลีดเดอร์ชิป (ภาวะผู้นำ) ใครเป็นคนนำ ใครเป็นตัวละครเอก น่าแปลกใจว่าทำไมไม่มี กลายเป็นปัญหาเรื่องของบริจาคอะไรต่างๆ กลายเป็นว่าเสื้อแดงคุม

เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทหารโดดเด่นขึ้นมาหลังเคยถูกคนบางส่วนยี้ใส่ คิดว่ากองทัพจะมีบทบาทอย่างไรหลังจากนี้ นายกรณ์ตอบว่า ก็แค่คนบางกลุ่มที่ยี้ทหาร ตนเห็นทหารปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย ตามสิ่งที่เขาคิดว่าเขาควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบมาตลอด แต่ครั้งนี้มันมีนัยยะทางการเมืองน้อยกว่า คือไม่มีเลย ในแง่บทบาทของทหาร มันจึงทำให้โดดเด่นยิ่งขึ้นว่าทหารมีไว้ช่วยประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ดี ตนเชื่อว่าลึกๆ คนไทยส่วนใหญ่มองทหารในทางบวกมากๆ มองว่าเป็นที่พึ่งได้มากกว่าสถาบันทางการเมืองด้วยซ้ำไปหากดูประวัติศาสตร์ของไทย

เมื่อถามว่า คนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์กับกองทัพตัดกันไม่ตายขายกันไม่ขาด เป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพจะเป็นตัวช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมามีอำนาจในทางการเมืองอีกครั้ง นายกรณ์ตอบว่าไม่เกี่ยวกันเลย ต้องเอาความจริงมาพูดกัน หากวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งที่ออกมา จะเห็นว่าในเขตทหารส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการเหมารวมมันเป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมือง ที่พยายามโยงพรรคประชาธิปัตย์เข้ากับอะไรก็ไม่รู้ ตนไม่คิดว่าเป็นประเด็น นอกจากฝ่ายตรงข้ามพยายามกุขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเกลียดชังทั้งพรรคประชาธิปัตย์และทหาร เลยกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับทั้งที่แต่โดยข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

• กังขางบ 9 แสนล้านเอาไปทำอะไร?

เมื่อถามว่า หลังน้ำลดวิกฤตที่รัฐบาลต้องเผชิญคืออะไร นายกรณ์ตอบว่าเรื่องความเชื่อมั่นสำคัญมาก มันก็มีคำถามแน่นอนว่า แล้วจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า นักลงทุนเขาต้องถาม และเขาต้องมีสมมุติฐานก่อนเลยว่าจะเกิด เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นสิ่งที่นานาประเทศสนใจ และถ้ามันมีโอกาสเกิดขึ้นอีก คำถามคือเราพลาดไปอย่างไร มีอะไรจะเร่งทำเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเสนอ

“แต่นี่ยังไม่ทันไร คุณบอกแล้วว่าจะใช้เงิน 8-9 แสนล้านบาท ซึ่งผมมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเขายังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินไปทำอะไร หรือถ้าบอกว่ารู้แล้ว ก็ทำตามที่หาเสียงไว้ไง ลาก่อนน้ำท่วม ซึ่งมันตอบโจทย์ผิด ดังนั้นยังไม่ทันไร ผมว่าเขาเริ่มจะทำลายความเชื่อมั่นของก้าวต่อไปในการฟื้นฟู เยียวยา และป้องกัน เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่ามีประเด็นการเมือง มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวนำมากกว่าตัวสาระ ตอนนี้พยายามเบี่ยงเบนปัญหาเฉพาะหน้า เพราะรู้ว่ามันเละแล้ว ก็เลยดันให้คนไปพูดถึงเรื่องอนาคต แต่มันไม่ใช่ครับ วันนี้ยังไม่จบ คุณเอาตรงนี้ให้จบก่อน” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช (ภาพจากเฟซบุ้ค)
กำลังโหลดความคิดเห็น