xs
xsm
sm
md
lg

ยันนักการเมืองตัวการขวางทางน้ำฝั่งตะวันออก ชี้ รบ.ป้องสุวรรณภูมิ มรดกบาป “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปี 2549 พื้นที่สีเขีัยวทะแยงขาวทางด้านตะวันออกคือแนวฟลัดเวย์ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มทุนนักการเมืองกว้านซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวไว้ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก
ASTV ผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการ-อสังหาฯ ชี้ชัด โซนตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่มีกลุ่มนักการเมืองของกลุ่มทุนทักษิณ นักธุรกิจ หาผลประโยชน์ ล็อบบี้แก้สีผังฟลัดเวย์ หวังนำที่ดินในพอร์ตออกมาพัฒนาโครงการ ยอมรับโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ “มรดกทักษิณ” ตัวการปิดทางระบายน้ำ “มานพ พงศทัต” เสนอ 3 ทางเลือกทำฟลัดเวย์ เอกชนเตือนอย่าหลงกลแห่ไปซื้อที่ดินโซนตะวันออก หวั่นเป็นเกมปั่นราคารอบ 2 หลังสนามบินฯ พ่นพิษเรื่องแนวเสียงมาแล้ว

ตลอดระยะเวลาเส้นทางของน้ำที่บุกเข้าโจมตีพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ จ.ปทุมธานี เรื่อยมาจนถึงรังสิต และรุกคืบมายังดอนเมือง กระทั่งปัจจุบันหัวน้ำอยู่ที่สุทธิสาร รอสะสมกำลังพลเพื่อเคลื่อนทับจู่โจมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกอ่วมอรทัยท่วมทั่วถึง สูง-ต่ำขึ้นอยู่กับกายภาพของพื้นที่ ทั้งๆ มีคำถามตามมามากมายทุกภาคส่วน แม้กระทั่งนักวิชาการเองถึงกับงุนงงว่า เหตุใดพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก นนทบุรี นครปฐม ไม่ใช่พื้นที่รับน้ำจึงถูกน้ำท่วมมากมายขนาดนี้ และการที่พื้นที่โซนนี้ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำตามกายภาพของที่ดิน จึงไม่มีระบบระบายที่ดีพอ เมื่อน้ำไหลบ่าเข้าท่วม หนทางในการระบายออกสู่ทะเลจึงเป็นไปได้ยากและล่าช้า

เพราะเหตุใดพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกไล่เรียงมาตั้งแต่คลองรังสิต มีนบุรี ลาดกระบัง และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่ต่ำ ตั้งแต่ยุคสมัยโบร่ำโบราณมา จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ แก้มลิง มีการก่อสร้างคลองระบายน้ำเพื่อให้ไหลออกสู่ทะเลได้หลายเส้นทาง น้ำกลับแห้งขอด แม้ว่าขณะนี้มวลน้ำได้ไหลมาท่วมด้านนี้บ้างแล้ว ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะผันมาได้จนกระทั่งน้ำได้ท่วมคนฝั่งธนบุรีไปจนหมดแล้ว

อนึ่ง ผังเมืองกรุงเทพมหานครปี 2549 ที่ใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน กำหนดพื้นที่ชนบทอนุรักษ์และเกษตรกรรมหรือพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (ขาวลายเขียวและสีเขียว) ซึ่งเป็นจุดที่ปล่อยให้น้ำไหล อันได้แก่เขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอกและลาดกระบัง ส่วนถนน ได้แก่ 1.ถนนนิมิตรใหม่ช่วงกลาง-ปลาย 2.ถนนคลองสิบ 3.ถนนประชาร่วมใจ 4.ถนนราษฎร์อุทิศ 5.ถนนสุวินทวงศ์ 6.ถนนเจ้าคุณทหาร 7.ถนนลาดกระบัง และ 8.มอเตอร์เวย์ การระบายน้ำในโซนนี้จะผ่านคลองต่างๆ ได้แก่ คลองสามวา คลองหลวงแพ่ง คลองหนองงูเห่า และคลองลาดกระบังที่คั้นกลางด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรับน้ำจากเขตลาดกระบัง ส่งไปยังคลองด่าน และคลองสำโรง

ผังเมืองของกรุงเทพฯ เปรียบเหมือนกระดาษที่มีความลาดเอียงได้น้อย โดยฝั่งรังสิตสูงกว่าสมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่น้ำออกสู่ทะเลเพียง 3 เมตร ดังนั้น การผันน้ำจะต้องใช้เครื่องมือช่วย อาทิ เครื่องสูบน้ำ จึงจะทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้แม้ว่าระบบการระบายน้ำของ กทม.จะถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีแต่ทำมาเพื่อระบายน้ำฝน หรือน้ำทะเลหนุนเท่านั้น จึงไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรับมือกับมวลน้ำมหาศาลได้

อุปสรรคอะไรที่ทำให้การผันน้ำออกมายังกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกทำได้ยาก ล่าช้า ไม่ทันการณ์ จนคนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม ต้องถูกเลือกในการรับภาระมวลน้ำมากมายมหาศาลนานนับเดือน ทั้งๆ ที่ หากระบายน้ำมายังฝั่งนี้ได้ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

“นักการเมือง” ตัวการขวางทางน้ำ

นักวิชาการด้านผังเมืองระบุว่า การที่น้ำจากคลองรังสิตไม่ไหลมายังพื้นที่โซนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าและถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เกิดจากการบล็อกหรือปิดกั้นเส้นทางน้ำไว้ และใช้วิธีสูบน้ำเพื่อส่งน้ำให้ไหลไปยัง กทม.ด้านอื่นแทน บางส่วนไหลเข้าสู่งพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน (กายภาพของ กทม.มีความลาดเอียงน้อย การระบายน้ำจึงใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อส่งน้ำลงสู่ระบบคลองต่างๆ )

“เมื่อพื้นที่ของ กทม.ต่ำมีความลาดเอียงน้อย กทม.จึงระบายน้ำด้วยการสูบน้ำ หรือส่งน้ำไปยังคลองส่งน้ำเท่านั้น เมื่อสูบให้น้ำไหลไปด้านตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูง น้ำก็ไหลย้อนเข้าสู่ใจกลางเมืองประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ถึงได้สูบน้ำกลับมาใหม่ เมื่อน้ำไม่ได้ไหลตามธรรมชาติ จึงสรุปได้ว่ามีคนขวางการระบายน้ำไปยังกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีการขวางทางระบายของน้ำ หรืออ้างว่าพื้นที่ด้านตะวันออกสูงกว่าน้ำจึงไหลไปได้ยาก” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนไอ้โม่งที่มีอิทธิพลมากพอที่รัฐบาลยอมให้ขวางทางน้ำจนสร้างความเดือดร้อนไปทุกย่อมหญ้าเป็นใครนั้น แหล่งข่าวระบุว่า ไล่เรียงกันตั้งแต่ กลุ่มนักการเมืองที่ไม่ต้องการให้พื้นที่ของตัวเองได้รับผลกระทบ เพราะจะส่งผลต่อฐานเสียงทันที ดูจะมีน้ำหนักมากที่สุด ส่วนเป็นใครนั้นก็ต้องไปดูว่า นักการเมืองในโซนนี้มีใครบ้าง เป็นคนของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ คงไม่ต้องเอ่ยชื่อ

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางชันนั้น เชื่อว่าเกิดมาก่อนที่ผังเมืองจะออกมาจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา ยกเว้นการป้องกันเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบเพราะจะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

ขณะที่ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นอีกตัวการสำคัญ แม้ว่าจะต้องปกป้องเพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ แต่หากไล่บี้กันจริงๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ ก็ยังดันทุรังก่อสร้างขึ้นมา เมื่อไปดูในผังเมืองแล้วสนามบินสุวรรณภูมิตั้งขวางทางฟลัดเวย์พอดิบพอดี ขนาบข้างด้วยคลองลาดกระบังและคลองหนองงูเห่า

โซนตะวันออกสุดท้ายก็ต้องท่วม!

ด้าน นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น การพัฒนาในพื้นที่ขาวลายเขียว สิ่งปลูกสร้างหรือที่อยู่อาศัยจะต้องมีเนื้อที่ 1,000 ตารางวาขึ้นไป ส่วนสีเขียว พื้นที่ตั้งแต่ 100 ตารางวา การพัฒนาโครงการจัดสรรในย่านนี้ได้ต้องเกิดก่อนปี 2535 หรือมีใบอนุญาตก่อนปี 2535 ส่วนที่พัฒนาหลังจากนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งนักพัฒนาส่วนใหญ่จะรู้ข้อกฎหมายนี้ดี ดังนั้น ประชาชนที่ซื้อบ้านในย่านนี้จะต้องพิจารณาในเรื่องผังเมืองให้ดี รวมถึงผู้ประกอบการด้วย

ส่วนการพัฒนาโครงการจัดสรรจำนวนมากในย่านดังกล่าวนั้น จะต้องไปตรวจสอบว่าอยู่ในเขตของผังเมืองสีขาวลายเขียวหรือไม่ เพราะไม่ใช่ผังเมืองจะเป็นสีขาวลายเขียวทั้งหมด เพราะพื้นที่ในย่านใกล้เคียงก็สามารถปลูกสร้างได้ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในโซนนี้เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว ผู้อยู่อาศัยจะต้องยอมรับได้ว่าหากไม่ท่วมวันนี้ วันข้างหน้าก็ต้องท่วม ตามธรรมชาติของน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้ว

ชง 3 แนวทางทำ “ฟลัดเวย์”

รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขระบบระบายน้ำอย่างถาวรของ กทม.ด้วยการทำทางด่วนของน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ จากอยุธยาไปยังทะเลฝั่งสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือ จากคลองรังสิตไปยังทะเลสมุทรปราการระยะทาง 50 กิโลเมตรนั้นมี 3 วิธี คือ 1.การขุดอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลด้านสมุทรปราการ ซึ่งการก่อสร้างด้วยวิธีนี้จะแพงกว่าการก่อสร้างทั่วไปถึง 5 เท่า แต่ผลกระทบจากการเวนคืนไม่มี ซึ่งประเทศมาเลเชียได้ทำมาแล้วระยะทาง 81 กิโลเมตร ขุดเป็น 3 อุโมงค์ หากไม่มีน้ำก็ให้รถวิ่งได้

2.การทำคลองส่งน้ำความกว้างประมาณ 150-200 เมตร ซึ่งวิธีนี้จะใช้วิธีเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อสร้างคลอง และสร้างทัศนียภาพริมคลองให้สวยงามเช่นที่ประเทศเกาหลี และ 3.ทำอุโมงค์ลอยฟ้า เพื่อส่งน้ำด้านบน และสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหากไม่มีน้ำ โดยประเทศอียิปต์ทำมาเป็นเวลานานแล้ว การก่อสร้างดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท/กิโลเมตร

“การทำฟลัดเวย์มีให้เลือก 3 ทาง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีใด ความรุนแรงและความเสียหายของอุทกภัยในครั้งนี้ทำให้ รัฐบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านก็ต้องเดินหน้า โดยการใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม เพราะการทำทางเดินของน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญและควรเป็นวาระของชาติ เพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต” รศ.มานพกล่าว

อสังหาฯ บางบัวทองกระอัก คนแห่ทิ้งดาวน์

แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวยอมรับว่า โครงการที่อยู่อาศัยในโซนตะวันตกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โครงการใหม่ที่จะเปิดตัวจะน้อยลง เนื่องจากโครงการใหม่ที่เปิดขายและถูกน้ำท่วม ทางผู้ประกอบการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมโครงการให้กลับมามีสภาพตามเดิม หรือปรับปรุงให้แก่ลูกค้าใหม่ ก่อนดำเนินการโอน อย่างไรก็ตาม ในมุมมองแล้ว ราคาที่อยู่อาศัยและราคาที่ดินในโซนตะวันตก คงจะลดลงได้แต่ไม่มาก ตามสภาพของต้นทุน ขณะที่ผู้ที่ตัดสินใจจองและผ่อนดาวน์กับโครงการ หากจำนวนเงินไม่มาก ก็อาจจะตัดสินใจทิ้งดาวน์ คาดว่าจะมีประมาณ 20% สุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบการต้องนำโครงการกลับมาขายใหม่ (รีเซล) อีกรอบ

“ก็ไม่คิดว่าบ้านจัดสรรตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพงในโซนตะวันตก ทำเลราชพฤกษ์ รัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง ต้องจมไปกับน้ำ มีทั้งโครงการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตทฯ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค และบริษัท แสนสิริ เป็นต้น และคงจะเห็นได้กลุ่มลูกค้าในโครงการบ้านหรูที่ถูกน้ำท่วม จะเลือกซื้อคอนโดมิเนียมไว้รองรับกรณีไม่สามารถแก้น้ำท่วมได้อีก ขณะที่การจะพัฒนาคอนโดมิเนียมในกลางเมืองซีบีดีด้วยแล้ว คงจะยาก เนื่องจากที่ดินมีราคาแพง มีจำกัด ซึ่งขณะนี้ สุขุมวิท บางนา พระราม 3 ไม่ถูกกระทบ” แหล่งข่าวกล่าว

ชี้สนามบิน “สุวรรณภูมิ” ขวางทางน้ำ

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า เดิมพื้นที่ฝั่งตะวันออก เป็นบริเวณตามแนวพระราชดำริ กำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำมาตั้งแต่ปี 2535 หรือ แนวฟลัดเวย์ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำมาจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เพื่อระบายลงสู่อ่าวไทย แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่มีความพยายามจากนักการเมืองในกลุ่มทุนของระบอบทักษิณ รวมถึงนักการเมืองบางคนที่มีที่ดินในบริเวณดังกล่าว พยายามให้มีการปรับสีผังบริเวณแนว “ฟลัดเวย์” (ผังสีขาวลายเขียวและสีเขียว) โดยให้ปรับเป็นผังสีเหลือง อ้างเหตุผลไม่เคยปรากฎว่ามีน้ำท่วมเกิดขึ้น

“ปัญหาของบ้านเมืองในตอนนี้ เกิดขึ้นเพราะน้ำมือของนักการเมือง หากเราปล่อยให้ผังเมืองโซนตะวันออก เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว น้ำคงไม่ท่วม โดยเฉพาะมรดกที่อดีตนายกรัฐมนตรีวางไว้ ก็ทำให้เห็นว่าที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ขวางทางน้ำ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว หนองงูเห่า แต่ก็ยังไปทำ ทั้งนี้พื้นที่ฟลัดเวย์ที่ยังไม่ถูกเข้าไปครอบครองคงเหลือประมาณ 1 ใน 3” แหล่งข่าวกล่าว และชี้ว่า

ปัจจุบันมีนักการเมือง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ครอบครองที่ดินไว้มือจำนวนมาก อาทิ กลุ่มของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ (อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ เขตมีนุบรี พรรคไทยรักไทย และยังมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และกลุ่มพี่น้อง มีที่ดินใกล้แยกมีนบุรีและกระจายในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ กลุ่มนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท เวชธานี กรุ๊ป ประมาณ 500 ไร่ นายประสงค์ เอาฬาร กรรมการบริษัท ฟลอร่าวิลล์ จำกัด มีที่ดินบริเวณสุวินทวงศ์ 300 ไร่ ที่บางส่วนมีการพัฒนาไปบางแล้ว กลุ่มบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 50 ไร่ บริเวณถนนเจ้าคุณทหาร นายวันชัย ชูประภาวรรณ เจ้าของบริษัท ประภาวรรณ กรุ๊ป มีดินที่ย่านสุวินทวงศ์ประมาณ 100-200 ไร่ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ทำให้โซนตะวันออกถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เนื่องจากในช่วงก่อนที่จะก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มทุนของทักษิณ ชินวัตร และนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับ แต่หลังจากเปิดใช้สนามบินได้ไม่นานก็ประสบปัญหาเรื่องแนวเสียงที่ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยใต้แนวเสียงได้รับผลกระทบ ทำให้ความเฟื่องฟูของตลาดอสังหาฯ รอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิลดลง
ถนนอักษะ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.ไม่ได้อยู่ในแนวฟลัดเวย์ แต่โดนน้ำท่วมอย่างหนัก

สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม และขวางแนวฟลัดเวย์ที่จะนำน้ำจากกรุงเทพฯ ไหลลงสู่ทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น