xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กทม.อ่วมทุกทิศ มีสิทธิ์จมยาวถึงสิ้นเดือน ระวังกองโจรน้ำบุกทะลวงท่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องนับว่าเป็นเหตุการณ์ความระทึกขวัญคนเมืองหลวงอย่างกทม.อีกคำรบ เพราะในที่สุดแล้วรัฐบาลนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แสดงความบ้อท่าล่าช้าในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะกรณีประตูระบายน้ำคลองสามวา ที่ประชาชนภายใต้การชักใยของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก่อม็อบ เพื่อบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเป็น 150 ซม.และสุดท้ายนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ได้ตัดสินใจสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาให้สูงขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลทำให้ กทม.เข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมทั้ง 50 เขตในทันที

ดังที่ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ได้คาดการณ์ถึงผลร้ายดังกล่าวว่ามาตรการนี้ว่าจะส่งผลกระทบให้ 20 เขต กทม. ซึ่งเดิมประกาศไปว่าเป็นเขตที่จะไม่ถูกน้ำท่วม กลายเป็นเขตเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด โดยเฉพาะเขตบึงกุ่ม สะพานสูงและบางกะปิที่รอดยาก แต่ที่น่าวิตกคือน้ำจะกระจายไปตามคลองย่อยซึ่งมีอยู่กว่า 2,000 คลอง และระบบระบายน้ำของ กทม.ทั่ว 1,000 ตารางกิโลเมตร โดยคาดไม่ได้ว่าน้ำจะไปผุดที่ไหนบ้าง

แต่ดัชนีที่ทำให้คนกรุงขวัญผวามากที่สุด เห็นจะเป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ระบุว่า “ระดับน้ำในทางเหนือได้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในวันที่ 6 พ.ย. เราจะรอดแล้ว สถานการณ์หลังวันที่ 6 พ.ย.จะดีขึ้นเรื่อยๆ” เพราะทุกครั้งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกว่า “เอาอยู่ สู้ไหวค่ะ” เหตุการณ์จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามทุกคราไป

ยิ่งเมื่อตรวจสอบสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็ยิ่งไม่เห็นว่า น้ำจะเลิกถล่มกรุงเมื่อไหร่ เพราะนับวันมีแต่จะยิ่งขยายวงกว้างและทะลุทะลวงเข้าสู่พื้นที่ชั้นในมากขึ้นทุกที

กล่าวคือ ทางทิศตะวันออก หลังจากที่รัฐบาลได้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา โดยวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมในฝั่งตะวันออกยังคงใช้วิธีผันน้ำไปทางทิศตะวันออกผ่านทางคลองสามวาเพื่อระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่รับน้ำในเขตมีนบุรีหนองจอก ลาดกระบัง ลงสู่คลองด่านระบายออกอ่าวไทยต่อไป แต่ปัญหาก็คือน้ำบริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์ยังถูกระบายออกไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ถูกเติมเข้ามาจากน้ำทุ่งทางตอนเหนือ ส่งผลให้มีน้ำไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพฯมากขึ้น

แน่นอน ประชาชนที่ต้องสะดุ้งก็หนีไม่พ้น เขตบึงกุ่ม สะพานสูง บางกะปิ มีนบุรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมลาดกระบังและบางชัน เหมือนที่ถล่ม 7 นิคมอุตสาหกรรมมาแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หากนิคมอุตสาหกรรมบางชันยันน้ำไม่อยู่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 8 ที่จมน้ำ โดยนิคมฯ แห่งนี้มีมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท มีโรงงาน 93 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบริษัทผลิตอาหาร โดยมีแรงงานกว่าแรงงาน 1.4 หมื่นคน และขณะนี้น้ำก็เริ่มเอ่อเข้าท่วมให้เห็นกันอย่างระทึกขวัญไปเรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญคือ หากนิคมอุตสาหกรรมบางชันจมน้ำ หรือกรุงเทพฯ ชั้นในที่ กทม.เคยประเมินสถานการณ์ว่า 20 เขตอาจจะรอด เพราะมีปัจจัยบวกเกิดขึ้น เช่น การระบายน้ำทางตะวันออกเริ่มทำได้ดี แต่ถ้าที่สุดแล้วฝั่งลาดกระบัง มีนบุรี เอาไม่อยู่ก็จะทะลุมาถึง บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว และหากผ่านตรงนี้มาได้ก็มีสิทธิ์ที่น้ำจะไหลเข้าทะลักพื้นที่ชั้นในกทม.อีกไม่ว่าจะเป็นเขตห้วยขวาง วังทองหลาง ดินแดง พญาไท วัฒนา ราชเทวี ปทุมวัน

ก็คงโทษใครไม่ได้นอกเสียจากคำสั่งของยิ่งลักษณ์ ที่ถูกบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทยกดดันจนต้องสั่งให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาจึงเป็นใบเสร็จชิ้นดีที่มัดการตัดสินใจชนิดไม่เอาอ่าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

ขณะที่ ด้านตะวันตก ของกทม.ก็ต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นอ่วมอรทัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้ววิกฤตยิ่งกว่าฝั่งตะวันออกเป็นเท่าตัวก็ว่าได้ เพราะพื้นที่ส่วนนี้ต้องรับน้ำมาจากพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี บางกรวย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ไหลข้ามคลองมหาสวัสดิ์เข้าสู่พื้นที่เขตบางพลัด ทวีวัฒนา บางกอกน้อย และตลิ่งชัน เกือบเต็มพื้นที่แล้วโดยทรงตัวอยู่ระดับเป็นเมตรเลยทีเดียว โดยปริมาณส่วนหนึ่งได้ไหลไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่พื้นที่ศาลายา พุทธมณฑล แผ่เป็นวงกว้างปริมาณจำนวนนี้มีความเชื่อกันว่าจะถูกระบายออกไป 2 ทิศทาง คือ ผันเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน กับถูกระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือน้ำที่ล้นคลองทวีวัฒนา โดยน้ำเริ่มเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งคลอง หากน้ำเอ่อมากขึ้น น้ำมวลนี้จะไหลเข้าเขตบางบอน บางขุนเทียน บางแค ภาษีเจริญ บางกอกน้อย ท่าพระ ซึ่งพื้นที่รอบนอกแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างต้นนี้จะได้ผลกระทบน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

และเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. ได้ประกาศให้เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพ เนื่องจากมีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับฝั่งตะวันตกน่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากไม่ได้มีการออกแบบผังเมืองเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วม อีกทั้งไม่มีถนนขวางทางน้ำ ถนนวงแหวน หรือคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำไหลทะลักมาเร็วและแรงกว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออก ขนาดนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังยอมรับว่าบ้านตัวเองอยู่บริเวณนี้ อาจต้องจมยาวเป็นเดือน

เรื่องนี้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติ ม.รังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อม นานาชาติสิรินธร ได้แสดงความวิตกถึงพื้นที่ฝั่งตะวันตกว่า "พยายามชี้ให้รัฐบาลทราบหลายครั้งว่าให้หันมาสนใจการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกให้มากๆ เพราะว่าแทบจะมันไม่มีคลองระบายน้ำเลย ที่สำคัญมันยังมีคลองขวาง ขวางอย่างเดียว ฉะนั้นขณะนี้มันจะรับ ส่งก้อนน้ำมหึมาเป็นทอดๆ ท่วมไล่เป็นบล็อกๆ แต่ละพื้นที่จะหนักหนามากกว่าฝั่งตะวันตกมาก เพราะไม่รู้จะระบายน้ำไปไหน จะเอาไปท่าจีนน้ำก็สูง ส่งไปเจ้าพระยาก็สูงอีก แถมขณะนี้คันกั้นน้ำก็แตกหนัก เรื่องนี้รัฐบาลต้องตระหนักให้มากๆ ซึ่งฝั่งตะวันตกรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาทันที”

กลับไปทางฝั่งเหนือก็ต้องเรียกว่ากระเจิดกระเจิงกันถ้วนหน้าไม่เว้นแม้แต่ ศปภ.เองก็แทบเอาปี๊ปคลุมหัวเดินกันทั้งคณะ เพราะแม้แต่ศูนย์บัญชาการของรัฐบาลเองแท้ๆ ที่ดอนเมือง ก็ยังปกป้องดูแลเอาไว้ไม่ได้ จนต้องย้ายไปที่เอนเนอยี่ คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นตึกของบริษัท ปตท. และทำท่าว่าน้ำจะตามไปราวีอย่างไปเลิกรา

สำหรับทางด้านเหนือนั้น ต้องรับน้ำเอ่อล้นคลองมาจากรังสิตโดยเส้นทางได้รับผลกระทบได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางเขน รามอินทรา เส้นทางนี้น้ำได้ไหลมาตามทางถนนวิภาวดีรังสิตและพลโยธินแล้วอย่างหนักหน่วง กล่าวคือด้านถนนพหลโยธินน้ำได้บุกเข้าโจมตีราบเป็นหน้ากลองไล่ตั้งแต่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ราบ 11 สี่แยกเกษตร เสนานิคมมาจนถึงเมเจอร์รัชโยธินและ SCB ปาร์ค ส่วนด้านถนนวิภาวดีรังสิตก็กินยาวมาตั้งแต่สนามบินดอนเมืองอันเป็นที่ตั้งของศปภ. เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ถนนประชาชื่นเลียบคลองประปา แยกพงษ์เพชร ประชานุกูล จนถึงวัดเสมียนนารี

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่น้ำทั้งสองสายจะมาบรรจบกันที่ห้าแยกลาดพร้าว จากนั้นก็บุกตะลุยเข้าสู่พื้นที่ชั้นในสุดแต่มวลน้ำจะเลือกทางเดินไปทางไหน โดยถ้าหากน้ำจากพหลโยธินเลี้ยวซ้ายก็มุ่งหน้าเข้าสู่รัชดาภิเษก ห้วยขวาง ดินแดง ทะลุไปจนถึงสุขุมวิท ส่วนน้ำจากห้าแยกลาดพร้าวก็จะบุกตะลุยผ่านใจกลางเมืองมุ่งหน้าเข้าสู่บางซื่อและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

และคำเตือนที่ชวนให้คนกรุงระทึกขวัญปิดท้ายเห็นจะหนีไม่พ้น คำเตือนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ให้สัมภาษณ์ภายหลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่ประสบอุทกภัยวันที่ 3 พ.ย.ว่า ปริมาณน้ำทางทิศเหนือที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา เหนือคลองรังสิตยังมีจำนวนมาก
หรือนั่นหมายความว่า ยังมีมวลน้ำก่อนใหญ่จาก “อยุธยา” และ “รังสิต” เตรียมบุกเข้า กทม.อีกระลอกหนึ่ง

ขณะเดียวกันที่คนกรุงเทพฯ ต้องระวังไม่แพ้กันคือกองทัพน้ำที่บุกทะลวงเข้ามาทาง “ท่อระบายน้ำ” ของ กทม.ดังเช่นที่ปรากฏในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ เสี่ยงหนักเข้าไปอีก ดังคำสารภาพของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ที่ยอมรับว่า อาจมีเอ่อท่วมขึ้นมาจากท่อระบายน้ำบ้าง ซึ่ง การควบคุมน้ำที่เอ่อมาจากท่อระบายน้ำนั้น ทำได้อยาก

ดังนั้น จงอย่าถามว่า กทม.จะตกอยู่ในวงล้อมของน้ำนานแค่ไหน

แต่ขอให้เตรียมตัวและเตรียมใจ รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ด้วยใจระทึกไปอีกนานนับเดือนทีเดียว

กำลังโหลดความคิดเห็น