ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระหน่ำซ้ำเติม “วิกฤตมหาอุทกภัย” ให้หนักเข้าไปอีก จากกรณีการพังประตูระบายน้ำ “คลองสามวา” จนส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมเพิ่มเติมในหลายเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการและแก้ปัญหาของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม กรณีคันกั้นน้ำพังทลายที่ผ่านมา นอกจากสาเหตุจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากแล้ว ยังเกิดจากปัญหาการเข้าไปพังคันกั้นน้ำของประชาชนในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ปทุมธานี หรือเขตสายไหม และดอนเมือง โดยมีนักการเมืองไปยุยงให้ชาวบ้านเข้าไปพังคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้ท่วมบ้านของชาวบ้าน โดยหวังผลทางการเมืองของตน กรณีการพังประตูระบายน้ำที่ “คลองสามวา” ก็เช่นเดียวกัน
โดย “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” เขตมีนบุรี กำลังเป็นอีกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้จะรับผลกระทบ ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวามากกว่าเดิม โดยหากนิคมอุตสาหกรรมบางชันยันน้ำไม่อยู่ ก็จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 8 ที่จมน้ำ ซึ่งนิคมฯ แห่งนี้มีมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท มีโรงงาน 93 แห่ง แรงงาน 1.4 หมื่นคน
โดยก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร กทม. ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาเตือนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลยกประตูระบายน้ำคลองสามวาขึ้นในระดับ 1 เมตร ตามแรงกดดันของชุมชน จะเกิดผลกระทบอย่างมากและรุนแรงกว่าเดิม โดยจะทำให้กรุงเทพฯ ท่วมทั้ง 50 เขต และที่เคยประเมินว่า 20 เขตมีโอกาสรอดนั้น ก็จะไม่เหลือเลย โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในที่รับน้ำจากคลองสามวา 3 เขตแรก คือ บางกะปิ สะพานสูง และบึงกุ่ม มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำสูง
อีกทั้ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยประกาศว่า จะต้องรักษากรุงเทพฯ ชั้นในไว้ให้ได้ เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ รวมถึงจะปกป้องไม่ให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมที่ยังเหลือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แต่สุดท้าย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับเป็นคนเซ็นอนุมัติให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองพูดไว้โดยสิ้นเชิง
โดยการออกมาชุมนุมกดดันของชาวบ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดประตูระบายน้ำ “คลองสามวา” ครั้งนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือ “นายวิชาญ มีนชัยนันท์” จากเขตมีนบุรี และ “นายจิรายุ ห่วงทรัพย์” จากเขตคลองสามวา มาร่วมเจรจาและสนับสนุนชาวบ้าน ซึ่งทั้งสองได้ออกมาปรากฏตัวให้ชาวบ้านเห็นหน้าหลังจากที่ปัญหาลุกลามใหญ่โตแล้ว ก่อนที่จะใช้อำนาจ ส.ส.เปิดประตูระบายน้ำ 1 เมตรทันที ทั้งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ทราบข้อตกลงระหว่าง ส.ส.เพื่อไทย กับชาวบ้าน โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้จบแค่ 80 ซม. จากเดิมอยู่ที่ 70 ซม. แต่ที่สุดก็ยอมเซ็นให้เปิด 1 เมตร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะออกมาชุมนุมกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปหลายที่ แต่ไม่มีใครมาช่วย เคยโทรศัพท์ไปที่สำนักงานเขตคลองสามวา หรือแม้กระทั่งโทรหา “นายจิรายุ ห่วงทรัพย์” ส.ส.ในพื้นที่ ก็แค่รับเรื่องไว้ ไม่ได้เข้ามาช่วยอะไรเลย ไม่เหมือนเวลาหาเสียง ลึกขนาดไหนก็ลุยน้ำลุยโคลนเข้ามาหา พอได้เป็น ส.ส.เข้าไปในสภา ถึงคราวชาวบ้านเดือดร้อนไม่เคยเห็นหน้าลงมาดูแลเลย
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งถ้ารัฐบาลมีคำชี้แจง ทำความเข้าใจ และดูแลปัญหาความเดือดร้อนให้ทั่วถึงจริงๆ อย่างเช่น อธิบายถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ ก็อาจลดความเครียดของชาวบ้านลงได้บ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจปล่อยให้เกิดม็อบชาวบ้านพังประตูระบายน้ำ จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะจมน้ำ
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของส.ส.ในพื้นที่อย่าง “วิชาญและจิรายุ” ที่พอเหตุการณ์บานปลายขึ้นมา ก็เอาแต่ปัดสวะให้พ้นตัว โดย “จิรายุ” ระบุว่า กทม. ไม่เคยมาเจรจากับชุมชนแห่งนี้ และไม่อยากให้ กทม. ปกป้องนิคมอุตสาหกรรมบางชันมากเกินไป เพราะหากไม่ได้รับคำตอบที่ดี ประชาชนก็จะปิดถนนต่อไป และอาจลุกฮือพังประตูระบายน้ำได้
ขณะที่ “วิชาญ” ก็ออกมาปัดพัลวันว่า ไม่ได้เป็นคนปลุกม็อบ แต่มีมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ โดยวิชาญอ้างว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งหลงกับคำยุยงของฝ่ายการเมืองบางฝ่าย มีคนขับรถยนต์ยี่ห้อ “ออดี้” ไปยุยงประชาชนให้เปิดประตูน้ำ ทำให้เรื่องลุกลามไปเป็นเรื่องการเมือง
"ประเด็นนี้มีสาเหตุมาจากมือที่ 3 ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งไม่โทษว่าเป็นฝ่ายไหน แต่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลแน่นอน คิดว่าคงจะเป็นสำนึกส่วนตัวของนักการเมืองคนนั้นมากกว่า นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีการว่าจ้าง เพราะมีคนจากนอกพื้นที่ส่วนหนึ่งเข้ามาผสมโรงด้วย ซึ่งผมได้ถ่ายวิดีโอบันทึกภาพไว้หมดแล้ว" วิชาญ ซึ่งไปเปิดประตูน้ำ โดยตัวเขาไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ระบุ
ส่วน “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ก็กลับลำ 360 องศา เมื่อรู้ว่าน้ำเริ่มกระทบนิคมอุตสาหกรรมบางชัน หลังเปิดประตูน้ำคลองสามวา 1 เมตร ก็อ้างว่าเป็นน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำ ไม่ได้ไหลมาจากประตูระบายน้ำคลองสามวา แต่ยอมรับว่านิคมอุตสาหกรรมบางชันจะได้รับผลกระทบบ้าง และถ้าแก้ไขปัญหาหูประตูระบายน้ำคลองสามวาเสร็จ สถานการณ์จะคลี่คลาย จนล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แจ้งข่าวว่า รัฐบาลเปลี่ยนท่าทียอมให้ กทม.เป็นผู้ตัดสินใจในการลดระดับประตูระบายน้ำคลองสามวา
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ “คลองสามวา” สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดใหญ่หลวงในการแก้วิกฤตน้ำท่วมของ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด กลับไปกลับมา เป็นไม้หลักปักขี้เลน จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปทั่ว
ความจริงแล้วก็น่าเห็นใจชาวบ้านริมคลองแห่งนี้ ที่เกิดความเครียดสูงเพราะต้องทนอยู่กับน้ำมาร่วมเดือน โดยไม่มีใครมาช่วยเหลือ หรืออธิบายว่าน้ำจะท่วมอีกเท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าการเปิดประตูน้ำจะช่วยถ่ายน้ำไปด้านล่าง เพื่อบรรเทาเบาบาง “ทุกข์” ที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เพราะแม้จะร้องเรียนไปยังนักการเมืองในพื้นที่ ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับแต่อย่างใด สุดท้ายจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการรวมตัวประท้วง ปิดถนน เพื่อบีบให้เปิดประตูระบายน้ำ โดยเชื่อว่าน้ำที่ท่วมขังมานานจะลดลงได้บ้าง
แต่ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ “คลองสามวา” ที่ชาวบ้านรวมตัวกดดันให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1 เมตร และสุดท้ายรัฐบาลก็ตัดสินใจสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำตามที่ชาวบ้านชุมนุมเรียกร้อง แม้จะแก้ปัญหาการปะทะกันไปได้ แต่ก็จะสร้างปัญหาต่อเนื่อง และที่สำคัญนั่นอาจเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านทุกพื้นที่เห็นแล้วว่าการรวมตัวกดดัน “มันได้ผล” และการเอาแบบอย่างอาจจะลามไปทั่ว แผนการระบายน้ำไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล หรือของ กทม. จะเอาไม่อยู่ และสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดจลาจลอย่างยากที่จะควบคุม
เพราะรัฐบาลได้สร้างมาตรฐานขึ้นมาแล้วที่ “คลองสามวา” หรืออาจเรียกได้ว่า “สามวาโมเดล” และที่นั่นอาจกลายเป็นจุดจมของ “รัฐนาวาปู” !?