ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากความดื้อรั้นและความอ่อนด้อยในการบริหารงานของรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลถล่มพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของชาติอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ถูกกระแสน้ำถาโถมสร้างความเสียหายไปแล้วกว่า 50% ของพื้นที่ จนกล่าวได้ว่าอุทกภัยครั้งนี้นับเป็นมหาพิบัติภัยครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และก่อให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจอย่างยากที่กอบกู้กลับคืน
ประชาชนกว่า 8 ล้านคนได้รับผลกระทบ ไร้ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 15 ล้านไร่ นิคมอุสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่งพังยับ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน สวนอุตสาหกรรมแฟ็คตอรี่แลนด์ สวนอุตสาหกรรมนวนคร หรือสวนอุตสาหกรรมบางกะดี โรงงานภายในนิคมฯได้รับความเสียหายถึง 838 โรงงาน มูลค่าความเสียหายรวม 237,410 ล้านบาท แต่หากนับรวมความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ตั้งแต่เดือน ก.ค.- ต.ค.2554 พบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 8 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ชัยนาท นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทองและอุทัยธานี รวมทั้งสิ้น 9,859 โรงงาน มูลค่าความเสียหายรวม 474,750 ล้านบาท และส่งผลให้มีคนว่างงานทันทีกว่า 660,000 คน
ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความเสียหายมูลค่ามหาศาลและความเดือดร้อนแสนสาหัสที่ประชาชนได้รับจากมหาอุทกภัยครั้งนี้เนื่องเพราะรัฐบาลไม่ได้มีแผนที่จะรับมือหรือแก้ปัญหาตรงหน้าแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ การป้องกันไม่ให้มีการทำลายคันกั้นน้ำซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯมากขึ้น ไม่มีแผนที่จะดูแลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม หรือแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนอันเนื่องมาจากแหล่งผลิตได้รับความเสียหายและเส้นทางลำเลียงถูกตัดขาดจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้
แต่ล่าสุด ‘นายกฯยิ่งลักษณ์’ กลับออกมาประกาศนโยบายขายฝันจะฟื้นฟูประเทศไทยหลังน้ำลด ภายใต้แผน ‘New Thailand' (นิวไทยแลนด์) ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงถึง 8 แสนล้านบาท โดยระบุว่าเป็นงบที่ใช้ในการฟื้นฟูระยะสั้น 1 แสนล้านบาท และใช้ในแผนงานระยะยาว 7 แสนล้านบาท ขณะที่การแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากอุทกภัยที่รออยู่ตรงหน้ากลับไม่ได้รับความใส่ใจ ราวกับจะบอกว่า “ปล่อยให้ท่วม ปล่อยให้ฉิบหายไป แล้วค่อยมาฟื้นฟู” !!
ที่สำคัญหากหยิบแผน 'นิวไทยแลนด์' ขึ้นมาพินิจดู ก็จะรู้ว่าหาได้มีรายละเอียดใดๆ บรรจุอยู่ในแผน เพียงแต่บอกว่า เป็นเรื่องของการปรับปรุงการบริหารจัดการด้านน้ำ และฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตอุทกภัยโดยจะมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้นับเป็นมุขตลกที่ขำไม่ออก เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลปั้นตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ขึ้นมาลอยๆ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะนำงบประมาณจำนวน 8 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ไปใช้ทำอะไร แล้วที่ว่าจะฟื้นฟูประเทศนั้นจะฟื้นฟูอย่างไร เพียงแต่บอกว่าจะจ้าง 'คณะกรรมการที่ปรึกษาจากต่างประเทศ' มาพิจารณา ??
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าอะไรที่ทำให้รัฐบาลไทยเชื่อว่าต่างชาติจะรู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ดีกว่านักวิชาการไทยที่กระจายอยู่ในหลากหลายสาขา หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าใจว่าบรรดานักวิชาการไทย 'จมน้ำตาย' ไปกับอุทกภัยครั้งนี้หมดแล้ว
นอกจากนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะนำเงินจำนวน 8 แสนล้านบาทมาจากไหน โดยเบื้องต้น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ระบุว่า การทำโครงการนิวไทยแลนด์นั้นรัฐบาลจะพิจารณาทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ 1.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ว่าจะนำมาใช้ในส่วนใดได้บ้าง
และต่อมานายพิชัยได้ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เงินที่จะใช้ในโครงการนิวไทยแลนด์จะแบ่งเป็นเงินที่ใช้ในแผนระยะสั้น และเงินที่ใช้ในแผนระยะยาว โดยวงเงินที่จะนำมาใช้ในระยะสั้น จะอยู่ที่ 130,000 ล้านบาท โดย 50,000 ล้านบาท จะมาจากการงบประมาณขาดดุลปี 2555 เพิ่มเติม และอีก 80,000 บาท มาจากกระทรวงทบวงกรมตัดงบประมาณมาให้กระทรวงละ 10%
ขณะที่วงเงินที่จะใช้ในแผนฟื้นฟูระยะยาว ซึ่งจะอยู่ที่ 600,000-800,000 ล้านบาทนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำมาจากไหน ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการเสนอหลายแนวคิด เช่น อาจจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลและให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้ามาซื้อ ซึ่งยังติดปัญหาว่าที่ผ่านมา ธปท.ไม่สามารถซื้อพันธบัตรในประเทศได้ ซื้อได้เฉพาะพันธบัตรประเทศอื่นเท่านั้น ดังนั้นหากจะดำเนินการตรงนี้ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อน และที่สำคัญต้องดูว่า ธปท.มีเงินมากพอที่จะซื้อพันธบัตรดังกล่าวหรือไม่ ?
แต่หากย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของนายพิชัยในครั้งแรกที่บอกว่าจะพิจารณานำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ ก็น่าจะแปลความได้ว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังจะล้วงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็น 'หีบสมบัติของชาติ' ซึ่งมีเงินสะสมอยู่ 1.89 ล้านเหรียญสหรัฐออกมาถลุง ทั้งๆที่รู้ดีว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินกองคลังที่เราจำเป็นต้องมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แน่นอนว่าการนำเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นทางการเงินของชาติและความเชื่อมั่นของไทยในสายตาต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน 'รัฐบาลปู' ก็ยังดูลู่ทางเผื่อไว้ หากไม่สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ในโครงการนิวไทยแลนด์ได้ ก็อาจใช้วิธีกู้เงินจากต่างประเทศ โดยทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะเตรียมที่จะร่างกฎหมายเงินกู้ทุกรูปแบบ โดยงานนี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบน.เตรียมร่างกฏหมายกู้เงินทุกรูปแบบเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพื่อรองรับโครงการนิวไทยแลนด์ โดยรอเพียงความชัดเจนของตัวเลขในการใช้เงินเท่านั้น
“ หากเป็นการใช้เงินในระยะสั้นภายใน 1 ปี ก็จะออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายใน 45 วัน แต่หากเป็นการใช้เงินทุนระยะยาวก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะการลงทุนบริหารจัดการด้านน้ำที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการใหม่กับโครงการเก่าให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ซึ่ง สบน.กำลังรอรัฐกรอกจำนวนเงินที่จะกู้ นอกจากนั้นขณะนี้ สบน.ยังมีช่องทางที่จะกู้เงินได้อีก 2 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ตามกรอบวินัยการคลัง และหากกู้อีก 8 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมก็ยังทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% ซึ่งยังสามารถจัดการได้ แต่หากจะกู้เกิน 8 แสนล้านบาท ก็ต้องประเมินสภาวะเศรษฐกิจด้วย” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือชื่อของแผนฟื้นฟูประเทศไทยภายหลังน้ำลด ซึ่งใช้ชื่อว่า 'New Thailand' ซึ่งช่างพ้องชื่อพ้องเสียงกับคำว่า 'รัฐไทยใหม่' อย่างน่าแปลกใจยิ่ง จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าโปรเจ็กต์นิวไทยแลนด์ของ 'นายกฯยิ่งลักษณ์' มีนัยอะไรแอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ความชัดเจนในรายละเอียดของโครงการ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา
กระทั่งล่าสุดผู้ที่มีวุฒิภาวะระดับนายกรัฐมนตรีอย่าง 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ต้องออกมาแก้เกี้ยวว่าชื่อ 'นิวไทยแลนด์' นั้นไม่ใช่ชื่อโครงการที่แท้จริง เป็นแต่เพียงชื่อ 'เล่น' เท่านั้น
“ ไม่มีคำว่านิวไทยแลนด์ อาจจะเป็นชื่อที่เรียกกันเล่นๆ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำแบบถาวรมีคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว” นายกฯยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการนิวไทยแลนด์
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ออกมารับลูกว่า “คำว่านิวไทยแลนด์ ที่ผมระบุถึงเป็นเพียงแค่มุข หรือ กิมมิก เท่านั้น แต่จุดประสงค์อยู่ที่วิธีการทำงานว่าจะทำอย่างไร ที่จะใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส ในการฟื้นฟูประเทศใหม่”
นอกจากนั้นยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วแนวคิดในการทำโครงการ 'นิวไทยแลนด์' นั้นออกมาจากคนในรัฐบาลเพื่อไทย หรือว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่สั่งตรงจาก ''ดูไบ' กันแน่ เพราะหากดูจากข้อความในทวิตเตอร์ของ 'พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร' จะพบว่าทักษิณได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ดังกล่าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @Thaksinlive ระบุว่า ตนได้พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคนในรัฐบาลถึงแนวทางการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปก่อนการประชุมเอเปก
สอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้เป็นพี่ชายผ่านทางสไกป์ (Skype; โปรแกรมสำหรับคุยโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต) โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมปรึกษาด้วย โดยประเด็นที่พูดคุยกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และแผนฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำลด
และหากพิจารณาจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จะพบว่าเธอบริหารงานต่างๆตามคำบัญชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นพี่ชาย และเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง
ส่วนรายละเอียดของอภิมหาโปรเจ็กต์ 'นิวไทยแลนด์' ตามบัญชาของทักษิณจะเป็นเช่นไร จะมีการชักหัวคิวจากเงินกู้อย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ...เป้าหมายของโปรเจ็กต์นี้จะเป็นการปรับโครงสร้างประเทศเพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่กระบวนจัดตั้ง 'รัฐไทยไหม' อย่างที่บางคนวิตกกันหรือเปล่า ?
คงต้องสอบถามจาก นายกฯยิ่งลักษณ์ และนายใหญ่จาก 'ดูไบ' เท่านั้น !!