ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุด “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ยอมรับแล้วว่า ไม่สามารถปกป้อง “กรุงเทพมหานคร” ให้รอดพ้นจากมหาอุทกภัยที่กำลังเคลื่อนทัพประชิดกรุงและรอวันบุกโจมตีได้ โดยประจักษ์พยานที่ชัดเจนคือการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 27-31 ตุลาคมเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งนั่นหมายความว่า ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้หนักหนาสาหัสเกินกำลังที่จะรับมือได้ จึงจำเป็นที่จะต้องปิดเมืองหลวงเพื่อให้ประชาชนอพยพออกไปจากพื้นที่ก่อนที่สึนามิน้ำจืดจะถาโถมเข้าใส่จนก่อให้เกิดความโกลาหลและยากยิ่งต่อการควบคุม
ที่สำคัญคือ เป็นการยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน ภายหลังจากบิดเบือนความจริงและโกหกประชาชนมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนเต็มๆ ด้วยวลี “เอาอยู่ค่ะ”
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ใครคือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้กรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เยี่ยงนี้
และใครคือคนที่จะต้องรับผิดชอบต่อความพินาศฉิบหายของมหานครแห่งนี้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคเพื่อไทย(พท.)
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)
หรือกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี “นายบรรหาร ศิลปอาชา” ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่ด้านหลัง
ใครคือคนที่ทำให้ประชาชนคนไทยต้องตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเช่นนี้
**จำเลยที่ 1 ปูแดงและพรรคเพื่อไทย
12 ตุลาคม 2554เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ห้องประชุม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นการส่วนพระองค์
เวลา 19.55 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “พระองค์ทรงรับสั่งเรื่องของน้ำครั้งนี้ก็มากจริงๆ และกระทบความเสียหายเป็นจำนวนมาก และพระองค์ทรงเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์นี้ พระองค์ท่านก็ได้ให้ความสำคัญในการเร่งระบายในด้านตะวันออก อย่างที่เราได้เร่งระบายน้ำและมีการขุดคลอง ซึ่งต้องเร่งรัดการขุดคลองเพื่อให้เกิดการระบายน้ำให้เต็มที่ ส่วนด้านตะวันตกต้องดูการหาพื้นที่หรือคลองในการระบายน้ำ”
นี่คือเงื่อนปมที่สำคัญยิ่งอันเป็นสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ มิอาจหลีกเลี่ยงจากมหาอุทกภัยครั้งนี้
ยิ่งถ้าหากพิจารณาวันและเวลาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เองก็ยิ่งเห็นถึงต้นเหตุแห่งความพินาศฉิบหายที่เกิดขึ้น
กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานคำแนะนำให้เร่งระบายในด้านตะวันออก แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้ มีความชัดเจนยิ่งว่า รัฐบาลไม่มีปัญญาที่จะเร่งระบายน้ำลงสู่ด้านตะวันออกได้ตามที่พระราชทานคำแนะนำแต่อย่างใด โดยตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยอมรับเองว่า การระบายน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ไม่เป็นผล เฉกเช่นเดียวกับการระบายลงฝั่งตะวันตก กระทั่งมวลน้ำก้อนมหึมากลายเป็น “สงครามน้ำ 9 ทัพ” ที่บุกเข้าถล่มเมืองหลวงของประเทศไทยในทุกทิศทุกทาง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนกลับไปถึงรากเหง้าของปัญหาก็จะพบว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลมาจากธรรมชาติเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นผลพวงมาจากทั้งความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่เต็มไปด้วยความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่เคยนำความล้มเหลวนั้นเป็นบทเรียนในการรับมือ รวมถึงการเล่นเกมการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่สุดท้ายก็กลายเป็นเกมร้าย เกมรัก ที่มีประชาชนเป็นผู้รับกรรม
ความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำเริ่มต้นขึ้นจากนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด ด้วยการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ล้มเหลว ดังจะเห็นได้จากคำรับสารภาพของนายกฯ รัฐมนตรีเองเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “เราดูแลมา 3-4 เดือนแล้ว บางส่วนเข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และเจอพายุ 4 ลูกติดต่อกัน โดยปกติแล้วเจอพายุลูกหนึ่งก็จะถูกระบายผ่านเขื่อน และมีช่วงพักในการระบายน้ำ แต่วันนี้ไม่ใช่ เจอลูกหนึ่งก็เก็บไว้ๆ และเจออีกหลายลูกก็ยังเก็บต่ออีกกลายเป็นปริมาณที่สะสมมาถึง 4 ลูก”
คำถามที่เกิดขึ้นจากคำตอบของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็คือ เธอรับรู้ข้อมูลข้างต้นนี้มานานมากน้อยแค่ไหน และรู้แล้วทำไมถึงยังปล่อยให้ปัญหาหมักหมมจนยากยิ่งที่จะแก้ไข
ถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์เพิ่งรู้ก็ย่อมแสดงว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา เธอบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ และไม่รู้ข้อมูลใดทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว คงไม่ตัดสินใจไปตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย”(ศปภ.) ที่สนามบินดอนเมืองจนต้องถูกน้ำจู่โจมอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเช่นนี้
แต่ถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์รู้ตั้งแต่เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ก็แสดงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเธอหายใจทิ้งไปวันๆ โดยมิได้แก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย หรือถ้าแก้ปัญหาก็เป็นไปอย่างเอ้อระเหยลอยชาย คือดูเบาปัญหาจนมวลน้ำจากทุกทิศทุกทางมารวมตัวกันเพื่อจู่โจมกรุงเทพฯ เช่นนี้ มิหนำซ้ำยังปล่อยให้บรรดามาเฟียผู้มีอิทธิพลทางการเมืองทั้งในสังกัดพรรคตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลขัดขวางการเปิดปิดประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อคะแนนเสียงทางการเมืองอีกต่างหาก
ในช่วงแรกเริ่มที่น้ำท่วมได้ก่อปัญหาให้กับบ้านเมืองในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนในระดับที่ไม่ได้หนักหนาสาหัสเยี่ยงนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ใช้การตลาดโฆษณาหาเสียงไปวันๆ ด้วยการบัญญัติศัพท์อย่าง “บางระกำโมเดล” ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพว่า ได้เตรียมการรับมือเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วโมเดลดังกล่าวก็มิได้เคยปรากฏให้เป็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
จากนั้นเมื่อห่าฝนเริ่มหนาเม็ดขึ้นและบุกเข้าถล่มเมืองหน้าด่านไล่ตั้งแต่นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง เรื่อยมาจนถึงอยุธยา การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลก็ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม แถมยังโชว์เหนือ “อวดดี” ด้วยการประกาศศักดาที่จะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีปัญญาที่จะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เอาไว้ได้ พร้อมส่งผลทำให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศเสียหายนับเป็นแสนๆ ล้าน และมีแรงงานได้รับผลกระทบ 4-6 แสนคน
กล่าวเฉพาะสำหรับกรุงเทพฯ หากยังจำกันได้ ก่อนหน้าที่กองทัพน้ำจะรวมตัวกันจู่โจม ในราวต้นเดือนตุลาคม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "เดี๋ยวเราคุยกันดีไหมคะ" จากนั้นเธอก็เดินเฉิดฉายเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปในฉับพลันทันที
และในที่สุดเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ มวลน้ำก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ดาหน้าเข้าถล่มคลองประปา ถล่มศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาอุทกภัยที่ชื่อ ศปภ. สนามบินดอนเมือง ก่อนที่จะเปิดฉากโจมตีเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ อย่างมิอาจป้องกันได้อีกต่อไป
“พลังของน้ำครั้งนี้มากเกินกว่าที่พนังกั้นน้ำ ประตูน้ำ หรือมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันไว้ได้ และมีโอกาสอย่างสูงยิ่งที่น้ำจะทะลักเข้ามาทั้งในเขตพื้นที่ชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นในของ กทม.”
ในที่สุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็เลิกโกหกและยอมรับว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ
**จำเลยที่ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-มังกรเตี้ย
ตัดฉากกลับมาที่ฟากของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีตัวละครเอก 2 ตัวคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นเกมการเมืองผ่านสงครามน้ำครั้งนี้เช่นกัน เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ กทม.ย่อมรับรู้ล่วงหน้าเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนว่า น้ำทั้งหลายทั้งปวงที่ท่วมอยู่สุดท้ายแล้วจะไหลมารวมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อออกสู่ทะเล ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกๆ ผู้ว่าฯ กทม.ยังพูดเสียงดังฟังชัดว่า กทม.สามารถรับมือน้ำท่วมได้ แต่สุดท้ายก็จำต้องยอมรับความจริงพร้อมแถลงว่า ไม่สามารถรับมือกับมวลน้ำก้อนมหาศาลได้
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ก็รู้เช่นกันว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ในทุกสงคราม ด่านสุดท้ายที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งก็คือ กรุงเทพฯ ดังนั้น การเปิดฉากเล่นเกมเพื่อช่วงชิงคะแนนทางการเมืองจึงเกิดขึ้น
เริ่มจากในช่วงแรกๆ ที่ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ไม่เคยปรากฏกายเข้าร่วมประชุมกับ ศปภ. จากนั้นเมื่อสบช่องก็เล่นเกมดิสเครดิต ศปภ.ด้วยการประกาศว่า "ขอย้ำว่าการรับฟังข่าวสาร ทั้งเรื่องการแจ้งเตือนภัย หรือผลประทบในพื้นที่ขอให้ฟังผมคนเดียว "
หรือกรณีที่ทาง ศปภ.ได้จัดถุงใส่ทรายมาให้ 8 แสนใบมาให้ กทม. โดยคุณชายสุขุมพันธุ์เปิดเกมเข้าใส่ด้วยการให้ข่าวว่า เป็นถุงกระดาษไม่สามารถบรรจุทรายกั้นน้ำได้ เล่นเอา ศปภ.ต้องรีบแก้ข่าวว่า วัสดุที่ใช้ทำกระสอบทรายนั้นไม่ใช่กระดาษ แต่เป็นโพลิเอสเตอร์ซึ่งสามารถกันน้ำได้ และได้นำไปใช้ในหลากหลายพื้นที่
รวมถึงประโยคเด็ดที่ยิงเข้าสู่ศปภ.ว่า “เมื่อศปภ.เป็นศูนย์ดำเนินการป้องกันแก้ไขน้ำท่วมทั้งประเทศ ดังนั้น กทม.ต้องดูแลให้ดีที่สุด”
เรียกว่าเกทับบลัฟแหลกกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนทีเดียว ขณะที่ ศปภ.ก็เล่นงานกลับด้วยการประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ออกคำสั่งให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำให้หมดทุกแห่ง เพื่อส่งสัญญาณให้สังคมเห็นว่า กทม.ไม่ยอมเปิดประตูเพื่อระบายน้ำลงทะเล
แต่ก็ดูเหมือนว่า ความพยายามในการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมิได้มีความหมายมากไปกว่าการเล่นเกมการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปฏิเสธไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยความอวดดีและดื้อดึงตามที่หลายฝ่ายทั้งภาคธุรกิจและนักวิชาการให้ความเห็น เพราะสุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์และศปภ.ก็ไม่มีปัญญาที่จะดำเนินการระบายน้ำให้พ้นกรุงเทพฯไปได้
ขณะที่บรรดาเบื้องสูงเบื้องต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นเกมการเมืองเตะตัดขาพรรคเพื่อไทยที่กำลังสำลักพิษน้ำท่วมอย่างไม่ยั้งเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่พยายามจะสร้างภาพเก็บคะแนนในทุกเม็ดเมื่อพรรคเพื่อไทยพลาด
เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ลดราวาศอก
ทว่า ในท้ายที่สุดทุกคนก็มิอาจเล่นเกมการเมืองหรือทำสงครามน้ำเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงได้อีกต่อไป
และนั่นนำไปสู่ภาพสุดท้ายที่คนกรุงเทพฯ ได้เห็นก็คือ การพบกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์และม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเข้าจู่โจมกรุงเทพมหานคร
แต่นั่นก็ไม่วายที่พรรคประชาธิปัตย์จะเล่นเกมการเมืองส่งท้ายด้วยการจัดฉากส่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เดินทางมาจ๊ะเอ๋กับคณะของนายกฯ ยิ่งลักษณ์และผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งแม้จะมีการแก้ตัวว่า เป็นเหตุบังเอิญ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า นั่นคือความตั้งใจสร้างภาพของนายอภิสิทธิ์และค่ายประชาธิปัตย์มากกว่า
ขณะที่อีกหนึ่งปมปริศนาซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การที่น้ำไม่สามารถระบายออกได้ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออกที่ถูกกำหนดเอาไว้จนเป็นที่รับรู้กันแล้วว่า “เป็นพื้นที่รับน้ำ”
ทั้งนี้ ผู้ที่ให้คำตอบชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ “นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร( กทม.) ที่ดับเครื่องชนอย่างตรงไปตรงมาว่า “กทม.ขอเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งเปิดประตูระบายน้ำด้านทิศตะวันออกโดยไวเพื่อระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์ลงสู่คลองรังสิต 6-13 ออกคลองหกวา และเรื่อยไปตามระบบจนระบายน้ำออกสู่แม่น้ำบางปะกง พื้นที่เหล่านี้เป็นทางระบายน้ำ ทำไมถึงต้องไปกั้น ถ้าเป็นสมัยโบราณ คนที่ทำอย่างนี้ถูกประหารเจ็ดชั่วโคตรไปแล้ว นายกฯ เป็นคนดี มีความรู้ แต่ท่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องช้า ผมไม่อยากว่าข้าราชการกรมชลประทาน แต่เบื้องหลังมันเป็นความเห็นแก่ตัวของการเมือง ลองไปถามสิว่า ทำไมพื้นที่บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา หนองจอก ทั้งที่ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำไมถึงแห้งสนิทเช่นนี้ สุพรรณบุรีก็เช่นกัน ทำไมไม่เปิดประตูระบายน้ำเข้าพื้นที่เหล่านี้บ้าง”
ใครคือเจ้านายของกรมชลประทาน
ใครคือผู้มีบารมีตัวจริงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มังกรเตี้ยจากสุพรรณบุรีมิใช่หรือ
ทว่า นอกจากมังกรเตี้ยจากเมืองสุพรรณแล้ว การที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ ส.ส.สมุทรปราการเป็นประธานคณะทำงานการผันน้ำออกทางตะวันออกก็น่าจะไขปริศนาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะทุกวันนี้ จังหวัดสมุทรปราการยังคงปลอดภัยจากน้ำท่วม 100% ทั้งๆ ที่เป็นเส้นทางน้ำผ่านและมีเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ การที่น้ำไม่ไหลไปทางตะวันออก ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเป็นห่วงและไม่ต้องการให้กระทบกับนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในแถบนั้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ฯลฯ หลังจากถูกก่นด่าจากผลงานสุดห่วยที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งก่อนหน้านี้ย่อยยับไปกับสายน้ำมาแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าว น้ำทั้งหมดจึงกองรวมกันอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร และเมื่อประวิงเวลาเอาไว้นานเสียจนมาเผชิญกับภาวะน้ำทะเลที่หนุนสูงสุด ก็ส่งผลทำให้คนกรุงเทพฯ ตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องอพยพลี้ภัยกันอย่างโกลาหล
...และจากข้อมูลทั้งหมดดังที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น คนไทยและคนกรุงเทพฯ คงสามารถสรุปได้แล้วว่า ใครที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
สิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า “นักการเมือง” ใช่หรือไม่