xs
xsm
sm
md
lg

คำพ่อสอนเรื่อง การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย กับคณะข้าราชการกรมชลประทานว่า

ทุกฝ่ายทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อยต้องสนใจว่า น้ำมันลงมาได้อย่างไร ต้องสนใจว่าประตูน้ำจะต้องเปิดปิดเมื่อไหร่ ถ้าสามารถเปิดปิดให้ตรงเวลา จะก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งระบบให้น้อยลง อาจมีผิดพลาดบ้าง น้ำท่วมบ้างแต่ก็น้อยมาก ต้องไปพิจารณาดูว่าจังหวะของการเปิดปิดประตูน้ำ เปิดก็สำคัญเท่ากับปิด ถ้าเปิดให้ถูกต้องแล้วน้ำก็ออกไป ถ้าเปิดปิดให้ถูกต้องก็ไม่ต้องใช้พลังงาน ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดเวลา ถ้าเจ้าหน้าที่รู้จักเปิดปิดให้ถูกเวลา เขาก็ได้รับความชมเชยในการทำหน้าที่ ต้องเข้าใจว่าที่เปิดหรือปิดถูกเวลาถูกจังหวะเท่ากับเป็นงานที่ทำที่ถูกต้อง ที่ดี เพราะต้องเข้าใจว่าประตูน้ำไม่ได้มีหน้าที่ปิดอย่างเดียว ประตูน้ำมีหน้าที่ทั้งปิดและเปิด ต้องอธิบายให้ทราบทุกฝ่าย ทั้งพื้นที่ของภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสานก็ต้องมีเวลาปิดเปิดให้ถูกต้อง ถ้าเปิดปิดถูกต้องจะช่วยประหยัดพลังงานและกำลังของเจ้าหน้าที่

พระองค์ ยังรับสั่งถึงการขยายผลการสร้างประตูระบายน้ำแบบคลองลัดโพธิ์ไปยังพื้นที่ อื่นๆ เนื่องจากสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีว่า เท่าที่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชสังเกตได้ว่า ถ้าน้ำเจ้าพระยานี้ก็รับน้ำได้มากโดยเฉพาะโครงการคลองลัดโพธิ์ที่อยู่ใกล้ๆ แถวนี้ สามารถระบายน้ำให้ผ่านทางประตูน้ำได้ผลดี เห็นได้ชัดว่าเวลาฝนตกหนัก น้ำสูงขึ้นมากๆ แต่ก็สามารถระบายน้ำได้ดี เพราะการระบายน้ำลงไปลงทะเลได้ดี โครงการนี้ดีเห็นได้ชัดว่าทำได้ให้ลงทะเลโดยเร็ว เพราะว่าตัวที่ผันผ่านโครงการลัดโพธิ์มีระยะไม่กี่ร้อยเมตรแต่สามารถระบาย น้ำได้ดี หลายปีมาแล้วก็มีการทำโครงการนี้ก็สำเร็จผลขึ้นมาก น้ำลดลงไปจริงๆ ถ้าพัฒนาวิธีการนี้เพิ่มเติมให้ลงทะเลแล้วชาวบ้านก็รู้แล้ว ได้เห็นว่าประสิทธิภาพของโครงการลัดโพธิ์ว่าทำได้จริงๆ

วันที่ 12 ตุลาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายรายงานสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพราะ สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้รุนแรงและเกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ทรงแนะนำให้เร่งระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และขุดคลองเพื่อช่วยการระบายน้ำ

แผนการระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เป็นพระราชดำริของในหลวงเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทรงให้ข้อเสนอแนะต่อกรมชลประทานเรื่องการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 - 14 เพื่อลดปริมาณน้ำที่ผ่านกรุงเทพมหานครให้น้อยลง โดยระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์ผ่านคลอง 13-14 มาลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จากนั้นให้ปิดประตูน้ำคลองรังสิตฯช่วงคลอง 12 เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับมาทางคลองต้นๆ และผลักดันนั้าไปตามคลองรังสิต ไปออกที่ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี ที่อยู่ปลายคลองรังสิตตรงองครักษ์ เพื่อดันน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก

อีกเส้นหนึ่งคือน้ำจากคลองรังสิตฯจะถูกส่งผ่านคลอง 13-16 ลำลูกกา ไปลงคลองหกวา ซึ่งสามารถจะระบายต่อไปยังคลองแสนแสบ น้ำในเส้นทางนี้สามารถไปออกแม่น้ำบางปะกงจากคลองหกวา และคลองแสนแสบได้ รวมทั้งยังมีคลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองย่อยอื่นๆ ที่จะระบายไปออกทะเลที่สมุทรปราการ

เพื่อที่จะผลักดันน้ำได้สำเร็จจึงมีการพิจารณาความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อดูความเป็นไปได้ที่น้ำจะไหลไปออกทางฝั่งตะวันออกได้ โดยพื้นที่ฝั่งบางปะกงจะมีความต่ำกว่าพื้นที่ฝั่งปทุมธานี ในส่วนไหนที่มีความสูงแตกต่างกันน้อยก็จะมีการสร้างประตูน้ำกันน้ำไหลย้อน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผลักดันน้ำให้ไปในทิศทางที่ต้องการ

กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ โดยการขุดลอกช่องทางระบายน้ำที่จะรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์(แยกใต้) ผ่านคลอง 1 อ. คลองผักขวาง และ คลอง 14 ในเขตโครงการชลประทานรังสิตเหนือ พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม 4 แห่ง คือ ท่อระบายน้ำรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ แยกใต้ คลอง 1 อ. คลอง 2 อ. ประตูระบายน้ำในคลองระพีพัฒน์แยกใต้ และประตูควบคุมน้ำในคลองรังสิต เพื่อควบคุมน้ำมิให้ไหลเข้าสู่คลองรังสิตช่วงธัญญบุรี และจุฬาลงกรณ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ ปี 2545

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นข้อพิสูจน์ถึงพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โครงการพระราชดำริ ที่เกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัย ที่เราเคยแต่ได้ยินได้ฟังกันมาช้านาน มาบัดนี้ก็ได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ตรงแล้วว่า โครงการเหล่านี้ มีความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การสร้างคันดินกันน้ำ การสร้างแก้มลิงรองรับน้ำ การขุดลอกคลองลัดน้ำ เพื่อย่นระยะทางและเวลาในการระบายน้ำลงสู่ทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น