“ประชา” เผย กทม.ระบายน้ำ 3 ทิศ ไร้ปัญหา ปริมาณน้ำในคลองประปาจะลดระดับลงสู่ภาวะปกติ “ปราโมช” วอน ปชช.อย่าตื่นตระหนกภาวะน้ำกระฉอก แค่สูบออกระดับน้ำจะลดลง “อานนท์” รับ บางพื้นที่ใกล้เจ้าพระยาต้องกระทบ เล็งประกาศพื้นที่หวงห้าม เปิดทาง จนท.ลุยผันน้ำ คาด ต้น พ.ย.“สถานการณ์กระเตื้อง” เหตุ ระดับน้ำทะเลลด “รมว.ไอซีที” วอน ปชช.กรองข่าวสาร อย่าตื่นตระหนก
วันนี้ (23 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ.แถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ ว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำของ ศปภ.มาจนถึงวันนี้ พบว่า 1.น้ำมาอยู่บริเวณด้านเหนือ กทม.ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเป็นไปได้ด้วยดี ใน 3 ทิศทาง คือ ทางด้านทิศตะวันออก แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำท่าจีน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของ กทม.ได้รับการแก้ไขในทุกจุดเรียบร้อยแล้ว 2.ปริมาณน้ำที่เอ่อล้นจากคลองประปาเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ขณะนี้สามารถหยุดน้ำที่ไหลเข้าคลองประปาได้เรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลา 20.00 น.ของคืนที่ผ่านมา (22 ต.ค.) และจากนี้ปริมาณนี้น้ำในคลองประปาจะค่อยๆ ลดระดับลงสู่ปกติ ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมในพื้นที่บางกระบือ บริเวณแยกเขียวไข่กานั้น ซึ่งเกิดจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทะลุคันกั้นน้ำบางส่วน ซึ่งขณะนี้คันกั้นน้ำดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว โดยทาง ศปภ.ได้ประสานทาง กทม.ช่วยเร่งระบายน้ำในส่วนที่เอ่อล้นในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ส่วนน้ำที่เอ่อล้นในพื้นที่ถนนวิภาวดีรังสิตนั้น เกิดจากปริมาณน้ำบางส่วนที่ไหลผ่านมาทางท่อระบายน้ำและเอ่อล้นขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ทาง ศปภ.ได้กำหนดแผนการระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำบนถนนสายหลัก และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน
ด้าน นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องราวของน้ำเป็นที่ประจักษ์แล้ว โดยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนหนึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ และปริมาณน้ำขณะนี้มีปริมาณทรงตัว แต่ระดับอาจเปลี่ยนไปบ้างตามช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ซึ่งทุกหน่วยสามารถดูแลปกป้องได้ แต่มีบางโอกาสที่น้ำมีการกระฉอก อันนี้ตนคิดว่าไม่มีปัญหา และขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะน้ำกระฉอกเข้ามาก็แค่สูบออกไป ทั้งนี้ช่วงเวลาวันหนึ่งที่น้ำขึ้นสูงสุดก็จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1 ชั่วโมงเพียงเท่านั้น หลังจากนั้นน้ำก็จะลดปริมาณลง
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีน้ำส่วนหนึ่ง เป็นน้ำที่เกิดจากการบากตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา เริ่มจาก อ.บางประอินทร์ เข้าวังน้อย ซึ่งตรงนี้เป็นธรรมชาติของน้ำบากตลิ่งเข้ามาก็ปะทะคลองระพีพัฒน์แยกตะวันตก ที่ไม่สามารถต้านทานได้ ก็จะออกมาเป็นช่องเข้าสู่ทุ่งรังสิต น้ำก็เอ่อนองพอประมาณ เหมือนกับปรากฏการณ์ในอดีตที่ตนเคยพบเจอมา เมื่อน้ำนองทุ่งรังสิต คลองรังสิตก็เป็นจุดรับน้ำ จึงมีความพยายามจะที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยน้ำส่วนหนึ่งลงที่แม่น้ำนครนายก ที่ระดับน้ำที่ไหลอาบทุ่งรังสิต โดยศักยภาพของคลองรังสิตระดับหนึ่งที่ดักน้ำไว้ แต่น้ำส่วนหนึ่งได้ออกไปทางซ้ายบ้าง หรือขวาบ้าง แต่น้ำก็ยังไม่หมด ก่อนจะไหลมาลงสู่คลองหกวาสายล่าง ที่เสมือนเป็นด่านสุดท้ายของบ้าน ที่จะมาปะทะกับ กทม.ทิศเหนือ ซึ่งตรงนั้นมีคันกั้นน้ำป้องกัน จากถนนพหลโยธิน และรังสิตเรื่อยมาจนแยกออกที่ถนนสายไหม พอถึงเขตคลองสามวา แนวคันกั้นน้ำทางทิศตะวันออก ก็เดินอยู่ในแนวทิศใต้ ลงไปสู่ถนนสุขุมวิทสายเก่าที่ชายทะเล ปกป้องน้ำทางทิศตะวันออก เพื่อไม่ให้น้ำเข้าสู่ กทม.ชั้นในทางทิศตะวันตก
ส่วนคันกั้นทางทิศตะวันออกและทิศเหนือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านทิศเหนือได้ต่อสู้กับน้ำที่ลงมาจากทุ่งรังสิตมาลงคลองหกวา โดยจะเห็นว่า น้ำที่ล้นถนนพหลโยธิน ซึ่งถนนพหลโยธินคือคันกั้นน้ำ ฉะนั้นน้ำที่ล้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่า จะต้องมีการเบี่ยงเบนน้ำมากพอสมควร ที่ลงคลองหกวาให้ไหลไปทางทิศตะวันออก และตัดตรงลงสู่ทางทิศใต้ ผ่านทางมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง จากนั้นให้สูบออกทางถนนสุขุมวิท
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้น หลักการในปัจจุบันนี้ เพื่อความแน่ชัด จะต้องมีการลดระดับน้ำที่คลองหกวา และควบคุมให้ได้ ด้วยการเอาน้ำออกลงทางด้านทิศใต้ ซึ่งอยู่ในเขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง ที่จะลงไปด้านล่างสู่ที่ อ.บางพลี และบางบ่อ อีกทั้งต้องทำการปกป้องไม่ให้น้ำมีทางไป และที่สำคัญที่สุด คือ น้ำที่ท่วมทุ่งรังสิตต้องมีการปล่อยให้ไหลไปอย่างคล่องๆ และจะต้องไม่มีการไปอัดอั้นน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะนี่คือจุดสำคัญ ส่วนคันกั้นน้ำถนนสายไหม ก็เป็นคันกั้นน้ำที่ทำไว้อย่างดี แต่จะปล่อยให้ระดับน้ำคลองหกวาสูงขึ้นอย่างไม่มีขอบเขตไม่ได้ จึงจะต้องแยกน้ำส่วนหนึ่งระบายลงสู่ทางทิศใต้ และทางด้านตะวันออกของ กทม.นอกคันกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลงสู่ทางด้านทิศใต้และสูบออก ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำทันที เพื่อรักษาระดับสถานการณ์
ทั้งนี้ลักษณะการตรวจสอบที่ชัดเจน คือ ถ้าน้ำไม่ล้นถนนพหลโยธิน ตรงนี้แสดงว่าสามารถรักษาระดับน้ำคลองหกวาเหนือคันกั้นน้ำอย่างได้ผล พอคลองหกวาพ้นเขตคันกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถึงเขตคลองสามวาแล้ว จะมีคันกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแนวตะวันออก และตรงนั้นจะมีคลองต่างๆ มากมายที่แยกจากคลองวา ซึ่งจะทำหน้าที่เร่งระบายน้ำจากคลองหกวา เช่น ลงไปสู่คลองแสนแสบที่จะดักน้ำ และระบายลงในแนวดิ่ง จากนั้นก็โยกน้ำไปคลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต ที่เป็นคลองสายใหญ่ที่จะนำน้ำไป นอกจากนี้ยังมีคลองต่างๆ ที่เดินอยู่ในแนวดิ่งไปทางทิศใต้ ออกสู่ถนนสุขุมวิท ที่จะทำหน้าที่สูบออก
“โดยกระบวนการอันนี้ ผมได้มาเรียนย้ำว่า นายกฯ ต้องทำให้ชัดเจน และต้องทำให้ได้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะปะทะกับคันกั้นน้ำถนนสายไหม ให้มีความชัดเจน อย่างน้อยจะต้องคงที่ และต้องให้ลดระดับลงมาด้วยเพื่อความปลอดภัย ถ้ารักษาสถานการณ์ตรงนี้ได้ ความปลอดภัยของ กทม.ก็เชื่อมั่นได้เต็มที่ ซึ่ง 2-3 วันก่อน ได้พบปะกับผู้ว่าฯ กทม.และได้อธิบายหลักการนี้ไปแล้ว ที่ กทม.ก็เข้าใจและนำไปปฏิบัติส่วนหนึ่ง” นายปราโมทย์ กล่าว
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมเขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง หากนำไปเปรียบเทียบเมื่อปี 2538 แล้ว จะพบว่าในขณะนั้นน้ำจะเจิ่งนองมาก เนื่องจากระบบการสูบน้ำไม่ดีเท่าปัจจุบันนี้ ที่มีระบบการสูบน้ำออกที่บริเวณใกล้ๆ กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีสถานีสูบน้ำมากมายที่ทำไว้แต่เดิม และสร้างเพิ่มขึ้นใหม่ โดยจะสามารถสูบน้ำออกได้มาก ฉะนั้นจะต้องมีการนำน้ำออกทางดังกล่าว ต้องให้มีการสูบออกต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานีสูบน้ำยังทำงานไม่เต็มที่ เพราะไม่มีการลำเลียงน้ำไป สมมุติถ้าเอาน้ำไป ก็จะลบการผลักดันคันกั้นน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริทางด้านทิศเหนือให้เบาบางลง และจะลดระดับน้ำที่จะไหลท่วมถนนพหลโยธิน บริเวณอนุสรณ์สถานได้ ต่อจากนั้นเหตุการณ์ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ และเรื่องนี้ตนได้ปรึกษากรมชลประทาน ซึ่งก็เห็นด้วยที่จะรักษาช่อง 8 คลองระพีพัฒน์ให้คงที่ ไม่ให้ขยายใหญ่โตไปกว่าเดิม และถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ให้เข้าไปชะลอปิดทันที เพื่อสกัดน้ำทางด้านบน
นายปราโมทย์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการนำน้ำเข้าพื้นที่ กทม.ชั้นในนั้น ตนได้พูดกับผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม.ก็ยอมรับว่ามีการระบายเข้าไป แต่เข้าไปภายใต้การกำกับควบคุมให้เหมาะสม ไม่ใช่ระบายอย่างไร้ขอบเขต และน้ำจะต้องไม่ท่วมคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ อย่างไรก็ตามจะต้องระบายไปตามศักยภาพของคอลงภายใน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมที่ปากทางเข้า ก่อนจะสูบออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลดลง อย่าไปทำให้ประชาชน 2 ข้างทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดือดร้อน
ขณะที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเสริมว่า ได้มีการดำเนินการบางส่วนตามแนวคิดของนายปราโมทย์ไปแล้ว โดยส่วนแรกคือ พยายามที่จะลดปริมาณน้ำที่มีอยู่มหาศาล เหนือคลองระพีพัฒน์ ในเขตวังน้อย บางประอินทร์ และใน อ.เมือง จ.อยุธยา โดยจะมีการผันน้ำออกไปทางตะวันออก เหนือแม่น้ำป่าสัก ที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและระดับน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่อง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเห็นว่ามาตรการนี้ได้ผลและได้มีการขยายการดำเนินการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การทำงานกับน้ำจำนวนมากจะต้องใช้เวลา และขณะนี้เราวสามารถที่จะรับน้ำลงทางด้านคลอง 13 ลงไป ได้วันละประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่พยายามที่จะไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพลาด เพื่อที่จะได้ติดตามดูว่า ไม่ได้เกิดผลกระทบอย่างรวดเร็ว และเมื่อน้ำลดไปถึงระดับหนึ่ง มาตรการขั้นต่อไป คือจะพยายามลดการเปิดบานประตูคลอง 1 - 5 ด้านบน
ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันขณะนี้มีความพยายามจะผันน้ำลงมาด้านล่างมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเขตต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ คงจะต้องได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย โดยจะพยายามจำกัดผลกระทบให้อยู่ในขอบเขตที่จะบริหารจัดการได้ ตรงนี้จะเป็นเรื่องของฝั่งตะวันออก โดยขณะนี้คณะทำงานที่นายกฯ ตั้งขึ้น ได้ประสานงานทั้งกรมชลประทาน กทม.และหน่วยงานอื่นๆ โดยตนขอยืนยันว่า หน่วยงานในระดับปฏิบัติการมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เห็นว่า อาจจะมีการดำเนินการช้าไปบ้าง เพราะเกิดปัญหาอุปสรรคในระดับพื้นที่ ในส่วนนี้ทางนายกฯ มีแนวคิดว่า หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็อาจจะต้องกไหนบ้างพื้นที่ให้เป็นพื้นที่หวงห้ามพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่เหล่านั้นได้ อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า พื้นที่ใดเข้าข่ายเป็นพื้นที่หวงห้ามพิเศษ ที่ผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้น้ำบางส่วนที่จะลงไปยังคลองทวีวัฒนา ได้มีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณปลายคลอง ออกคลองภาษีเจริญ และกระจายต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแค่ระบบสูบน้ำอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ จึงต้องเตรียมการระบบคลองต่างๆ ในบริเวณนี้ให้เป็นระบบแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ โดยเฉพาะปลายสัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้าที่จะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะมีปัญหาอุปสรรคที่คลองเหล่านี้จะระบายน้ำลงทะเล โดยเป็นที่แน่นอนว่าจะมีพื้นที่บางส่วน บริเวณฝั่งพุทธมณฑล ลงมาถึงเขตที่อยู่ทางด้านฝั่งธนบุรี และ กทม.เกือบทั้งหมด รวมถึงบางส่วนของ จ.นครปฐม ที่จะต้องมีระดับน้ำสูงขึ้นบ้างในช่วงที่น้ำขึ้น ซึ่งถ้าน้ำลงก็จะระบายน้ำลงทะเลได้ ทั้งนี้ระดับน้ำที่คาดไว้ ไม่น่าจะเกิน 50 ซ.ม.
อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า หลังจากพ้นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงไปแล้ว ประมาณสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.ระดับน้ำทะเลจะลดลง และทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ส่วนหนึ่งน่าจะกลับลงไปอยู่ในลำน้ำแล้ว ก็จะสามารถใช้ตัวลำน้ำจัดการน้ำได้ดีขึ้น ฉะนั้นสถานการณ์น่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลกระทบต่อประชาชนในกทม. ว่า สำหรับกรณีดังกล่าวนี้ ทางน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบดังกล่าวแล้ว สำหรับสถานการณ์ที่น้ำจากคลองประปาเอ่อล้นและเข้าท่วมพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ โดยในการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินแก้ไขในการที่น้ำได้ไหลเข้าสู่คลองประปาบริเวณรังสิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลา 20.00 น. คืนที่ผ่านมา (22 ต.ค. ) เพราะฉะนั้นระดับน้ำ ในคลองประปาตั้งแต่เวลา 20.00 น. จนถึวันนี้ได้ลดลงและกำลังเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้ ซึ่งเราได้ตรวจสอบ พบว่าระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ดังนั้นน้ำเอ่อล้นจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยในวันนี้ทางศปภ. ได้ประสานงานกับทางกทม. ที่มีหน้าที่ในการระบายน้ำท่วมขังเรียบร้อยแล้ว โดยให้ช่วยระบายในคลองเปรมประชากร โดยในวันนี้คงจะเร่งระดมการระบายน้ำเพื่อให้ระดับน้ำในทุกพื้นที่ซึ่งท่วมขังได้มีระดับน้ำลดลงกลับสู่สภาวะปกติ
น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ระดับน้ำในคลองเปรมประชากรที่มีระดับน้ำสูงขึ้นนั้น สาเหตุเกิดจากน้ำคลองรังสิตได้ไหลผ่านที่ชะลอน้ำเข้าสู่คลองเปรมประชากร ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่งคลองเกิดปัญหา ซึ่งทางศปภ. ได้ประสานงานกันในการนำประชาชนที่มีปัญหาในที่พักอาศัย เข้าสู่ศูนย์พักพิง
ชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการลดระดับน้ำคลองเปรมประชากรนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องของน้ำที่ท่วมบนถนนวิภาวดีรังสิต ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการพล.ต.อ. ประชา ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติหน้าที่เพื่อลดน้ำบริเวณเส้นทางการจราจรให้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการระบายน้ำในเขตกทม.จากการที่ได้เร่งระบายน้ำในส่วนของกทม. พบว่า ปริมาตรของการระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบการระบายน้ำอาจะมีบางส่วนที่ต้องเปิดทางระบายน้ำให้คล่องตัวมากขึ้น โดยได้ประสานงานกับทางกทม.ในการเปิดทางระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลอง ซึ่งทางกทม.ได้รับทราบและกำลังเร่งดำเนินการให้การระบายน้ำในกทม.มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าวว่า จากการนำเสนอข่าวสารในทุกวันนี้ที่มีหลายช่องทางนั้น ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเสนอข้อความการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นประชาชนอาจมีปัญหาในการรับข้อมูล โดยทางศปภ. ขอแนะนำข้อมูลในการรับข้อมูลข่าวสารดังนี้ คือ ถ้าหากเป็นเรื่องของข้อมูล ข้อเท็จจริง ขอให้ประชาชนได้ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รับมาเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นข้อมูลจากทางราชการก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากทางราชการ แต่ถ้าเป็นข้อมูลการแสดงความเห็น ควรพิจารณาความเห็นจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ หากเป็นการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลด้วย รวมไปถึงการนำข่าวสารไปเผยแพร่ต่อด้วย เพราะอาจนำไปสู่ให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกได้