นายกฯ แจงใช้มาตรา 31 ทำให้งานครบวงจร ยังไม่ใช้มาตรา 157 ควบคุม งง ตั้ง “พระนาย” เป็น ศปภ.ส่วนหน้า ประสานการทำงานกับ กทม. ปัดลิดรอนอำนาจ ยัน “สุขุมพันธุ์” ยังมีอำนาจบริหารอยู่ วอนให้ช่วยกันทำงาน อย่ามองว่าเป็นพื้นที่ใคร ให้ “กองทัพ-ตำรวจน้ำ” เคลียร์พื้นที่การจราจรหลักและขนส่ง เตือนประชาชนอย่ากักตุนสินค้า ใช้ช่วงวันหยุดรับมือน้ำท่วม มั่นใจประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ไม่พัง แต่อาจมีปัญหาน้ำทะลักได้ พร้อมเฝ้าระวังแล้ว
วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ระบุในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ว่าต้องรออีก 4-6 สัปดาห์สถานการณ์น้ำถึงจะคลี่คลายว่า เป็นพื้นที่ทั่วไป เพราะว่าน้ำจะค่อยๆ ระบายลงซึ่งเป็นการคาดการณ์ และเราก็จะเร่งให้น้ำระบายลงอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะทำได้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ประกาศไปและมาตรการที่เตรียมไว้ ก็จะพยามทำให้ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงอีกเมื่อไร ซึ่งคาดว่าปลายเดือนตุลาคมจะมีน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง และได้สั่งให้กรมชลประทานหาทางป้องกันและเตรียมรองรับหากน้ำทะเลหนุนสูง ส่วนการระบายก็จะเร่งทุกทาง แต่บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำก็อาจจะมีน้ำท่วมขัง เราจึงต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้น้ำลงเร็วที่สุด ซึ่งปริมาณน้ำจะลดลงไปเรื่อยๆ และไม่ขังสูง และน้ำจะไหลลงตามคลองระบายน้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 คาดว่าจะได้ผลหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอฟังผล เพราะในส่วนของการใช้มาตรา 31 นั้น เราใช้เพื่อให้ครบวงจร และเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นขั้นตอน ซึ่งการส่งรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงาน อีกทั้งเราได้ตั้งคณะทำงานที่จะเข้าไปดูรายละเอียด เพื่อที่จะทำในแต่ละจุดที่มีการสั่งการ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า วันนี้ปริมาณน้ำในคลองของ กทม.ยังมีระดับน้ำไม่มาก เพราะยังไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำทุกบานหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอฟังรายงานก่อน เนื่องจากที่เราได้ตรวจสอบ ยังมีประตูน้ำระบายบางที่ที่ยังเปิดไม่เต็มที่ ดังนั้นเราจึงต้องขอใช้มาตรา 31 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนปฏิบัติงาน ซึ่งการปิด-เปิดประตูระบายน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่วันนี้จะต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. เพราะว่าช่วงไหนที่ระดับน้ำลง ก็สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ แต่หากช่วงไหนปริมาณน้ำมาก ก็ต้องชะลอการระบายน้ำ สิ่งนี้คือการติดตามตรวจดูตลอดเวลา ไม่สามารถที่จะเปิดแช่ไว้ได้ ดังนั้นเราจึงคาดหวังว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือทำในขั้นตอนนี้เพื่อให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำเป็นไปอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า หากบางหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีมาตรการใดเพิ่มหรือไม่ เช่นมาตรา 157 การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดขั้นตอนดีกว่า วันนี้ไม่อยากบอกว่าเมื่อประกาศไปแล้วจะมานั่งจับผิดกัน ควรดูในภาพรวมดีกว่า ทั้งนี้ขอให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เมื่อเราทำหน้าที่เต็มที่แล้วก็ถือว่าทุกคนได้รับความร่วมมือและการแก้ปัญหาต่างๆ และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ต่อข้อถามว่า มีการมองว่าศปภ.ส่วนหน้าที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาใหม่มีนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผอ.เป็นการริดรอนอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “อันนี้ยังไม่รู้ ดิฉันยังไม่ได้ตั้งในส่วนของ ศปภ.ส่วนหน้า” เมื่อถามต่อว่า ศปภ.ส่วนหน้าเป็นหน่วยงานรองรับการทำงานของกระทรวงมหาดไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อันนี้จะเป็นส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันนี้ที่สั่งไปคือศปภ.ยังทำงานเหมือนเดิม เมื่อถามอีกว่า หมายถึงว่า ศปภ.ได้มอบหมายให้นายพระนายไปนั่งทำงานที่ศาลาว่าการกทม.ประสาน งานกับผู้ว่าฯ กทม.เป็นการรองรับคำสั่งนายกฯอีกทีในส่วนของกระทรวงมหาดไทยไป ดำเนินการ น.ส.ยิ่งลักษณ์นิ่งไปสักพักก่อนตอบว่า “ยังไม่มี เดี๋ยวขอเช็กก่อนนะคะ อันนี้ขอเช็กรายละเอียดก่อนเพราะดิฉันไม่ได้เขียนไป”
เมื่อถามว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่าถ้าวันนี้ท่วมกทม.มันก็อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ กทม. เพราะว่าไม่มีอำนาจในการทำงานน้อยลงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องบอกว่ามาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือการที่เราประยุกต์ใช้ขั้นตอนในกระบวน การภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างร้ายแรงเพื่อที่เราจะนำเอาระเบียบขั้นตอนต่างๆ มาใช้อย่างเต็มที่ อำนาจการทำงาน กทม.ยังอยู่อำนาจบริหารก็ยังอยู่เหมือนเดิม อย่างที่เรียนว่าทุกอย่างเราช่วยกันทำเถอะ วันนี้เราอย่ามามองว่าเป็นพื้นที่ใครเลย วันนี้เรามามองว่าเป็นคนไทยด้วยกันเรามาร่วมทำงาน ตนก็ไม่ได้มองว่าอำนาจใครแต่ว่าอะไรที่เราช่วยได้คนละไม้คนละมือ
เมื่อถามว่า สินค้าอุปโภคบริโภคในร้านสะดวกซื้อขาดแคลนจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราต้องเคลียร์เรื่องของเส้นทางคมนาคม เพราะตอนนี้ถูกปิด ซึ่งถูกปิดใน 2 ลักษณะคือ ปิดเพราะว่าน้ำท่วม และปิดเพราะว่ามีรถจอดขวางการจราจร ซึ่งทำให้รถขนาดใหญ่บรรทุกของเข้ามาไม่ได้ ซึ่งเบื้องต้นเราได้อนุญาตให้รถบรรทุกขนของเข้ามาในช่วงกลางวัน และหลังจากนี้จะมีการจัดระบบเรื่องการจอดรถ โดยจะประกาศว่ามีที่ไหนบ้างที่จะจอดรถได้ เพื่อจะเคลียร์เส้นทางการจราจรหลัก โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งเพื่อให้สินค้าเข้ามาได้ อย่างไรก็ตามจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง การขนส่งจะเข้าไปลำบาก ซึ่งต้องการบริหารจัดการของกองทัพ และทางตำรวจน้ำที่เข้าไปช่วยส่งให้ แต่บางพื้นที่ติดในเรื่องการจราจรที่เข้าไปลำบาก หากมีการเคลียร์เส้นทางการจราจรส่วนหนึ่งแล้วก็คงเข้าไปได้ ทั้งนี้ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงพาณิชย์เข้ามาตรวจตราด้วย ถามต่อว่า มาตรการการควบคุมสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ยังใช้ได้ผลหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการและติดตามมาตรการขนส่งของกระทรวงพาณิชย์
เมื่อถามว่า วันนี้พูดได้หรือยังว่าคน กทม.จะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากจะพูดเพื่อให้เราอยู่ในความไม่ประมาท เราก็อยากให้คนกรุงเทพได้เตรียมตัว ตนอยากใช้คำว่าการระบายน้ำหรือมวลน้ำที่สูงนั้น อาจจะมีโอกาสกระเฉาะบ้างในบางส่วน หากเป็นไปตามปกติในหลักการระบายน้ำ ที่มีส่วนใดเกินเป้าหมาย เช่นพื้นที่แนวคันนั้นถล่มหรือพังลง โดยเฉพาะในพื้นที่เกิดการท่วมขังสูง คงต้องพูดว่าเตรียมตัวไว้ดีกว่า เพื่อเป็นการไม่ประมาท แต่ก็ขอให้ประชาชนใน กทม.อย่าตระหนกตกใจ เพราะหากตระหนกตกใจ รีบขนของ และกักตุนสินค้า ก็จะเกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน วันนี้ยังมีเวลาและอยากให้ใช้ช่วงวันหยุดนี้ในการเตรียมตัว เพื่อที่จะได้เตรียมให้รอบคอบ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งนี้ ศูนย์ต่างๆ ที่กทม.และศปภ.เตรียมไว้ก็มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นเพียงข้อมูล แต่ที่จริงแล้วก็ไม่อยากให้ประชาชนตกใจ แต่ก็ให้สังเกตคันกั้นน้ำ ท่อระบายน้ำต่าง ๆ ว่าล้นออกมาหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงเราก็ป้องกันอยู่ วันนี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. และผู้ว่าการประปา ได้แถลงข่าวว่า เราได้เข้าไปซ่อมแซมประตูเกือบเสร็จหมดแล้ว เป็นประตูที่ 6 เราก็สู้กันอย่างนี้ สู้กับน้ำอยู่อย่างนี้ เรียนว่า บางครั้งมันยากที่จะบอกประชาชนให้ทราบล่วงหน้าได้ เพราะบางครั้งมันเกินความคาดหมาย และหากบอกเร็วเกินไปจะทำให้ประชาชนตกใจ จึงต้องใช้คำว่าเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดดีกว่า
เมื่อถามว่า มีเขตใดใน กทม. ที่ต้องเตือนเป็นพิเศษหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เมื่อประกาศไปแล้วก็ยังไม่มีเพิ่มเติม ถามต่อว่าพื้นที่ชั้นในที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำจะต้องเตรียมตัวด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จุดที่ดูอยู่คือ บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ซึ่งจุดนี้จะรับน้ำมาก โดยเบื้องต้นเราได้ให้วิศวกรไปตรวจดูความแข็งแรงของเขื่อนก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเขื่อนคงไม่พัง แต่จะมีปัญหาตรงที่น้ำมามากและแรง แนวคันกั้นน้ำส่วนบนก็จะพังและทำให้น้ำทะลักได้ ดังนั้นพื้นที่ใต้ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ก็อาจจะเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสำหรับปริมาณน้ำ
เมื่อถามว่า วันนี้ศปภ.ออกมาระบุว่าสามารถควบคุมน้ำได้ แต่ทำไมน้ำจึงทะลักเข้าไปในพื้นที่ดอนเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า พื้นที่นี้คือส่วนที่น้ำทะลักก่อน ซึ่งปริมาณน้ำจะไม่เพิ่มขึ้น และเราพยายามที่จะปิดประตู และซ่อมแซมในส่วนที่น้ำทะลักออกมา เมื่อมีการซ่อมประตูเสร็จและน้ำไม่ทะลักออกมา ก็จะมีการสูบออก เมื่อถามว่า การประเมินของ ศปภ.วันนี้น้ำจะเข้า กทม.เฉพาะบางพื้นที่ใช้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ใช่ ไม่ได้เข้าเต็มพื้นที่ เข้าเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น หรือจะเข้าเฉพาะรอยต่อหรือทางผ่านของแนวเขื่อนหรือแนวการระบายน้ำซึ่งต้องมีการเฝ้าระวัง หากน้ำมามากเกินไป และต้องติดตามในแต่ละจุดที่มีการประกาศให้เฝ้าแนวระวังภัย เช่น คลองหกวา สายล่าง ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งวันนี้เราพยายามที่จะให้น้ำไหลออกไปทางคลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิตประยูรศักดิ์
เมื่อถามว่า ระดับน้ำจะสูงประมาณเท่าไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยากที่จะบอก เพราะแต่ละพื้นที่ต่างกัน แต่เนื่องจากพื้นที่ กทม. ส่วนใหญ่ที่ลงมาด้านล่างจะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะอยู่ประมาณ 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร เมื่อถามว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาระบุว่า น้ำจะท่วม กทม.ทุกพื้นที่ประมาณ 1 เมตร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แปลว่าเราคอนโทนอะไรไม่ได้ เขื่อนต่างๆ ไม่สามารถรับน้ำได้ ซึ่งวันนี้เราพยายามที่จะฝืนสู้อยู่ เพื่อชะลอน้ำ เพราะเราไม่สามารถหยุดน้ำก้อนใหญ่ได้ เพราะนี้เป็นอุทกภัยใหญ่ แต่สิ่งที่เราทำนั้นเพื่อเป็นการชะลอเพื่อลดความเสียหาย และเพื่อไม่ให้เกิดการท่วมสูงมาก หากถามว่าวันนี้จะท่วมสูงมากเท่าไร คงต้องตอบในมุมของกรมชลประทาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่า บางพื้นที่น้ำคงท่วมไม่ถึงเมตร และบางพื้นที่คงถึงเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงต่ำของพื้นที่
เมื่อถามว่า โอกาสที่เราจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยมีมากน้อยแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรายังมีความเชื่อ ว่าเราน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความลำบากคือการระบายออกทางตะวันออก และตะวันตกนั้นยาก เพราะปัญหาภูมิประเทศ โดยทางตะวันออกจะมีลักษณะเป็นแอ่งช้อนขึ้น ซึ่งเราก็ระดมเครื่องสูบน้ำออก วันนี้พยายามที่จะไล่น้ำทางตะวันตก น้ำก็ยังไม่ไป เพราะพื้นที่ฝั่งตะวันตกสูงกว่า ดังนั้นน้ำจึงมากองอยู่ตรงกลางระหว่างคลองเปรมประชากร ซึ่งหากเรากั้นคลองเปรมประชากรไม่อยู่ น้ำก็จะไหลลงมาด้านล่างของ กทม.