“นายกฯ” ถกผู้เชี่ยวชาญน้ำ สั่ง กทม.เปิดประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อให้ปริมาณน้ำไหลผ่าน 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ยอมรับการกั้นน้ำไม่เป็นผลสำเร็จ ยิ่งจะทำให้แนวกั้นน้ำทลายลงมาเร็วขึ้น พร้อมเร่งขุดคลองขึ้น ย้ำ 7 เขตที่เคยเตือนไปก่อนหน้านี้ ให้เร่งยกคันดินสูง 1 เมตร เพื่อความปลอดภัย
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำทั้งหมด พร้อมทั้งนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหาทางควบคุมปริมาณน้ำที่กำลังไหลเข้าท่วม กทม.โดยเราพยายามที่จะเร่งระบายน้ำ ซึ่งแนวคันกั้นน้ำที่สร้างไว้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลกระชากลงมา และจะใช้วิธีปิดเป็นช่วงๆ เพื่อให้น้ำเบี่ยงออกทางขวา เพื่อให้น้ำไหลลงตามคลองต่างๆ ดังนั้น อธิบดีกรมชลฯ จะต้องมั่นใจในการตั้งเครื่องระบายน้ำทุกจุด ระหว่างคลอง 8 กับคลอง 9 และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เราเป็นห่วงอยู่ ขณะเดียวกัน การขุดลอกคูคลองจะทำให้ระบายน้ำได้เร็ว ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถควบคุมได้ ส่วนในพื้นที่ กทม.ได้สั่งการเปิดประตูน้ำทั้งหมดแล้ว เพื่อให้ปริมาณน้ำไหล 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่ไปตรวจบริเวณคลองหกวา เพื่อเป็นการป้องกัน กทม.ให้แข็งแรง ซึ่งการระบายน้ำนั้นต้องให้น้ำไหลได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การทำแนวกั้นน้ำหากทำเป็นระบบก็จะทำให้น้ำชะลอ และไหลลงมาเป็นระบบได้ แต่บางครั้งการกั้นน้ำไม่เป็นผลสำเร็จ ก็จะทำให้แนวกั้นน้ำทะลายลงมาเร็ว ดังนั้นการทำแนวกั้นจึงไม่ได้เป็นการหยุดน้ำได้ แต่สามารถควบคุมไม่ให้น้ำไหลผ่านไปได้ ส่วนทางด้านตะวันตกฝั่งแม่น้ำท่าจีน น้ำยังไม่มาทางนี้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูง จึงต้องมีการเลี่ยงน้ำเพื่อระบายออกมายังแม่น้ำท่าจีน ทั้งนี้การระบายที่ดีที่สุด คือการระบายไปฝั่งตะวันออกซึงเราจะทำในส่วนนี้ก่อน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สำหรับ กทม.วันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เรายังควบคุมได้ และอยู่ในระดับที่น้ำยังไม่มาถึง คลองประปาเราก็มีการควบคุมอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาท จะมีการป้องกัน กทม.โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของแนวโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีพนังกั้นน้ำอยู่ 2.5 เมตร ซึ่งเราก็จะทำแนวกั้นน้ำไว้อีกชั้นหนึ่ง
“แต่เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น ดิฉันอยากขอแนะนำว่า ของต่างๆ ที่มีค่า อยากให้ยกสูง ให้อยู่ระดับที่สบายใจ คืออยู่ที่ประมาณ 1 เมตร และให้เอาไว้ในที่สูงไว้ก่อน แต่อย่าตระหนกตกใจ ส่วนรถยนต์ ถ้าบ้านอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำก็อยากให้หาที่จอดให้เหมาะสมไว้ โดยเฉพาะใน 7 เขตที่ กทม.ประกาศไว้ โดยรัฐบาลเตือนประชาชนไว้ก่อน ไม่อยากให้ประชาชนอยู่ในความประมาท และไม่อยากให้ตื่นตระหนกตกใจ เพราะหากตกใจแล้วการบริหารจัดการจะทำได้ยาก” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ น้ำในคูคลองอาจจะมีระดับที่สูงขึ้น แต่เราก็จะเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะบางครั้งประชาชนอาจจะเห็นน้ำเต็มคลอง แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นน้ำที่มาจากการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำระบายไปเร็วที่สุด และเราจำเป็นต้องทำให้น้ำในคลองต่างๆ ผ่านไปโดยสะดวก ขณะนี้เราทราบกันดีว่าน้ำเต็มทุ่งเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางระบายน้ำให้เร็วที่สุด ซึ่งจุดที่มีน้ำขังจะลดลงโดยเร็ว หากเราไปกั้นทุกส่วนก็จะทำให้เกิดปัญหา เพราะคันบางแห่งกั้นน้ำไม่อยู่ พยุงน้ำไว้ไม่ได้ และต้องเข้าใจว่า คันที่เราทำเป็นคันดิน จึงไม่สามารถอยู่คงทนถาวร และที่สุดแล้วประเทศไทยเราคงต้องมาวางระบบ บริหารจัดการน้ำอย่างถาวร นี่คือสิ่งที่เป็นหลักการที่จะต้องทำในระยะยาว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าวันนี้น้ำจะไหลผ่าน กทม.ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะเป็นการไหลผ่านคลองทางด้านตะวันออก ซึ่งน้ำที่เอ่อขึ้นมาเราตั้งใจเปิดประตูระบายน้ำ แต่จะไม่เอ่อล้นบนถนน เพราะเราคุมอยู่ เพียงแต่อาจจะมีบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ทรุด อาจจะมีน้ำกระเฉาะลงไปบาง ซึ่งตรงนี้จะมีการตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำออกให้เร็วที่สุด และวันนี้ได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ ไปเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง และจะรายงานเข้ามาทุก 2 ชั่วโมง รวมถึงจะมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์ตามจุดที่เฝ้าระวังให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ให้ได้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าที่คลองระพีพัฒน์แตก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ถ้าคันกั้นน้ำแตก น้ำจะไหลไปที่คลองรังสิต ซึ่งพื้นที่คลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิต จะเป็นเหมือนแก้มลิงที่ชะลอน้ำได้ ดังนั้น เราจะพยามเปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่ประตู 4-12 เพื่อควบคุมน้ำให้มีทิศทางและไหลเข้าสู่คลองแสนแสบ คลองประเวศ และบริเวณคลอง 2 จะให้น้ำไหลลงคลองบางบัว ยืนยันว่าจะไม่ท่วม เพราเป็นการระบายน้ำที่มีการควบคุม โดยเราจะประสานไปยัง กทม.หากมีการระบายน้ำ
เมื่อถามว่า ได้มีการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำและประตูระบายของ กทม.ว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้เราจะหาคณะกรรมการในการไล่ตรวจดูเป็นการสำรวจเพื่อระวังภัยทั้งหมด และให้ทุกส่วนสบายใจว่าเราทำงานอย่างเต็มที่ คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นส่วนกลางของ ศปภ.และขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ถามต่อว่า ขณะนี้พูดได้หรือยังว่า กทม.ปลอดภัยแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า พูดได้ว่า “เราขอเฝ้าระวังภัยดีกว่า ขอใช้คำพูดนี้ แต่อย่าเพิ่งใช้คำว่าพื้นที่ประสบภัย แต่ใช้คำว่าพื้นที่ระวังภัย เราจะมีทีมงานมอนิเตอร์ทุกจุด