xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โบ้ยเขื่อนกักน้ำมากเกินจนวิกฤต-ขานรับใช้ ถ.วิภาวดีผันน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(ภาพจากแฟ้ม)
“ยิ่งลักษณ์” ยอมรับปิดประตูน้ำคลองหนึ่งไม่ได้ เหตุน้ำทะลักเข้ากรุง ยันไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูล ทำจนสุดสามารถแล้วแต่น้ำเข้ามาหลายทาง ซ้ำมีปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่มแต่ละวัน เผยคุยกับผู้ว่าฯ กทม.แล้วจะทำงานร่วมกัน หมดเวลาโทษกันเอง อ้างเขื่อนสะสมน้ำไว้มากเกินจากพายุ 4 ลูกจนปัญหาน้ำวิกฤต ขานรับไอเดียใช้ ถ.วิภาวดีเป็นทางระบายน้ำเข้าอุโมงค์ยักษ์ กทม.



เมื่อเวลา 10.45 น.วันที่ 24 ต.ค.ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ปัญหามาจากประตูน้ำคลองหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านเทคนิค ระดับน้ำเชี่ยวมากจนไม่สามารถที่จะปิดประตูน้ำได้ จึงได้เร่งรัดให้กรมชลประทานหาวิธีชะลอน้ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ไปชะลอน้ำประตูระบายน้ำอื่นเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

สำหรับน้ำที่ล้นเข้ามายังอนุสรณ์สถานดอนเมืองนั้น เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองระพีพัฒน์มีเป็นจำนวนมาก และน้ำมีหลายช่องทาง ยืนยันว่า ศปภ.ไม่มีเจตนาที่จะปกปิด เราชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทุกระยะ แต่เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาใหม่มีมากเหลือเกิน ขณะที่เรามองว่า จุดที่เป็นจุดเสี่ยงของ กทม.คือ แนวคันพระราชดำริตั้งแต่ใต้ประตูจุฬาลงกรณ์ยาวถึงสายไหม ตรงนี้เราห่วง เพราะน้ำในประตูคลองหนึ่ง และคลองเปรมประชากรมีปริมาณมาก เราจึงทำการระบายน้ำทางด้านฝั่งตะวันออกก็ทำให้ดีขึ้น แต่น้ำก็มาหลายทิศทาง จึงได้ระดมกองทัพกว่าพันนายเข้ามาเฝ้าพนังกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องขอขอบคุณกองทัพที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงจุดเซียร์รังสิต ก็ใช้กำลังของกองทัพเข้ามาช่วยดูแล และขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีนำเครื่องมือกลับเข้ามาช่วยร่วมกับทางทหาร

“ขอเรียนประชาชนเราจะเร่งทำงานร่วมกับทางกรุงเทพฯ และศปภ. รัฐบาลยินดีให้ความช่วยเหลือกรุงเทพฯ ทุกทางที่ร้องขอ และขอยืนยันว่าเราแก้ไขปัญหาน้ำอย่างสุดความสามารถ แต่มีปัจจัยใหม่ที่เข้ามาเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน ไม่มีที่จะมาปกปิดข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชน” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของประตูน้ำ กทม.ที่ระบายน้ำออกน้อย หลังจากคุยกันทราบเหตุผลหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มีบางประตูที่เราเจอเปิดประตูระบายน้ำไม่เต็มที่ จึงได้ให้รองอธิบดีกรมชลประทานเข้าไปร่วมแก้ไขในพื้นที่ ซึ่งบางส่วนทราบว่า น้ำเข้าไปไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ได้ให้หารือและทำงานกันอย่างใกล้ชิด และตนได้คุยกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ต้องมาทำงานร่วมกัน และขอความกรุณาเราไม่มีเวลาที่จะมาโทษกันอีกแล้ว สิ่งที่ควรจะทำคือ รวมพลังกัน ถ้าเราโทษกันไปโทษกันมา การแก้ปัญหาก็จะไม่เป็นเอกภาพ สุดท้ายความเสียหายกลับมาสู่ประชาชนคนไทยทุกคน

เมื่อถามว่า วันนี้ต้องใช้กฎหมายตัวเองเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในแง่ประตูคลองหนึ่งใช้กฎหมาย และเห็นว่ามาตรา 31 ในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือว่า สูงสุดแล้วในการเข้าไปเคลียร์พื้นที่ พร้อมกันนี้ยังได้ระดมตำรวจเข้าไปพื้นที่กว่า 100 นาย ประชาชนก็ออกจากพื้นที่แล้ว แต่กลับไปติดตรงเทคนิคของกรมชลประทาน ประตูระบายน้ำปิดไม่ได้ เพราะน้ำสูงและเชี่ยวมากอาจทำให้ประตูพัง แต่วันนี้เราไม่ยอมแพ้ โดยให้ทางกรชลฯ หาทางเร่งรัดปิดประตูให้ได้ อย่างพื้นที่เซียร์รังสิตที่แตก เราไม่สามารถเอาเครื่องมือไปซ่อมได้ เพราะวันนี้น้ำเข้าไปท่วมเยอะ

ปัญหาน้ำไม่ได้เป็นที่จังหวัดเดียวเราดูแลมา 3-4 เดือนแล้ว บางส่วนเข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และเจอพายุ 4 ลูกติดต่อกัน โดยปกติแล้วเจอพายุลูกหนึ่งก็จะถูกระบายผ่านเขื่อน และมีช่วงพักในการระบายน้ำ แต่วันนี้ไม่ใช่ เจอลูกหนึ่งก็เก็บไว้ๆ และเจออีกหลายลูกก็ยังเก็บต่ออีกกลายเป็นปริมาณที่สะสมมาถึง 4 ลูก ถือเป็นภัยพิบัติที่รอบประเทศเพื่อนบ้านเราก็เจอ ก็เลยเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ เราไม่ได้ปกปิดประชาชน เรากราบเรียนประชาชนทุกขั้นตอนในแนวทางแก้ไขปัญหา ขอยืนยันเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ

เมื่อถามว่า น้ำที่ทะลักเข้ามาในกรุงเทพฯ ถ้ามีปริมาณที่มากขึ้นมีแผนที่จะระบายออกให้รวดเร็วได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้เร่งรัด กทม.ในฐานะผู้ดูแล และได้เชิญผู้ว่าฯ กทม.มาหารือร่วมกันว่า ส่วนไหนที่ ศปภ.จะเข้าไปช่วยเหลือได้เรายินดี และวันนี้กองทัพก็ยินดีให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้นขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่าน และทราบว่า ทุกท่านอ่อนล้ามาก และวันนี้เราได้แบ่งกำลังออก 2 ส่วน คือ ปกป้องโซนเศรษฐกิจ และอีกส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในน้ำ กำลังต่างๆ ถูกกระจายหลายวัน เจ้าหน้าที่บางท่านไม่ได้นอนเลย ทั้ง 26 จังหวัดที่มีปัญหาเรื่องน้ำ เจ้าหน้าที่ก็อ่อนล้าถือเป็นภาวะที่หนัก เจอปัญหาประดังมากพร้อมๆ กันในคราวเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ายังแก้ปัญหาในจุดที่เป็นปัญหาไม่ได้ กรุงเทพฯ จะจมน้ำนานขนาดไหน นายกฯ กล่าวว่า ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ไม่ถูกท่วม แต่ภายใต้กรุงเทพฯ ส่วนล่างต่ำอาจจะเจอเยอะหน่อย แต่วันนี้เราขุดคลองทั้งหมด ตะวันออกและตะวันตก เสร็จแล้วแต่น้ำไม่มา เพราะลักษณะพื้นที่แบนไล่น้ำไม่ไป แต่ถ้าน้ำกระจายออกก็จะทำให้น้ำไหลลงคลองเร็วขึ้น จะทำให้การระบายน้ำได้ดีขึ้น นอกเหนือจากระบบระบายน้ำของ กทม. และหวังว่าน้ำที่เข้ามาจะระบายออกเร็ว ขอเรียนว่าในส่วนของพื้นที่ กทม.อาจจะมีบางพื้นที่รวมถึงฝั่งธนฯ ก็น่าเป็นห่วง จะมีน้ำอีกฟากหนึ่งที่จะย้อนนตลบเข้ามา และในแนวคันพระราชดำริเราก็พยายามปกป้อง แต่ถ้าวันนี้เราคุยกันเพื่อให้พี่น้องประชาชนกรุงเทพฯ และทุกท่านมีการเตรียมตัวก็อยากให้เตรียมตัวในการที่จะปรับการขนย้าย

“ดังนั้น ขอความกรุณาถ้าจะมีการขนย้ายในส่วนของต่างจังหวัดอยากขอความร่วมมือ ทั้งภาคราชการ และเอกชนที่จะให้พนักงานผู้ประสบภัยหยุดกลับไปบ้าน เพื่อเป็นการลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯได้ และกลับไปดูแลน้ำท่วม สาเหตุที่เราไม่ประกาศเป็นวันหยุดเป็นเพราะเราเกรงว่า จะไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชน ฉะนั้นขอความกรุณาขอความร่วมมือดีกว่า เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาอุทกภัยได้หยุดงานไปพักที่บ้าน เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายข้าวของโดยเฉพาะรถยนต์อย่าปล่อยให้ไหลตามน้ำ ตรงนี้ค่อนข้างอันตราย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแผนรองรับสำหรับประชาชนในส่วนของ 6 เขต กทม.ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญ กทม.มาหารือเพื่อทำงานร่วมกัน และเข้าใจว่า กทม.คงจะมีแผนอพยพ ซึ่งโดยหลักเป็นเรื่องของ กทม. ทั้งนี้ ศปภ.ได้เชิญผู้ว่าฯ กทม.มาเพื่อหารือว่า มีส่วนไหนบ้างที่กลไกภาครัฐจะเข้าไปช่วยได้ พร้อมกันนี้ทาง ศปภ.ได้หารือกันถึงเรื่องของประปา ไฟฟ้า ที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์

เมื่อถามว่า นักวิชาการเสนอให้ใช้ถนนวิภาวดีระบายน้ำลงอุโมงค์ดินแดง นายกฯ กล่าวว่า คงต้องคุยกับสำนักระบายน้ำของ กทม.ขอรับไว้เป็นแนวหนึ่งที่จะไปหารือร่วมกับ กทม.

เมื่อถามว่า น้ำประปาเริ่มมีกลิ่น และมีสีเหลืองแล้ว ต้องให้การประปาออกมาชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราได้ย้ำกับทางประปา ต้องให้แน่ใจว่า ถ้าเกิดกรณีน้ำท่วมประปาต้องใช้ได้ ประชาชนต้องมีน้ำ เพราะวันนี้ปัญหาน้ำดื่มก็ขาดแคลน เพราะทุกคนกักตุนน้ำไว้เยอะ ดังนั้นเราพยายามเร่งหาเครื่องกรองรองน้ำให้ พร้อมกันนี้จะนำของที่ขาดแคลนทั้งหมดเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบซ้ำเติมประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้เป็นปัญหามากเรื่องสินค้าราคาแพง ควรจะเอาจริงได้หรือยัง เพราะนายกฯ ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูหลายทีแล้ว แต่ไม่เป็นผล นายกฯ กล่าวว่า วันอังคารนี้จะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. และจะเร่งดูการเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งอื่นๆ ด้วยเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น