“ยิ่งลักษณ์” ยอมรับ บอกไม่ได้น้ำเข้า กทม.ชั้นในหรือไม่ อ้างมีปัจจัยหลายอย่างคุมไม่ได้ เพราะน้ำมาจาก 2 ทิศทางรวมกัน คาดต้องกระทบบ้าง โดยเฉพาะคลองแสนแสบที่จะเป็นคลองเร่งระบายน้ำ ย้ำ ม.31 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพียงพอบริหารจัดการคน แต่อาจไม่เพียงพอสู้กับน้ำ
เวลา 09.00 น. วันที่ 23 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีว่าหากเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯจะมีการย้ายศูนย์ ศปภ.ไปยัง จ.ชลบุรี ว่ายังไม่ทราบข่าวตรงนั้นแต่ยอมรับวันนี้น้ำอาจมีผลเข้ามาใน กทม.บ้าง อย่างที่ประชาชนได้ติดตามข่าว ซึ่งมีหลายจุดที่มีกระแสลมพัดสูงและทำให้น้ำเอ่อล้นแนวพนังกั้นน้ำ ขณะน้ำกำลังประสานงานกับ กทม.ในการเร่งสูบและแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่เซียร์รังสิต และอาจจะมีปัญหาพื้นที่ดอนเมือง หลักสี่ ที่อาจมีปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งเราจะเร่งสูบระบาย แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมดของ กทม. ขอเรียนว่าจะพยายามเฝ้าระวังทุกจุดซึ่งวันนี้หลายจุดอาจจะมีน้ำเอ่อล้น แต่ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการซ่อมแซมดูแล และตอนนี้ยังมีปัญหาจุดประตูน้ำพระอินทร์ที่ยังปิดไม่ได้ โดยตนจะไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะหามาตรการอย่างไรที่จะปิดประตูน้ำ ซึ่งในเชิงเทคนิคเราได้พยายามใช้อุปกรณ์ต่างๆ แต่น้ำเชี่ยวแรงมาก ทำให้การปิดประตูทำด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้จะให้โฆษก ศปภ. รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า น้ำที่ไหลเข้าบริเวณ กทม.จะทะลักเข้าพื้นที่ กทม.ชั้นในหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในแนวที่กั้นอยู่คือ แนวประตูน้ำพระอินทร์ และคลองเปรมประชากร ซึ่งตามแผนระบายน้ำ เราอยากให้น้ำเหวี่ยงออกทางตะวันออก คือคลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ แต่เนื่องจากสภาพเป็นแอ่งที่ช้อนขึ้น ทำให้น้ำเข้าไปแต่ไม่มากเท่าที่เราคาดหวัง ประกอบกับน้ำที่ไหลมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ไหลมาค่อนข้างแรงมารวมที่คลองเปรมประชากร และเป็นภาระหนักของประตูน้ำพระอินทร์ และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ก็เลยเป็นส่วนที่ทำให้เป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เราก็พายามกั้นเพื่อชะลอน้ำไม่เข้า กทม.ชั้นใน
เมื่อถามว่า พื้นที่ กทม.ที่ได้รับผลกระทบระดับน้ำจะสูงเท่าใด น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ระดับน้ำในบางพื้นที่อยู่ที่ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตรกว่า แต่พื้นที่ที่เราเป็นห่วง คือ พื้นที่ดอนเมือง หลักสี่ แต่ในส่วน กทม.ชั้นในเรายังพยายามดูแลควบคุมสถานการณ์ สำหรับเขตพื้นที่บางกระบือที่น้ำเจ้าพระยาทะลักเข้านั้น เวลานี้น้ำล้นเข้ามาประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งได้ประสานกับ กทม. โดยทางปลัด กทม.บอกว่าจะเร่งสูบระบายน้ำออกอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า น้ำที่ล้นเข้าทางโรงเรียนราชินีบน บริเวณบางกระบือ จะกระทบไปถึงเขตพระราชฐานหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตอนนี้ได้พยายามป้องกันอย่างเต็มที่ และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่คิดว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้ โดยตนจะเข้าประชุมและติดตามสถานการณ์และจะรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ
เมื่อถามว่า โดยสรุปแล้วยังบอกไม่ได้หรือไม่ว่าคน กทม.จะได้รับผลกระทบกับสถานการณ์น้ำนานแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวยอมรับว่า ขอเรียนตรงๆ ว่ายังบอกไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เราคุมไม่ได้ เพราะน้ำมาจาก 2 ทิศทางรวมกัน ขณะเดียวกัน เราพยายามทำในส่วนของพนังกั้นน้ำต่างๆ ไว้ ขอเรียนว่าพี่น้อง กทม.จะมีผลกระทบบ้าง เนื่องจากน้ำจะต้องไหลผ่านลงมาตามคลองต่างๆ โดยเฉพาะคลองแสนแสบที่จะเป็นคลองเร่งระบายน้ำ ที่ถูกทางที่สุด และต้องอาศัยท่อระบายน้ำในกทม.ปล่อยลงไปให้เร็วที่สุดด้วยก่อนที่น้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงสิ้นเดือนนี้
เมื่อถามว่าช่วงเวลา 18.30 น.ของวันนี้น้ำเจ้าพระยาจะสูงสุด มีอะไรที่จะต้องแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า หลังจากเข้าไปสรุปสถานการณ์ในภาพรวมแล้วจะแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่เบื้องต้นวันนี้ เขตพื้นที่ดอนเมือง หลักสี่ต้องเฝ้าระวังกัน และเพื่อความปลอดภัยอยากให้ประชาชนย้ายสิ่งของมีค่าต่างๆ ออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อความปลอดภัยและไม่อยู่ในความไม่ประมาท
เมื่อถามว่าการระบายน้ำผ่าน กทม.ยังมีปัญหาหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ายังไปไม่ถึงคลองแสนแสบ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ใช่ วันนี้ยอมรับว่าการระบายน้ำยังไม่เต็มที่ แต่เราได้ตั้งคณะทำงานเข้าไปทำงานร่วมกับ กทม.โดยดูเฉพาะจุดเลยว่า ทำไมไม่สามารถเร่งระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ โดยในเช้าวันนี้คณะทำงานจะรายงานให้ทราบ
เมื่อถามว่า พื้นที่สนามกีฬาธูปเตมีย์ ดอนเมือง จะเป็นจุดที่น้ำทะลักเข้าได้ง่ายที่สุด หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ใช่ แต่เราได้ระดมสรรพกำลังและตามที่ดูน่าจะควบคุมสถานการณ์ให้รักษาระดับปริมาณน้ำได้ และจะเร่งระบายให้เร็วขึ้น แต่ถ้าน้ำเข้ามาก็จะไหลไปตามเส้นทาง แต่เราก็พยายามสู้กับน้ำและระดมทุกส่วนเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ
เมื่อถามว่าพื้นที่บางบัวทอง จ. นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ที่ถือว่าสาหัสมาก ขณะที่ทางการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนไม่ทั่วถึงจะแก้ไขปัญหาอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เมื่อวาน (22 ต.ค.) ได้ลงพื้นที่เขตบางบัวทอง พบว่า ประชาชนส่วนหนึ่งคลายความกังวลเข้าไปอยู่ในพื้นที่อพยพ ซึ่งเราได้ดูแลอย่างครอบคลุม แต่อีกส่วนที่เป็นปัญหาคือประชาชนที่มีความประสงค์ไม่ย้ายออกจากพื้นที่และมีการขนย้ายข้าวของทำให้การจราจรติดขัดพอสมควร และที่มีการร้องเรียนก็จะเป็นพวกที่ไม่ยอมออกจากบ้าน ทั้งนี้ ยอมรับว่ากำลังของเจ้าหน้าที่มีจำกัด ซึ่งเราอาจไม่สามารดูแลความสะดวกของประชาชนในการขนหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ อยากให้ขนย้ายเฉพาะสิ่งจำเป็น และโดยทั่วไปเรื่องการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเชื่อว่าเราทำครอบคลุมเกือบหมดแล้ว
เมื่อถามว่าการระบายน้ำผ่าน กทม.ที่ยังทำได้ช้าอาจทำให้คันกั้นน้ำชำรุดและทะลักเข้าท่วมบ้านประชาชน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราได้ใช้กำลังจากหน่วยทหารและตำรวจจราจรเข้าไปตรวจสอบทุกจุด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังตลอดเวลา โดยให้ตรวจทุก 1 ชั่วโมงและรายงานผลกลับมา ดังนั้น เราจะทราบปริมาณน้ำอยู่ตลอด หากมีปัญหาจุดไหนก็ระดมสรรพกำลังไปสกัดกั้น
เมื่อถามว่าการระบายน้ำของ กทม.ยังเป็นไปอย่างเต็มที่ตามคำสั่งหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า โดยภาพรวมของการทำงานทางเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือและเจ้าหน้าที่ก็ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ยังมีประตูระบายน้ำบางจุดเปิดไม่เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนเองได้ให้คณะกรรมการเข้าไปศึกษาร่วมกับ กทม.ว่าทำไมถึงเปิดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางจุดเปิดได้เพียงครึ่งเดียว ซึ่งการบริหารจัดการน้ำถ้าเราบอกถึงตัวคณิตศาสตร์อย่างเดียวจะลำบากขอให้ทางเจ้าหน้าที่ได้สรุปมาก่อน เพราะบางครั้งอาจเป็นเพราะปริมาณน้ำมายังไม่ถึงเพียงพอ หรือบางครั้งแง่ความสามารถของคันกั้นคลองอาจจะระบายได้ไม่ทัน
เมื่อถามว่า การทำงานยังสวนทางกันอยู่หรือไม่ระหว่างรัฐบาลกับ กทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอยังไม่สรุปตรงนั้น ซึ่งตนเองอยากตั้งมั่นในมุมภาพบวกความสามัคคีว่าทุกคนมีความตั้งใจตนเองจะ พยายามใช้ทุกสรรพกำลังและทุกวิถีทางในการคุยกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น
เมื่อถามว่า คิดว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 31 ที่นำมาใช้ล่าสุด เพียงพอต่อกลไกการบริหารสถานการณ์น้ำในขณะนี้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เพียงพอกับการบริหารจัดการเกี่ยวกับคน แต่อาจไม่เพียงพอในการสู้กับน้ำวันนี้เราไม่มีกฎหมายไหนที่จะสู้กับภัยพิบัติของน้ำและควบคุมน้ำได้ ดังนั้นเราทำในแง่ดีกรีความสูงสุดของการปกป้องภัยพิบัติแล้ว ซึ่งตรงนี้ต้องอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจที่จะเข้ามาทำคนละแรงโดยทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่าเวลานี้ศูนย์อพยพดูเหมือนว่าจะเต็มที่เกือบทุกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วศูนย์อพยพ เรามีมากกว่า ที่เตรียมไว้ แต่ปัญหาคือประชาชนจะเลือกอยู่ศูนย์อพยพที่อยู่ใกล้บ้าน ดังนั้นจึงเต็ม ขณะที่ศูนย์ที่เรามีอยู่ 1,200 กว่าแห่งนั้น ซึ่งทางกระทรวงศึกษาก็ได้เตรียมไว้ 400 กว่าแห่ง แต่ว่าประชาชนอยู่ไม่เต็ม เพราะถ้าหากว่าน้ำท่วมก็จะขยับไปเป็นขั้นๆ ก็เลยทำให้ศูนย์เต็ม แต่บางส่วนที่ได้เดินทางไปของกระทรวงการคลัง บริเวณ จ.นนทบุรีนั้น ศูนย์อพยพรองรับได้เพียง 1 พันคนแต่ประชาชนอาศัยอยู่เกือบ 2 พันคน เพราะว่าสะดวกสบาย ได้กลับเข้าไปเยี่ยมบ้านได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้น้ำที่บริเวณคลองประปาเริ่มเอาไม่อยู่แล้ว จะมีการแก้ไขอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คลองประปาวันนี้น่าจะควบคุมได้ ส่วนที่บริเวณเคหะทุ่งสองห้องมีปริมาณน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ตนขอไปประเมินและตรวจสอบก่อน
เมื่อถามว่าจะมีการป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้ามาได้อย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ พยายามที่จะซ่อมบริเวณคลองประปา ส่วนน้ำดื่มไม่มีปัญหาเราได้เตรียมมาตรการรองรับในเรื่องน้ำดื่มไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับช่วงสายวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมกับคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง ที่มีนายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน รวมทั้งนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานบริการจัดการระบายน้ำ ศปภ. โดยการประชุมดังกล่าวได้เชิญนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ให้เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือในการเร่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ