xs
xsm
sm
md
lg

ไม่โปรดให้ป้องพระราชฐานปล่อยตามธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์"ตรวจสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา วัดพระแก้ว-ศิริราช ห่วงคันกั้นน้ำ 3 จุดสำคัญแตก กรุงเทพฯจมแน่ ให้เตรียมทำใจ ผบ.ทบ.เผยในหลวงไม่โปรดให้ป้องกันพระราชฐานเป็นพิเศษ อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ "มาร์ค"จี้รัฐบาลเร่งระบายน้ำทั้ง 3 ทางอย่างจริงจัง ก่อนชาติวายวอด แฉระบายน้ำไปบางปะกงช้า เพราะกลัวท่วมนิคมลาดกระบัง-สุวรรณภูมิ ด้านมท.1 ยอมรับ ศปภ. ด้อยประสบการณ์ เพราะไม่เคยเจอวิกฤตขนาดนี้มาก่อน

เมื่อเวลา 08.40 น.วานนี้ ( 26 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ. ) ดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะยังไม่มีการย้ายที่ทำการศปภ. โดยยังปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารท่าอากาศยานดอนเมือง เพราะต้องการให้อยู่ดูแลประชาชน แต่ถ้าสถานการณ์วิกฤติมากขึ้น ก็มองสถานที่อื่นไว้แล้วแต่คงไม่ย้าย ศปภ.ไปอยูที่ จ.ชลบุรี ถ้าย้ายก็จะอยู่ในพื้นที่ กทม. และจะย้ายเป็นหน่วยสุดท้าย

ส่วนผู้อพยพ ที่พักอาศัยอยู่ที่ดอนเมือง และต้องการกลับภูมิลำเนา มากกว่าย้ายไปศูนย์พักพิงอื่น รัฐบาลก็พร้อมจัดรถให้บริการฟรี อย่าล่าสุดมีการย้ายไปที่จ.ลพบุรี และชลบุรี ก็ดำเนินการแล้ว รวมทั้งประชาชนที่ต้องการออกไปยังต่างจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนได้กลับไปอยู่กับญาติพี่น้อง แต่ถ้าไม่อยากไปต่างจังหวัด ก็ไปอยู่ที่ศูนย์ของราชมังคลากีฬาสถานได้

**ป้องกัน 3 จุดวิกฤติไม่ให้ท่วมกทม.

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ระบุว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม. ยังมั่นใจแค่ 50 % นั้นหมายความว่าอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่างที่พูดไว้วันนี้น้ำเป็นพายุ มหึมามาก และมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมด เป็นเรื่องยาก แต่เราก็จะพยายามทำให้น้ำไหลผ่านให้เร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแผนป้องกันน้ำท่วมกทม.ชั้นในว่า จุดใหญ่ที่เราป้องกันไว้ทั้ง 3 จุด ทั้งฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือ บริเวณประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ และฝั่งตะวันตก บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเราสามารถกั้นได้สถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่ถ้าจุดใดจุดหนึ่งไม่สามารถป้องกันได้ น้ำก็จะท่วมในบริเวณดังกล่าว แต่ถ้าเลวร้ายคือ ทั้ง 3 จุดไม่สามารถป้องกันได้ น้ำก็จะท่วมพื้นที่ กทม.ทั้งหมด แต่ถ้าบางส่วนเรายังรักษาไว้ได้ น้ำก็จะไม่ท่วมพื้นที่กทม.ทั้ง 100 % ระดับน้ำก็คงจะมีความสูงไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ 10 ซม.- เมตรกว่า เส้นทางคมนาคมก็จะมีทางด่วน มีทางโทลล์เวย์ ที่ยังสามารถใช้การได้

เมื่อถามว่า โอกาสที่ 3 จุดคันกั้นน้ำ กทม.จะพัง มีมากแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นไปอย่างที่ พล.ต.อ.ประชา ระบุไว้คือ 50/50 แต่ในความเป็นจริงของการทำงาน เจ้าหน้าที่ทำมากกว่า 50 พยายามทำทุกวิถีทาง วันนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน กองทัพ กทม. ต่างก็เข้ามาช่วยกัน รวมทั้งตำรวจด้วย

ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจซ้ำเติมเข้ามาคือ ปัญหาน้ำทะเลหนุน ที่พยากรณ์ระบุว่าจะสูง 2.30 เมตร แต่มาจริง 2.42 เมตร แตกต่างถึง 10 ซม. ถือว่ามีความหมายมาก ขณะเดียวกันปัญหาขณะนี้คือทรายหมด ในพื้นที่ต่างจังหวัด ยอมขุดแม้แต่ในสนามฟุตบอล ตอนนี้เราต้องระดมทรายมากกว่าพื้นที่จังหวัดอื่นๆ การเดินทางก็มีปัญหา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกอย่างยากในการควบคุม ก็ต้องขอความเห็นใจจากทุกๆ ฝ่ายด้วย

" ในจุดต่างๆ ของบางพื้นที่ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางการแจ้งเตือน ขอให้เวลา 1 วัน น้ำจะเข้ามาแน่นอนหรือในบางพื้นที่ที่อยู่ติดชิดกับแม่น้ำ ก็ขอให้รีบอพยพ หรือขนย้ายสิ่งของภายใน 3 ชั่วโมง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**แจงกรมชลฯเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมวันนี้ กทม.ถึงบอกว่า กรมชลประทานยังเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญจะเข้าใจดี ว่าในบางจุดที่เราต้องการให้น้ำไปทางอื่น เราต้องปิดประตูระบายน้ำ เพื่อผลักน้ำไปด้านอื่น แต่ในพื้นที่บางประตู หากเราเปิดประตูระบายน้ำทั้งร้อยเปอร์เซนต์ ประตูถัดไปสามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพียง 50 เปอร์เซนต์ จะทำให้เกิดปัญหาน้ำกระฉอกออกด้านข้างได้ บางพื้นที่จะเป็นลักษณะเหมือนคอขวด ดังนั้นการระบายน้ำจึงต้องค่อยๆ ปล่อยลงไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา ทำให้มองว่ากรมชลฯ ไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์

**เร่งแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลน

ส่วนปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลนอย่างหนักในพื้นที่ กทม. นั้น สาเหตุใหญ่เป็นเพราะโกดังสินค้าจมน้ำ บริเวณวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศปภ. แก้ไขโดยการเปิดศูนย์พัสดุที่ดอนเมือง เพื่อให้เป็นจุดรับส่งสินค้า แต่จะมีการเปิดเพิ่ม ซึ่งได้มีการเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาหารือแล้ว เพื่อให้มีการกระจายสินค้าออกมา แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าส่วนหนึ่งติดอยู่ในน้ำ จึงพยายามใช้วิธีการต่างๆ โดยใช้เครื่องบินชีนุก ไปดึงตู้คอนเทนเนอร์สินค้าออกมา ซึ่งตอนนี้เครื่องชีนุก ก็เหลือเพียงลำเดียว อีกเครื่องหนึ่งเสีย ขณะเดียวกันจะไปนำสินค้าจากจังหวัดอื่นๆ ที่มีโรงงงานตั้งอยู่ โดยจะทำการเปิดศูนย์ เพื่อขนถ่ายสินค้า เช่น ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และนครราชสีมา เพื่อเร่งระบายสินค้า คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ สถานการณ์จะค่อยๆ คลี่คลาย

**ทรงไม่โปรดให้ป้องพระราชฐานเป็นพิเศษ

เมื่อเวลา 09.00น.วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 และนายทหารชั้นผู้ใหญ่เดินทางไปตรวจน้ำท่วมบริเวณ ถ.จรัญสนิทวงศ์ โดยมี พล.ต.พิสิทธ สิทธสาร ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) บรรยายสรุปสถานการณ์ โดย ผบ.ทบ.ได้สั่งให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า ให้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือผู้ที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ ให้แบ่งเป็นโซนว่า โซนนี้ให้ไปขึ้นรถที่จุดไหน ส่วนประชาชนที่ไม่ต้องการอพยพ ต้องชี้แจงว่าหากไม่อพยพในการส่งเสบียงอาหารจะให้ไปรับได้ที่จุดไหน เพราะทหารไม่สามารถจะไปส่งอาหารให้ประชาชนตามบ้านได้ทุกบ้าน นอกจากนี้ให้ประสานขอรถ และเรือจากหน่วยต่างๆให้มาช่วยในการลำเลียงประชาชน และ ใช้รับส่งประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากรถและเรือของทหาร ที่มีอยู่ตอนนี้ใช้งานหลายแห่ง อาจจะไม่พอเพียงต่อ ความต้องการ

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปดูการซ่อมคั้นกั้นน้ำที่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 80 ซึ่งแตกเป็นทางยาวประมาณ 40 เมตร ด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บอกว่า จะเร่งทำคันกั้นน้ำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้สูบน้ำออกจาก ถ.จรัญฯ ให้เร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหม มอบหมายให้กองทัพบก ดูแลเขตพระราชฐานนั้น เราได้มีการประสานงานกับสำนักพระราชวังแล้ว ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในพื้นที่ภายในให้เขาดำเนินการเอง การดำเนินการค่อนข้างจะลำบาก แต่บริเวณรอบนอก นั้นจะขอทำเป็นทางลาดโค้งเป็นหลังเต่า ทุกประตูข้างนอก ให้ประสานทางสำนักพระราชวังดู ถ้าทำได้ ก็ให้รีบดำเนินการ

" พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงประชาชน อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ นี่พระมหากรุณาธิคุณ ท่านห่วงประชาชนตลอด ท่านก็บอกว่า ให้ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ท่านจึงไม่ทรงโปรด และทรงรับสั่งว่าเป็นน้ำท่วม ก็ขอปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยากให้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ในฐานะที่กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ ก็จะทำเฉพาะที่ประสานได้ และต้องตอบคำถามของรัฐบาลด้วย" ผบ.ทบ. กล่าว

**นายกฯตรวจวัดพระแก้ว-ศิริราช

เมื่อเวลา 14.10 น.วานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตรวจดูความพร้อมคันกั้นน้ำริมน้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อรับฟังแผนการป้องกันน้ำในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีศาสดาราม และเขตพระราชฐานต่างๆ จากนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง และ พ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1 โดย พ.อ.ธรรมนูญ กล่าวว่า ได้วางแนวทางการป้องกันพื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 4 ขั้น คือ

1. การป้องกันพื้นที่ภายใน และภายนอกเขตพระราชฐาน โดยใช้กระสอบทรายจำนวน 4 หมื่นกระสอบ 2. การรับมือกรณีน้ำสูงเกิน 80 ซม. 3. แผนการอพยพประชาชนในพื้นที่ 4. การกอบกู้และฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งในขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในระดับต่ำว่าแนวกระสอบทรายประมาณ 1 เมตร

จากนั้นคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปยังท่าน้ำศิริราช รพ.ศิริราช เพื่อตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ พร้อมรับฟังแผนการอพยพผู้ป่วย หากไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้ และ ฟังบรรยายสรุปจาก นพ.ธีรวัติ กุลทนันน์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินพูดคุยกัน นพ.นพ.ธีรวัติ ได้แจ้งนายกฯว่า รพ.ศิริราชได้สำรองยา เวชภัณฑ์ไว้มากพอ แต่สามารถใช้ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงขอการสนับสนุนจากนายกฯ เรื่องยา
ทั้งนี้ทาง รพ.ได้เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยทางน้ำไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ รพ.สิริกิตติ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ราชบุรี และ จ.กาญจนบุรี ขณะที่ รพ.ศิริราช ได้เปิดหอพักเพื่อรองรับผู้ประสบภัยมาพักอาศัยได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนกว่า 500 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อฟังบรรยาสรุปเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทาง กลับศปภ.ท่าอากาศยานดอนเมือง ทันที

ต่อมาเวลา 16.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ที่ ศปภ. ว่า รพ.ศิริราช ค่อนข้างมีความพร้อม เพราะมีแผนตามลำดับอยู่แล้ว โดยเฉพาะแนววัดระดับน้ำถือว่าเป็นโมเดลที่ดีอาจะนำไปประยุกต์ใช้กับส่วน อื่นๆ ด้วย ถ้าดูจากแนวแล้วมีการป้องกันทั้งแนวข้างนอกประมาณ 3 เมตร และชั้นในกองทัพเรือได้สร้างแนวไว้ตามตึกที่สำคัญๆอีก 3.5 เมตร ก็น่าจะสบายใจได้ แต่ที่ห่วงคือการดูแลประชาชนเพราะตามประตูน้ำต่างๆที่เป็นจุดหลัก ทั้งฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา ใต้แนวคันพระราชดำริ ประตูจุฬาลงกรณ์ และเขตสายไหม ที่ยังมีน้ำรั่วซึม แต่ตรวจสอบทุกพื้นที่แล้วยังพยายามที่จะ ป้องกันดูแลแนวคันกั้นน้ำนั้นอยู่

** ยันไม่ย้ายศปภ. ไม่เกี่ยวเสียหน้า

เมื่อถามว่า ในช่วงบ่าย ระดับน้ำหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ที่ตั้งของศปภ.สูงขึ้นถึง เวลาจะย้ายศูนย์บัญชาการ ศปภ.หรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังต้องขอดูอีกครั้ง เพราะอยากให้ย้ายศูนย์พักพิงไปก่อน ถ้าศปภ.ไปก่อน ก็ยังเป็นห่วงประชาชนที่มาพักพิงอยู่ วันนี้ (27 ต.ค.)น่าจะย้ายออกได้หมด อาจจะเหลือบางส่วนที่จำเป็นแต่จำนวนไม่มาก ศปภ.อยู่ชั้น 2 คงไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีปัญหาของเจ้าหน้าที่ เราอาจจะจัดที่พักไว้ให้

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่ย้าย ศปภ.เพราะกลัวเสียหน้าทางการเมืองหรือ ไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ไม่กลัว วันนี้ไม่มีเรื่องการเมืองที่จะมาเสียหน้า "

**ให้คนกรุงทำใจท่วมเต็มพื้นที่แน่

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. และกรมชลประทาน ประเมินว่า มวลน้ำที่ขังอยู่ฝั่งเหนือของพื้นที่ กทม.นั้น บริเวณรังสิต จ.ปทุมธานี มีปริมาณน้ำอยู่ 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ขีดความสามารถของ กทม. สามารถระบายน้ำได้เพียง 30 ล้านลบ.ม. ต่อวันเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าพื้นที่ กทม.จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด จะมากหรือน้อยแล้วแต่ความสูงต่ำของแต่ละพื้นที่ เพราะน้ำต้องไหลผ่าน กทม. เพื่อลงสู่ทะเล ดังนั้นอยากให้คน กทม.ปรับสภาพและยอมรับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นให้ได้

** น้ำทะเลเริ่มหนุนสูงวันนี้

วันเดียวกันนี้ ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณะภัยกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้โอวาทแก่กำลังพลของ กองทัพเรือ ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลของกองทัพเรือ

ขณะที่กองทัพเรือ ได้รายงานว่า ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงปลายเดือน ตั้งแต่วันที่ 26-31 ต.ค.นี้ โดยในวันที่ 26 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 16.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.50 เมตร ในวันที่ 27 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร ในวันที่ 28 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.35 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.60 เมตร ในวันที่ 29 ตค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 18.20 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.66 เมตร ในวันที่ 30 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร และในวันที่ 31 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.58 เมตร

**"มาร์ค"จี้เร่งระบายน้ำก่อนวายวอด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุม ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับแนวทางคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของกทม. หน่วยงานราชการ และนักวิชาการ ต่างเห็นตรงกันว่า แผนของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติ ซึ่งในระยะเวลา 5-7 วันนี้ จะมีมวลน้ำก้อนใหญ่จากทางเหนือมาพร้อมกับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งต้องระบายลงสู่ทะเลอย่างสมดุล และเร็วที่สุด คือ การระบายทางฝั่งตะวันตก คือ แม่น้ำท่าจีน ตะวันตกออก คือ แม่น้ำบางปะกง และส่วนกลาง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมมีการใช้ 3 ช่องนี้ อย่างสมดุล แต่ปัจจุบันทางตะวันออกไม่ใช้เต็มที่เพิ่งเริ่มทำใน 2-3 วันที่ผ่านมา และยังทำไม่เต็มที่ ทำให้ภาระการระบายน้ำมาอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา เกินความเป็นจริง หากเป็นเช่นนี้ ก็เสี่ยงน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และจะทำให้เกิดอัมพาตของระบบบริหารจัดการทั้งหมด ทำให้เกิดความเดือดร้อนจะกระจายทั่วประเทศ

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนการระบายน้ำสู่ทะเล อย่างสมดุล ผ่าน 3 ช่องทาง โดยฝั่งตะวันออกต้องดำเนินการสูบน้ำเพิ่มขึ้น คลอง 6-21 เปิดปั๊มกรมชลประทาน ทุกด้านลดภาระการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาลง ถ้ารัฐบาลมีเหตุผลว่า ไม่ระบายน้ำทางตะวันออก ก็ต้องอธิบายอย่างโปร่งใสว่า เป็นนโยบายว่าต้องการรักษาพื้นที่ไหนเป็นพิเศษหรือไม่ ต้องตัดสินใจเร่งด่วน หากปล่อยการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอัมพาตทั้งหมด น้ำท่วมขังนาน ไม่สามารถระบายลงทะเลได้

"รัฐบาลเหลือเวลา 5-7 วัน ที่ต้องเร่งตัดสินใจ เพราะอาจจะเกิดวิกฤตทั่วประเทศ และต้องให้ความจริงกับประชาชน เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์" นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่าขอให้ถอดเรื่องการเมืองออก แล้วปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขง่ายขึ้น

** แฉเหตุไม่ระบายน้ำไปบางปะกงเต็มที่

ต่อมานายอภิสิทธิ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเส้นทางการระบายน้ำของกรมชลประทานฝั่งตะวันออกไปสู่แม่น้ำบางปะกง ลงทะเล โดยเริ่มจากประตูน้ำคลอง 8 และ คลอง 9 ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบว่าประตูน้ำทั้งสองบานเปิดบานลอยให้น้ำผ่าน 100 % แล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ประตูน้ำจะเปิดแล้ว แต่กลับพบว่ากระแสน้ำไม่ได้ไหลแรงเท่าที่ควร ซึ่งอาจมีผลมาจากสถานีสูบน้ำ อี 34 คลองแสนแสบ หนองจอก ของกรมชลประทานยังไม่เดินเครื่องอย่างเต็มที่ ทำให้การสูบน้ำเพื่อระบายลงทะเลในฝั่งตะวันออก ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

คณะของนายอภิสิทธิ์ จึงเดินทางไปตรวจสอบที่สถานีสูบน้ำหนองจอก พบว่า มีการเดินเครื่องสูบน้ำ12 เครื่อง จากทั้งหมด 20 เครื่อง โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานี ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่สามารถเดินเครื่องสูบน้ำทั้งหมดได้ เนื่องจากมีข้อตกลงกับทาง จ.ฉะเชิงเทราว่า จะไม่ระบายน้ำลงแม่น้ำบางปะกง หากระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกงสูงกว่าฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณสองฝั่งคลอง ที่น้ำจะไหลผ่านลงสู่แม่น้ำบางปะกง

สำหรับสถานีสูบน้ำที่คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง ก็มีการสูบน้ำเพียง 4 เครื่องเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า หากระบายน้ำไปยังสถานีคลองประเวศบุรีรมย์ เต็มที่ อาจส่งผลกระทบกับ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทางผ่านของน้ำได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางกรมชลประทาน ได้ชี้แจงมาโดยตลอดว่า ไม่สามารถระบายน้ำที่สถานีหนองจอก และคลองประเวศบุรีรมย์ได้ เพราะระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกง สูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา หากสูบน้ำเต็มที่ จะทำให้น้ำไหลย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนคำอธิบายใหม่ว่า ที่ไม่สามารถเปิดเครื่องสูบน้ำ 100 % ในสองสถานีนี้ เพราะชาวบ้านต่อต้านโดยหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริงว่า ทั้งสองสถานีเป็นหัวใจสำคัญในการระบายน้ำ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บางชัน และ สนามบินสุวรรณภูมิ

**มท.1 ยอมรับศปภ.ไร้ประสบการณ์

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึง เสียงวิจารณ์การจัดระบบแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล และ ศปภ. ที่มีแต่ความวุ่นวายสับสน ไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะการอพยพผู้ประสบภัย ว่า ต้องขอความเห็นใจเพราะเราไม่เคยเจอปรากฏการณ์ อย่างนี้มาก่อนในอดีต ตนเคยเป็นผวจ.มาก็ไม่เคยเจอรุนแรงอย่างนี้ หรือ น้ำท่วมหาดใหญ่ ที่คนว่ากันว่าสุดโหด น้ำท่วมถึงหลังคาบ้านหรือหน้าอก แต่ก็ท่วมเพียวแค่ 3 วันก็หาย ทำให้ฟื้นฟูง่าย แต่ตอนนี้ต้องแช่ขัง ถึง 2-3 เดือน

" ปัญหาในการแก้ไขน้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้องนำเอามาเป็นบทเรียน และในโอกาสหน้า หากเกิดน้ำท่วมอีก ต้องไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก หรือถ้าเกิดแล้ว ต้องแก้ไขได้ดีกว่านี้ คำพูดอาจดูแปลกๆ แต่ก็ออกมาจากใจ" รมว.มหาดไทย กล่าว

**กทพ. ให้รถบรรทุกใช้ทางพิเศษได้

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ผ่อนผันให้รถบรรทุกใช้ทางพิเศษได้ไม่จำกัดเวลา สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป และรถพ่วงเดินในทางพิเศษทุกสาย โดยน้ำหนักรถ และสิ่งของที่บรรทุก ยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ

**ขึ้นทางด่วนดอนเมืองฟรีถึง 5 พ.ย.

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อจะขอให้งดเก็บค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ ที่เป็นเส้นทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ทำการของ ศปภ. และออกสู่ต่างจังหวัด โดยเริ่มจะเริ่มงดเก็บค่าผ่านทาง ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. ถึงวันที่ 5 พ.ย. ขณะที่ทางด่วนที่รัฐบาลกำกับดูแลนั้น ได้งดการเรียกเก็บค่าผ่านทางทุกเส้นทางแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก

** "สุวรรณภูมิ" ยังให้บริการตามปกติ

น.ส.วิไลวรรณ นัดวิไล โฆษกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ และยังได้มีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง และประสานกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการระบายน้ำโดยรอบพื้นที่ ทสภ. ด้วย

ขณะนี้ ทสภ. ยังให้บริการผู้โดยสารและเที่ยวบินได้ตามปกติ โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 -24 ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารใช้บริการณ ทสภ. เฉลี่ยวันละ 130,000 คน มีเที่ยวบินขึ้นลงประมาณ 800 เที่ยวบินต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น