xs
xsm
sm
md
lg

มวลน้ำใหญ่เข้ากรุง26ต.ค.บางพลัด-จรัญฯอ่วมแนะปชช.ตุนน้ำเต็มที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯกทม.ประเมินสถานการณ์ มวลน้ำใหญ่เป็นหลักพันล้านลบ.ม.ทะลักเข้ากรุงเทพฯแน่ หนักใจน้ำเหนือไหล่บ่าและเจอฝนตกทั้งสัปดาห์ พร้อมสั่งคุมเข้ม 3 จุดสำคัญ ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงเป็นประวัติการณ์ 2.30ม. ส่งผลน้ำทะลักคันกั้นน้ำในหลายจุด ทั้งในพื้นที่บางพลัด-จรัญฯ-แยกบางลำภูแล้ว ด้านผู้ว่าฯกปน.ยอมรับวิกฤตครั้งใหญ่ แนะนำประชาชนให้สำรองน้ำให้เต็ที่

กรุงเทพมหานคร(กทม.)กำลังเผชิญกับมวลน้ำขนาดใหญ่ที่เข้ามากระชับพื้นที่เมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้เข้าประชิดเขตพระนคร แม้ว่าทางกรุงเทพฯจะพยายามทำคันกั้นน้ำ แต่ด้วยมวลน้ำมหาศาลที่ไหลเข้ามาและน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯในหลายจุด โดยช่วงเย็นวันที่ 24 ต.ค.น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในได้เอ่อล้นคันกั้นเข้าท่วมพื้นที่สำคัญในเขตกรุงเทพฯ บริเวณด้านข้างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใต้สะพานพระราม 8 น้ำได้ล้นเข้ามายังพื้นผิวถนน และไหลไปตามท่อระบายน้ำ รวมทั้งมีน้ำผุดขึ้นจากท่อ เข้าท่วมบริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุช และชุมชนในย่านดังกล่าวสูงประมาณ 40-50 ซม.

นอกจากนี้น้ำได้ล้นคันกั้นบริเวณวัดสามพระยา ถ.สามเสน ซอย5และไหลเข้าท่วมถนนประมาณ 10-20ซม.ทำให้ ทำให้การจราจรตั้งแต่บริเวณแยกบางลำพู ถึงบริเวณหน้าธปท.ติดขัด รวมถึงเส้นทางโดยรอบเช่น ถนนสามเสน และบริเวณแยกสี่เสาเทเวศร์โดยน้ำที่ไหลเข้าท่วมยังทำให้ประชาชนกว่า 70 หลังคาเรือนที่อาศัยอยู่ในย่านดังก่าวได้รับความเดือดร้อน

ในเวลาไล่เลี่ยกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เขตบางพลัดได้ล้นคันกั้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 จุดได้แก่ ใต้สะพานพระราม7 ท้ายซอยจรัญสินทวงศ์ 74 และจรัญสนิทวงศ์ 80 โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนจรัญสนิทวงศ์ สูงประมาณ 30 ซม. ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องสั่งปิดการจราจร ถ.จรัญสนิทวงศ์ ช่วง ซ.จรัญสนิทวงศ์ 72-84 ทั้งขาเข้าและขาออก

ขณะเดียวกันน้ำเจ้าพระยาบริเวณซอยเจริญกรุง22และถนนทรงวาดก็ได้เอ่อล้นคันกั้นเข้าท่วมพื้นที่ โดยมีระดับน้ำสูง 30 ซม.

ด้าน นายสุวพร เจิมรังศรี ผอ.เขตพระนคร กล่าวว่า เหตุน้ำล้นคันกั้นเกิดมาตลอด เนื่องจากประชาชนไม่ยอมให้มีการสร้างคันกั้นให้สูงขึ้น ขณะนี้ทางเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ได้บอกว่าภายหลังน้ำลดจะมีการสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น น้ำที่ทะลักเข้ามาแม้จะเป็นปกติ และทุกปี แต่ปีนี้ทะลักเข้ามามากกว่า เนื่องจากปริมาณน้ำนอกคันกั้นมีความสูงมากกว่า 2.14 เมตร

ทั้งนี้ หลังเวลา 23.00น. ระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ปกติ โดยน้ำที่เอ่อล้นเข้ามาจะไหลลงสู่คลองผดุงกรุงเกษม และจะสูบน้ำออกมผ่านสถานีสูบน้ำสามเสน ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้คงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่น้ำทะเลหนุน

น้ำจากบางกรวยทะลักท่วมถนนสิรินธรสูง50 ซม.

ขณะที่ระดับน้ำที่ท่วมสูงใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้ล้นทะลักเข้าท่วมถนนสิรินธร ตั้งแต่บริเวณทางด่วนคู่ขนานลอยฟ้าจนถึงหน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ทั้งสองฝั่ง โดยระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 50 ซม. ส่งผลให้รถเล็กผ่านได้อย่างยากลำบาก โดยน้ำยังล้นเข้าท่วมถนนบรมราชชนนีฝั่งขาเข้า บริเวณสถานีขนส่งสายใต้ ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในเขตบางพลัดและบางกอกน้อย เช่นในซอยสิรินธร 3 และ 6 ซอยบรมราชชนนี 6 และ 8 ต่างเร่งนำอิฐและนำกระสอบทรายไปทำเป็นแนวกั้นบริเวณหน้าบ้าน หมู่บ้าน สำนักงานและบริษัท ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้ บางคนเร่งขนย้ายข้าวของขึ้นรถบรรทุก รถกระบะ หรือรถเก๋งไปไว้ในที่ปลอดภัย

กทม.กังวลน้ำเหนือไหล่บ่า-เจอฝนตก

วานนี้ (24 ต.ค.) เวลา 10.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกทม.กล่าวภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำของกรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีน้ำเหนือไหลบ่าเข้ามาที่รังสิต และปทุมธานีแล้ว รวมทั้งปริมาณน้ำฝน ที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าสัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์จะมีฝนฟ้าคะนองตลอด หากฝนตกหนัก 120-140 มิลลิเมตร ขึ้นไป การระบายน้ำจะต้องใช้เวลามากขึ้น เช่นจากเดิม ใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง ก็ต้องเพิ่มเป็น 4-6 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ โดยคลองทวีวัฒนาน้ำขึ้นสูงอยู่ในระดับ 2.3 เมตร คลอง 2 กับ คลอง 6 วา ระดับน้ำขึ้นสูง 2 เซนติเมตร ระดับน้ำในคลองประปายังไม่ลด ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณพหลโยธิน วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฝั่งตะวันอออกและตะวันตกบริเวณเขตบางพลัด และยังคงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 6 เขต ที่ได้ประกาศเมื่อวานนี้ คือ ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ จตุจักร บางเขน บางซื่อ

สั่งคุมเข้ม3จุดสำคัญ

ทั้งนี้ในการประชุมผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.เฝ้าระวังเขตพระราชฐาน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องจาก 6 เขต ที่ประกาศได้เมื่อวานนี้ โดยได้สั่งให้มีการตรวจสอบมาตรฐานการป้องกัน ซึ่งทางสำนักราชเลขาไม่ได้กำชับสั่งการเป็นพิเศษ แต่ทางกทม.เห็นว่าเป็นพื้นที่สำคัญจึงได้มีมาตรการเพื่อเข้าไปป้องกันปัญหาน้ำท่วม 2.สำรวจวิธีป้องกันสนามบินดอนเมือง เพราะเป็นที่ตั้งของ ศปภ. ให้สามารถเข้าออกได้ เนื่องจากศปภ.ถือเป็นหัวใจในการอำนวยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งย้ายศปภ.ไปที่อื่น 3.ประสานไปที่นิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ ลาดกระบังและบางชัน เพื่อดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำทางกรุงเทพฯตะวันออกให้แข็งแรง และเตรียมการป้องกันเกี่ยวกับสารพิษที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยจะประสานงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยทางกทม.มีความต้องการอาสาสมัครเพื่อช่วยทำแนวคันป้องกันน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพฯตะวันออก โดยในวันที่ 25 ต.คจะ.มีการนัดรวมตัวกันที่กรุงเทพกรีฑาร่มเกล้า เขตลาดกระบัง

ควง'ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์” ตรวจการระบายน้ำ **

เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้ว่าฯกทม.เดินทางไปยังสถานีสูบน้ำพระโขนง สำนักระบายยน้ำกรุงเทพฯ โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้บรรยายสรุปแนวทางการระบายน้ำออกจากพื้นที่ กทม. ซึ่งนายกฯ ได้ซักถามว่า ทาง กทม.ได้เปิดประตูระบายน้ำเต็มที่แล้วหรือยัง ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวยืนยันว่า ทาง กทม.เปิดประตูระบายน้ำเต็มที่นานแล้ว และหากน้ำทะเลหนุนก็จะมีวิธีการในการระบายน้ำเพิ่ม จากนั้นนายกฯ ได้ฝากให้ผู้ว่าฯ กทม.ดูแลสถานการณ์น้ำ เพื่อให้ประชาชนสบายใจ และพร้อมที่จะทำงานวางแผนร่วมกัน

นายกฯห่วงบริเวณคันพระราชดำริ -แนวฝั่งเจ้าพระยา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้หารือกับผู้ว่าฯ กทม.โดยจะมาทำงานร่วมกัน และได้เชิญ รมว.กลาโหม และ ผบ.ทบ.มาร่วมมือกันด้วย ซึ่งจุดแรกที่ห่วงคือ บริเวณคันพระราชดำริ ทางกองทัพได้ระดมสรรพกำลังเข้ามาดูแลรักษาแนวคันกั้นน้ำแล้ว พร้อมกันนี้ยังเป็นห่วงอีกหลายจุดในแนวฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งจะให้ กทม.ร่วมมือกับกรมชลประทาน และกองทัพ ไปตรวจความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำย่านนนทบุรี เพื่อเตรียมการรองรับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

ชี้ไม่ท่วมพร้อมกันทั้ง 50 เขต

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวถึงสถานการณ์น้ำล่าสุดที่จะเข้าสู่พื้นที่ กทม.ว่า น้ำมากขนาดนี้ ไม่มีใครมั่นใจว่าจะดูแลได้ แต่ระบบป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ยังใช้การได้ทั้งหมด จุดอ่อนที่มีอยู่ส่วนใหญ่มีมานานแล้ว หรือบางส่วนก็เป็นส่วนที่อยู่นอกอาณาเขตของ กทม.ซึ่งเราก็ร่วมมือกับรัฐบาลและกองทัพ ในการปิดจุดอ่อนเหล่านี้ ทั้งนี้เราจะดูทั้งระบบถาวรของกรุงเทพฯ และระบบชั่วคราวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนการระบายน้ำลงคลองเวลานี้ กทม.ได้เปิดประตูระบายน้ำกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำมานานแล้ว แต่คลองทวีวัฒนาไม่สามารถเปิดกว้างกว่านี้ได้ เวลานี้เปิด 120 เซนติเมตร ถ้าเปิดกว้างกว่านี้ต้นน้ำไม่เป็นไร แต่ตรงปลายน้ำจะท่วม พร้อมกันได้เรียนหลายครั้งแล้วว่า มีพยากรณ์อากาศว่า ฝนฟ้าจะคะนอง ดังนั้นขอเรียนประชาชนชาวกรุงเทพฯ ถ้าฝนตกหนักอาจจะต้องใช้เวลา 2 เท่าในการระบายน้ำ ขอให้เข้าใจด้วย

ปูเชื่อกทม.ไม่โดนหนักเหมือนปทุมฯ-นนท์

เมื่อถามว่า ทำงานร่วมกันแบบนี้ ถ้าน้ำเข้ากรุงเทพฯ ความสูงของระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับไหน นายกฯ กล่าวว่า ถ้าดูจากระบบการระบายน้ำของ กทม. หากทำเต็มที่คิดว่า ในแง่ความสูงคงไม่เจอแบบประชาชนปทุมธานี นนทบุรี ซึ่ง กทม.จะเบาอยู่ เพราะกทม.มีระบบระบายน้ำค่อนข้างใหญ่ ประกอบกับพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจุดสุดท้าย ซึ่งเราได้ขุดลอกคูคลองทั้งตะวันออก และตะวันตก โดยกองทัพบกได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่น้ำยังไม่ลงไปเต็มที่ หากลงไปถึงเชื่อว่า จะระบายได้เร็วขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้น้ำบุกกรุงไม่สาหัสอย่างที่คิด

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้กองทัพบกดูแลแนวคันกั้นน้ำอย่างเต็มที่ รวมทั้งการซ่อมแซมผนังกั้นน้ำตามแนวคลองรังสิต เท่าที่ดูระยะทาง 50 กิโลเมตรที่กองทัพทำร่วมกับทหารพัฒนาเสร็จไป 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว สิ่งที่น่าห่วงและประสานกับทางผู้ว่าฯกทม.อยู่แล้วคือ บริเวณคลองหนึ่ง คลองสอง ที่ระดับน้ำในคลองรังสิตค่อยข้างสูง ส่งผลกระทบเขตดอนเมือง สายไหม แต่ทางผู้ว่าฯ กทม.ได้เตรียมการร่วมกับทางทหารไว้แล้วว่า จะดูแลประชาชนอย่างไร แต่คิดว่าไม่หนักหนาสาหัสอย่างที่คิด เพราะมีการะบายน้ำที่ดี ผู้ว่าฯ กทม.ก็ดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่รอบนอก กทม.รัฐบาลก็บริหารจัดการ และเท่าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ดูในช่วงเช้า น้ำที่ไหลไปทางตะวันออกได้เริ่มเบนไปทุ่งรังสิต และอีกส่วนได้ออกไปทางตะวันตกลงแม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำปัจจุบันลดลง 1-2 เซนติเมตร และน้ำจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะเข้ามาทางส่วนกลาง ถ้าเรามีการป้องน้ำก็จะบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะให้ป้องกันน้ำได้ 100%ต้องเห็นใจรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. เพราะน้ำมันเยอะ

ตรวจจุดเสี่ยงน้ำคลองบางบัวเอ่อล้น

ต่อมาเวลา 15.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้เดินทางไปยังชุมชนวัดบางบัว ซ.พหลโยธิน 46 เพื่อดูปริมาณน้ำในคันคลองบางบัวที่ยังสูง พร้อมกับให้กำลังใจประชาชนในชุมชน ทั้งนี้พื้นที่วัดบางบัวถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วมสูง อีกทั้งหากน้ำในคลองบางบัวล้นออกมา จะส่งผลกระทบกับถนนพหลโยธิน อย่าไรก็ตามขณะนี้น้ำจากคลองบางบัวส่วนหนึ่งได้เอ่อล้นขึ้นมาท่วมขังในพื้นที่ชุมชนบ้างแล้ว

วัดบางบัว เขตจตุจักร พร้อมเป็นศูนย์พักพิงเพิ่ม

โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักงานเขตดูแลพื้นที่นี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีการเคลื่อนย้ายมายังบริเวณศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย บริเวณวัดบางบัว ซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 300 คน นอกจากนี้ยังให้ทางสำนักงานเขตได้ซักซ้อมกับประชาชนในพื้นที่ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ โดยใช้ผ้าสีเป็นสัญลักษณ์ผูกติดไว้หน้าบ้าน ถ้าเป็นผ้าสีเขียวแปลว่า มีผู้อายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นผ้าสีขาว แปลว่ามีผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

รับมือมวลน้ำใหญ่สมทบ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ส่วนบริเวณชุมชนริมคลองประปาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่รั่วไหลจากคลองประปา ขณะนี้น้ำยังไม่ลดและยังไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ แต่ยังไม่เป็นปัญหามาก นอกจากนี้ปริมาณน้ำในพื้นที่เขตหลักสี่เริ่มนิ่งและคลี่คลายแล้ว โดยมีการระบายน้ำลงคลองเปรม ซึ่งหากมีการบริหารจัดการน้ำในคลองเปรมให้เป็นระบบก็จะสามารถป้องกันน้ำเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในได้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ขณะนี้มวลน้ำก้อนแรกปริมาณหลักร้อยล้านลูกบาศก์เมตรได้ผ่านไปแล้ว ต่อไปจะเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ขึ้นเป็นหลักพันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าทิศทางการไหลของน้ำจะเป็นไปในทิศทางใด แต่กรุงเทพฯจะติดตามอย่างใกล้ชิด และดำเนินการป้องกันพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด

เล็งราดแอสฟัลท์ยกถนนวิภาวดีสูงขึ้น

สำหรับกรณีที่น้ำไหลเข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิตจนเกือบถึงพื้นที่สนามบินดอนเมืองที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) นั้น เนื่องจากถนนวิภาวดีมีลักษณะเป็นพื้นที่ดอนน้ำจึงยังไม่ถึงบริเวณสนามบินดอนเมือง แต่ที่ดอนเท่านี้คงไม่เพียงพอ และกรณีที่มีนักวิชาการเสนอความคิดเห็นให้ใช้ถนนวิภาวดีเป็นเส้นทางระบายน้ำซึ่งจะทำได้เร็วขึ้นนั้น ก็ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แต่ต้องมีการหารือกันอย่างรอบคอบ ที่สำคัญต้องดูว่า ศปภ. จะยังตั้งอยู่ที่ดอนเมืองหรือไม่ โดยเบื้องต้นอาจจะมีการเทหินคลุกลาดยางมะตอย (แอสฟัลท์) ถนนวิภาวดียกระดับถนนให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่สนามบินดอนเมือง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นักวิชาการได้เสนอให้ใช้ถนนวิภาวดีรังสิตเป็นทางระบายน้ำนั้น ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นอำนาจของ ศปภ.ในการตัดสินใจ เนื่องจากถนนสายดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง แต่หากมีการดำเนินการ กทม.ก็ควรมีส่วนร่วมด้วย ขณะที่แนวทางการป้องกันน้ำท่วมของ ศปภ.จะมีการเสริมถนนวิภาวดีให้สูงขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม

กทม.ห่วงกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกท่วม

นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ผู้ว่าฯกทม.ได้มอบหมายให้ตนเองเป็นผู้ประสานงานร่วมกับทีมงานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) โดยในวันนี้ทีมผู้บริหารของกทม.ได้เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานของศปภ. เพื่อหาทางระบายน้ำที่ทยอยไหลเข้ามาจ่ออยู่ที่กทม.

นายพรเทพ กล่าวว่า เวลานี้ยอมรับว่ากทม.ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายจุดที่จะต้องเพิ่มความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ โดยเฉพาะคลองเปรมประชากร คลอง 6 วา คลองร่มเกล้า พุทธมณฑลสายสาย 4 และ 5 นอกจากนี้จุดที่หน้าเป็นห่วงอีกจุดคือเขตพระราชฐานที่มีพื้นที่ต่อเนื่องจากจุดเสี่ยง การดำเนินการอาจจะต้องใช้วัสดุที่ค่อนข้างแข็งแรงและทนทาน ซึ่งอาจจะต้องใช้กำลังทหารให้เข้ามาช่วยดำเนินการ

กว่า 4พันล.ลบ.ม.เข้า 26 ต.ค.นี้

นายพรเทพ กล่าวอีกว่า 2-3 วันที่ผ่านมาปริมาณน้ำที่มาจากจังหวัดนครสวรรค์และอยุธยา มีปริมาณแค่ 1,156 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเพียงทัพหน้า โดยทางกทม.สามารถระบายออกไปได้บ้างแล้ว แต่ที่หน้าหนักใจคือน้ำระลอกสองจากจ.อยุธยาที่กำลังจะมาในอีก 2 วันข้างหน้า คือวันที่ 26 ตุลาคม จำนวน 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัญหาตอนนี้คือ เวลานี้กทม.สามารถระบายน้ำได้เพียงวันละไม่เกิน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร คือ แม่น้ำเจ้าพระยา 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ท่าจีน 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และบางประกง 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนด้านตะวันออกระบายน้ำได้อีกประมาณวันละ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือใช้เครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ระบายน้ำออกไปตามส่วนต่างๆ

เล็งระบายน้ำให้มากที่สุด

“สิ่งที่อยากจะทำต่อไปคือต้องการผันน้ำไปทางตะวันออกให้มากขึ้น เพราะเวลานี้การระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกทำได้น้อยมาก เพราะคลองในพื้นที่ดังกล่าว เช่น คลองร้อยคิว คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ตื้นเขิน น้ำจึงไม่ผ่านมาเท่าไหร่ และโดยภาพรวมในวันนี้จากที่ผู้ว่าฯกทม.ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าระบายน้ำเพิ่มจากเดิมให้ได้วันละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะระบายไปตามคูคลองต่างๆ ทั้งทางด้านตะวันออกและตะวันตก” นายพรเทพ กล่าว

เผยระดับสูงกว่า 3 ม.

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะรับมือกับมวลน้ำ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างไร นายพรเทพ กล่าวว่า ก่อนนี้คาดการณ์ไว้ว่ามวลน้ำดังกล่าวจะเข้ามาทางด้านตะวันออกเหมือนน้ำระลอกแรก จึงได้ระดมกำลังไปป้องกันพื้นที่ดังกล่าว แต่เมื่อได้ตรวจสอบแผนที่ดาวเทียมล่าสุดพบว่ามวลน้ำก้อนนี้ได้เบี่ยงเส้นทางไปยังอีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งตะวันตก คือจะเข้ามาทางจังหวัดนครปฐม นนทบุรี เข้าสู่คลองทวีวัฒนา คลองบางกอกย้อย คลองบางพลัด จึงต้องเปลี่ยนแผนระดมกำลังไปป้องกันบริเวณดังกล่าวแทน คาดว่ามวลน้ำดังกล่าวที่เข้ามาจะมีระดับความสูง 3 เมตร อย่างไรก็ตามในพื้นที่บริเวณนั้นจะมีเส้นทางรถไฟซึ่งเป็นเหมือนทางกั้นน้ำอยู่แล้ว มีความสูง 2.7 เมตร ดังนั้นจึงเหลือน้ำอีกประมาณ 30 เซนติเมตร ที่อาจจะล้นเข้ามาในพื้นที่ ขณะนี้กำลังดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งจะมีวิธีการจัดการดังกล่าว เช่น ผันน้ำลงแม่น้ำท่าจีน

ไม่มีสารเคมีอันตรายในนิคมลาดกระบัง

นายวรศาสตร์ อภัยพงษ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวลือในเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ว่ามีกรดซัลฟูริกที่ยังไม่ได้ถูกเก็บไว้ในที่ปลอดภัยที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังจำนวน 100 ล้านตัน ได้ตรวจสอบไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแล้ว พบว่าเป็นโรงงานผลิตถุงมือยางที่ต้องใช้กรดซัลฟูริกเป็นส่วนประกอบเพียงเล็กน้อย โดยมีอยู่ประมาณ 2 - 5 ลิตร และสารโซเดียมไดออกไซด์ โปแตสเซียมไฮดอกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่สารพิษอันตราย ทั้งนี้การนิคมอุตสาหกรรมได้แจ้งให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังขนย้ายสารเคมีอันตรายออกนอกพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามสารที่จะก่อให้เกิดการระเบิดได้ต้องมีปฎิกิริยาออกซิเจน ต้องอยู่ในห้องเย็น ถ้าไม่มีห้องเย็นก็ต้องมีกระแสไฟฟ้าจึงจะระเบิดได้ ดังนั้นจึงไมมีใครที่จะปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

คุณภาพน้ำใน 6 นิคมฯ อยุธยาปกติ

ด้านนายสุเมธา วิเชียรเพชร ผอ.ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินสารเคมี คพ. กล่าวว่า ศูนย์ปฎิบัติการฯ เฝ้าระวังและตรวจสอบอยู่ในทุกนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ในพื้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา โดยได้ออกตรวจทุกอาทิตย์ แต่ไม่พบสารพิษที่เป็นอันตรายอะไร คุณภาพน้ำก็ปกติ ค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ที่ 6-8 ส่วนค่าอ็อกซิเจนละลายน้ำอยู่ที่ 4-6 มก./ล. ถ้าหากค่าออกซิเจนต่ำว่า 2 มก./ ล. จึงจะถือว่าน้ำเริ่มเสีย และไม่พบสารพิษอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตามแม้จะพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (วีโอซี) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ทาง คพ. ก็ได้บำบัดโดยใช้จุลินทรีย์ที่กินสารประเภทนี้โดยเฉพาะ และจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่าสารวีโอซีดังกล่าวลดลงแล้ว แต่ คพ. ก็จะยังเฝ้าระวังต่อไป และในสัปดาห์นี้ทาง

ราชมังคลาฯรับผู้อพยพได้แค่800คน

นายกนกพรรณ จุลเกษม ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ปรึกษากับทางศูนย์พักพิงผู้อพยพ ม.ธรรมศาสตร์รังสิต พบว่าหากใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสถานที่พักพิงแทน อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้พักพิงเอง เนื่องจากมีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก เพราะสถานที่สามารถรองรับได้เพียง 800 คน จึงได้ขอตกลงร่วมกันว่า จะมีการแบ่งผู้อพยพออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกย้ายผู้อพยพไปที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี ประมาณ 1,500 คน ส่วนที่สองค่ายอดิศร จำนวน 2,000 พันคน ส่วนที่ 3 คือผู้อพยพที่สมัครใจเดินทางกลับบ้าน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานที่ในราชมังคลากีฬาสถาน ปรากฏว่าสถานที่ยังไม่มีความพร้อมรองรับผู้อพยพจำนวนมาก อาคารอินดอร์สเตเดียม ที่เดิมทาง มธ.รังสิตตั้งใจใช้เป็นศูนย์พักพิงก็อยู่ระหว่างการปิดซ่อม ส่วนบริเวณโดยรอบของการกีฬาแห่งประเทศไทยก็เต็มไปด้วยรถของประชาชนที่เข้ามาจอดเพื่อหนีน้ำท่วม

ราชมังคลาฯไม่เหมาะเสี่ยงน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม หากให้ผู้อพยพเข้าไปพักในหอพักนักกีฬาก็ยากแก่การควบคุมเพราะประชาชนมีจำนวนมาก อีกทั้งสถานที่ของสนามราชมังคลาก็ถือเป็นจุดเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมแบบเดียวกับที่มธ.รังสิต เพราะมีความสูง 2.6 เมตร หากเกิดน้ำท่วมก็จะเกิดความยากลำบากในการอพยพคนจำนวนมาก

ส่วนบรรยากาศที่สนามรราชมังคลากีฬาสถาน ปรากฏว่าได้มีอาสาสมัครจิตอาสาจำนวนหนึ่ง เดินทางไปเตรียมสถานที่ พร้อมนำอาหาร และสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปรออยู่ก่อนที่ผู้อพยพเที่ยวแรกจะเดินทางมาถึง

เสริมแนวคันกั้นน้ำศิริราช

เมื่อเวลา 13.00 น. ศ.คลินิก นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์กับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ กองทัพบก กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน ฯลฯ ว่า ขณะนี้แนวคันกั้นน้ำภายใน รพ.ศิริราช โดยรอบตั้งแต่ท่าน้ำพรานนก รั้วคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ตลอดแนวริมรั้วคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้านท่าน้ำศิริราชไปจนถึงท่าน้ำรถไฟ เลียบไปตามแนวคลองบางกอกน้อย ได้เพิ่มระดับความสูงเป็น 3 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทั้งนี้จะเสริมแนวคั้นกั้นน้ำให้มีความแข็งแรงมั่นคงเพิ่มขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครดูแลรอบนอกตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงเลียบคลองบางกอกน้อย ภายใน รพ.ศิริราช ตามตึกต่าง ๆ มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ และในขณะนี้ยังไม่มีน้ำท่วมขังภายใน รพ.ศิริราช
สธ.เริ่มระบายผู้ป่วยออกจากกทม.

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ประสานโรงพยาบาลทุกหน่วยงานที่อยู่ในกทม. รวมทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อทยอยย้ายผู้ป่วยหนักจากส่วนกลางไปอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภูมิภาค ตามแผนวงแหวน 3 วงที่เตรียมและซักซ้อม คือในส่วนกลาง แถบปริมณฑล และวงนอกปริมณฑลออกไปซึ่งดำเนินการเป็นกลุ่มเครือข่ายๆละ 2-4 แห่ง เช่น ขอนแก่น ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ระยอง และนครราชสีมา เพื่อรองรับปัญหาที่น้ำเริ่มเข้าท่วมบางพื้นที่ในกทม. โดยได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งสำรองเตียงว่างไว้ 5 %ในจำนวนนี้ให้เป็นเตียงผู้ป่วยหนัก 10% ในเบื้องต้นนี้เตรียมไว้ประมาณ 1,000 เตียง ในการลำเลียงย้ายผู้ป่วยได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นแกนประสานหลักในการจัดยานพาหนะทั้งเครื่องบินซี 130 และรถพยาบาลฉุกเฉิน

เจ้าพระยาสูงเป็นประวัติการณ์2.30ม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ล่าสุดมวลน้ำขนาดใหญ่ค่อยๆ เข้ามาในกทม.ทั้งทางบกและทางน้ำ ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาทำสถิติระดับเพิ่มสูงสุดคือ 2.30 เมตร จากเดิมที่เคยขึ้นสูงสุดในปี 2538 คือ 2.27 เมตร ปรากฎการณ์เช่นนี้หมายความว่าประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 13 เขต 27 ชุมชน ทั้งที่อยู่นอกและในแนวป้องกันน้ำท่วม ก็ขอเตือนให้ประชาชนบริเวณนั้นคิดหนักในการเคลื่อนย้ายไปศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยในขณะนี้จำนวนผู้อพยพมาที่ศูนย์พักพิงมีประมาณ 5,071 คน และช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ ประชาชนสามารถเข้ามาที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ซึ่งสามารถรองรับได้ 1,000 คน

เสนอให้ 28 และ 31 ต.ค.เป็นวันหยุด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในคลองต่างๆ พบว่า คลองเปรมประชากร น้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคลอง 2 สายไหมน้ำเพิ่มสูงขึ้นชั่วโมงละ 1 ซม.ส่วนถนนวิภาวดีรังสิตพื้นที่โดยรอบได้ขยายตัวเข้ามาแล้วแม้จะไม่รวดเร็วเท่าเมื่อวานแต่คาดว่าจะมีปริมาณมากกว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงว่าช่วงวันที่ 25 ตุลาคมเป็นต้นไป เมื่อน้ำเหนือมาสมทบบวกกับน้ำทะเลหนุน หลายพื้นที่จะเกิดภาวะวิกฤติ จึงได้เสนอนายกรัฐมนตรีว่าควรจะให้เป็นวันหยุดราชการโดยในวันที่ 25 ตุลาคม นายกฯจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้วันที่ 28 และ 31 เป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตามตนคิดว่าควรจะหยุดตั้งแต่วันที่ 25 เป็นต้นไป

คาดหากน้ำเหนือเข้าต้องเพิ่มพื้นที่เสี่ยง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีน้ำเหนือปริมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้ามาถึงกทม.จะมีการประกาศเพิ่มพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า จะประกาศเพิ่มแน่นอนในพื้นที่ต่อเนื่องจากพื้นที่เสี่ยงเดิม แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ อย่างไรก็ตามกทม.ได้เตรียมแผนรองรับสำหรับพื้นที่ 50 เขตไว้แล้ว

ผู้ว่าฯกปน.แนะสำรองน้ำได้แล้ว

24ต.ค.2554 นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง( กปน.) เปิดเผยว่า คุณภาพน้ำประปาที่ผลิตและจ่ายไปบริการประชาชนในขณะนี้ยังคงยืนยันว่ามีคุณภาพดี ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สามารถใช้และบริโภคได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ขอแนะนำผู้ใช้น้ำควรสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด เพราะวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ มีความรุนแรงมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดคิด

"ขอยืนยันและสัญญาว่า กปน. พูดแต่ความจริง เพราะนี่คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคน้ำประปากว่า 10 ล้านคน หากเมื่อใดที่ กปน. ไม่สามารถจะผลิตน้ำประปาให้ได้ตามมาตรฐานก็จะบอกความจริงให้ประชาชนได้ทราบโดยจะไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด"นายเจริญ กล่าว

หึ่ง! “ลายจุด”วิ่งขอ ศปภ. 3 ล้าน

วันที่ 24 ต.ค. มีรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แจ้งว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง หรือ บก.ลายจุด จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมาตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่วันเปิด ศปภ. วันแรก ได้ขอให้นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรค(กลุ่มบ้านเลขที่ 111) พาไปพบนายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเงินสนับสนุนการดำเนินงานช่วยเหลือของมูลนิธิกระจกเงาที่ปฎิบัติการณ์อยู่ใน ศปภ.จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินการของมูลนิธิของกระจกเงาในการช่วยเหลือภารกิจน้ำท่วม ดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายบัณฑูร ระบุว่า ไม่สามารถเกลี่ยงบประมาณ ที่เป็นงบประมาณรายจ่ายมาให้ได้ เพราะติดขัดข้อระเบียบ แต่จะพิจาณาว่าจะนำเงินที่ประชาชนบริจาคมาให้ ศปภ.สนับสนุนให้กลุ่มกระจกเงาได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น