xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำท่วมที่ดอน น้ำแห้งที่หนอง” หลักฐานที่ ชาวกทม. นนทบุรี และปทุมธานี ต้องจดจำเอาไว้ !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

น้ำท่วมครั้งนี้คนไทยได้เห็นภาพหลายภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ภาพที่เรากำลังเห็นในเวลานี้คือชาวปทุมธานี ดอนเมือง สายไหม นนทบุรี และกรุงเทพมหานครชั้นในโดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ยังคงต้องรับปัญหาน้ำท่วมด้วยความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส
ภาพ 1: เปรียบเทียบน้ำท่วมที่สนามบินดอนเมืองกับน้ำแห้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพที่ดูแล้วมีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และในแง่การบริหารจัดการ ก็คือภาพน้ำท่วมที่สนามบินดอนเมืองแห่งหนึ่ง และน้ำท่วมที่สนามบินหนองงูเห่า (ชื่อเดิมก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็น สนามบินสุวรรณภูมิ) อีกแห่งหนึ่ง

“น้ำท่วม”ที่สนามบิน “ดอน”เมือง และ “น้ำแห้ง”ที่สนามบิน “หนอง”งูเห่า !!!?

“น้ำท่วมที่ดอน และน้ำแห้งที่หนอง”
ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อจะบอกถึงระดับความสูงที่แตกต่างกันระหว่าง “ดอน” กับ “หนอง” เท่านั้น แล้วในความเป็นจริงในทางภูมิศาสตร์สนามบินดอนเมืองก็อยู่ในพื้นที่ตั้งที่สูงกว่าสนามบินสุวรรณภูมิจริงๆเสียด้วย

นอกจากนั้นเรายังเห็นเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายประการก็คือกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีมีระดับความสูงของพื้นดินทั่วไปสูงกว่ากรุงเทพชั้นในฝั่งพระนคร แต่น้ำกลับท่วมขังกรุงเทพฝั่งธนบุรีรุ่นแรงและหนักมากกว่ากรุงเทพมหานครชั้นในฝั่งพระนคร

เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตลาดพร้าว ฯลฯ ที่น้ำท่วมกรุงเทพฝั่งพระนครนั้น ความจริงแล้วคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อยู่ในพื้นที่สูง หรือพื้นที่ดอน ซึ่งมีระดับพื้นทั่วไปสูงกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในเกือบทั้งหมด แต่กรุงเทพมหานครชั้นในกลับซึ่งมีระดับพื้นต่ำกว่ากรุงเทพมหานครทางทิศเหนือกลับแห้งสนิท

และที่ยังน่าสนใจก็คือว่าระดับน้ำในบึงพระรามเก้า และบึงมักกะสัน ซึ่งเป็น 2 บึงใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงรับน้ำใจกลางกรุงเทพชั้นในฝั่งพระนคร เหลือพื้นที่รับน้ำเพื่อพักน้ำได้อีกจำนวนมาก แต่คนกรุงเทพทางทิศเหนือซึ่งอยู่อาศัยในพื้นดินที่มีความสูงกว่าคนอื่นในกรุงเทพมหานครยังคงต้องทนทุกข์กับน้ำท่วมต่อไป

ไม่ต้องพูดถึงคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี ที่ท่วมก่อนคนอื่นแต่น้ำลดก็ช้ากว่าคนอื่นเพราะน้ำระบายออกได้ช้า โดยเฉพาะนนทบุรีนั้นสาหัสมากเพราะกลายเป็นพื้นที่ด่านหน้ารับน้ำจากทิศเหนือก่อนเข้ากรุงเทพฝั่งธนบุรีจนป่านนี้น้ำก็ลดลงช้ามากเช่นกัน

จริงอยู่ที่ว่า อุทกภัย เป็นภัยธรรมชาติที่ห้ามไม่ได้ แต่ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า เราต้องเดินมาผิดทางแน่นอนแล้ว

คำถามคือแล้วเราทำอะไรผิดพลาด?

มูลเหตุสำคัญก็คือทางน้ำไหลฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครนอกคันกั้นน้ำ ไม่สามารถที่จะผันน้ำทิศใต้ลงสมุทรปราการเพื่อน้ำมวลน้ำลงทะเลไปยังทิศใต้ได้สะดวกตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2538

เราปล่อยให้มีการวางผังเมืองกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบายน้ำออกเพื่อลงทะเลไปยังสมุทรปราการ ให้กลายเป็นพื้นที่มีผู้อยู่อาศัยเบาบาง ปานกลาง มีนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า พื้นที่พาณิชย์ และมีสนามบินสุวรรณภูมิ ขวางทางน้ำไหล


มิพักต้องพูดถึง หมู่บ้านจัดสรร และที่ดินของเหล่าเครือข่ายนักการเมืองต่างอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่มีการสร้างถนนตัดขวางทางน้ำหลายจุด ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายต่างสนใจแต่ที่จะสร้างถนน แต่กลับไม่มีใครสนใจขุดลอกคลองมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

เมื่อพื้นที่ซึ่งควรเป็นที่รับน้ำ ควรเป็นทางน้ำหลาก และจะควรเป็นแก้มลิง กลายเป็นพื้นที่สนามบินที่ห้ามน้ำท่วมขัง มีบ้านเรือนและชุมชนที่นักการเมืองต้องดูแลฐานเสียงของตัวเอง มีอสังหาริมทรัพย์ของเหล่าเครือข่ายนักการเมืองเป็นผลประโยชน์อันมหาศาล เราจึงเห็นการปกป้องรักษาพื้นที่เหล่านี้ในช่วงแรก โดยการปิดประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำไม่ให้ผันไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะคลอง 8 ถึง คลอง 12 และน้ำให้น้ำไหลเข้ามาในคันกั้นน้ำทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานครจนไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อน้ำผันมาทางทิศเหนือเข้ามาในคันกั้นน้ำจนไม่สามารถควบคุมประตูได้ ผลลัพธ์ก็คือน้ำเข้ามาท่วมสนามบินดอนเมืองทันที จากพื้นที่ “ดอน”มีระดับพื้นสูงกว่าระดับพื้นทั่วไปในกรุงเทพมหานคร จนรัฐบาลมั่นใจจนตั้งเป็นหน่วยงานบัญชาการน้ำอย่าง ศปภ. และเป็นพื้นที่ซึ่งเชิญชวนประชาชนไปจอดรถ กลับกลายเป็นที่น้ำท่วมเอ่อล้นเป็นที่แรกๆจนเป็นภาพที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นที่น้ำท่วมลานวิ่งและหลุมจอดของสนามบินดอนเมือง และเป็นผลทำให้รัฐบาลต้องย้ายหน่วยงาน ศปภ.ออกจากพื้นที่ดังกล่าวอย่างน่าอับอายยิ่ง

เมื่อสนามบินดอนเมืองท่วม ก็ลามต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ และสาเหตุที่ท่วมพื้นที่สูงเช่นนี้ก็เพราะการปล่อยให้น้ำไหลเข้ามาทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ก็คือการปล่อยน้ำเข้ามาในพื้นที่ซึ่ง “อยู่ห่างไกลคลองและระบบสูบน้ำของกรุงเทพมหานคร” ทำให้ต้องเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเดินทางผ่านสนามบิน บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จนเสียหายเป็นจำนวนมากเสียก่อนที่จะพบกับระบบคลองตัดขวางและเครื่องสูบน้ำของกรุงเทพมหานคร

ระบบคลองและระบบสูบน้ำของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพ และมีอัตราความเร็วในการสูบน้ำอยู่ในระดับที่สูง แม้มวลน้ำจะเข้ามาในกรุงเทพมหานครมากแต่เคลื่อนในอัตราความเร็วที่ช้ากว่าระบบสูบน้ำ ดังนั้นน้ำท่วมจึงถูกจำกัดพื้นที่ในกรุงเทพฝั่งพระนครไม่ให้ขยายขอบเขตได้ แต่ความจริงแล้วเราไม่ควรจะเสียหายจากพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมซึ่งเดินทางก่อนจะมาถึงระบบคลองและระบบสูบน้ำซึ่งอยู่ชั้นในของกรุงเทพมหานครฝั่งพระนคร

หลังจากที่สังคมเครือข่าย Social Network ได้เผยแพร่วีดีโอคลิปใน เว็บไซต์ ยูทูป ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2538 ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้น้ำเข้ามาในคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร เพราะน้ำจะท่วมขังนาน จึงทรงพระราชทานแนวทางการสร้างทางน้ำหลาก (Flood Way) ทรงแนะนำให้ใช้เครื่องดันน้ำและเร่งสูบน้ำออก และใช้วิธีการเจาะถนนเพื่อให้น้ำลงทิศใต้ไปยังสมุทรปราการผ่านลงทะเลให้เร็วที่สุด ฯลฯ

แต่รัฐบาลได้เดินทางผิดพลาดมาไกลมากแล้ว จึงแก้ไขปัญหาแบบรูปหน้าปะจมูกโดยให้กรมชลประทานผันน้ำไปทางตะวันตกมากขึ้น ผลก็คือนนทบุรีและกรุงเทพฝั่งธนบุรีต้องรับมวลน้ำหนักกว่าฝั่งตะวันออก ทั้งๆที่นนทบุรีและกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี มีระบบสูบน้ำและระบบเครือข่ายคลองด้อยกว่ากรุงเทพมหานครฝั่งพระนครเป็นจำนวนมาก

ผลก็คือน้ำท่วมสูงมากที่จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี โดยที่ผันน้ำออกได้ช้า และทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จนมีคนจำนวนมากรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล และรู้สึกถึงความอยุติธรรมของสังคม แล้วต้องใช้วิธีชุมนุมกดดันเพื่อช่วยเหลือชุมชนของตัวเอง!!!


การนำบิ๊กแบ๊คขวางทางน้ำไม่ให้เข้าตัวเมืองทิศเหนือฝั่งพระนครของกรุงเทพมหานคร ผลก็คือเกิดการต่อต้านกันระหว่างประชาชนด้านหน้าบิ๊กแบ็คกับด้านหลังบิ๊กแบ๊ค ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้กันน้ำเพื่อไม่ให้ตัวเองท่วม อีกฝ่ายต้องการให้รื้อเพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนลง ทั้งๆที่ต้นตอปัญหาหลักก็คือการไม่สามารถผันน้ำไปทางทิศตะวันออกเพื่อลงทิศใต้ไปยังสมุทรปราการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผังเมืองเจริญเติบโตแบบไร้การควบคุม วิ่งเต้น และเล่นการเมืองกันมากไปในสถานการณ์น้ำท่วมหนัก

จากเดือนกว่าที่คลองเปรมประชากรซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากทิศเหนือลงทิศใต้ของกรุงเทพมหานครน้ำเอ่อล้นตลิ่งทางตอนเหนือบริเวณดอนเมือง แต่ระดับน้ำคลองเปรมประชากรได้ลดลงเมื่อเดินทางมาถึงคลองบางเขนและสถานีสูบน้ำบางเขนตัดขวาง และลดลงอีกเมื่อถูกคลองและสถานีสูบน้ำบางซื่อตัดขวาง ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว

แต่ความจริงมาพบว่าคลองเปรมประชากรมีการปิดประตูระบายน้ำเมื่อผ่านคลองบางซื่อตัดขวางมาเป็นเวลาประมาณเดือนเศษ เพิ่งจะเริ่มมายอมเปิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 เพียงเพราะว่าไม่ต้องการให้น้ำเข้ามาท่วมถึงคลองผดุงกรุงเกษมอันเป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาลซึ่งล้อมรอบด้วยกระสอบทรายเรียงสูงจนสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนที่ผ่านไปมาโดยทั่วไป ผลก็คือน้ำจากคลองเปรมประชากรได้ท่วมทางตอนเหนือเกินความจำเป็นเป็นเวลาเดือนเศษโดยไม่สามารถใช้ระบบคลองและสถานีสูบน้ำจากคลองสามเสนและคลองผดุงกรุงเกษมได้เต็มประสิทธิภาพ

การกั้นน้ำไม่ให้ท่วมตัวเอง เริ่มตั้งแต่การปล่อยน้ำในเขื่อนแล้ว แต่ความจริงเราก็ยังพบเหตุการณ์แบบนี้มานานเป็นเดือน คลองในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับต่ำเกินกว่าเหตุหลายจุดเพราะไม่กล้าใช้เพราะกลัวน้ำท่วมในเมือง ส่งผลทำให้คลองและบึงหลายแห่งแห้งนานเกินความจำเป็น ระบบสูบน้ำจึงทำงานช้ากว่าที่ควรจะเป็น แม้การเพิ่มระบบสูบน้ำและลอกคลองก็เพิ่งจะมาเริ่มคิดกันมาไม่นานมานี้เอง คำสรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ...

“เราระบายน้ำช้าไป เพราะมัวแต่คิดแต่กั้นน้ำมากไป”

ปัญหาจึงอยู่ที่นักการเมืองและข้าราชการทุกยุคทุกสมัยไม่ใส่ใจสร้างทางน้ำหลาก (Flood Way) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสมาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ปล่อยปละละเลยให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ จนเป็นผลทำให้กระแสพระราชดำรัสเมื่อ 16 ปีที่แล้วยังคงมีความทันสมัยเหมือนทรงมีกระแสรับสั่งในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน และแสดงให้เห็นว่าปัญหาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยังไม่มีใครนำไปแก้ไขให้ดีขึ้น แต่นักการเมืองและข้าราชการกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม


ขอกราบขอบพระคุณพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในสหรัฐอเมริกา ได้มีความห่วงใยประเทศไทย จึงได้นำพาผมไปสำรวจชมการสร้างทางน้ำหลาก (Flood Way) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากปัญหาหิมะละลายลงมาจากภูเขาตามฤดูกาล ตัวอย่างเช่น ลัสเวกัส ทางตอนเหนือ มลรัฐเนวาดา น้ำได้ท่วมทุกปีจนไม่มีประชาชนสามารถอาศัยอยู่ได้

มลรัฐเนวาดาได้ลงทุนทางน้ำหลาก (Flood Way) ด้วยเงินลงทุนถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งสร้างทางน้ำไหลเป็นทางคอนกรีตเสริมเหล็กล้อมด้วยรั้วยาวตลอดแนว และมีความเคร่งครัดไม่ให้มีประชาชนไปรุกล้ำหรือเข้าไปใช้ได้เลย มีการสร้างบ่อพักหรือแก้มลิงในแต่ละชุมชนเป็นช่วงๆ และยึดโยงโครงข่ายเพื่อทำให้ระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด แม้ปัจจุบันยังดำเนินการก่อสร้างทางน้ำหลากอย่างต่อเนื่องครบสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันก็มีผู้คนไปอาศัยอยู่ที่ลัสเวกัส ทางตอนเหนือได้แล้วโดยไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมอีกเลย
ภาพ 2 :รูปแบบของเส้นทางน้ำหลากของลัส เวกัสทางตอนเหนือ สำหรับรองรับน้ำท่วมห้ามคนเข้าไปใช้และมีการกั้นรั้วเหล็กตลอดแนว
ภาพที่ 3 รูปแบบทางน้ำหลากรองรับน้ำท่วมในช่วงที่ระดับน้ำไม่สูงมากที่ลัสเวกัส ทางตอนเหนือ
ภาพที่ 4 ภาพระบบทางน้ำหลากแบบคู่แยกเป็น 2 ทิศทาง เพื่อกำหนดทางน้ำไหลทางตอนเหนือของ ลัส เวกัส
ในขณะเดียวกันที่ซาน ฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในพื้นที่ซึ่งระดับบถนนสูงกว่าบ้าน ก็มีการขุดเจาะถนนสร้างคลองเพื่อนำน้ำลงไปพักลงแก้มลิงก่อนระบายลงทะเลเช่นกัน ในขณะที่ลอส แองเจิลลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ยังมีการกันพื้นที่ทางน้ำหลากและระบบแก้มลิงเช่นกัน

เช่นเดียวกับลุ่มน้ำ ซานตาเฟ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็มีการกั้นพื้นที่ซึ่งห้ามผู้คนเข้าไปใช้ หรืออยู่อาศัย เพื่อใช้สำหรับการรับทางน้ำหลาก และมีการสร้างแก้มลิงก่อนระบายลงทะเลเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยมีบูรพมหากษัตริย์ที่ได้ทรงมีพระปรีชาสามารถและทรงเป็นปราชญ์แห่งน้ำตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 - 5 - 6 ที่ได้ทรงพัฒนาคลองในการรองรับน้ำหลากอย่างเป็นระบบ และมีการกันพื้นที่สำหรับให้น้ำหลากเฉพาะในทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จนระบบคลองที่มีประสิทธิภาพในยุคนั้นประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองเวนิส ตะวันออก และได้มีการพัฒนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันที่พระราชทานแนวคันกั้นน้ำตามแนวทางพระราชดำริเพื่อกำหนดทิศทางน้ำหลากให้มีความชัดเจนไม่กระทบคนที่อยู่ในเมืองซึ่งน้ำระบายออกยาก และพระราชทานแนวทางการสร้างแก้มลิงเพื่อเป็นที่รับน้ำหลากเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังยังมีโครงการตามแนวทางพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์ ที่สามารถทำให้การระบายน้ำลงทะเลมีความเร็วขึ้น การใช้เครื่องดันน้ำและเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำให้เร็วขึ้น ฯลฯ

และสิ่งที่ทรงพระราชทานแนวทางเอาไว้ที่รัฐบาลตลอด 16 ปีที่ผ่านมาไม่สนใจ และไม่ดำเนินการก็คือการสร้าง Flood Way หรือทางน้ำหลากเป็นการเฉพาะ


แต่ประเทศไทยใหม่ หรือ New Thailand ได้ทำให้ เวนิส แห่งตะวันออก กลายเป็น ดีทรอยท์ แห่งเอเชีย เมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เน้นถนน ให้รถยนต์วิ่ง เราสร้างนิคมอุตสาหกรรม สร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ แล้วยังถมคลองให้กลายเป็นพื้นที่จราจรเพิ่มขึ้นอีก

ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นต้นทุนอันแพงมหาศาลซึ่งได้เตือนสติอย่างแรงให้คนไทยหันมาฟื้นฟูระบบคลองและทางน้ำหลากอย่างจริงจังเสียทีแล้ว !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น