xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จมบาดาล50เขตตึงเครียมน้ำทะลักศปภ.เตือนปชช.อพยพไปตจว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- กรุงเทพฯเสี่ยงท่วมทุกพื้นที่ หลังน้ำเหนือและมวลน้ำใหญ่ล้อมเมืองหลวง ซ้ำร้ายระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุด ผู้ว่าฯกทม.สั่ง 50 เขตรับมือฉุกเฉิน ประกาศ "ดอนเมือง-บางพลัด " อพยพทันที " ลาดพร้าว-วังทองหลาง"เฝ้าระวังพิเศษ แจงน้ำตามลำคลองแห้ง เพื่อรองรับน้ำเหนือทะลัก โฆษกศปภ.ออกประกาศเตือนให้ประชาชนอพยพไปต่างจังหวัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่“พุทธมณฑล” อพยพรอบ 2 “บางเลน” วิกฤตรัฐยังไม่ส่งอาหารเข้าพื้นที่ สลด! เด็กชาย 14 ขวบ ปกป้องวัดปากน้ำ แต่ถูกผนังกั้นน้ำทับเสียชีวิต

กรุงเทพฯสุ่มเสี่ยงที่จะถูกน้ำเอ่อทะลักเข้าท่วมทุกพื้นที่ หลังจากรัฐบาลและกรุงเทพฯยังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ตามแผนที่จะผันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่น้ำจำนวนมหาศาลได้ล้อมพื้นที่กรุงเทพฯไว้แล้ว ขณะที่เกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลในช่วงนี้จะหนุนขึ้นมาอีก ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้วิกฤตหนักมากขึ้น

น้ำหนุนสูงทะลักเกินคันกั้นน้ำ10ซม.

วานนี้ (26 ) ที่ศาลาว่าการ กทม. ในช่วงเช้า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงข่าวภายหลังร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารกทม. ว่า สถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่กทม.ขณะนี้ปรากฏว่า น้ำเหนือได้ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วและมีปริมาณจำนวนมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนในระดับที่มากกว่าปกติ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติอีก 20-30 ซม.จากวันที่ 25 ต.ค.54 ไปถึงช่วงวันที่ 28-31 ต.ค.54 และอาจจะเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูง 1.11 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดปลายเดือนนี้ อาจส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.60 เมตร ขณะที่แนวป้องกันของ กทม.อยู่ที่ 2.5 เมตร เท่ากับสูงกว่าคันกั้นน้ำ 10 ซม. ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ระดับน้ำในกทม.สูง-ตจว.ลดลงต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์น้ำ บริเวณคลองสอง จ.ปทุมธานี มีน้ำเพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร(ซม.) ส่วนที่คลองทวีวัฒนา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซม. โดยกทม.ได้สั่งให้มีการยกประตูระบายน้ำในจุดนั้นที่ความสูง 1.7 เมตร แต่ระดับน้ำในคลองยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม จากภาพถ่ายทางอากาศล่าสุด พบว่า มวลน้ำใน กทม.ลดลง และที่ จ.นครสวรรค์ ลดลงจาก 1,922 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,899 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ อยุธยา 4,175 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 4,163 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท 424 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 401 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาทีถึงแม้ยังมีมวลน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ ประชาชน ยังสบายใจได้ระดับหนึ่ง เพราะมวลน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ในปลายเดือนตุลาคมนี้ ตั้งแต่ วันที่ 28 ต.ค.เป็นต้นไป ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่ในกทม. อาจจะวิกฤติ ได้

"ดอนเมือง-บางพลัด" อพยพทันที

ล่าสุดเมื่อเวลา 20.30 ผู้ว่าฯกทม.ได้ประกาศให้มีการอพยพเป็นครั้งแรกใน 2 เขต ได้แก่ ดอนเมืองและบางพลัด เนื่องจากไม่สามารถสกัดกั้นได้อีกต่อไป โดยนับจากคืนนี้เป็นต้นไปถือว่าสถานการณ์ก้าวเข้าสู่สภาวะวิกฤตแล้ว เนื่องจากพื้นที่เขตดอนเมืองถูกน้ำท่วมไปแล้ว 90% ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ และเด็ก ควรอพยพออกทันที ซึ่ง กทม.ได้จัดเตรียมสถานที่พักพิงไว้ในโรงเรียนสังกัด กทม.แล้ว

นอกจากนี้ กทม.ได้ประกาศให้อีก 2 เขต คือ ลาดพร้าวและวังทองหลางเป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษ โดยขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการอพยพเคลื่อนย้าย

อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่สามารถประเมินได้ว่า น้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาจะกระทบกับเขตพื้นที่อื่นๆ ด้วยหรือไม่ แต่หากน้ำจะท่วม กทม.ทั้งหมด จะต้องมีมวลน้ำมหาศาลและต้องไหลมาจากทุกทิศทาง ซึ่งเชื่อมั่นว่า กทม.มีระบายน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอ

"ตอนนี้หนักจริงๆ คือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าน้ำล้นแนวกั้น ของ กทม. ก็จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ 3 - 5 ชั่วโมง ปริมาณน้ำก็จะลดลงไปเอง แต่ผมห่วงที่บางพลัด ซึ่ง 2 วันนี้ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ที่ถนนพหลโยธิน และวิภาวดีรังสิต หากน้ำเหนือเข้ามาอีกระลอก ก็เกรงว่าจะเข้ามาถึง กรุงเทพฯชั้นในได้"

คาดมวลน้ำใหญ่มาแล้ว

จากนั้น ผู้ว่าฯกทม.ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจสถานการณ์น้ำว่า ขณะนี้ ปริมาณน้ำคลองหกวา เขตสายไหม กำลังล้นเข้ามา โดยเจ้าหน้าที่จึงกำลังเร่งเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น แต่คาดว่า มวลน้ำก้อนใหญ่จะเข้ามาในคืนนี้ กรุงเทพฯกำลังก้าวไปสู่ภาวะวิกฤติจึงต้องให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ ที่กทม. เคยประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ขอให้มีการเตรียมตัวเคลื่อนย้ายได้ เพราะอาจจะมีเวลาไม่นาน

"ได้สั่งการให้ 50 เขต เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือที่จะเข้ากรุงเทพฯ ช่วงค่ำวันนี้ และในเวลา 18.00 น.วันนี้จะประเมินอีกครั้งว่าต้องประกาศให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เตือนภัยเพิ่มเติมอีกหรือไม่"

ท่วมเยาวราช บางจุดสูงกว่า 20 ซม.

สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาเช้าวันนี้ (26 ต.ค.) ระดับน้ำเอ่อล้นมาทางท่อ เข้าท่วมพื้นผิวการจราจรหลายจุดแถวเยาวราช โดยเฉพาะถนนเจริญกรุง มุ่งหน้าตลาดน้อย เลี้ยวซ้ายไปหัวลำโพง ระดับน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 20 ซม. รถเล็กต้องระมัดระวัง ขณะที่ชาวบ้านรวมถึงพ่อค้าแม่ค้าบริเวณนี้ เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และออกมาติดตามสถานการณ์

ชาวบ้านกล่าวว่า น้ำท่วมประเทศครั้งใหญ่ เมื่อปี 2538 ยังไม่มากขนาดนี้ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ท่วมเยาวราช อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากน้ำทะเลยังหนุนสูง โดยเฉพาะวันที่ 28 ตุลาคมนี้ อาจทำให้บริเวณนี้ทั้งหมดน้ำท่วม

ปิ่นเกล้า-จรัญฯอ่วมหนัก

ขณะที่เขตบางกอกน้อย ตั้งแต่ ถ.จรัญสนิทวงศ์ ช่วงบริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 มุ่งหน้าแยกบางขุนนนท์ รวมถึงฝั่งกลับกัน มีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 40 เซนติเมตร ทำให้รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีรถโดยสารประจำทางคอยให้บริการประชาชน

ขณะเดียวกัน ถ.บรมราชชนนีขาออก ตั้งแต่บริเวณสี่แยกบรมราชชนนี มุ่งหน้าสี่แยก 35 โบวล์ ในส่วนนี้ฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้าพาต้า น้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้

นอกจากนี้ บริเวณสี่แยกปิ่นเกล้า หรือสี่แยกพาต้า ถ.อรุณอัมรินทน์ ระดับน้ำสูงกว่า 60 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ประชาชนที่เดินทางมาจากสะพานพระราม 8 ต้องลงจากรถ เพื่อรอขึ้นรถของ ขสมก.ที่บริการรับส่งมายังโรงพยาบาลศิริราช ขณะที่บางส่วนต้องเดินลุยน้ำที่สูงเหนือระดับเข่า เข้ามายังโรงพยาบาล

ประสานกต.ดูแลสถานทูตติดเจ้าพระยา

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กทม. ได้ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันดูแล เอกอัคราชทูตต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานทูต 2 แห่ง คือ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส เนื่องจาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางรัก จึงขอให้สำนักเขตบางรัก เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่

ถกผู้ประกอบการหารือแนวทางป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ได้รับคำสั่ง ศปภ. 22/2554 ลงวันที่ 24 ต.ค.มอบหมายภารกิจหลายเรื่อง ให้กทม. ดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญ คือ ให้ผู้ว่าฯ กทม.รับผิดชอบหลักดูแลพื้นที่เศรษฐกิจและสถานที่สำคัญภาคเอกชน ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.) เวลา 13.30 น. กทม.จึงได้เชิญหอการค้าไทยและต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า สมาคมธุรกิจขนาดใหญ่ ร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหา สถานการณ์ล่าสุด รวมถึงความต้องการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรและกลุ่มบริษัทร่วมกันหาวิธีดูแลพื้นที่ภาคเอกชนให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ยุบ 5 ศูนย์พักพิงประสบภัยเขตดอนเมือง

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนเข้าไปพักยังศูนย์พักพิงของ กทม. 6,013 คน โดยศูนย์ของ กทม.189 แห่งได้สั่งปิดไป 5 แห่ง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ ศูนย์พักพิงโรงเรียนเวฬุวนาราม โรงเรียนพหลโยธิน โรงเรียนเปรมประชา โรงเรียนประชาอุทิศ และโรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตดอนเมือง และให้เคลื่อนย้ายผู้พักพิงไปอยู่ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ และโรงเรียนประชานิเวศน์ นอกจากนี้ กทม.ยังได้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อเปิดเป็นศูนย์พักพิงเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง รับคนได้ 12,000 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

“ส่วนการเปิดประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน ได้มีการเปิดตามที่ กทม.ขอแล้ว แต่ยังเปิดไม่ครบทุกประตู โดยเฉพาะที่ประตูหนองจอก ยังมีประชาชนคัดค้าน ซึ่ง กทม.ก็เข้าใจ ส่วนสถานการณ์น้ำของ กทม.ด้านตะวันออกเริ่มลดลงแล้ว” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

สูบน้ำคลองแห้งรอรับน้ำจากหลักสี่-ดอนเมือง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองบางเขนใหม่ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยว่าเหตุใดน้ำในคลองสายหลักของพื้นที่ชั้นในของ กทม.จึงแห้ง โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการระบายน้ำของประตูระบายน้ำบางเขนใหม่ ซึ่งรับน้ำจากบริเวณคลองเปรมประชากรและคลองต่างๆที่อยู่ในเขตดอนเมือง หลักสี่ เพื่อเร่งระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้น้ำที่อยู่ภายนอกบริเวณสถานีสูบน้ำอยู่ที่ระดับบวกระดับ 2.40-2.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนระดับน้ำที่อยู่ด้านในสถานีสูบน้ำอยู่ที่ 30 เซนติเมตร สาเหตุที่ทางกทม.ต้องทำการพร่องน้ำในคลองต่างๆให้ต่ำลงมา เนื่องจากจะใช้เป็นที่รับน้ำที่มาจากทางเหนือระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้นตามหลักเทคนิคในการบริหารการจัดการน้ำของกทม.ที่จะทำการระบายน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งสามารถผันน้ำได้ถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยพื้นที่ฝั่งพระนครมีสถานีสูบน้ำกว่า 40 แห่งดำเนินการสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมงได้มากถึง 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

ถอนกำลังจากร.ร.ฤทฺธิยะวรรณาลัย2หลังน้ำท่วมสูง

จากนั้นเวลา 16.45 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ขึ้นรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อเข้าไปตรวจโรงเรียนฤทธิยะวรรณลัย 2 เขตสายไหม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ใช้สำหรับระดมกรอกกระสอบทราย เพื่อนำมากั้นน้ำริมคลองหกวาสายล่างกว่า 7 กม.ซึ่งขณะนี้น้ำได้เข้าท่วมถนนที่มุ่งสู่โรงเรียนฤทฺธิยะวรรณาลัย 2 แล้วสูงกว่า 30 ซม.ทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ทหาร และประชาชน ที่เคยมาร่วมกันกรอกกระสอบทรายต้องย้ายออกจากพื้นที่ทันที ภายหลังระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ลงจากรถ เพื่อเดินเท้าตรวจแนวกระสอบทรายริมคลองหกวาสายล่าง ซึ่งขณะนี้มีความสูงอยู่ที่ 3 เมตร ความกว้าง 3 แถว โดยพบว่ามีน้ำได้ซึมผ่านกระสอบทรายอยู่ตลอดเวลา

สายไหมโกลาหล น้ำคลองหกวา จ่อทะลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หมู่บ้านจัดสรร บ้านเรือน อาคารพาณิชย์ ตลอดแนวถนนสายไหม ส่วนใหญ่ได้นำกระสอบทราย รวมทั้งก่อแนวกำแพงเพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วม และพบว่าประชาชนบางส่วนได้อพยพออกนอกพื้นที่ โดยมีรถยนต์ เจ้าหน้าที่เขต รวมทั้งหน่วยฉุกเฉินในพื้นที่และรถพยาบาล ต่างพากันวิ่งด้วยความโกลาหล เพราะเกรงว่าระดับน้ำในคลองหกวาอาจจะล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมได้

ศปภ.ผลักภาระ!ขอให้ปชช.ออกตจว.

ล่าสุด นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือศปภ. แถลงผลการประเมินสถานการณ์น้ำของศปภ. ในภาพรวม ว่า สถานการณ์น้ำ ในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้ลดลงแล้ว ในบางพื้นที่ประชาชนสามารถกลับเข้าไปในบ้านพักอาศัยได้แล้ว ซึ่งปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ลดลง อยู่ที่ 3.9 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมไหลผ่าน 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำได้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำลดลง ขณะที่สถานการณ์น้ำในจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี มีปริมาณคงที่

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯในอีก 2-3 วันจะมีน้ำทะเลหนุนสูงประกอบกับน้ำเหนือที่ไหลผ่านเข้ามาในพื้นที่ ทำให้มีน้ำซึมเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความสูงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ประมาณ 10 ซม. - 1.5 เมตร และจะท่วมขังเป็นระยะเวลา 15 วัน - 1 เดือน ทั้งนี้ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตมีปริมาณน้ำมากถึงแยกหลักสี่ รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้

" ในวันที่ 27 ต.ค. เนื่องจากรัฐบาลได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้อพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ทางศปภ.ได้จัดไว้ หรือสอบถามได้ทาง 1111 กด 5 หรือเดินทางออกจากพื้นที่ต่างจังหวัด ในช่วงนี้น่าจะสะดวกที่สุด อย่างไรก็ตาม ทางศปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาสถานที่ตั้งศูนย์พักพิงให้เพียงพอกับประชาชน การเดินทางขนส่ง รวมถึงการสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย"

“พุทธมณฑล” อพยพรอบ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครปฐมวานนี้ (26 ) ว่า ขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ช่วงตั้งแต่อำเภอบางเลน-อำเภอสามพราน เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดนครปฐมขณะนี้ก็มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว โดยมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก เช่น อ.บางเลน จำนวน 272,807 ไร่ อ.กำแพงแสน จำนวน 49,823 ไร่ อ.นครชัยศรี จำนวน 48,513 ไร่ อ.ดอนตูม จำนวน 44,119 ไร่ อ.พุทธมณฑล จำนวน 14,751 ไร่ อ.สามพราน จำนวน 4,239 ไร่ และ อ.เมืองนครปฐม จำนวน 4,010 ไร่

ส่วนที่ อ.พุทธมณฑล ระดับน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ และคลองทวีวัฒนา ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ นายปริญญา โพธิสัตย์ นายอำเภอพุทธมณฑล ได้สั่งอพยพผู้ที่เข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงโรงเรียนกาญจนาภิเษก ไปอยู่อีกแห่งที่วิทยาลัยนาฏศิลป์จำนวน 50-60 คนเพื่อความปลอดภัยเนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวและมีท่าทีจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“บางเลน” สุดช้ำไร้หน่วยรัฐดูแล

ขณะที่จุดวิกฤตส่วนหนึ่งของจังหวัดแห่งหนึ่ง คือ ที่ อ.บางเลน ทั้ง 13 ตำบล จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด โดยระดับน้ำสูงราว 2-3 เมตร ชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตภายในบ้านชั้นเดียวได้ บางรายเป็นบ้าน 2 ชั้น ต้องอาศัยอยู่บนชั้น 2 และส่วนใหญ่ต้องอพยพย้ายครับเรือนออกมากจากหมู่บ้านต่างๆ และมาพักอาศัยอยู่ที่ริมถนนสายบางเลน-ลาดหลุมแก้ว หรือสาย 346 ซึ่งขณะนี้น้ำได้ท่วมขังปิดเส้นทางจนต้องมีการปิดถนนทั้งสายไปแล้ว โดยชาวบ้านได้ทำเรื่องขอถุงยังชีพจากหน่วยงานไปราว 2 อาทิตย์แล้ว แต่ยังไม่มีการส่งถึง พร้อมแจ้งป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครปฐมขอสนับสนุนส้วมเคลื่อนที่แต่ก็ได้รับการแจ้งกลับมาว่า ไม่มีของและให้ประดิษฐ์ใช้กันเองในพื้นที่ก่อน

สลด!ผนังกันน้ำทะลักทับเด็ก12ขวบดับ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ได้เกิดเหตุสลดใจเมื่อเด็กชายวัย 12 ขวบ ในจ.นนทบุรี ได้เสียชีวิต จากการที่เข้าไปช่วยชาวบ้านกรอกทรายในบริเวณวัดปากน้ำ แต่เกิดเหตุแนวกระสอบทรายซึ่งเป็นผนังกั้นน้ำได้ถล่มลงมาทับเด็กเสียชีวิต ซึ่งเด็กชายดังกล่าวจะมาช่วยชาวบ้านตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วม เพื่อปกป้องวัดซึ่งอยู่คู่กับชุมชนมานาน
กำลังโหลดความคิดเห็น