xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าไม่ง่าย

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แม้น้ำกำลังท่วมอยู่เป็นมหาอุทกภัยในขณะนี้แต่จะขอพูดเรื่องไทย-กัมพูชาในประเด็นสำคัญบันทึกไว้ ณ ที่นี้ในวันนี้ เพราะเอะใจมาตั้งแต่เห็นข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 นี้แล้ว

เป็นวาระที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องที่คั่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว...

การดำเนินการตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ

คงจะพอจำกันได้นะครับว่า ICJ กำหนดมาตรการชั่วคราวออกมาสี่ห้าประการให้ทั้งไทยและกัมพูชาปฏิบัติ จากคดีที่กัมพูชายื่นคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ในมาตรการชั่วคราวสี่ห้าประการนี้มีเรื่องสำคัญคือการกำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออกมาจากบริเวณพิพาทที่ทั้งสองอ้างว่าเป็นแผ่นดินของตน ในประการนี้มีเรื่องผู้สังเกตการณ์จากอินโดนิเซียที่จะเข้ามาเป็นคนกลางดูแลในแผ่นดินของทั้ง 2 ประเทศรวมอยู่ด้วย

จะไม่พูดประเด็นว่าเราต้องทำตามคำสั่ง ICJ หรือไม่ให้ยืดยาวนะ เพราะไม่ว่าจะให้เหตุผลอย่างไรว่าไม่ต้องทำตาม รัฐบาลนี้ก็คงไม่ฟังอยู่ดี

แต่ถึงจะทำตามก็ไม่ใช่จู่ ๆ จะถอนทหารออกมาทั้งหมดแล้วให้อินโดนิเซียเข้ามาดูแลเลย

จะต้องมีการเจรจากับกัมพูชาก่อน

และน่าจะต้องมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจกันไว้ด้วย


พูดกันมานานแล้วว่าจะให้เวทีคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ GBC เป็นเวทีเจรจา เพราะเกี่ยวพันกับทั้งกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศ

จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสาม

คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงและเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาและรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน !

จริงอยู่อาจจะถกเถียงกันว่ากรณีนี้ไม่ใช่การไปเจรจาเพื่อลงนามใน “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตารม หนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา” แต่เป็นการไปเจรจาเพื่อปฏิบัติตามคำสั่ง ICJ ไม่มีการทำหนังสือสัญญาใด ๆ

ซึ่งผมไม่เชื่อ และเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมก็ไม่เชื่อเช่นกัน ไม่อย่างนั้นไม่เสนอขอ “มติคณะรัฐมนตรี” และขอ “กรอบเจรจา” หรอก

เรื่องใหญ่ระดับกระทบอธิปไตยชาติอย่างนี้ข้าราชการประจำ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่มีบทเรียนถูกฟ้องร้องกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาปี 2551 มาแล้ว ไม่ยอมเสี่ยงหรอก

อย่างน้อยก็ต้องขอเป็น “มติคณะรัฐมนตรี” ไว้เป็นยันต์ก่อน !

แต่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีชุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไม่ยอมมีมติคณะรัฐมนตรี ไม่ยอมให้กรอบการเจรจา ตามข่าวที่ปรากฏออกมาในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 มีความเห็นแตกต่างขัดแย้งกันเป็น 3 ทาง

ทางที่ 1 นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ยืนยันขอมติคณะรัฐมนตรีว่าจะใช้กรอบการเจรจาอย่างไร ทางนี้มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธีรกุล นิยม และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายอิทธิพล บุญประคอง เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขัน

ทางที่ 2 นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข ซึ่งก็คงในฐานะที่เคยเป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าคณะรัฐมนตรีไม่ควรมีมติและไม่ต้องให้กรอบเจรจา แต่ควรไปเสนอขอความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาเลย เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรไปยุ่ง การนำเรื่องเข้าสภาจะได้ถือเป็นเวทีประจานให้ประชาชนรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำให้เกิดปัญหา

ทางที่ 3 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าไม่ต้องมีมติคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องให้กรอบเจรจา ขอให้ไปเจรจาอย่างไรไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบก็พอ และไม่ต้องนำเรื่องเข้าสภา เพราะจะเป็นเป้าให้พรรคประชาธิปัตย์มาถล่มรัฐบาล

ทั้ง 3 ทางมีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งคือคณะรัฐมนตรีไม่ต้องให้กรอบเจรจา

แต่ดูเหมือนว่าทางฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม จะยืนยันขอกรอบเจรจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามข่าวระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่าได้รับจดหมายจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดว่าถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ไม่ผ่านสภา ก็คงลำบากใจที่จะไปเจรจา

แต่ตามข่าวดูเหมือนว่าในเมื่อคณะรัฐมนตรีทุกฝ่ายเห็นว่าไม่ต้องให้กรอบเจรจาเสียแล้ว ก็ไม่รู้จะส่งไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ได้อย่างไร ในที่สุดจึงหันไปถามนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ร่วมประชุมอยู่ด้วย ว่าจะมีช่องทางใดส่งไปรัฐสภาบ้าง จึงได้คำตอบว่ามีอยู่ทางเดียวคือให้คณะรัฐมนตรีใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ขอรับฟังความคิดเห็นในเรื่องสำคัญจากรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ

ผมไม่ทราบว่าสุดท้ายคณะรัฐมนตรีมีมติอย่างไรนอกจากไม่มีมติและไม่ให้กรอบเจรจาที่ชัดเจน

ไม่รู้ว่าคณะรัฐมนตรีตกผลึกในเรื่องเปิดรัฐสภาตามมาตรา 179 อย่างไร

เพราะจะทำตามมาตรา 179 นี้ได้ต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรี

จนกระทั่งล่าสุดได้อ่านเอกสารแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ 21 ตุลาคม 2554 เป็นการให้สัมภาษณ์ของนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ จึงพอเข้าใจได้ว่าคณะรัฐมนตรียังไม่มติที่จะขอเปิดรัฐสภารับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 179 เพียงแต่มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ICJ และดูเหมือนจะพิจารณาว่าเรื่องปฏิบัติตามคำสั่ง ICJ นี้ไม่เป็นการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่จะทำอย่างไรต่อไปนั้นยังไม่ชัดเจน

แต่ข้าราชการประจำอย่างกระทรวงการต่างประเทศคงไม่เสี่ยงเดินหน้าไปเองดุ่ย ๆ แน่หากไม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย จึงขมวดเขียนไว้ในเอกสารแถลงข่าวตอนท้ายว่า...

“อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ และฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ควรได้รับทราบและให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจในการดำเนินการของรัฐบาล ดังนั้น โดยที่รัฐบาลไม่สามารถเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯได้ เนื่องจากการปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯไม่ใช่หนังสือสัญญา ส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอว่า รัฐบาลสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้โดยใช้ช่องทาง ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญฯ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภารับทราบและแสดงความเห็นโดยการอภิปรายแต่ไม่ลงมติในประเด็นดังกล่าว”

ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมารัฐสภาตามช่องทางมาตรา 179 นี้หรือไม่ ?

เรื่องนี้ผมเคยเสนอไว้หลายครั้งมาก แต่รัฐบาลก็เฉย มาวันนี้ข้าราชการประจำเขาไม่ยอมปฏิบัติไปเองหากไม่ผ่านรัฐสภาเลย ไม่รู้ท่านจะเฉยอีกหรือไม่ ??

ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามารัฐสภาตามมาตรา 179 แล้วจะไปถอนทหารแล้วให้ทหารอินโดนิเซียเข้ามาสังเกตการณ์โดยไม่มีบันทึกความเข้าใจเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรา 190 ได้ง่าย ๆ ขืนทำไปมีสิทธิถูกยื่นถอดถอนได้

ความติดขัดในเรื่องที่ควรจะเร่งด่วนนี้อาจส่งผลให้รัฐบาลหันไปเร่งเดินหนทาง “ล้มโต๊ะ – ล้างกติกา” โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แก้ไขหลักการมาตรา 190 เสียก่อนก็เป็นได้ !
กำลังโหลดความคิดเห็น