xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “เหตุผลศาลโลก” ไม่รับคำร้องขอฝ่ายไทยอย่างเป็น “เอกฉันท์” !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เปิด “เหตุผลศาลโลก” ไม่รับคำร้องขอฝ่ายไทยอย่างเป็น “เอกฉันท์” !?
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย พ.อ.ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยระบุว่า:

“ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย”

หนังสือฉบับดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในเวลานั้นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ไม่เห็นด้วย คัดค้าน และประท้วง”ต่อคำพิพากษา พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินให้ ”ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา” จึงได้ “ตั้งข้อสงวน”ที่จะทวงคืนในอนาคตหากมีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้ในภายหลัง

แต่หนังสือฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ไม่เคยถูกนำมาใช้เลยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่เคยนำข้อสงวนจากหนังสือดังกล่าวมาใช้ทั้งในการออกถ้อยแถลงในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อาเซียน หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กำลังพิจารณาคดีในปีนี้

ซ้ำร้ายกว่านั้นฝ่ายไทยในเวทีศาลโลก กลับแถลงว่าไทยยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกเสีย พ.ศ.2505 เอง ทั้งๆที่ประเทศไทยไม่เคยเห็นด้วย คัดค้าน และประท้วงคำพิพากษาดังกล่าว


เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเลือกใช้ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543 มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับกัมพูชาจนมองข้ามที่จะใช้เหตุผลอื่นด้วยหลักคิดที่ว่า:

“เมื่อไทยและกัมพูชาลงนามใน MOU 2543 เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศจะตกลงกันเอง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงไม่มีอำนาจตีความในเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา”

ต้องไม่ลืมว่า MOU 2543 นั้นมีความสุ่มเสี่ยงตาม ข้อ 1 ค. ที่กำหนดให้ไทยและกัมพูชาต้องสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตามเอกสารแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ด้วย ซึ่งเบื้องหลังที่แท้จริงของข้อความดังกล่าวนั้นได้มาจากการที่ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ได้สอบถามข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างว่าในเวลานั้นแม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็จำเป็นต้องใส่ข้อความ 1 ค. ดังกล่าวเพราะ ”กัมพูชาขู่ว่าถ้าไม่ใส่ข้อความดังกล่าว ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลโลกอีกครั้ง” แสดงให้เห็นว่าไทยจำใจยอมใส่ข้อความดังกล่าวเพราะกลัวคำขู่ไม่ใช่ความฉลาดปราดเปรื่องที่วางแผนมาล่วงหน้า

และด้วยการยืนยันที่จะเลือกใช้ MOU 2543 ทำให้ฝ่ายไทยต้องใช้ข้ออ้างหาประโยชน์จาก MOU 2543 ว่า “เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่ชัดเจนและต้องตกลงกันเองระหว่างไทย-กัมพูชา” ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลทำให้ “ไทยไม่เคยอ้างข้อสงวน” และ “ไม่เคยยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง”

ฝ่ายไทยจึงได้ใช้ MOU 2543 เป็นข้ออ้างหนึ่งต่อศาลโลกในปีนี้ว่า MOU 2543 เป็นหลักฐานยืนยันว่า กัมพูชาได้ทราบเช่นเดียวกับไทยแล้วว่าคำตัดสิน พ.ศ. 2505 กล่าวถึงแต่เพียงตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเส้นเขตแดน เนื่องจากศาลโลกไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดนดังกล่าว ไทยและกัมพูชาจึงได้ร่วมทำ MOU 2543 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน ดังนั้นไทยและกัมพูชาไม่ได้พิพาทกันในคำตัดสิน พ.ศ. 2505 ซึ่งหมายความว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอตีความคำตัดสินของกัมพูชาแต่อย่างใด และใช้ MOU 2543 เป็นเครื่องมือในการระบุถึงการผิดข้อตกลง ทั้งการเคลื่อนย้ายชุมชน ย้ายทหาร ฯลฯ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

ถ้าหลักคิดนี้ถูกต้องแม่นยำจริง ศาลโลกก็ไม่ควรจะพิจารณาตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 !!!

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกัมพูชา ได้แถลงภาควาจาตอบโต้ฝ่ายไทยในศาลโลก เมื่อวันที่ 31 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โดยกัมพูชาใช้ประโยชน์จาก MOU 2543 อย่างเต็มที่เช่นกัน ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็น “การทำหลักเขตแดน” ตาม “การปักปัน” เสร็จสิ้นไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ. 2505 พร้อมกับนำ MOU 2543 ให้กับศาลโลกได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวด้วย

กัมพูชาใช้ประโยชน์จาก MOU 2543 ผนวกเข้ากับ คำตัดสินของศาลโลก พ.ศ. 2505 อย่างที่ภาคประชาชนเตือนและคาดการณ์เอาไว้ทุกประการ

ความหมายนัยยะกัมพูชา ก็คืออาศัย MOU 2543 เชื่อมโยงว่าต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนเป็นเพียงแค่กระบวนการจัดทำเครื่องหมายตามการปักปักปันซึ่งเสร็จสิ้นแล้วตามที่ศาลโลกได้ตัดสินเอาไว้ (โดยคาดหวังการขยายผลกฎหมายปิดปากที่ฝ่ายไทยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นมูลฐานในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา) ดังนั้นศาลโลกชุดปัจจุบันจึงต้องตีความคำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ. 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอตามธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 ด้วย

ส่วนฝ่ายไทยได้ขอให้ “ศาลโลกจำน่ายคดีนี้โดยไม่ต้องมีการตีความ”

ในที่สุดศาลโลกมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ 16: 0 ว่า:

“ปฏิเสธคำร้องของราชอาณาจักรไทยที่ขอให้จำหน่ายคดีซึ่งยื่นคำร้องโดยกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 จากบัญชีทั่วไปของศาล”

ศาลโลกได้ให้เหตุผลโดยสรุปว่า:

“การตีความตามธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการตีความ และศาลอาจรับพิจารณาตามคำขอให้ตีความตราบใดที่มีการพิพาทเกี่ยวกับความหมายของขอบเขตในการตัดสิน ยิ่งไปกว่านั้นการตีความโดยอาศัย มาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลกจะต้องมีความสัมพันธ์กับบทปฏิบัติการของคำพิพากษาและจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลของคำพิพากษา ยกเว้นว่าเหตุผลของการตัดสินในคำพิพากษาแยกกันไม่ออกกับบทปฏิบัติการของคำพิพากษานั้น”

นั่นย่อมหมายความว่าศาลโลกอาจไม่ตีความเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่อาจตีความไปไกลกว่านั้นก็ได้หากศาลโลกเห็นว่า “กฎหมายปิดปากที่ใช้กับไทยที่ไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000” ซึ่งเป็น “เหตุผลหลัก”ที่ใช้การตัดสินในคดี พ.ศ. 2505 เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกกับ “บทปฏิบัติการ”คำพิพากษาที่ให้ ทหารไทย ตำรวจ ยาม และผู้ดูแลรักษาการ ถอนออกจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชาแล้ว ศาลก็อาจตีความไปไกลกว่าบทปฏิบัติการของคำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ. 2505 โดยอาจลามไปถึง การตีความ“เหตุผล”ของการตัดสินในปี พ.ศ. 2505 ก็ได้

จึงถือว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้ามาสู่จุดสุ่มเสี่ยงและอันตรายในเวทีศาลโลก “หากยังยอมรับอำนาจของศาลโลก”ต่อไป โดยละเลยว่าไทยได้ตั้งข้อสงวนตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายปิดปากที่ใช้ในการตัดสิน เพราะขัดกับสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ขัดหลักกฎหมาย และขัดกับหลักยุติธรรม

โดยสัญญาณที่แสดงให้เห็นจากศาลโลก ก็คือการที่ศาลโลกได้แถลงชี้ประเด็นพิจารณาระบุว่ามีความเห็นแตกต่างระหว่างไทย-และกัมพูชาในความหมายและขอบเขตคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 มี 3 ประเด็นที่สัมพันธ์กัน ที่ศาลจะต้องพิจารณาดังนี้

1. ความหมายและขอบเขตของวลีว่า “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” ซึ่งได้ถูกใช้ในย่อหน้าที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษา

2. ลักษณะที่แท้จริงของภาระผูกพันที่กำหนดให้ฝ่ายไทยปฏิบัติตามบทปฏิบัติการของคำพิพากษาย่อหน้าที่สองที่ว่า “ถอนกองกำลังทหาร หรือ ตำรวจ หรือ ยามอื่นใด หรือ ผู้ดูแลรักษา” และ โดยเฉพาะประเด็นคำถามที่ว่าภาระผูกพันนี้เป็นลักษณะของความต่อเนื่องและโดยพลันหรือไม่อย่างไร

3.คำถามในประเด็นที่ว่าคำตัดสินนี้ได้รับรองหรือไม่รับรองด้วยการผูกพันบังคับตามเส้นที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นสัญลักษณ์แทนเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาหรือไม่

ศาลโลกได้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องฝ่ายไทยที่ขอให้ศาลโลกในการให้จำหน่ายคดีนี้ออก โดยเห็นว่าตัวเองมีอำนาจที่จะต้องพิจารณาเหตุผลที่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างไทย-กัมพูชา อีกทั้งเสียงส่วนใหญ่ยังระบุอีกด้วยว่า มีหลักพื้นฐานเพียงพอสำหรับที่จะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวซึ่งร้องขอโดยกัมพูชา

แสดงให้เห็นว่า MOU 2543 ที่ฝ่ายไทยเสนอไม่มีน้ำหนักเพียงพอในสายตาของผู้พิพากษาศาลโลก ที่จะทำตามคำร้องขอของฝ่ายไทยให้จำหน่ายคดีตีความคำพิพากษาของศาลโลก

จึงย่อมถือว่า MOU 2543 ล้มเหลวไปแล้วในชั้นแรก !


ที่น่าสนใจก็คือมติอย่างเป็นเอกฉันท์ขององค์คณะผู้พิพากษาของศาลโลก 16:0 ที่ไม่รับคำร้องฝ่ายไทยนั้น ไม่เว้นแม้แต่ ศาสตราจารย์ฌอง-ปิแอร์ คอต ผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศสของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐบาลไทยได้เสนอชื่อไว้เอง ก็ยังปฏิเสธคำร้องขอของฝ่ายไทยเสียด้วย

ศาสตราจารย์ฌอง-ปิแอร์ คอต ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสซึ่งเสนอชื่อโดยรัฐบาลไทย แม้ว่าจะแสดงความไม่เห็นด้วยในการถอนทหารตามขอบเขตพื้นที่ปลอดทหารตามสี่เหลี่ยมคางหมูที่กำหนดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก แต่ผู้พิพากษาพิเศษท่านนี้กลับเห็นด้วยกับการห้ามฝ่ายไทยขัดขวางการเข้าไปยังตัวปราสาทพระวิหารของกัมพูชา เห็นด้วยกับการห้ามไทยขัดขวางการส่งสิ่งของบำรุงให้กับบุคคลที่ไม่ใช่ทหารในปราสาทพระวิหาร เห็นด้วยกับการให้อาเซียนเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่คุ้มครองชั่วคราว เห็นด้วยให้ระงับกิจกรรมที่อาจจะซ้ำเติมหรือขยายการพิพาทก่อนที่ศาลตัดสิน เห็นด้วยกับมติที่ให้ไทย-กัมพูชาจะต้องแจ้งต่อศาลในการยินยอมทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และเห็นด้วยกับมติที่ว่าจนกว่าศาลจะได้ให้ความช่วยเหลือตัดสินตีความคำพิพากษาตามคำร้องขอของกัมพูชาจะต้องคงสภาพอย่างที่เป็นอยู่ตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

สรุปก็คือ ผู้พิพากษาพิเศษชาวฝรั่งเศส ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลไทยเองกับไม่เพียงแต่จะปฏิเสธคำร้องขอของฝ่ายไทยให้จำหน่ายคดีนี้ออกเท่านั้น แต่ยังเห็นด้วยกับอีกหลายมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกัมพูชาเกือบทั้งหมดอีกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศ โดย นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เคยตอบคำถามและแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ถึงเหตุผลในการเสนอชื่อนายฌอง ปิแอร์ คอต ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศส ตอบโต้ความไม่สบายใจของภาคประชาชน โดยเฉพาะ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความตอนหนึ่งว่า:

“รัฐบาลพิจารณาผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวจากคุณสมบัติด้านความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดและท่าทีรวมทั้งผลประโยชน์ของฝ่ายไทย”

ถึงวันนี้ไม่เห็นมีใครในรัฐบาลไทย ออกมาแสดงความรับผิดชอบกับการเลือกผู้พิพากษาพิเศษชาวฝรั่งเศสท่านนี้เลยแต่ประการใด ?


ประการสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงก็คือ ดูว่าทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลรักษาการชุดนี้มีความพอใจในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวแล้ว ยังมีท่าทียอมรับ น้อมรับ และพร้อมปฏิบัติการตามอำนาจศาลโลก ในขณะที่ว่าที่รัฐบาลชุดหน้าก็ดูจะมีท่าทีรับอำนาจศาลโลกในลักษณะเดียวกัน

บอกได้คำเดียวครับว่าดินแดนและอธิปไตยของชาติไทย “อาการน่าเป็นห่วง” จริงๆ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น