“ส.ว.คำนูณ” ชี้ ไทยเสียเปรียบชัด กรณีศาลโลกมีคำสั่งให้ทหารไทยถอนตัวจากแผ่นดินตัวเอง สุ่มเสี่ยงต่อเสียอธิปไตยอย่างเป็นทางการในอนาคต ในขณะที่กัมพูชาไม่ต้องถอนพลเรือนออกจากแผ่นดินไทย เชื่อหาก รบ.ไทยบ้าจี้ทำตามคำสั่ง เขมรเดินเกมให้ศาลโลกตีความพระวิหารใหม่ เท่ากับฉีกทิ้งหลักสันปันน้ำ-สนธิสัญญา 1904,1907 ทันที
วันนี้ (18 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ประเทศไทย และกัมพูชาถอนทหารออกจากบริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ว่า คนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาก่อน อาจฟังคำสั่งแล้วรู้สึกดีที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออก แต่ปัญหาคือ บริเวณที่ระบุว่าเป็นพื้นที่พิพาทนั้นคือแผ่นดินไทย ที่ไม่ว่ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนในอดีต หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันเช่นกันเป็นเป็นแผ่นดินไทย ดังนั้น เมื่อเราต้องถอนทหารออกจากแผ่นดินไทย ตนจึงมองไม่เห็นว่าเราจะได้เปรียบตรงไหน และฝ่ายกัมพูชาจะไม่ได้ชนะ เพราะต้องถอนทหารออกด้วย แต่อย่าลืมว่า กัมพูชาไม่ต้องถอนพลเรือนที่ไม่ใช่ทหาร รวมทั้งชุมชนและวัดออกไปด้วย รวมไปถึงคำสั่งที่อนุญาตให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถส่งกำลังบำรุงไปให้พลเรือนได้ โดยห้ามฝ่ายไทยขัดขวาง ก็แสดงว่า ฝ่ายกัมพูชายังมีสิทธิ์ตั้งวัดและชุมชนอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารต่อไป โดยที่ไทยไม่สามารถทำอะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ถามว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่ประเด็นที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่าเขตปลอดทหารมีพื้นที่ครอบคลุม 3.5-3.75 ตร.กม.มีขนาดเล็กกว่า 4.6 ตร.กม.เพราะต้องมองว่า คำสั่งของศาลโลกยุติธรรมต่อฝ่ายไทยหรือไม่ นอกจากจะบังคับให้ไทยถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยแล้ว ยังระบุให้ฝ่ายไทยจะทำดำเนินการใดๆ ก็ยังต้องรายงานต่อนานาชาติ อยู่ภายใต้สายตาของผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย ตามคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)
“วันนี้แม้ไทยยังไม่เสียดินแดน อย่างเป็นทางการ ต้องยอมรับว่า โอกาสที่เราจะสูญเสียในอนาคตมีมาก ถึงที่สุดแล้วไทยจะเป็นฝ่ายเสียหาย ส่วนกัมพูชาแม้วันนี้จะไม่ชนะ เพราะศาลโลกไม่คุ้มครองตาม 3 ข้อที่เขาร้องไป แต่ก็ถือว่ากัมพูชาเสมอตัว ชุมชนและวัดก็ยังคงอยู่ ยังสามารถส่งกำลังบำรุง โดยที่ไทยทำอะไรไม่ได้” นายคำนูณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศเสียเปรียบ ดังนั้น รัฐบาลก็ไม่ควรทำตามคำสั่งของศาลโลก นายคำนูณ กล่าวว่า อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าจะเอาอย่างไร เพราะศาลโลกไม่ได้มีมาตรการบังคับออกมา หากไม่ทำเรื่องก็อาจส่งไปยังยูเอ็นเอสซี ที่คงจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลรักษาการณ์กับรัฐบาลใหม่ แต่โดยกระบวนความคิดของทั้ง 2 รัฐบาล มีแนวโน้มที่จะยอมรับคำสั่งนี้ ก็มีแนวโน้มความเสียหายตามอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามเท่ากับว่า เรายอมรับอำนาจของศาลโลกไปเสียแล้ว ต่อจากนี้กัมพูชาก็จะเดินหน้าเพื่อให้ศาลโลกตีความกรณีปราสาทพระวิหารใหม่ ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ตอนนั้นศาลโลกตีความอย่างไร แนวโน้มที่จะได้ดินแดนกลับมาตามหลักสันปัน หรือสนธิสัญญา 1904 และ 1907 คงเป็นไปได้ยาก
นายคำนูณ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ฝ่ายไทย หรือกัมพูชาได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือ นานาอารยประเทศที่เชื่อว่ามีผลประโยชน์ในแหล่งน้ำมันทางทะเลอ่าวไทย ที่เตรียมการเพื่อเข้ามาครอบคลุมพื้นที่ข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยผ่านคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองและพัฒนาปราสาทพระวิหาร (ไอซีซี) 7 ชาติตามกลไกของคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นตัวแทนของนานาอารยประเทศที่มีผลประโยชน์ด้วย