xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะ ส่งตร.ดูแลพื้นที่ ป้องอธิปไตยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการชี้ศาลมีมาตรการชั่วคราวถอนทหาร ยอมรับได้ ยืนยัน 4.6 ตร.กม.เป็นของไทย แนะส่งตำรวจดูแลความเรียบร้อยแทนทหารได้ เผยกระบวนการยังไม่จบหลังจากนี้กัมพูชาต้องเสนอคำฟ้องขอตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 นักวิชาการเผยในอดีตยังไม่เคยมีประเทศใดทำตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลก “ส.ว.คำนูณ” ชี้ ไทยเสียเปรียบชัดสุ่มเสี่ยงต่อเสียอธิปไตยอย่างเป็นทางการในอนาคต ในขณะที่กัมพูชาไม่ต้องถอนพลเรือนออกจากแผ่นดินไทย

กรณีที่ศาลโลกให้ออกมาตรการชั่วคราว โดยมีมติ 11 ต่อ 5 ให้ทั้งไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกม. โดยครอบคลุมตัวปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ และถนนที่กัมพูชาสร้างขึ้นตัวปราสาททางด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ทับกับพื้นที่ 4.6 ตารางกม. ของไทย นอกจากนี้ มีมติ 15 ต่อ 1 ให้ไทยไม่ขัดขวางทางเข้าออกปราสาทพระวิหาร และศาลโลกมีมติให้ร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่

ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความผู้ประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ถือว่าเป็นผลดีที่สุดเท่าที่จะคาดหวังได้ เพราะศาลได้รับฟังทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ฟังความข้างเดียว การทำให้เป็นเขตปลอดทหารทำให้ความตึงเครียดหย่อนลง ถ้าไม่มีทหารในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรายืนยันมาตลอดว่าเป็นพื้นที่ของไทย ถึงแม้ไม่มีทหารก็มีตำรวจได้ เพราะพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่ฝั่งไทย อย่าไปให้เขาเปล่าๆ เราคัดค้านมาตลอด เราไม่เคยยอมรับว่า 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่ทับซ้อนมีที่เดียวคือ แค่ตัวปราสาท กัมพูชาเขาถือว่าเป็นของเขา แต่เราคัดค้านไว้ เราไม่เคยแม้จะยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารด้วย

ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า ศาลไม่ได้มีคำตัดสิน (judgement) ครั้งนี้ เป็นเพียงการเสนอแนะมาตรการชั่วคราว (provision measures) โดยไม่ทำให้ใครเสียประโยชน์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเนื้อหาสาระของคดี เป็นเพียมาตรการเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนสิทธิของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งออกมาแบบนี้ก็ดีกว่าที่จะเป็นตามที่กัมพูชาร้องขอฝ่ายเดียว ไม่ใช่ให้กัมพูชาเอาทหารเข้าไปอยู่ในปราสาทได้

ทั้งนี้ กระบวนการหลังจากนี้ก็จะต้องมีการตีความคำพิพากษาศาลเมื่อปี 2505 จากนี้ไปกัมพูชาก็จะต้องเสนอคำฟ้อง แล้วศาลจะกำหนดให้ไทยเสนอคำแก้ฟ้อง ซึ่งไทยก็มีสิทธิคัดค้านอำนาจศาล ซึ่งไทยต้องทำ ตอนนี้จะรอไปอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหา เราสามารถสงวนสิทธิที่จะคัดค้านอำนาจศาล ทำให้ศาลไม่มีอำนาจบังคับคดี

** ไม่จำเป็นต้องทำตามศาลโลก

นายนพนิติ สุริยะ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลของศาลครั้งนี้ เป็นการให้มีมาตรการชั่วคราว ไม่ได้เป็นคำตัดสิน จากข้อมูลที่มีมาในอดีตเคยมีกรณีร้องขอให้ออกมาตรการชั่วคราว 17 กรณี ศาลรับพิจารณา 10 กรณี แต่เมื่อศาลให้มีมาตรการชั่วคราวออกมาแล้ว ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลย

"ตั้งแต่มีศาลโลกมา มีประเทศคู่พิพาทขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 กรณี ศาลรับ 10 กรณี และใน 10 กรณีนี้ ไม่มีใครทำตามเลยสักคน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพราะไม่มีบทบัญญัติตรงไหนบอกว่าจะต้องทำอย่างไร และคำสั่งไม่มีสภาพบังคับ ไม่เหมือนกับคำพิพากษา ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกให้ไทยดื้อ แต่ความจริงคือ ไม่มีสภาพบังคับ และเราน่าจะพิจารณาในรายละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร"

ส่วนพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ถึงแม้ศาลสั่งไม่ให้เราขัดขวางการลำเลียงสิ่งของต่างๆ แต่ถ้าเราถือว่าเป็นพื้นที่ของเรา กัมพูชาต้องขออนุญาตเราก่อน

ทั้งนี้ พิกัดตามขอบเขตของศาลที่ให้เป็นเขตปลอดทหาร เป็นดังนี้
จุด A ละติจูด 14 องศา 23 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 41 ลิปดาตะวันออก
จุด B ละติจูด 14 องศา 24 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก
จุด C ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก
จุด D ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 42 ลิปดาตะวันออก

พิกัดที่ถูกต้อง ตามแผนที่ คือ
A 14 23 00 N 104 41 00 E
B 14 24 00 N 104 38 15 E
C 14 25 00 N 104 38 40 E
D 14 25 00 N 104 42 20 E

** "คำนูณ"ชี้ไทยเสียเปรียบชัด

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า คนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาก่อน อาจฟังคำสั่งแล้วรู้สึกดี ที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออก แต่ปัญหาคือบริเวณที่ระบุว่าเป็นพื้นที่พิพาทนั้นคือแผ่นดินไทย ที่ไม่ว่ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนในอดีต หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยืนยันเช่นกันว่าเป็นแผ่นดินไทย

ดังนั้นเมื่อเราต้องถอนทหารออกจากแผ่นดินไทย ตนจึงมองไม่เห็นว่าเราจะได้เปรียบตรงไหน และฝ่ายกัมพูชาจะไม่ได้ชนะ เพราะต้องถอนทหารออกด้วย แต่อย่าลืมว่า กัมพูชาไม่ต้องถอนพลเรือนที่ไม่ใช่ทหาร รวมทั้งชุมชน และวัดออกไปด้วย รวมไปถึงคำสั่งที่อนุญาตให้ฝ่ายกัมพูชา สามารถส่งกำลังบำรุงไปให้พลเรือนได้ โดยห้ามฝ่ายไทยขัดขวาง ก็แสดงว่า ฝ่ายกัมพูชายังมีสิทธิ์ตั้งวัด และชุมชนอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารต่อไป โดยที่ไทยไม่สามารถทำอะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่ประเด็นที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า เขตปลอดทหารมีพื้นที่ครอบคลุม 3.5 - 3.75 ตร.กม. มีขนาดเล็กกว่า 4.6 ตร.กม. เพราะต้องมองว่า คำสั่งของศาลโลกยุติธรรมต่อฝ่ายไทยหรือไม่ นอกจากจะบังคับให้ไทยถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยแล้ว ยังระบุให้ฝ่ายไทยจะดำเนินการใดๆ ก็ยังต้องรายงานต่อนานาชาติ อยู่ภายใต้สายตาของผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย ตามคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี )

" วันนี้แม้ไทยยังไม่เสียดินแดนอย่างเป็นทางการ ต้องยอมรับว่า โอกาสที่เราจะสูญเสียในอนาคตมีมาก ถึงที่สุดแล้วไทยจะเป็นฝ่ายเสียหาย ส่วนกัมพูชาแม้วันนี้จะไม่ชนะ เพราะศาลโลกไม่คุ้มครองตาม 3 ข้อ ที่เขาร้องไป แต่ก็ถือว่ากัมพูชาเสมอตัว ชุมชนและวัดก็ยังคงอยู่ ยังสามารถส่งกำลังบำรุง โดยที่ไทยทำอะไรไม่ได้" นายคำนูณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศเสียเปรียบ ดังนั้นรัฐบาลก็ไม่ควรทำตามคำสั่งของศาลโลก นายคำนูณ กล่าวว่า อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะเอาอย่างไร เพราะศาลโลกไม่ได้มีมาตรการบังคับออกมา หากไม่ทำ เรื่องก็อาจส่งไปยังยูเอ็นเอสซี ที่คงจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลรักษาการ กับรัฐบาลใหม่ แต่โดยกระบวนความคิดของทั้ง 2 รัฐบาล มีแนวโน้มที่จะยอมรับคำสั่งนี้ ก็มีแนวโน้มความเสียหายตามอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เท่ากับว่า เรายอมรับอำนาจของศาลโลกไปเสียแล้ว ต่อจากนี้กัมพูชา ก็จะเดินหน้าเพื่อให้ศาลโลกตีความกรณีปราสาทพระวิหารใหม่ ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก เมื่อถึงตอนนั้นศาลโลกตีความอย่างไร แนวโน้มที่จะได้ดินแดนกลับมาตามหลักสันปัน หรือสนธิสัญญา 1904 และ 1907 คงเป็นไปได้ยาก

นายคำนูณ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายไทย หรือกัมพูชาได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือ นานาอารยประเทศ ที่เชื่อว่ามีผลประโยชน์ในแหล่งน้ำมันทางทะเลอ่าวไทย ที่เตรียมการเพื่อเข้ามาครอบคลุมพื้นที่ข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยผ่านคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองและพัฒนาปราสาทพระวิหาร (ไอซีซี) 7 ชาติ ตามกลไกของคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นตัวแทนของนานาอารยประเทศ ที่มีผลประโยชน์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น