รมว.ต่างประเทศ ใช้ความรู้สึกส่วนตัวพอใจศาลโลกตัดสิน “ไทย-เขมร” ถอนทหาร ทั้งที่ยังให้สิทธเขมรส่งกำลังบำรุง โดยไทยห้ามขัดขวางทั้งที่เป็นอธิปไตยไทย แถมกำชับให้ไทยและเขมร จัดประชุมร่วมจีบีซี และ อาร์บีซี โดยต้องรายงานให้ศาลโลกทราบเป็นระยะ ยังหลงคารมเขมรเจ้าเล่ห์ ไม่กล้าบิดพลิ้ว เหตุตกเป็นเป้าสายตานานาชาติ ตะแบงอ้างเป็นโอกาสดี เปิดทางนักท่องเที่ยวขึ้นปราสาทได้ประโยชน์ร่วมกัน
วันนี้ (18 ก.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้โฟนอินจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ตัดสินคุ้มครองชั่วคราว ว่า มติของศาลปฏิเสธคำขอของฝ่ายไทยที่ให้ถอนคดี และออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวที่ไม่ได้เจาะจงฝ่ายไทยฝ่ายเดียวคือให้ถอนทหารทั้งไทยและกัมพูชา จากพื้นที่ปลอดทหาร ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ ให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถเข้าออกปราสาทพระวิหารได้ เพื่อส่งกำลังบำรุง เช่น น้ำ อาหาร ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหาร ที่มีหน้าที่จะดูแลตัวปราสาท ซึ่งองค์การยูเนสโก หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องช่วยยืนยันว่า บุคลากรของกัมพูชานั้นจะไม่ใช่ทหารที่แฝงตัวเข้ามา และฝ่ายไทยจะต้องเจรจากับในกรอบจีบีซี และอาร์บีซี ต่อไป
นายกษิต กล่าวว่า ศาลระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องแจ้งผลการปฏิบัติการต่อศาลเป็นระยะด้วย ส่วนการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ยังคงอำนาจในการพิจารณาให้เลื่อนการพิจารณาต่อไป ที่สำคัญไทยและกัมพูชาสามารถพิจารณาให้นักท่องเที่ยวประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวปราสาทพระวิหารได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้เรียนต่อนายกฯให้ทราบ และปลัดกระทรวงก็ได้ประสานกับทหารแล้ว นอกจากนี้ ตนได้พูดกับหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซีย เพื่อนำมติดังกล่าวชี้แจงในที่ประชุม และให้ผู้แทนไทยพบปะกับ นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รมต.ต่างประเทศอินโดนีเซียด้วย เพื่อประสานบทบาทอาเซียนโดยเฉพาะการสังเกตการณ์
นายกษิต กล่าวว่า ทั้งนี้ ความเห็นส่วนตัว การกำหนดพื้นที่ปลอดทหารขึ้นมา เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างไทย กัมพูชา และ อินโดนีเซีย ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์จะหมดไปโดยปริยาย ส่วนพอใจหรือไม่ ก็เป็นท่าทีของไทยที่ได้แสดงมาโดยตลอดว่าฝ่ายกัมพูชาต้องทหารออกวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และปราสาทพระวิหาร ถ้าคิดในแง่นี้ก็น่าจะมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ส่วนการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาก็จะเป็นไปตามที่เราต้องการ ตามที่ได้แจ้งให้เวทีระดับโลกทราบว่ามีกลไก 2 ฝ่ายอยู่แล้ว คือ เจบีซี อาร์บีซี และ จีบีซี ในที่สุดก็กลับมาอย่างที่เราต้องการ
เมื่อถามว่า ส่วนมติที่ศาลออกมานั้นมีทั้ง 11 ต่อ 5 หรือ 9 ต่อ 5 นายกษิต กล่าวว่า ขอให้ยึดมติโดยรวม คือ 11 ต่อ 5 ส่วนมติอื่นเป็นเรื่องเล็กๆ ทั้งนี้ จุดที่จะไม่มีทหารอยู่ก็ต้องหารือในกรอบจีบีซีต่อไป อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกัมพูชาภายหลังรับทราบมตินั้น ตนไม่ทราบ แต่เห็นว่าไม่ยิ้มแย้มเท่าฝ่ายไทย ส่วนจะเริ่มถอนทหารได้เมื่อไหร่นั้นต้องทำทันที เนื่องจากศาลให้รายงานการปฏิบัติการเรื่อยๆ ซึ่งไทยมีพันธกรณีกับอาเซียน โดยทุกฝ่ายก็อยากเห็นสันติภาพ
เมื่อถามว่า ฝ่ายทหารจะปฏิบัติตามมติของศาลโลกครั้งนี้ นายกษิต กล่าวว่า ตนคิดว่า ทุกคนต้องเข้าแถว เมื่อรัฐบาลสั่งทุกฝ่ายต้องทำตาม เพราะถือเป็นมติ ทั้งนี้ จะมีการรายงานต่อสภาหรือไม่นั้น ขณะนี้ก็มีเพียงวุฒิสภา และจะมีการรายงานต่อ ครม.หรือไม่ ก็เป็นเรื่องตามขั้นตอนกฎหมายโดยต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไร ว่า กัมพูชาจะไม่ส่งทหารแฝงตัวเข้าไปปะปนกับเจ้าหน้าที่ดูแลปราสาทพระวิหาร นายษิต กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในกรอบของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยูเนสโกสามารถเข้ามาได้ ศาลโลก และคณะมนตรีความมั่นคงอาเซียน ก็จับตาดูอยู่ ทั้งนี้ ต้องให้ความเคารพและความซื่อสัตย์สุจริตของกัมพูชา
เมื่อถามว่า ความชัดเจนของฝ่ายไทยในการถอนชุมนุมที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เราทราบมาว่าชุมชนกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นครอบครัวของทหารกัมพูชา ซึ่งหากถอนกำลังทหาร ครอบครัวก็ต้องออกไปด้วย
เมื่อถามว่า แสดงว่า กัมพูชาไม่สามารถเอาประชาชนของตัวเองเป็นกันชนบริเวณชายแดนได้ นายกษิต กล่าวว่า ฝ่ายกองทัพของเราก็คงต้องสอดส่องดูแล และเราจะอำนวยให้มีการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้กัมพูชาได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน และหากทำอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมา ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนของเขาเช่นกัน รวมถึงเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาคมโลกด้วย อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้คิดเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อสหประชาชาติและศาลโลก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยไม่อยากให้ทหารกัมพูชาอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร และผลออกมาก็เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นในการคุยกับรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า มันมีกรอบกลไกของจีบีซีอยู่แล้ว ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่าย มีกำหนดพบกันในกรอบของเจซีอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการประชุมในต้นปีหน้า จึงต้องรอรัฐบาลใหม่ดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพร้อมที่จะเข้าสู่ตะเจรจา แต่กัมพูชาไม่พร้อมเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินการจะเปลี่ยนด้วย นายกษิต กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่มีการส่งมอบงาน โดยตนจะทำบันทึกและส่งมอบต่อปลัดกระทรวง เพื่อเรียนต่อ รมว.ต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งตนคิดว่า สื่อ และรัฐสภา จะสอดส่องดูแลเรื่องดังกล่าว ว่านโยบายของรัฐบาลเป็นประโยชน์ต่อไทยหรือไม่
เมื่อถามว่า จะมีการคุยในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ตามมารยาทตนเป็นรัฐมนตรีรักษาการไม่ควรไป จึงมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศไปแทน แต่หากมีความจำเป็นอาจเดินทางไปคุยในนามส่วนตัว เพื่อหารือถึงเรื่องการสังเกตการณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับทางรัฐบาล
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้การประชุมจีบีซีให้เร็วขึ้น นายกษิต กล่าวว่า ควรเป็นเช่นนั้น เพราะกัมพูชาเสนอเข้าสู่ศาลโลก ถ้าไม่ทำตามศาลโลกก็กะไรอยู่ ส่วนเรื่องแผนที่ในการกำหนด 4 จุดปลอดทหาร ศาลไม่ได้มีการพูดถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่เป็นในส่วนที่ศาลได้ขีดเส้นขึ้นมาเอง เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว ซึ่งเป็นจุดคร่อมสันปันน้ำของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ คาดว่า เขตปลอดทหารจะมีขนาด 3X7 ตร.กม.