xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” หวังไทย-กัมพูชาตกลงกันได้ เพื่อถอนเรื่องออกจากศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เชื่อไทย-กัมพูชาคงไม่ยอมทำตามคำสั่งศาลโลก สุดท้ายก็ต้องมาสู่การเจรจา หวังตกลงกันได้แล้วถอนเรื่องออกจากศาล ด้าน “วีรพัฒน์” ย้ำต้องต่อสู้ด้วยการปฏิเสธอำนาจศาลโลกต่อไป ระบุแม้ออกคำสั่งชั่วคราวก็ไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจในการตัดสิน พร้อมจี้ “มาร์ค” แสดงจุดยืนของไทยให้ชัดเจน เพื่อส่งต่อแนวทางดำเนินการให้รัฐบาลหน้า
        


เวลา 20.30 น.ของวันที่ 21 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แบบสรรหา และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว”
        
โดยนายคำนูณกล่าวว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ที่สุดแล้วยากที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะปฏิบัติตาม เนื่องจากกัมพูชาก็จะบอกว่าให้ไทยปฏิบัติก่อน ส่วนไทยก็จะบอกว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายขอไปดังนั้นต้องปฏิบัติก่อน
        
สุดท้ายแล้วก็จะต้องมาพูดคุยกัน 2 ฝ่าย หากตกลงกันได้มันก็อาจเป็นข้อตกลงที่อาจเหมือน หรือแตกต่างจากคำสั่งชั่วคราวด้วยซ้ำไป ส่วนตนเชื่อว่าเส้นสี่เหลี่ยมคางหมูที่ศาลโลกขีดขึ้น ฝ่ายความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ รับไม่ได้หรอกแม้ว่าในทางเปิดเผยจะเป็นอีกอย่าง
        
นายวีรพัฒน์กล่าวเสริมว่า เป็นไปได้ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ทำตามคำสั่งศาลโลก ส่วนที่กัมพูชาเอาไปฟ้องก็สามารถถอนออกได้ แต่กรณีนี้ค่อนข้างพิเศษ คือศาลมีคำสั่งชัดเจนว่ามีการคุยกันหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป ศาลเลยมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีคำสั่งค่อนข้างที่จะมีความชัดเจน ซึ่งก็น่าเป็นห่วง เราต้องตีความอย่างระมัดระวัง
        
“ที่สำคัญรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งยังมีอำนาจในปัจจุบัน ต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจน อย่างเช่น ตชด.ที่จะเข้ามาสรุปได้หรือไม่ได้ หรือการบินอยู่เหนือฟากฟ้าจะได้หรือไม่ คำสั่งที่ห้ามขัดขวางกัมพูชาเข้ามายังตัวปราสาทพระวิหาร การตีความจากบันทัดเดียวไม่ได้ต้องตีความทั้งฉบับ หมายความว่าอยู่ดีๆ กัมพูชาจะเดินเข้ามาโดยไม่ขอเราก่อนไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ต้องแสดงจุดยืน และรัฐบาลชุดหน้าที่จะเข้ามาก็ต้องฟัง แล้วเวลาส่งไม้ต่อกันจะได้มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน” นายวีรพัฒน์กล่าว
        
นายวีรพัฒน์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการที่ศาลโลกวาดเส้น 4 เหลี่ยมคางหมูนั้น ต้องมีนักวิชาการระดับโลก และนักกฎหมายจำนวนมาก จะต้องบอกว่าเป็นคำสั่งที่แปลกประหลาด เนื่องจากไม่เคยมีคดีไหนเลยที่ศาลสั่งให้ต้องออกไปจากเขตทหารพร้อมพิกัดมาให้ด้วย
        
ส่วนกรณีของเอ็มโอยู 43 คำสั่งของศาลไม่ได้แตะเลย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์หรือไม่ต้องลุ้นกันต่อไป และเป็นไปได้ที่ศาลไม่เอาเข้ามาเพราะเอ็มโอยูไม่ได้มีความสำคัญ แต่ในแง่ที่ว่าเอ็มโอยู 43 ทำให้ไทยเสียดินแดน เพราะอ้างถึงแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ศาลไม่ได้พูดเรื่องนั้นไว้ แถมศาลยังย้ำว่าที่มีคำสั่งชั่วคราวไปย่อมไม่กระทบถึงเขตแดนที่เคยตัดสินไป แล้ว และอาจต้องมีการตีความในอนาคต มันเลยออกมาเป็นแนวกลางๆ ซึ่งถ้าศาลรับตีความ ขอย้ำอีกครั้งการที่ศาลมีคำสั่งชั่วคราว ศาลอาจจะไม่รับตีความก็ได้ ฉะนั้นเราต้องสู้ต่อไปว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาตีความพิพากษา
        
นายวีรพัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าเราควรเอากรณีที่ไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญารับรองศาลโลก และข้อสงวนคำพิพากษาปี 2505 ไปใช้ในการต่อสู้ไม่รับอำนาจศาล เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำให้ชัดเจน คือคำว่าไม่รับอำนาจศาลมี 2 ลักษณะ คือ ปฏิเสธเขตอำนาจโดยสิ้นเชิง คือไม่จำเป็นต้องไปศาลอีกเลย แต่สิ่งที่ตนเสนอให้สู้คือถึงแม้มีเขตอำนาจ แต่ก็ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตีความ ต่างกันคือทุกคดีที่ผ่านมาเวลาศาลตัดสินไปแล้ว วันดีคืนดีมีคนขอให้ตีความ โดยสถิติและหลักของกฎหมาย ศาลโลกไม่เคยปฏิเสธเขตอำนาจ แต่มักปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการตีความ ด้วยเหตุผลคือมีการพยายามจะตะแบงขอในสิ่งที่ไม่ได้ตัดสินเอาไว้ เช่นเราต้องสู้โดยบอกว่าศาลไม่มีอำนาจตีความสิ่งที่กัมพูชาขอ เพราะกัมพูชาอยากได้มากกว่าที่ตัดสินไว้ตอนปี 2505 คืออยากได้แผนที่ผนวก 1 ให้มีผลทางกฎหมาย ทั้งๆที่แผนที่ผนวก 1 หรือที่เรียกว่า 1 ต่อ 200,000 เป็นเพียงแค่ข้อเท็จจริงประกอบ ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่ข้อกฎหมายคืออนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ซึ่งต้องว่าไปตามสันปันน้ำ ประกอบกับหลักการตีความกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นต้องยืนยันให้ชัดเจน
        
“อย่าลืมสิ่งที่เราตั้งข้อสงวนไว้ คำประท้วง เหตุผลที่เราแสดงจุดยืน มันเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ข้อสงวน มี 2 ส่วน คือ หนึ่ง สงวนจะใช้สิทธิที่มีระยะเวลาจำกัด เช่นการขอให้ศาลเอาคดีมาพิจารณาใหม่ซึ่งอันนั้นอาจหมดอายุความไปแล้ว เพราะกฎหมายมีระยะเวลาจำกัด แต่มันก็มีข้อสงวนที่ไม่ได้มีระยะเวลาจำกัดในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นข้อสงวนที่จะทวงสิทธิเอาปราสาทคืน ฉะนั้นสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ไม่ว่าจะตั้งข้อสงวนสิทธิ หรือการปฏิเสธอำนาจของศาล เป็นสิ่งที่ต้องเอามาย้ำให้ชัด และยังมีสิทธิในขั้นนี้ อย่าลืมว่าการที่ศาลออกคำสั่งชั่วคราวไม่ได้หมายความว่าศาลมีอำนาจตีความ” นายวีรพัฒน์กล่าว
        
นายคำนูณกล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นไม่รับอำนาจศาลโลก เป็นสิ่งที่เราต้องเรียกร้องจากรัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลชุดต่อไป เอาให้ชัดเจน ซึ่งไทยควรพูดไปแต่แรก แต่ดูเหมือนว่าพูดไปไม่หนักแน่น และเหมือนว่าไม่มีการกล่าวถึงคำสงวนปี 2505 เลย ประเด็นนี้ต้องตั้งคำถามนายอภิสิทธิ์
        
การสู้คดีมีแต่เราต้องปฏิเสธ แต่นี่กลับยอมรับ เราต้องต่อสู้ว่านี่เป็นคดีใหม่ เพราะผ่านมา 50 ปีแล้ว ข้อมูลจาก อ.สมปอง สุจริตกุล ไม่เคยมีคดีใดเลยที่เกิน 2 ปีแล้วศาลโลกจะพิจารณาตีความตามมาตรา 60 กรณีศาลโลกนี้น่าแปลกจริงๆ ตนเคยได้สอบทานข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ทางกระทรวงต่างประเทศกังวลกับการขึ้นศาลโลกมากจนเกินไป อย่างในเอ็มโอยู 43 การบรรจุข้อ 1 ค. เรื่องผลงานคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย กระทรวงต่างประเทศก็รู้ว่าไม่ควรบรรจุข้อนี้ลงไป แต่กัมพูชาเรียกร้องให้ใส่ ไม่อย่างนั้นจะไปศาลโลก กระทรวงต่างประเทศกลัวการไปศาลโลกเพราะคิดว่าต้องเสร็จแน่ๆ ก็เลยใส่ข้อนั้นไป
        
นายวีรพัฒน์กล่าวว่า กังวลเหลือเกินกับการไปเอาแผนที่อันเจ็บปวดมาพูดถึง แต่ในเมื่อเซ็นไปแล้ว และมันไปอยู่ในมือศาลแล้ว เราต้องช่วยเตือนกันต่อไป และหยิบเอาแง่ที่ดีของเอ็มโอยู 43 มาพูด ตนไม่ได้บอกว่าเอ็มโอยู 43 ดี แต่ถึงขั้นนี้ต้องทำให้มันมีประโยชน์ อย่างน้อยๆก็แสดงให้เห็นว่าตอนปี 2505 ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องดินแดน ถึงต้องมีเอ็มโอยู 43 ตนเลยเสนอว่าไหนๆเอ็มโอยู 43 ก็ทำเรากังวลแล้ว เราก็ต้องตีความให้เป็นคุณกับเรา
        
นายคำนูณกล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลหน้าแค่แบกรับภาระต่างๆก็เหนื่อยมากแล้ว ถ้าต้องมาถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์กับกัมพูชาเข้าไปอีก คงยากที่จะอยู่ได้ง่ายๆ
        
สิ่งที่ตนอยากเสนอรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ องค์ความรู้เรื่องกัมพูชา มีคนมากมายที่มีความรู้ และระยะหลังๆคนในกระทรวงต่างประเทศก็ไม่ค่อยน่าไว้ใจนักในแง่องค์ความรู้ ในเมื่อรัฐบาลชอบตั้งคณะกรรมการ ก็ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาโดยดึงคนจากทุกภาคส่วน บางทีอาจจะได้ข้อสรุปบางประการที่อาจนำไปใช้ได้
        
และตนหวังว่าถ้าตกลงกันได้ กัมพูชาจะไปถอนเรื่องที่ยื่นศาลโลกไว้ เพราะกัมพูชาต้องมองว่า ถ้าเกิดศาลโลกตีความให้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 เป็นเส้นเขตแดน ประชาชนคนไทยก็ไม่ยอมแน่ รัฐบาลก็อยู่ลำบาก สู้มาวิน-วินกันดีกว่า คือเขตแดนที่ไม่มีวันตกลงกันได้ ก็ไม่ต้องตกลงกัน เพียงแต่ว่าเราจะใช้ประโยชน์ตัวปราสาท กับอาณาบริเวณโดยรอบอย่างไร โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่เสียหาย ไม่กระทบเขตแดน สิ่งที่กัมพูชาพลาดเพราะคิดว่าขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวมันจะสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ลองถอนออกมาก่อนดีหรือไม่ แล้วขึ้นทะเบียนร่วมกันทั้งตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบ อันนี้คือภาพลางๆซึ่งไม่ได้เป็นได้ง่ายๆ แต่ถ้าเดินไปในทางนี้ก็ยังพออาจเป็นไปได้

 


กำลังโหลดความคิดเห็น