xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ขาดคดีพธม.ฟ้อง“บัวแก้ว” นำบันทึก “เจบีซี” ไทย-เขมรเข้าสภามิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2554 เวลา 13.30น. ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ 1771/2553 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระหว่าง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)
(คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับพวก เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม ไทย – กัมพูชา ปี 2551 และปี 2552 และบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการร่วม (JBC) ที่รัฐบาลไทยขณะนั้นได้จัดทำบันทึกความตกลงโดยอ้างหลักเขตแดนทางบกที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับ และทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้กับกัมพูชา และผู้ถูกฟ้องคดีได้เห็นชอบบันทึกดังกล่าวและได้เสนอรัฐสภาเพื่อรับรองบันทึกผลการประชุม ซึ่งศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีตามฟ้องนั้น เป็นขั้นตอนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นขั้นตอนการใช้อำนาจทางปกครอง อีกทั้งรัฐสภาต้องพิจารณาตรวจสอบบันทึกความเข้าใจฯ ข้อกำหนดและแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกันระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาที่อ้างในข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน กรณีพิพาทของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2552)
ณ ห้องพิจารณาคดี 7 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

**กัมพูชา เผย ไทย ฟื้น MOU 44 เชือ 18 ต.ค.นี้
เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ รายงาน ระบุ ทางการกัมพูชา วานนี้ได้รับแถลงการณ์จาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่อ้างคำกล่าวของ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทยกับกัมพูชา ปี 2544 จะได้รับการส่งให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา ในวันที่ 18 ตุลาคม
ตามรายงานระบุ นางฐิติมา กล่าวถึง บันทึกความเข้าใจดังกล่าวว่า เดิมทีเป็นต้นร่างเพื่อกำหนดการเจรจาเกี่ยวกับ พื้นที่ทับซ้อน ที่เชื่อว่า อุดมไปด้วย ก๊าซ และน้ำมัน แต่มาในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2552 บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจึงหยุดชะงักลงชั่วคราว หลัง กัมพูชา แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประเทศ และถึงแม้ว่า บันทึกความเข้าใจฯ จะไม่ได้รับความสนใจจากไทย มาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ควรจะได้รับการนำกลับมาพิจารณาเพื่อผ่านความเห็นชอบอีกครั้ง โดย คณะรัฐมนตรีของไทย พร้อมแสดงความหวังว่า จะได้รับการตอบสนองเชิงบวกจากรัฐบาลกัมพูชา
ด้าน นายปายสิ ฟาน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าววานนี้ ว่า บันทึกความเข้าใจ จำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อพิพาท ซึ่งหากปราศจากการแก้ไขข้อพิพาท ทั้งสองประเทศก็จะไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ดังกล่าว และกัมพูชา ก็ถือว่า บันทึกความเข้าใจฯ ยังคงถูกต้องตามชอบธรรม แม้จะถูกปฏิเสธ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหากผ่าน
ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีของไทยแล้ว ทั้งสองประเทศก็จะสามารถกลับมาเจรจากันในเรื่องการแบ่งเส้นเขตแดนได้อีก

** “สุนัย”จ้องเยือนเขมรพบ “ฮุนเซน”
อีกด้าน นายสุนัย จุลพงศธร ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ ร่วมแถลงถึงแนวทางการทำงานของกมธ.ต่างประเทศ ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาของประเทศมีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น ทางกมธ.ต่างประเทศ จะมีการประชุมกันทุกวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 – 12.00 น. โดยในวันที่ 13 ต.ค.นี้ จะมีการหารือ 3 เรื่องหลัก คือ
1. ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ในการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ สองแกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ โดยที่กมธ.การต่างประเทศ จะเดินทางไปเยือนกัมพูชา เพื่อเข้าหารือกับประธานสภาฯ และกมธ.ต่างประเทศกัมพูชา รวมถึงจะเข้าคาราวะสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ 2 คนไทย ให้พ้นจากการคุมขัง
2. การตั้งกองทุนช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในเรื่องของสุขภาพ เนื่องจากเห็นว่าคนกัมพูชาไม่ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องของการรักษาสุขภาพ จึงมีแนวคิดที่จะให้คนกัมพูชา เข้ามารักษาตัวที่ฝั่งไทย และยืนยันว่าจะไม่ทำให้กระทบต่องบประมาณในการช่วยเหลือคนไทย ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นการช่วยฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เร็วยิ่งขึ้น
3. การช่วยเหลือ ด.ญ.นิจรีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ เด็กไทยที่ประสบอุบัติเหตุพลัดตกรางรถไฟ ที่ประเทศสิงคโปร์จนถูกรถไฟทับขาขาดทั้งสองข้าง ซึ่งทางกมธ.ต่างประเทศ จะดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด และจะใช้ความสัมพันธ์ด้านการทูตระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ในการดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น