ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดข้อสงสัยเรื่อง “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แห่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิบัติการ “สวมตอ” ต่อจาก “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ในการฮุบสมบัติก้อนมหึมา ซึ่งก็คือ พลังงานและก๊าซในอ่าวไทย ก็เป็นที่กระจ่างแจ้งในหัวใจของประชาชนคนไทยผู้รักชาติและบรรดาแมลงสาบผู้ยังหลงงมงายอยู่กับมายาภาพของพรรคการเมืองค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผมเสียที
เมื่อ “นายฮุนเซน” นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ทอดไมตรีให้แก่รัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แห่งพรรคเพื่อไทยด้วยการสวมบท “พระยาละแวกปี 2011” เปิดข้อมูลลับในการเจรจานอกรอบระหว่างนายฮุนเซนกับนายสุเทพเกี่ยวกับผลประโยชน์พลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างทั้งสองประเทศในอ่าวไทย
งานนี้ เรียกได้ว่า แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ ชนิดที่ไม่ต้อง ซ.ต.พ.หรือซึ่งต้องพิสูจน์อะไรอีกต่อไป
ทั้งนี้ เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาภายในการกำกับของนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2554 โดยเนื้อหาสำคัญในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่า “องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลกัมพูชา มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแสวงหาหนทางสลายความขัดแย้งให้มีความเท่าเทียม และโปร่งใส บนพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลของราชอาณาจักรไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ นี้ ได้แจกแจงเกี่ยวกับพื้นที่ที่ต้องกำหนดเขตแดน (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area) ทั้งนี้ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ แม้ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วม (JTC) อย่างเป็นทางการก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลหลายครั้ง รวมทั้งมีการประชุมระหว่างสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ในราชอาณาจักรกัมพูชา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2552 ที่ จ.กณดาล ประเทศกัมพูชา และการพบกันอย่างลับๆ ระหว่าง นายสุเทพ และรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน ที่ฮ่องกง เมื่อ 1 สิงหาคม 2552 และที่คุนหมิง วันที่ 16 กรกฎาคม 2553”
และข้อความต่อไปนี้ในแถลงการณ์คือข้อความที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้เพราะเป็นประจักษ์พยานในพฤติกรรมของนายสุเทพได้เป็นอย่างดี
“ในระหว่างการพบกันนั้น นายสุเทพ ได้แจ้งความต้องการอย่างสูงที่จะแก้ปัญหานี้ให้จบในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ การเจรจาลับเกิดขึ้นตามการร้องขอของอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนยันว่า ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นว่าเหตุใดต้องมีการเจรจาเป็นการลับ? ในช่วงของรัฐบาลก่อนๆ ทุกการเจรจาทำขึ้นอย่างเปิดเผย แต่ถูกกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น กัมพูชามีความเคลือบแคลงอย่างมาก ว่า เหตุอะไรรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีความจำเป็นต้องทำการเจรจาลับ? ประชาชนไทย หรือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทราบเกี่ยวกับการเจรจานี้ด้วยหรือไม่? ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงไปจนถึงกล่าวหา ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เจรจาแบบเปิดเผยกับกัมพูชา ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงกับกัมพูชา และขัดขวางการดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทย ในการเจรจากับกัมพูชา กัมพูชามีความจำเป็นต้องแสดงเรื่องปกปิดอำพรางนี้ เพื่อการปกป้องตนเองของกัมพูชา และ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อต้านการบิดเบือนจากพวกประชาธิปัตย์ในประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวนอกจากจะให้คำตอบเรื่องการสวมตอของนายสุเทพและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงเงื่อนงำเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือที่รู้จักกันในชื่อ MOU 44 อีกด้วย เพราะทำให้สังคมไทยได้เห็นร่องรอยการฝันอร่อยของทั้งรัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้อย่างหมดเปลือก
กล่าวสำหรับรัฐบาล นช.ทักษิณนั้น แถลงการณ์แสดงให้เห็นถึงข้อตกร่วมกันในการแบ่งทรัพยากรมูลค่า 5 ล้านล้านบาทนี้ที่ชัดเจนยิ่งถึงขนาดมีข้อเสนอในการแบ่งพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแถลงการณ์ระบุชัดเจนว่า “การหารือและเจรจาระหว่างประเทศทั้งสอง มีความก้าวหน้าอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.2544- 2550 ประเทศทั้งสองได้มีข้อเสนอที่แตกต่างกันสองแบบ สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) กล่าวคือ ข้อเสนอสลายข้อติดขัด (Break-through Proposal) (แบ่งเท่ากันตลอดทั้งพื้นที่) เสนอโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาร่วมออกเป็น 3 เขต (Three-zone Proposal) ที่เสนอโดยฝ่ายไทย บันทึกความเข้าใจฯ 2544 ไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นชอบบนกระดาษเท่านั้น หากแต่ประเทศทั้งสองได้ใช้ทรัพยากรและความเอาใจใส่อย่างสูงในการปฏิบัติตาม บันทึกความเข้าใจฯ นี้ โดยตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วม อนุกรรมการเทคนิคร่วม และคณะทำงาน 2 คณะ เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาร่วม”
ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนายฮุนเซนกับ นช.ทักษิณเป็นอย่างดี เพราะมิฉะนั้นแล้ว แถลงการณ์ที่เปรียบเสมือนอาวุธในการประหัตประหารรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฉบับนี้จะไม่ออกสู่สายตาของสาธารณชนได้อย่างแน่นอน และไมตรีดังกล่าวก็ทอดมาสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยการประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลกัมพูชายินดีต้อนรับการเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้งอย่างเปิดเผย และเป็นทางการในปัญหานี้ และต่อเนื่องแก้ปัญหาการงานนี้ให้ได้โดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเป็นผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างประชาชนและประเทศทั้งสอง
สำหรับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้น แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาได้สะท้อนให้เห็นถึงกลเกมแห่งความหลอกลวง เพราะในขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์สร้างภาพด้วยการประกาศยกเลิก MOU44 แต่ในทางพฤตินัยกับส่งจรกาหน้าดำไปเจรจาในทางลับหลายต่อหลายครั้งกับนายซกอาน ทั้งที่กัมพูชา ฮ่องกงและคุนหมิง
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ แสดงให้เห็นว่าการประกาศยกเลิก MOU44 ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ มิฉะนั้นแล้วกัมพูชาจะไม่สามารถอ้างในแถลงการณ์ดังกล่าวได้
กล่าวคือ แม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะมีมติให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 แต่ก็ไม่ได้กระทำสิ่งอื่นที่ประกอบกันไปเพื่อให้การยกเลิกมีผลสมบูรณ์ เพราะลำพังแค่มติ ครม.นั้นถือเป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่เกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างประเทศ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มิได้เคยแจ้งความจำนงไปยังรัฐบาลกัมพูชาและไม่เคยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตลอดระยะเวลาหลังจากมีมติ ครม.
เพราะฉะนั้น MOU 2544 ก็เลยยังคงดำรงอยู่ตราบเช่นทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยตัวเอ้ที่จะต้องตอบคำถามสังคมคือนายสุเทพนั้น แม้เจ้าตัวจะยอมรับว่า ได้มีการเจรจานอกรอบกับทั้งนายฮุนเซนและนายซก อานจริง แต่ไม่ยอมรับเรื่องการสวมตอ
“ยอมรับว่าเคยพบปะกับ นายซก อาน นอกรอบจริง ที่เกาะฮ่องกง ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ในการจัดประชุมร่วมกับกัมพูชาเรื่องความร่วมมือด้านต่างๆ อีกทั้ง ความร่วมมือเรื่องทรัพยากรทางทะเล แต่ไม่ได้มีข้อตกลงใด ๆ มีเพียงข้อเสนอของ นายซก อาน ว่าน่าจะนำข้อพิพาทผลประโยชน์ทางทะเลมาหารือในรูปแบบคณะกรรมการและจัดพื้นที่ให้เป็นตารางหมากรุกและจับฉลากว่า ใครจะบริหารจัดการพื้นที่ไหน ซึ่งผมก็รับแนวคิดนี้มาหารือในกรอบ ซึ่งทุกเรื่องที่จะตกลงต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน พร้อมยืนยันว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอน”
ที่สำคัญคือ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่าในตอนเริ่มต้นรัฐบาลได้มอบหมายให้นายสุเทพเป็นผู้ดำเนินการจริง แต่ก็ปฏิเสธเสียงแข็งอีกเช่นกันว่า เป็นการขอคุยนอกรอบเพื่อทำกรอบเจรจาเพราะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา และยุติลงเมื่อมีการยกเลิก MOU44
แน่นอน สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็คงจะเอาผิดนายสุเทพรวมถึงคนสั่งการอย่างนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ เพราะแม้จะไปเจรจาจริง แต่ภารกิจการสวมตอก็ยังไม่เสร็จสิ้น หรือความผิดยังไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่จะต้องจับตามองต่อไปก็คือ การร่วมหอลงโรงครั้งใหม่ของรัฐบาลนายฮุนเซนกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เพราะสัญญาณทุกทิศที่ออกมาในขณะนี้ รวมถึงเจ้ากระทรวงพลังงานที่ชื่อ “พิชัย นริพทะพันธุ์” แล้ว โอกาสที่จะตกลงผลประโยชน์สำเร็จก็มีอยู่สูงยิ่ง
เพราะเวลานี้ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มิต้องกริ่งเกรงใครๆ ในประเทศไทยอีกต่อแล้ว เพราะพวกเขามีมวลชนคนเสื้อแดงยึนทะมึนเป็นป้อมปราการอยู่เบื้องหลังและพร้อมจะปฏิบัติการเพื่อค้ำบัลลังก์แห่งอำนาจเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้