กัมพูชาโดยองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ ออกหน้าแฉ “สุเทพ” ดอดเจรจาลับ “ซก อาน” หลายครั้ง ทั้งที่ ฮ่องกง-คุนหมิง หวังเจรจาเคลียร์ปัญหาพื้นที่ปิโตรเลียม ภายในรัฐบาลอภิสิทธิ์ อ้างปูดข้อมูลหวังป้องตัวเอง - “ทักษิณ” ที่ถูกกล่าวหาตลอด ทั้งเอาใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พร้อมเปิดเวทีเริ่มต้นเจรจาสองฝ่าย
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้การกำกับของ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2554 โดยกล่าวว่า องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลกัมพูชา มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแสวงหาหนทางสลายความขัดแย้งให้มีความเท่าเทียม และโปร่งใส บนพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลของราชอาณาจักรไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ นี้ ได้แจกแจงเกี่ยวกับพื้นที่ที่ต้องกำหนดเขตแดน (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area)
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า บันทึกความเข้าใจฯ 2544 ไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นชอบบนกระดาษเท่านั้น หากแต่ประเทศทั้งสองได้ใช้ทรัพยากรและความเอาใจใส่อย่างสูงในการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯ นี้ โดยตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วม อนุกรรมการเทคนิคร่วม และคณะทำงาน 2 คณะ เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาร่วม
การหารือและเจรจาระหว่างประเทศทั้งสอง มีความก้าวหน้าอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.2544- 2550 ประเทศทั้งสองได้มีข้อเสนอที่แตกต่างกันสองแบบ สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) กล่าวคือ ข้อเสนอสลายข้อติดขัด (Break-through Proposal) (แบ่งเท่ากันตลอดทั้งพื้นที่) เสนอโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาร่วมออกเป็น 3 เขต (Three-zone Proposal) ที่เสนอโดยฝ่ายไทย
ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ แม้ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วม (JTC) อย่างเป็นทางการก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลหลายครั้ง รวมทั้งมีการประชุมระหว่างสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ในราชอาณาจักรกัมพูชา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2552 ที่ จ.กณดาล ประเทศกัมพูชา และการพบกันอย่างลับๆ ระหว่าง นายสุเทพ และรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน ที่ฮ่องกง เมื่อ 1 สิงหาคม 2552 และที่คุนหมิง วันที่ 16 กรกฎาคม 2553
ในระหว่างการพบกันนั้น นายสุเทพ ได้แจ้งความต้องการอย่างสูงที่จะแก้ปัญหานี้ให้จบในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ การเจรจาลับเกิดขึ้นตามการร้องขอของอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนยันว่า ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นว่าเหตุใดต้องมีการเจรจาเป็นการลับ? ในช่วงของรัฐบาลก่อนๆ ทุกการเจรจาทำขึ้นอย่างเปิดเผย แต่ถูกกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น กัมพูชามีความเคลือบแคลงอย่างมาก ว่า เหตุอะไรรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีความจำเป็นต้องทำการเจรจาลับ? ประชาชนไทย หรือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทราบเกี่ยวกับการเจรจานี้ด้วยหรือไม่? ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงไปจนถึงกล่าวหา ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เจรจาแบบเปิดเผยกับกัมพูชา ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงกับกัมพูชา และขัดขวางการดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทย ในการเจรจากับกัมพูชา กัมพูชามีความจำเป็นต้องแสดงเรื่องปกปิดอำพรางนี้ เพื่อการปกป้องตนเองของกัมพูชา และ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อต้านการบิดเบือนจากพวกประชาธิปัตย์ในประเทศไทย
รัฐบาลใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการพบหารือหรือยกข้อเสนอใดกับรัฐบาลกัมพูชา ในการแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนแต่อย่างใด อย่าว่าแต่จะมีข้อเสนอใดเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตัว ดังที่ได้มีการกล่าวหาโดย นางอานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาไทย ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2554
แถลงการณ์กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลกัมพูชายินดีต้อนรับการเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้งอย่างเปิดเผย และเป็นทางการในปัญหานี้ และต่อเนื่องแก้ปัญหาการงานนี้ให้ได้โดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเป็นผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างประชาชนและประเทศทั้งสอง