xs
xsm
sm
md
lg

ป้าย “เขาพระวิหาร” จ.ศรีสะเกษ สะกด Preah Vihear ตามแบบเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายแหล่งท่องเที่ยวเปรี๊ยะวิเฮียร์ บริเวณกรมทหารพรานที่ 23 และกองกำลังสุรนารีส่วนหน้า
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผย แขวงการทาง จ.ศรีสะเกษ ติดตั้งแผ่นป้ายบอกทางสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ทั่วจังหวัด ร่วม 30 แห่ง ป้ายระบุทิศทางไปปราสาทเขาพระวิหาร ใช้ตัวสะกดภาษาอังกฤษ ว่า Preah Vihear ตามอย่างเขมร แทนที่จะสะกดว่า Phrawihan ที่กรมทางหลวงเคยใช้มาแต่เดิม แม้มีเรื่องร้องเรียนถึงจังหวัด แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่ข่าวระบุว่า แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ของฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จังหวัดศรีสะเกษทำการติดตั้งป้ายบอกทางใหม่ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิเช่น น้ำตกภูละออ ผามออีแดง รวมถึงปราสาทพระวิหาร ป้ายใหม่ที่มีข้อความบอกทาง ซึ่งใช้คำว่า “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตามรายงานมีจำนวนทั้งสิ้นร่วม 30 ป้าย กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วจังหวัดศรีสะเกษ โดยแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าเป็นการดำเนินการของแขวงการทางศรีสะเกษ ในสังกัดสำนักทางหลวงที่ 7 (อุบลราชธานี) ซึ่งมี นายวิเชษฐ์ วรรธนะโสภณ เป็นผู้อำนวยการแขวงฯ

เป็นที่สังเกตว่า ภาษาอังกฤษที่เขียนกำกับใต้ภาษาไทย สะกดด้วย “Khao Preah Vihear Sanctuary” ซึ่งคำว่า “Preah Vihear” (ออกเสียง เปรี๊ยะ-วิ-เฮียร์) เป็นวิธีสะกดและออกเสียงอย่างเขมร หากไม่ให้ความสำคัญกับการประกอบคำที่ผิดหลักภาษา คือ การใช้ Khao + Preah Vihear และการใช้ Sanctuary ซึ่งมีความหมายอย่างกว้าง ประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถาม คือ ทำไมแขวงการทางศรีสะเกษ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ จึงเลือกสะกดด้วย “Preah Vihear” แทนที่ “Phrawihan” ตามอย่างวิธีสะกดของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้มาแต่เดิม หรือ “Phra Viharn” ตามแบบของกระทรวงการต่างประเทศและที่ใช้กันโดยทั่วไป

ในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC ชื่อเรียกปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นถกเถียงหนึ่ง โดยตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันชื่อเรียก “ปราสาทพระวิหาร” ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาเรียก “ปราสาทเปรี๊ยะวิเฮียร์” จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเป็นที่ยุติ

หากไม่พิจารณาประเด็นที่มาชื่อเรียกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความจริงที่ว่าตัวสะกดชื่อปราสาททั้งในภาษาไทย และภาษาเขมร ต่างเขียนตรงกัน ซึ่งหากถอดตัวอักษรจะได้ว่า “พระวิหาร” ส่วน “เปรี๊ยะวิเฮียร์” เป็นเพียงวิธีการออกเสียงตามลักษณะภาษาเขมรเท่านั้น ประกอบกับการทำความตกลงชื่อเรียกใน JBC ยังไม่เป็นที่ยุติ และประเทศไทยก็เรียกว่าพระวิหารมาแต่เดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นใดที่ส่วนราชการไทยจะเปลี่ยนจาก “Phrawihan” ไปเป็น “Preah Vihear” ตามอย่างเขมร

การใช้ “Preah Vihear” ในประเทศไทย เท่าที่ปรากฏมีเพียงหนังสือพิมพ์ไทยฉบับภาษาอังกฤษ สองฉบับเท่านั้น ซึ่งอาจเพราะความเชื่อที่สมมติเอาว่าเป็นสากล แต่ทว่าป้ายบอกทางของกรมทางหลวง ซึ่งมีลักษณะเป็นทางการ และเป็นทรัพย์สินของราชการนั้น การเปลี่ยนมาใช้คำตามอย่างเขมรดังกล่าว ควรต้องมีคำอธิบายและต้องมีผู้รับผิดชอบ กรณีที่เกิดขึ้น แหล่งข่าวรายงานว่ามีผู้ร้องเรียนไปยังจังหวัดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข หรือแสดงความรับผิดชอบแต่ประการใด
ป้ายแหล่งท่องเที่ยวเปรี๊ยะวิเฮียร์ บริเวณกรมทหารพรานที่ 23 และกองกำลังสุรนารีส่วนหน้า
แยกการช่าง อ.กันทรลักษ์
ป้ายที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้มาแต่เดิม เขียนคำสะกดภาษาอังกฤษด้วย Khao Phrawihan
ป้ายที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้มาแต่เดิม เขียนคำสะกดภาษาอังกฤษด้วย Khao Phrawihan
ตัวสะกดพระวิหารในภาษาเขมรซึ่งออกเสียงเปรี๊ยะวิเฮียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น