xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศปภ. = ศูนย์ประจานภูมิปัญญา “ปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เชื่อแน่ว่าหลายคนที่ได้เห็นภาพอันทุกข์ระทมของ “พี่น้องร่วมชาติ” ที่ประสบอุทกภัย “น้ำท่วมใหญ่” อย่างแสนสาหัสอยู่ในขณะนี้ คงรู้สึกทั้งห่วงใยและหดหู่ใจ จนพูดไม่ออกบอกไม่ถูกไปพร้อมๆ กัน

โดย “มหาอุทกภัย” ครั้งนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศ คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 281 ราย ขณะที่ประชาชนราว 2 ล้านคน กลายเป็นผู้ประสบภัยที่ต้อง “ทนทุกข์” อย่างแสนสาหัส

แต่ที่เลวร้ายและน่าเศร้าใจเสียยิ่งกว่าก็คือ มหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศในรอบหลายสิบปีที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานนับเดือนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความ “ไร้ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาล ทั้งในการประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือ ตลอดจนความล่าช้าในการแก้ปัญหาหลังเกิดภัยพิบัติขั้นร้ายแรง จนหลายคนให้นิยามใหม่ “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)” ว่า ศูนย์ประจานภูมิปัญญา “ปู”

**นายกฯ สวยแต่ไร้กึ๋น ความโชคร้ายของประเทศไทย

แน่นอน แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นความโชคร้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องมาเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย แต่ใช่หรือไม่ว่า ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้เห็นบทเรียนมาแล้วในช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

กระทั่งก่อนหน้านี้ ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ล่วงหน้านานหลายเดือนแล้วว่า ปีนี้จะมีพายุหลายลูกพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสัญญาณอันตรายเตือนภัยให้รัฐบาลได้ตระหนัก ตื่นตัว และกระตือรือร้นในการเตรียมแผนป้องกันและรับมือกับ “มหาอุทกภัย” ครั้งร้ายแรงที่กำลังจะอุบัติขึ้น

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะชะล่าใจ กระทั่งปล่อยปละละเลย เพราะมัวแต่มุ่งมั่นให้ความสำคัญแต่งานด้านการเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรี

และเมื่อถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ระหว่างความเป็นความตายของประชาชน คนที่เป็นผู้นำน่าจะทำได้มากกว่าการเดินโปรยยิ้มหวานตบท้ายด้วยคำพูด “สู้ๆ” เกือบทุกครั้งในตอนลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัย เพราะในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะคับขัน ควรอย่างยิ่งที่ “ผู้นำ” จะมีถ้อยคำอันหนักแน่นสะท้อนออกมาสู่สาธารณะ ในยามที่พลเมืองของตัวเองเคว้งคว้าง ไร้หลักยึดเหนี่ยวอย่างนี้

แต่ล่าสุด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ออกมายอมรับว่า น้ำมามากเหลือเกิน หากไม่ไหวก็ต้องเอาชีวิตให้รอดเสียก่อน ซึ่งมองได้ 2 อย่าง นั่นคือ นายกฯ พยายามบอกให้เห็นความจริง หรือไม่นายกฯ ก็ถอดใจกับอุทกภัยครั้งนี้ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไหน ประชาชนก็ไม่สบายใจกับคำพูดดังกล่าวอยู่ดี และมาถึงนาทีนี้ ความเป็นผู้นำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หายากยิ่งกว่า “ถุงทราย” วันวานประกาศผ่านทีวีพูลรับประกันว่ารับมือกับน้ำท่วมได้แน่ แต่มาวันนี้กลับบอกว่าคุมสถานการณ์ไม่ได้ โดยอ้างสารพัดปัญหาทั้งพนังเก่า ชาวบ้านย่องทำลาย และ ฯลฯ

ด้วย “วุฒิภาวะ” ความเป็นผู้นำประเทศของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ที่ไม่ประสีประสาทั้งในเรื่องความรอบรู้ ประสบการณ์ชีวิต วิธีคิด และการตัดสินใจ ทำให้การแก้ไขภัยพิบัติ “มหาอุทกภัย” ครั้งใหญ่หลวงนี้ ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น และกว่ารัฐบาลจะกำหนดให้มหาอุทกภัยร้ายแรงครั้งนี้ “เป็นวาระแห่งชาติ” และจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” (ศปภ.) สถานการณ์ก็เข้าขั้นวิกฤตหนักหนาสาหัส และหลายจังหวัดก็อยู่ในสภาพที่ “สายเกินไป” เสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ แทนที่นายกรัฐมนตรีจะนั่งหัวโต๊ะเป็น “ประธาน ศปภ.” ด้วยตัวเอง เพื่อให้การสั่งการเกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่กลับมอบหมายให้ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รมว.ยุติธรรม นั่งเป็นประธานแทน และแปลกแต่จริงที่ไม่มีชื่อ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รมว.มหาดไทย เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ เนื่องจากเป็นผู้กำกับดูแลผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นการใช้คนแบบ “ผิดฝาผิดตัว” จนทำให้การประสานระหว่างหน่วยราชการขาดเอกภาพ

และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความ “ล้มเหลว” และ “ไร้ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาลในการกู้วิกฤตครั้งนี้ ก็คือ คำสารภาพของ “นายปลอดประสพ สุรัสวดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานฝ่ายปฏิบัติการ ศปภ. ที่ออกมายอมรับตาใสว่า “คำนวณน้ำเฉพาะแม่น้ำสายหลัก แต่ไม่ได้คิดจากน้ำบนบก หรือโอเวอร์แลนด์ ซึ่งเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง ถือว่าเป็นการคำนวณผิดพลาด แต่ไม่ได้ตำหนิใคร ขณะนี้ต้องบอกให้ประชาชนรู้ เพื่อจะได้ตั้งรับได้” แบบนี้เขาเรียกว่า “จำนนด้วยหลักฐาน” มากกว่าจะเป็นการบอกให้ชาวบ้านได้รู้

แม้กระทั่ง “นายใหญ่” อัครมหาเศรษฐี พี่ชายนายกรัฐมนตรี ที่หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักมานานนับเดือน กลับไม่เห็นโผล่หัวมาแสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหาน้ำท่วมช่วยน้องสาว ข่าวคราวของนักโทษชายหายวับไปกับสายลมแห่งอุทกภัย ราวกับถูก “น้ำท่วมปาก” และราวกับไม่ต้องการให้ใครพูดถึงในเวลาที่ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลายคนจึงไม่รู้ว่า ท่านอัครมหาเศรษฐี ขวัญใจคนเสื้อแดงคนนี้ จะมีน้ำใจบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมสักมากน้อย กี่ร้อย หรือกี่พันล้านบาทกันแน่ ?

แต่แล้ว หลังจากที่ประชาชนคนไทยประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนักอยู่นานนับเดือน ล่าสุด “เทวดาทักษิณ” ก็โผล่ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เมืองดูไบ โดยคุยโวถึงการฟื้นฟูประเทศไทยหลังน้ำท่วมว่า สามารถหาเงินให้ได้อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องกู้ และจะแก้ไขปัญหาน้ำอย่างบูรณาการ โดยใช้เงินถึง 4 แสนล้านบาท... ฯลฯ

พฤติกรรมเยี่ยงนี้ เขาเรียกว่าเป็นการ "ตีกิน" ทางการเมือง อย่างน่ารังเกียจยิ่งนัก และสำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” นามนี้ "ดีแต่โม้" ปั้นน้ำลายเป็นตัวได้อย่างน่าเหลือเชื่อ!

หากยังจำกันได้ คงรู้ว่าเทวดาทักษิณเคยคุยโวโอ้อวดไว้กี่เรื่องกี่ราวแล้วที่ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารถติดใน กทม. ที่เทวดาท่านบอกว่าจะหมดไปภายในหกเดือน คนจนจะหมดประเทศภายในหกปี แล้วทุกวันนี้เป็นยังไง และครั้งนี้ยังมีหน้ามาคุยโวว่า รัฐบาลจะไม่ต้องกู้ ไม่ต้องเป็นหนี้เลย มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะในเมื่อข้อเท็จจริงมันประจานอยู่ตำตาว่ารัฐบาลที่ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ในขณะนี้ เพิ่งทำงานไปเพียงไม่กี่เดือนก็ “ก่อหนี้” ไปหลายแสนล้านบาทแล้ว!

ถ้าไม่กู้ หรือไม่เป็นหนี้ แล้วจะมีปัญญาเอาเงินมาจากไหน หรือ “เทวดาทักษิณ” จะเสกให้ ยิ่งนับวันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า หากไม่มีคนอย่างนี้ บางทีแผ่นดินไทยอาจสูงขึ้น และน้ำคงไม่ท่วมหนักขนาดนี้

**น้ำไม่ไหลลงทะเล ชนวนวิกฤตมหาอุทกภัย

นอกจากนี้ ใครที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะต้องเคยตั้งคำถามถึงความผิดปกติของมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายประเด็นด้วยกัน

แต่คำถามใหญ่ที่สุดที่หลายคนเฝ้าหาคำตอบน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมน้ำที่ท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและที่ราบลุ่มภาคกลางจึงยังคงดำรงอยู่ทั้งๆ ที่ประสบภัยมานานร่วม3-4 เดือน

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มวลน้ำก้อนมหึมาก้อนนี้น่าจะไหลผ่านพื้นที่ประสบภัยรุนแรงอย่าง “นครสวรรค์” และ “อยุธยา” ออกสู่ทะเลที่อ่าวไทยได้รวดเร็วกว่านี้

แน่นอน ส่วนหนึ่งทุกคนยอมรับว่า ปริมาณน้ำครั้งนี้มีปริมาณมากมายมหาศาลรวมแล้วมากถึง 16, 000 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ระบบการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง จนสามารถใช้คำว่า “เฮงซวย” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

และความเฮงซวยในการบริหารจัดการนี่เองที่ส่งผลทำให้มวลน้ำก้อนมหึมาไปทะลักกองรวมกันอยู่ที่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และอีกหลายจังหวัดด้วยระดับน้ำที่สูงจนน่าตกใจเช่นนี้ โดยที่แทบจะไม่มีข้อมูลยืนยันด้วยซ้ำไปว่า ได้มีการบริหารจัดการน้ำด้วยการระบายไปที่แห่งหนตำบลไหน

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมช่วงก่อนที่ทุกๆ จังหวัดดังกล่าวข้างต้นจะเผชิญวิกฤตแล้ววิกฤตเล่าเช่นนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรมชลประทาน” ถึงไม่เร่งผลักดันน้ำบางส่วนออกสู่ทะเลโดยเร็ว

ความจริงอันน่าตื่นตระหนกประการหนึ่งมีอยู่ว่า นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการวางระบบคลอง และระบบการระบายน้ำออกสู่ทะเลเอาไว้เป็นอย่างดี จากนั้นก็ได้มีพัฒนาและขยายโครงข่ายออกไปเป็นลำดับโดยด้านเหนือของกรุงเทพมหานครที่ติดกับจังหวัดปทุมธานีก็มีคลองหลักอย่างคลองรังสิต คลองแสนแสบ ไล่เรื่อยมาเป็นคลองประเวศบุรีรมย์ คลองสำโรง ก่อนจะถึงคลองสุดท้ายคือคลองชายทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ

ขณะเดียวกันก็มีโครงข่ายคลองซอยคอยรับน้ำเป็นทอดๆ อีกเป็นจำนวนมาก
แต่ที่สำคัญที่สุดและต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ที่บริเวณคลองชายทะเล จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้ายก่อนที่จะออกสู่ทะเล ก็มีประตูระบายน้ำขนาดมหึมาจำนวน 10 ประตูที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ถึงวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทว่า ณ ขณะนี้ประตูทั้ง 10 ประตูไม่สามารถทำงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

“ประตูระบายน้ำทั้ง 10 ประตูสามารถทำงานได้แค่ 40-50%เท่านั้น เพราะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะเดินเครื่องให้เต็มศักยภาพ”

นั่นคือ ข้อมูลอันน่าสะพรึงกลัวและน่าตกใจที่ออกมาจากปาก “นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมถึงปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมกรมชลประทานที่มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการคลองทั้งหมด รวมถึงประตูระบายน้ำส่วนใหญ่จึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีถึงปล่อยให้กรมชลประทาน หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี “นายบรรหาร ศิลปอาชา” ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง บริหารจัดการน้ำในลักษณะนี้

แน่นอน ความเฮงซวยในการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือส่วนหนึ่งของปัญหา

แน่นอน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดในการปกป้องกรุงเทพมหานครอันเป็นหัวใจของประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตน้ำท่วม

แต่นั่นก็มิใช่หมายความว่า จะปล่อยให้ประชาชนในหลายจังหวัดต้องเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงเยี่ยงนี้

และแน่นอนว่า หลายคนคงคิดถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“พระองค์ทรงเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์แบบนี้และได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเร่งระบายน้ำด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร...พระองค์ยังให้หลักการในการระบายน้ำว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการระบายน้ำลงสู่ทะเล ดังนั้น การทำงานในส่วนของประตูเปิด-ปิดระบายน้ำนั้น เป็นส่วนสำคัญต้องบริหารจัดการให้สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเลขึ้นลง”

สุดท้าย ขอฝาก “กลอนทำนายปริศนา” ตอนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วมจนชาติวิกฤตครั้งนี้ยิ่งนัก คำทำนายตอนนั้นบอกว่า... “ผู้ปกครองเป็นหญิงพึงระวัง สายน้ำหลั่งกรากเชี่ยวหวาดเสียวใจ”

เวลานี้ ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังคิดเช่นนั้นจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น