ต้องยอมรับว่าน้ำท่วมครั้งนี้มันใหญ่หลวงเกินกว่าที่ใครจะรับมือไหว เป็นลักษณะธรรมชาติ “เอาคืน” หลังจากมนุษย์ไปวุ่นวายลองดีกันมานาน ความเสียหายจึงขยายวงกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าในปี 2538 ที่เคยมีการจดสถิติเอาไว้ว่าน้ำมามาก แต่ตอนนี้สถิติดังกล่าวได้ถูกทำลายลงไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่ถือว่า “สูงสุด” เพราะต้องรอรับน้ำที่มากมายมหาศาลมากกว่านี้อีก ในอีกวันสองวันต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาเป็น “สามแรงบวก” ทั้งน้ำเหนือ น้ำปัจจุบันที่รออยู่แล้ว ลองหลับตานึกภาพแล้วกันว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใด!!
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเวลานี้ และกำลังกอบกู้กันแบบฉุกเฉินกันอยู่มันสามารถบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง หากมีการเตรียมการรับมือที่ดี และมีการบริหารจัดการใช้คนและหน่วยงานให้ถูกกับงาน คงจะไม่สับสนอลหม่าน และความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สิน และชีวิตของชาวบ้านคงจะไม่เลวร้ายอย่างที่เห็นแน่นอน
เพราะแม้ว่าได้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่มานานนับเดือน บางแห่งจมน้ำมานานกว่า 2 เดือน แต่เชื่อหรือไม่ว่าความช่วยเหลือ ยังเป็นไปอย่างไร้ระเบียบ ไม่ทั่วถึง ไม่มีการประสานงานต่างคนต่างทำ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานที่เป็น “เจ้าภาพ” คอยสั่งการโดยตรง
เมื่อหันมาพิจารณาถึงวิธีการทำงาน การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบจากฝ่ายรัฐบาลล้วนแสดงออกให้เห็นว่า “ไร้ประสบการณ์” ใช้คนไม่ถูกกับงาน ทำให้มีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด สร้างความเสียหายในวงกว้างกว่าที่คาดเอาไว้
สิ่งที่เกิดขึ้นภายในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่แต่งตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ก็เกิดขึ้นภายหลังมีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นแม่งานใหญ่ แต่ก็ล้มเหลว ไม่อาจรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ จึงได้แต่งตั้ง ศปภ.ดังกล่าวขึ้นมา
แต่พอปฏิบัติการจริงกลับพบว่าตัวบุคคลที่เป็นระดับหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ก็มีทั้งคำพูดและท่าทางออกไปในทาง “เพี้ยนๆ” แบบตื่นตูม ประเมินสถานการณ์ และสั่งการด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลาจนทำให้เกิดความสับสน ตื่นตระหนก และโกลาหลอยู่ตลอดเวลา มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
หากจะให้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา พิจารณาคำพูดก่อนหน้าที่ที่บอกว่าตัวเขาเป็นคนที่สั่งการไม่ต้องกู้ถนนสายเอเซียในช่วงที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทาง ไม่ไหลทะลักมาท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ความหมายก็คือในเมื่อน้ำได้เข้าท่วมในเขตเมืองพระนครศรีอยุธยา เกิดความเสียหายไปแล้วก็ต้องปล่อยไป แต่ต้องรักษาพื้นที่ที่น้ำยังท่วมไม่ถึงเอาไว้ แต่ในที่สุดทุกพื้นที่ก็ยับเยินทั้งหมด รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นแห่งล่าสุด
เมื่อพูดนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคก็เช่นเดียวกัน เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการมอบหมายให้คนดูแลรับผิดชอบในลักษณะ “ใช้คนไม่ถูกกับงาน” เพราะกลับส่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนบัญชาการ อาจเป็นเพราะว่า เขาเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เมื่อสิ่งไหนที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องให้คนนั้นรับไปก็เป็นได้ แต่กรณีดังกล่าวถือว่ารัฐบาลตัดสินใจผิดอย่างมหันต์ เพราะถ้าถามว่ากิตติรัตน์ด้อยความสามารถหรือ คำตอบก็คือไม่
ตรงข้าม หากเกี่ยวข้องกับเรื่องตลาดทุน ตลาดเงินหรือเทคนิคการซื้อขายหุ้น แต่คงไม่ใช่เรื่องมาบัญชาการแก้ปัญหาแนวคันกั้นน้ำ เสริมกระสอบทรายแน่นอน แม้ว่าอาจมองอีกมุมหนึ่งอาจได้ใจทำนองว่ามีการร่วมทุกข์ร่วมสุข ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ แต่เอาไม่อยู่ จึงได้เห็นภาพการกอดคอร้องไห้กันกระจองอแง
แน่นอนว่าความหมายคนละเรื่องกับการป้องกันความเสียหายที่ล้มเหลว เพราะงานแบบนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีเครื่องมือและกำลังพลมีระเบียบวินัยพร้อม ซึ่งก็ต้องหมายถึงฝ่ายทหารนั่นเอง และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากที่สุด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกฝ่ายจะได้เห็นถึงศักยภาพของฝ่ายทหารในเรื่องดังกล่าวและมีเสียงเรียกร้องให้ประกาศใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้อำนาจสูงสุดกับฝ่ายทหารเป็นหน่วยบัญชาการหลัก แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับยังดึงดันปฏิเสธ อ้างว่าจะเสียภาพลักษณ์ ทำให้ต่างชาติเข้าใจผิด โดยใช้หน่วยงานฝ่ายพลเรือน ทั้งในระดับจังหวัด เป็นหน่วยงานท้องถิ่นแก้ปัญหากันไปตามยถากรรม
มีหลายคนวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ไม่ยอมมอบอำนาจให้ฝ่ายกองทัพเข้ามาดูแล แก้ปัญหาอย่างเต็มตัวนั้น เป็นเพราะเกรงจะเสียหน้า สูญเสียบทบาท และที่สำคัญยิ่งทำให้ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยถดถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ดีเมื่อความเสียหายขยายวงกว้างสุดคาดคิดแบบนี้มันก็จำเป็นที่ต้องดึงทหารมาเป็นทัพหน้า แต่ก็ถือว่าสายไปแล้ว อย่างไรก็ดีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ยอมแพ้กำลังรุกคืบเข้ามาป่วนภายในกรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่อยู่ตรงข้าม ยังหวังที่จะเข้ามาช่วงชิงการนำอยู่ตลอดเวลา ภาพจึงออกมาแบบชุลมุนแบบนั้นจริงๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมยังยืดเยื้อ และความเสียหายยิ่งขยายวงกว้างออกไปมากเท่าใด เสียงตำหนิก่นด่าก็ย่อมพุ่งตรงไปที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้จะรู้ดีว่าปริมาณน้ำมันมหาศาลมากกว่าทุกปี แต่หากมีการเตรียมการรับมือที่ดี ใช้คนให้ถูกกับงาน มีภาวะผู้นำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลบ่าลงมาต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่เกิดขึ้นปุบปับแบบปัจจุบันทันด่วน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี แต่เท่าที่เป็นอยู่มันก็ฟ้องให้เห็นตำตาอยู่แล้ว!!