xs
xsm
sm
md
lg

รมต.วิทย์ให้ภาคอุตสาหกรรมกำหนดโจทย์วิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี
รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์บอกภาคอุตสาหกรรมอยากได้งานวิจัยแบบไหนให้บอก อยากได้เทคโนโลยีอะไรให้แจ้งรายละเอียดการลงทุนและคู่แข่ง เพื่อประเมินได้ว่าจะใช้เทคโนโลยีระดับไหน ด้านสภาอุตสาหกรรมอยากให้ช่วยเหลือเรื่องลดหย่อนภาษีจากการวิจัยและสะสมการลดหย่อนไว้ได้ 3-5 ปี

คณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ารเยี่ยม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 23 ก.ย.54 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หลังการเข้าหารือของสภาอุตฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยายาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ เป็นเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม คือการขายสติปัญญา ขายประสิทธิภาพ ดังนั้น เอกชนต้องชี้เป้าหมายว่าต้องการอะไร ต้องการเทคโนโลยีระดับไหน ต้องเป็นคนกำหนดทิศทาง ต้องเป็นคนบอกแนวทางการวิจัย ให้รายละเอียดเรื่องลงทุน

“บอกความหนักแน่นในการลงทุน หน้าตาของการลงทุนว่าอย่างไร เราจะได้รู้ว่าเทคโนโลยีอย่างไหนที่เหมาะสมกับการลงทุนที่เราสามารถทำได้ และใครคู่แข่งของเราบ้าง เพื่อที่เราจะได้สร้างเทคโนโลยีที่เหนือกว่า พูดง่ายๆ คือ โจทย์เรื่องของเทคโนโลยีต้องมาจากภาคเอกชน ฝ่ายผมจะเป็นผู้สร้างและปรุงแต่งให้ ประชาชนและภาคการตลาดจะเป็นผู้ใช้ นี่คือข้อตกลงระหว่างเรากับภาคอุตสาหกรรม” นายปลอดประสพกล่าว

ส่วนเทคโนโลยีกลุ่มไหนที่ภาคอุตสาหกรรมเห็นว่าสำคัญในขณะนี้นั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า มีการพูดถึงเรื่องยางพารา อาหาร พลังงาน และเริ่มพูดถึงการกระจายเทคโนโลยีสู่ภูมิภาคผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานของสินค้า รวมทั้งกระทรวงยังได้ให้สัญญาว่าจะปรับปรุงห้องปฏิบัติการแก่ภาคเอกชน รวมถึงการทำวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแล้วกลับมาปรับปรุงและใช้ใหม่

ทางด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมก่อตั้งมา 44 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2510 โดยมีการรวมกลุ่มของหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมแก๊สและปิโตรเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมยา เป็นต้น และล่าสุดมีกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและเครื่องสำอาง สนใจเข้าร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรม

“การรวมกลุ่มกันนั้นมีความสำคัญเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน และตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมยังจะเสนอข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะเข้มแข็งหรือไม่ขึ้นอยู่กับทิศทางของรัฐบาล และตอนนี้ทางสภาอุตสาหกรรมกำลังนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และกระจายทั่วภูมิภาค” นายพยุงศักดิ์กล่าว

พร้อมกันนี้ นายพยุงศักดิ์ได้ให้ความเห็นแก่ทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงแนวทางที่อยากให้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนคือเรื่องการลดหย่อนภาษีจากการทำวิจัย และอยากให้การลดหย่อนนั้นสะสมไว้ได้ 3-5 ปี รวมถึงส่งเสริมเรื่องการค้นคว้าทางการตลาด นอกจากนี้ทางสภาฯ ยังเห็นว่ามีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

อีกทั้งยังมีเรื่อง “ฟู้ด แอนด์ เฮลท์ วัลเลย์” (Food and Health Valley) ซึ่งเป็นเรื่องการวางโครงสร้างการวิจัยเรื่องอาหารและยา ที่นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า บริษัทเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันทำวิจัย และจะต้องนัดคุยกันอีก และอาจต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
กำลังโหลดความคิดเห็น