xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเก่าอ่วมหนักปิด50โรงงาน-สูญแสนล.เผยน้ำในเขื่อนทั่วปท.วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-พระนครศรีอยุธยาเข้าขั้นวิกฤตหนัก น้ำทุกสารทิศไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรุนแรง น้ำทะลักเข้าท่วม รง.ในนิคมอุตฯสหรัตนนคร เสียหายกว่าแสนล้านบาท พนักงานหนีน้ำกันโกลาหลช่วงกลางดึก ต้องปิดกว่า 50 โรงงาน คาดหยุดยาว 3 เดือน ด้านโบราณสถานและสถานที่สำคัญหลายแห่งจมบาดาลหนักขึ้น ทั้ง"วัดไชยฯ-วัดพนัญเชิงฯ-หมู่บ้านญี่ปุ่น" "รมว.เกษตรฯ" เผยน้ำทุกเขื่อนทั่วประเทศเข้าขั้นวิกฤต คาดพายุ"นาลแก"ถล่มซ้ำทำน้ำเพิ่ม เตือนทุกภาคส่วนรับมือ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า ทุกพื้นที่อยู่ในภาวะวิกฤตหนัก โดยวานนี้ (5 ต.ค.) น้ำทุกพื้นที่ยังคงมีระดับสูงขึ้นและเอ่อล้นเข้าพื้นที่ต่างๆ อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ต.บางพระครู อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.00 น.น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็กในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครได้รับความเสียหายเกือบ 50 โรงงาน หลังจากที่แนวกำแพงกั้นน้ำบางเพลิงแตกทำให้น้ำไหลพุ่งทะลักเข้าท่วมภายในด้านท้ายของนิคมฯ อย่างรุนแรง แม้จะมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกฝ่าย และรถแบ็กโฮ เพื่อกั้นน้ำไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถกั้นน้ำไว้ได้ เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงมากและไหลเข้าทุกทิศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างเกิดเหตุน้ำไหลทะลักอย่างรุนแรงทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงานในนิคมฯต่างตั้งตัวไม่ทัน ได้พากันวิ่งหนีน้ำกันอย่างโกลาหล พนักงานบางคนไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวและรถจักรยานยนต์ออกได้ทัน ส่งผลให้รถจมน้ำได้รับความเสียหายจำนวนหลายสิบคัน

**นิคมฯอุตฯสหรัตนนครจมสูญเสนล้าน

ขณะที่มีพนักงานอีกกว่า 200 คนติดค้างอยู่ในห้องพัก ไม่สามารถหนีน้ำออกมาได้ทัน เนื่องจากช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงกลางคืน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยอยุธยารวมใจกว่า 50 นายต้องนำเรือท้องแบน 5 ลำเข้าไปลำเลียงออกมา ขณะที่บางส่วนยังคงติดอยู่ภายในโรงงาน แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้เรือท้องแบนทะยอยเข้าไปรับออกมาได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน โดยคาดว่า มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ น่าจะมากกว่า 100,000 ล้านบาท

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายโดยเบื้องต้นประเมินว่า มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ กระแสน้ำยังไหลข้ามคันล้อมของเทศบาลเมืองอโยธยา และ อบต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธา เข้าท่วมสถานที่สำคัญในพื้นที่หลายแห่ง อาทิ ทำให้น้ำระดับความสูงกว่า 2-3 เมตร ไล่ถล่มจมสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โบราณสถานกลุ่มวัดกุฎีดาว ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวหันตรา ชุมชนใน ต.หันตรา ชุมชนเทศบาลเมืองอโยธยา หมู่บ้านการเคหะพระนครศรีอยุธยา วัดมเหยงค์ ตลาดสี่แยกวัดพระญาติ รวมทั้งเขตเศรษฐกิจริมถนนโรจนะในเขต ต.ไผ่ลิง ซึ่งมีร้านค้าตั้งอยู่จำนวนมาก

นอกจากนี้ น้ำยังเอ่อท่วมบนถนนโรจนะเส้นทางขาออกอยุธยา ตั้งแต่แยกวงเวียนกลางถนนถึงสี่แยกวัดพระญาติ โดยน้ำยังคงท่วมขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

**รอบ "วัดไชยฯ"มรดกโลก ยังอ่วม

ส่วนระดับน้ำด้านหลังวัดไชยวัฒนารามสูงขึ้นจนเข้าท่วมโรงไม้ซุ้มคงศรีหมู่ 13 ต.ปากกราน อ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งบ้านน๊อคดาวน์จำนวนมากลอยน้ำ คนงานจำนวนมากต้องลอยคอเกาะไม้เพื่อนำไม้ออกจากโรงงาน

นายถนัด อุดตะมะ อายุ 39 ปี เจ้าของโรงไม้ดังกล่าว เปิดเผยว่า โกดังเก็บไม้ของตนได้มีการสร้างคันดินสูงกว่า 1.50 เมตรล้อมรอบเนื้อที่กว่า 2 ไร่ จนกระทั่งระดับน้ำที่เอ่อมาจากทางวัดไชยวัฒนาราม ได้พังแนวป้องกันเมื่อช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน ทำให้คนงานที่หลับนอนอยู่ภายในต้องลอยคอออกมาและยังมีไม้จำนวนมากลอยออกมาด้วย ซึ่งจะต้องเก็บไม้เพื่อย้ายไปที่สูงเพื่อไม่ให้ไม้ลอยน้ำไป

ส่วนรอบเกาะเมืองเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งถมคันดินป้องกันน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดยว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา ได้ประชุมประชาชนในเขตที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อยืนยันว่าจะพยายามรักษาเกาะเมืองเอาไว้ให้ได้ และไม่เคยพูดว่าอีกกี่ชั่วโมงน้ำจะทะลัก ซึ่งขณะนี้ป้องกันเต็มที่ ยกเว้นบางชุมชนรอบนอกที่น้ำท่วมหนักแล้ว เช่นชุมชนวังแก้ว ต.ท่าวาสุกรี ชาวบ้านได้ตั้งคันดินล้อม แต่น้ำล้นจนเขื่อนพัง ชาวบ้านต้องลอยเรือนำลูกหลานออกจากหมู่บ้าน

**"วัดพนัญเชิงฯ-หมู่บ้านญี่ปุ่น"จม

ด้าน พ.ต.อ.ศุภากรณ์ จันทราบุตร ผกก.ปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ได้นำกำลังตำรวจกว่า 50 นายเข้าช่วยกันกรอกกระสอบทรายและเสริมคันกั้นน้ำตลอดแนวรอบรั้วที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และป่าสัก ของวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีหลวง่พ่อโต ที่ศักดิ์สิทธิ์และมีนักท่องเที่ยวมากราบไหว้บูชาจำนวนมาก หลังจากที่น้ำได้ทะลักเข้าท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาและปริมาณน้ำยังไหลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้น้ำไหลท่วมในหลายพื้นที่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างหนัก

และเมื่อคืนวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาน้ำยังได้ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านการเคหะแห่งชาติ อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้ชาวบ้านต่างขนย้ายข้าวของหนีน้ำขึ้นมาอยู่บนที่สูงและถนน ส่วนบางคนเก็บของไม่ทันต้องปล่อยให้จมน้ำเพราะไม่รู้จะขนไปเก็บไว้ที่ไหน ขณะเดียวกันน้ำยังได้เริ่มไหลเข้าท่วมถนนโรจนะ และเข้าท่วมตลาดสี่แยกวัดพระญาติ ด้วย

ส่วนหมู่บ้านญี่ปุ่น ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมแล้วทั่วทั้งพื้นที่ ถนนเส้นอยุธยา-บางปะอินสายใน ก็ถูกตัดขาดผู้คนต้องขี่เรือแทนรถบนถนน รถเล็กไม่สมารถผ่านได้ต้องอาศัยรถทหารเข้าไปช่วยรับ-ส่ง

**เรือนจำกลาง-ตลาดน้ำอโยธยาจม

เวลา 17.00 น.น้ำจากเจ้าพระยาและป่าสักยังคงไหลทะลักพังคันดินด้านวัดหันตรา บ้านเกาะ และทะลักเข้าท่วมที่ทำการเทศบาลเมืองอโยธยา ตลาดน้ำอโยธยา ที่มีชื่อเสียงจนจมบาดาลอีกแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา และยังขยายวงกว้างเข้าท่วมชุมชนวัดพญาติการาม ชุมชนวัดกะสังข์ หมู่บ้านเคหะชุมชน (หลังโรงแรมอู่ทอง) ถนนสายโรจนะ ฝั่งขาออกบริเวณวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มสูง 50 ซม.ทำให้จราจรใช้ได้ช่วงทางเดียว

นอกจากนี้ น้ำยังได้ทะลักเข้าท่วมเรือนจำกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบางส่วนด้วย เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องขนสิ่งของและอุปกรณ์ออกจากเรือนจำและคอยเฝ้าสถานการณ์น้ำก่อนที่จะย้ายนักโทษต่อไป

ขณะที่นายณรงค์ ด่านชัยวิโรจน์ นายกเทศบาลเมืองอโยธยา ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เสริมคันดินวางตามแนวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมตลาดแกรนด์ และวางแนวสะพานให้คนเดินเข้าออกตามตรอกซอกซอยได้

ส่วนตลาดน้ำอโยธยา ได้ประกาศให้แม่ค้าที่ขายในตลาดขนย้ายข้าวของออกจนหมดแล้ว ตอนนี้ปิดตลาดชั่วคราว จนกว่าระดับน้ำจะลด

**"อ.ไชโย"อ่างทอง ยังท่วมหนัก

ด้านสถานการน้ำท่วมใน จ.อ่างทอง ยังหนักโดยเฉพาะ ต.ชัยฤทธิ์ ต.ตรีณรงค์,จระเข้ร้อง ต.ชัยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เนื่องจากน้ำได้ตลบหลังมาจาก อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา บ่าท่วมเต็มพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ อ.ไชโย เกินขีดที่จะเสริมคันป้องกันเพราะระดับน้ำท่วมทันทีกว่า 2 เมตร เดินเข้าไปไม่ได้ใช้เรืออย่างเดียว ทำให้ราษฎรเดือดร้อนหลายพันคนเดือนร้อนอย่างหนัก บางหมู่บ้านต้องติดอยู่ภายในขาดการติดต่อเนื่องจากอยู่ห่างจากถนนกว่า 3 กิโลเมตร ประชาชนจำนวนมากต่างอพยพตัวเองและสัตว์เลี้ยงไปอยู่ถนน โดยเฉพาะที่สายเอเชีย

รายงานข่าวจาก ปภ.อุทัยธานี เปิดเผยว่า น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อ่างทอง ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลพวงจากน้ำที่หลากมาจาก จ.นครสวรรค์ ส่งผลต่อสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ประชาชนในพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรังได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ 37 ตำบล 291 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน แล้วกว่า 17,657 ครัวเรือน 53,600 คน

ส่วนพื้นที่วิกฤตอยู่ที่บริเวณ อ.เมือง 5 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าซุง ต.เกาะเทโพ ต.หาดทะนง ต.น้ำซึม ต.สะแกกรัง และเทศบาลเมืองอุทัยธานี ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทั้งนี้ พบว่าผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ยอมอพยพออกจากบ้านเรือน เนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สิน
และตนคงจะจมน้ำตายแน่นอน

**น้ำวังจากเถินทะลักถึงแม่พริก-ลำปางแล้ว

ที่ จ.ลำปางเวลาประมาณ 17.00 น.วานนี้น้ำจากแม่น้ำวังได้ไหลจาก อ.เถิน ถึง อ.แม่พริก จ.ลำปางแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้เร่งประกาศเตือนประชาชนใน 3 ตำบลของ อ.แม่พริก คือ ต.แม่ปุ ต.แม่พริก และ ต.พระบาทวังตวง รวม 10 หมู่บ้าน รวมเกือบ 2,000 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำวังให้รีบเก็บของไว้บนที่สูงเป็นการด่วนเนื่องจากขณะนี้น้ำได้เริ่มไหลเข้าท่วมบางพื้นที่แล้ว

ต่อมานายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ อ.แม่พริก พบว่าน้ำวังไหลล้นเข้าท่วมที่ในบางพื้นที่แล้ว อาทิ วัดต้นธงชัย โรงเรียนต้นธงวิทยา ศูนย์เด็กเล็กปฐมวัยต้นแบบใน ต.แม่ปุ แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งนำเรือท้องแบนออกช่วยเหลือและนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ทั้งนี้ น้ำแม่วังทั้งหมดจะไหลไปถึง อ.สามเงา จ.ตาก ในช่วงดึกของวันเดียวกันนี้ ดังนั้น ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้ริมแม่น้ำวัง พื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตากขอให้เก็บสิ่งของและเตรียมสถานการณ์ไว้ด้วย

**ชาวบ้านขนของหนีน้ำอลหม่าน
หลังเขื่อนภูมิพลเปิดประตูฉุกเฉิน**

ส่วนที่ จ.ตาก หลังจากที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก อั้นไม่ไหว เพราะน้ำเหนือทะลักลงอ่างเก็บน้ำ มากเกือบ 300 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ต้องมีการเปิดประตูฉุกเฉิน ทั้ง 2 บาน ส่งผลให้มีน้ำลงสู่แม่น้ำปิง กว่า 100 ล้าน ลบ.ม.รวมทั้งน้ำจากแม่น้ำวังที่ไหลมาสมทบอีก 58 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำก้อนใหญ่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิง ในพื้นที่ ต.ตากออก ต.สมอโคน อ.บ้านตาก บางแห่งรถเล็กผ่านไม่ได้ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม.-1 ม.ทำให้ชาวบ้าน ต่างต้องย้ายสิ่งของหนีน้ำอลหม่าน คาดว่า ในช่วงเย็นน้ำจำนวนมากจะไหลมาสมทบที่ อ.เมืองตาก และ อ.วังเจ้า

ด้านนายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล เปิดเผยว่า เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เพราะมีน้ำเหนือเข้ามามากผิดปกติ เมื่อระดับอยู่ในจุดที่ต้องเปิดประตูระบายน้ำล้น คือ 97% ของความจุอ่าง ที่ต้องระบายก่อนครบ 100% เนื่องจากต้องเหลือพื้นที่สำรองไว้ 3% โดยก่อนเปิดประตูระบายน้ำล้นก็ได้มีการประสานทั้งฝ่ายปกครอง ป้องกันภัย และ อบต.ตามจุดที่น้ำไหลผ่าน คาดว่า จะระบายออกประมาณ 2 วัน สถานการณ์ก็คงจะคลี่คลาย

**บุรีรัมย์เร่งระบาย 2 อ่างเก็บน้ำ

ที่ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เร่งเปิดประตูระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำสำคัญ 2 แห่งในเขต อ.เมือง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก หลังมีปริมาณน้ำสูงถึง 25.17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 96.7% จากความอ่าง 26 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้ระบายน้ำออกวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ที่มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 108% จากความจุอ่าง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้ระบายน้ำออกวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

เนื่องจากระดับน้ำเกินกักเก็บอยู่ในจุดวิกฤต เกรงว่า หากไม่ทำการพล่องน้ำออก จะส่งผลกระทบทำให้คันดินอ่างเก็บน้ำพังทลาย และอาจจะส่งผลให้เกิดน้ำทะลักไหลท่วมบ้านเรือนราษฎร และนาข้าว ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นวงกว้างได้ ซึ่งการระบายน้ำครั้งนี้น้ำได้เอ่อท่วมขังนาข้าวของเกษตรกร และถนนในเขต ต.บ้านบัว แล้วบางส่วน

จากนั้นน้ำได้ไหลผ่านพื้นที่เสี่ยงภัย ต.กระสังอิสาณ และ ต.บ้านยาง ก่อนจะไหลไปรวมในลำตะโคง อ.บ้านด่าน ก่อนจะไหลไปรวมในลำน้ำมูลที่ อ.แคนดง โดยทางชลประทานได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ชาวบ้าน และเกษตรกรที่อาศัยอยู่ติดทางน้ำไหลผ่านได้ เตรียมรับมือจากภาวะน้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งการปล่อยน้ำครั้งนี้ทางชลประทานได้มีการควบคุมระดับการระบายน้ำ ให้ส่งผลกระทบกับความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุดจนกว่าจะหมดอิทธิพลของพายุฝนที่จะพัดผ่านเข้ามาในช่วงนี้

นายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จะมีการระบายน้ำทั้ง 2 อ่างต่อเนื่องจนกว่าระดับน้ำจะอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางอีก 20 อ่าง จากทั้งจังหวัดมี 22 อ่าง ยังมีความจุที่สามารถรองรับน้ำได้ ยังไม่ส่งผลกระทบกับคันฝายแต่อย่างใด ส่วนทั้ง 2 อ่างจะมีการระบายน้ำต่อเนื่องจนกว่าระดับน้ำจะอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

**ทุกเขื่อนวิกฤต-คาดนาลแกทำน้ำเพิ่ม

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในทุกเขื่อนทั่วประเทศ มีร้อยละ 92% หรือประมาณ 18,200 ลบ.ม.ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีก 6,200 ลบ.ม.

ส่วนความคืบหน้าการซ่อมแซมประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำที่ชำรุดเสียหายอยู่ในขณะนี้โดยเริ่มจากประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าในการใช้กล่องลวดบรรจุหิน หรือ"เกเบี้ยน"เพื่ออุดช่องคันที่ขาดแล้ว 2,863 กล่อง คิดเป็น 39% จากทั้งสิ้น 7,300 กล่อง รวมทั้งขณะนี้ได้ทิ้งหินขนาดใหญ่จำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรเข้าไปเสริมแล้ว

ส่วนการขนย้ายกล่องหินเกเบี้ยนเข้าในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี นั้นต้องประสานขอความร่วมมือกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเต็นท์บริเวณตลอดทางเดิน 5 กิโลเมตร ก่อนจะถึงประตูระบายน้ำเพื่อเปิดทางสัญจรให้มีการลำเลียงก้อนหินด้วยรถบรรทุกเป็นไปด้วยความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มจำนวนเรือสำหรับบรรทุกกล่องเกเบี้ยนเพื่อโยนลงไปอุดช่องที่พังเสียหายเฉลี่ยวันละ 1,000 กล่องรวมถึงการประสานงานกับกองทัพเรือเพื่อใช้เรือเป็นตัวช่วยชะลอความรุนแรงของน้ำเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

คาดว่า การดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 10 วันอย่างแน่นอนเพื่อช่วยไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ในส่วนของ จ.ลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพลฯเพิ่มขึ้นจาก 54 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และการคาดการณ์ของกรมอุตุฯจะมีฝนตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำปางตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ จากอิทธิพลของพายุ"นาลแก"

ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่ จ.นครสรรค์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์จนถึงสัปดาห์หน้า โดยปริมาณจะมากกว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งขณะนี้ทางกรมชลประทานได้ประสานกับทาง จ.นครสวรรค์ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวแล้วและรวมถึง จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย

**อุตุฯเตือนฝนยังตกหนัก 1-2 วันนี้

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศระบุว่า ในช่วงวันที่ 5-8 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่งใน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 1-2 วันนี้ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ อนึ่ง พายุดีเปรสชั่น นาลแก บริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในวันที่ 5 ต.ค. ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนหนักได้บางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค. ร่องมรสุมจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณภาค ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค. ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ใน บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

**โบราณสถานกรุงเก่าเสียหายพันล.

นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำทีมวิศวกรโยธา ของสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เข้าหารือกับสำนักโยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ในการนำแผ่นเหล็กชีสพาย สำหรับป้องกันดินสไลด์ในงานก่อสร้าง เพื่อใช้ปิดช่องกำแพงวัดไชยวัฒนาราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้น้ำจากด้านนอกไหลเข้าไปสมทบ หลังน้ำที่ท่วมทางด้านทิศใต้ได้กัดเซาะกำแพงไป 30 เมตร ขณะเดียวกันได้เข้าไปสำรวจความเสียหายภายในหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งพบว่า น้ำได้ไหลเข้าท่วมหลุมฝังโครงกระดูกทั้งหมดแล้ว โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำโครงกระดูกในหลุมขุดค้นมาไว้ที่สำนักอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้ว

สำหรับความเสียหายของโบราณสถานขณะนี้ ได้รับรายงานว่า มีโบราณสถานเสียหายแล้วกว่า 60 แห่ง อยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 20 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในเกาะเมือง

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้ประมาณการความเสียหายของโบราณสถานทั้งหมดไว้กว่า 1,000 ล้านบาท และในวันนี้ (6 ต.ค.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม จะนำเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรไปตรวจสอบความเสียหายของพระธาตุหมื่นครื้นและพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย

**กนอ.คาดนิคมฯกรุงเก่าเสียหาย 3 หมื่นล.

นายนราพจน์ ทิวถนอม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ครั้งนี้ ทำให้โรงงานทั้งหมดภายในนิคมฯดังกล่าวต้องปิดทำการไปทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และคาดว่าจะหยุดนาน 3 เดือนส่วนคนงานกว่า 1.6 หมื่นคนก็คงลอยเคว้ง

นายนราพจน์ ยังประเมินความเสียหายเบื้องต้นของโรงงานในนิคมฯสหรัตนนครทุกแห่งที่ถูกน้ำท่วม ทั้งตัวโรงงาน เครื่องจักรและวัตถุดิบ อาจสูงถึงประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท รวมค่าเสียเวลาและค่าเสียโอกาสในข่วง 3 เดือนที่หยุดไปด้วย ขณะที่มีจำนวนคนงานในนิคมฯประมาณ 16,000 หมื่นคน

“น้ำท่วมอย่างนี้คงทำอะไรไม่ได้ คิดว่าคงหยุดยาวประมาณ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าน้ำลดได้เร็วแค่ไหน ปีที่แล้วเราก็เจอ เราเอาอยู่ แต่ปีนี้ไม่ไหวจริงๆ น้ำมาทุกทิศทางเราต้องปิดโรงงานไปก่อน น้ำท่วม 1 เมตรกว่า เครื่องจักรเสียหายมาก”

ด้านนายพากร วังศิราบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ได้ก่อความเสียหายจนต้องปิดโรงงานไปแล้วกว่า 50 แห่งในบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าวและโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งทำเรือขนส่งสินค้าตลอดแนวแม่น้ำ ล่าสุดได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท ในการทำแนวป้องกันน้ำท่วม

“น้ำท่วมครั้งนี้นับได้ว่าร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี สถานการณ์ล่าสุดน้ำเหนือยังคงไหลบ่าลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากอยุธยาเป็นจุดรวมของแม่น้ำหลัก 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี รองรับน้ำจากภาคเหนือ”

**1,588 วัดจมน้ำ พระ-เณรเดือดร้อนหนัก

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ได้สรุปจำนวนวัดที่พักสงฆ์ และพระภิกษุ สามเณรที่ประสบอุทักภัยจนถึงปัจจุบัน ภาคเหนือ 8 จังหวัด 460 วัด พระภิกษุสามเณรเดือดร้อน 4,426 รูป ภาคตะวันออก 3 จังหวัด 122 วัด พระภิกษุสามเณรเดือดร้อน 1,488 รูป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 164 วัด พระภิกษุสามเณรเดือดร้อน 1,125 รูป ภาคกลาง 10 จังหวัด 842 วัด พระภิกษุสามเณรเดือดร้อน 9,679 รูป รวมทั่วประเทศทั้งสิ้น 29 จังหวัด 1,588 วัด มีพระภิกษุสามเณรเดือดร้อน 16,718 รูป

ขณะนี้ตนได้กำชับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่มีวัดประสบปัญหาน้ำท่วม จะต้องประสานกับคณะสงฆ์ในพื้นที่ตลอดเวลาดูแลเรื่องการขาดแคลนภัตตาหาร ความเป็นอยู่ หากไม่สามารถพักอาศัยในวัดได้จำเป็นต้องนิมนต์พระเณรให้ย้ายไปอยู่วัดที่มั่นคงถาวรก่อน และไม่อยากให้เกิดภาพที่พระเณรมาฉันอาหารกลางถนนอีก ส่วนทรัพย์สินสำคัญของวัดนั้นก็ให้ย้ายออกมาด้วย แล้วประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลความปลอดภัยของวัดแทน

ทั้งนี้ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์ ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะสงฆ์ภาค 2 ร่วมรับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า และยารักษาโรค แก่ผู้ประสบอุทกภัยในวันที่ 6 ต.ค.ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง หากต้องการร่วมบริจาคสิ่งของหรือบริจาคเป็นจตุปัจจัยได้ที่ธรรมวิจัย มจรวังน้อย และธรรมวิจัย มจร วัดมหาธาตุ โทร 0-2222-2835, 035-248-000

**สื่อนอกเผยส่ง'ถุงยาง'แจกชาวบ้านน้ำท่วม

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประเทศไทยซึ่งกำลังเร่งรีบส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์โดยทางอากาศ ไปให้แก่เหยื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีนั้น หนึ่งในสิ่งของช่วยเหลือด้านสุขภาพเหล่านี้ก็คือ ถุงยางอนามัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์อย่างไม่มีการวางแผน เพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างสูงลิ่ว

เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวานนี้(5 ต.ค.) เฮลิคอปเตอร์จำนวน 5 ลำ ได้เริ่มลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข ไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยตามสถานที่ต่างๆ รวม 7 จุดในจังหวัดลพบุรี ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงมาก โดยที่หนึ่งในข้าวของทางการแพทย์ที่ส่งไป ก็คือ ถุงยางอนามัย

สำนักข่าวแห่งนี้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่กล่าวว่า “พวกอาสาสมัครในท้องถิ่นแจ้งกับทางเราว่า ชาวบ้านนั้นไม่มีอะไรทำในระหว่างที่เกิดน้ำท่วม ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมีลูกกันมากๆ เราก็เลยเพิ่มถุงยางอนามัยเข้าไปด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น