xs
xsm
sm
md
lg

แฉ!ขรก.พิจิตรหนีเที่ยวทิ้งชาวบ้านผจญน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ราชินี"พระราชทานชุดธารน้ำใจช่วยผู้ประสบอุทกภัยสิงห์บุรี "อธิบดีกรมชลฯ" เผยเขื่อน-อ่างเก็บน้ำหลายแห่งส่อเค้าวิกฤต หวั่นคันกั้นน้ำทั้งชนิดถาวรและคันดินแตก เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่มีน้ำสูงเป็นเวลานานดูแลด่วน ขณะที่พระ-ชาวบ้านเดือดร้อนหนักหลังน้ำท่วมยาว แฉ ขรก.ชั้นผู้ใหญ่ทั่วเมืองชาละวันหนีเที่ยวคณะ 30 ชีวิตทัวร์“บาหลี”ทิ้งชาวบ้านเมืองพิจิตรผจญน้ำท่วมตามลำพัง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทานพร้อมน้ำดื่ม จำนวน 1,000 ชุด มอบให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ ต.ท่างาม หมู่ที่ 1-9 อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นำความปราบปลื้มใจให้กับราษฎรชาว ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรีอย่างยิ่ง ในพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้

สำหรับ จ.สิงห์บุรี สถานการณ์น้ำได้เอ่อท่วมในเขต อ.เมือง และ อ.อินทร์บุรี เป็นบริเวณกว้าง จาก 3 อำเภอเป็น 4 อำเภอแล้วในขณะเดียวกันชุมชนตลาดปากบาง อ.พรหมบุรีอน้ำได้ไหลทะลักพังแนวกั้นน้ำเข้าตลาดย่านเศรษฐกิจแล้ว ส่วนที่ประตูระบายน้ำบ้านบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรีอขณะนี้ถนนบริเวณคอสะพานประตูระบายน้ำได้ขาดเป็นแนวยาว ทำให้น้ำไหลทะลักอย่างแรง ซึ่งจะทำให้พื้นที่นาข้าวของเกษตรกรใน ต.ทองเอน ต.โพธิ์ชัย และ ต.หัวไผ่ ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

**18-20ก.ย.น้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสูง

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยผู้แทนจากกรมชลประทานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมมในขณะนี้ ว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้มีปริมาณ 3,354 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนในวันที่ 18-20 ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดอยู่ที่ 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ น้ำจะเข้าสู่กลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำตอนล่างภายใน 4-5 วันนี้ และคาดว่าน้ำจะถึง กทม.ในต้นสัปดาห์หน้า โดยระดับน้ำจะทรงตัวอยู่ที่ 1 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 17-30 ก.ย.นี้จะเป็นช่วงเดียวกับที่ระดับน้ำจะสูงขึ้น ดังนั้น ระดับน้ำที่น่าเป็นห่วงจึงเป็นช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝนด้วย

**เผยสถานการณ์น้ำหลายพื้นที่น่าห่วง

ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ด้วยว่า หลายพื้นที่ยังมีปริมาณน้ำน่ากังวล เนื่องจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีฝนตกลงมามาก จึงต้องเร่งปล่อยน้ำออกจากเขื่อน โดยไม่ให้ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำ ได้สลับการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เป็นหลัก

ส่วนภาคกลางตอนล่างสลับการปล่อยน้ำระหว่างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คาดว่า ช่วงที่ฝนทิ้งช่วงจะช่วยให้การระบายน้ำทำได้เป็นระลอก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ คันกั้นน้ำ ทั้งชนิดถาวร และคันดิน โดยเฉพาะจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่มีน้ำสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หากพังลงมาจะทำให้พื้นที่หลังคันกั้นน้ำได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงฝากให้ผู้รับผิดชอบดูแลด้วย

**อ่าง 4 แห่งเพชรบูรณ์น้ำเกินเก็บกัก

ส่วนในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ น้ำเริ่มขยายวงกว้างหลังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ล่าสุด ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บกักน้ำของกรมชลประทานทั้ง 4 แห่งมีระดับสูงเกินกว่าปริมาณเก็บกัก ทำให้ล้นออกทางช่องระบายฉุกเฉิน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องเร่งปล่อยน้ำออกทางประตูน้ำช่วยบางส่วน เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำภายในอ่าง

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมรับปริมาณน้ำฝนที่ยังตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำในแม่น้ำป่าสักได้เอ่อทะลักออกจากตลิ่ง ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำในหลายอำเภอ โดยเฉพาะเทศบาลเมืองหล่มสัก ถึงกับจมน้ำเป็นรอบที่ 4 แล้ว โดยระดับน้ำท่วมสูงถึง 50-80 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และพื้นที่โดยรอบ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก และน้ำที่ถูกระบายออกจากอ่างป่าแดง ทำให้พื้นที่ชุมชนใกล้แม่น้ำตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมเช่นกัน

**"อ่างห้วยหลวง"อุดรฯน้ำเกินกักเก็บ

ที่ จ.อุดรธานี ภายหลังจากเกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณรอบพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.อุดรธานี วัดปริมาณน้ำฝนได้ 60.7 มม.ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปกติปริมาณเก็บกักอยู่ที่ 118 ล้าน ลบ.ม.เพิ่มเป็น 134 ล้าน ลบ.ม.ทำให้โครงการชลประทานอุดรธานี ตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติที่เปิดประตูระบายน้ำ 30 ซม.เพิ่มขึ้นเป็น 70 ซม.หรือระบายน้ำออก 7.8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำห้วยหลวง ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้วเอ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว และการเกษตรของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง ตลอดสองฝั่งลำห้วยฯตั้งแต่บริเวณบ้านหัวขัว อ.กุดจับ อ.เมือง อ.เพ็ญ อ.พิบูลย์รักษ์ และ อ.สร้างคอม

ต่อมาเวลา 13.30 น.นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นการด่วน โดยนายคมสัน กล่าวในที่ประชุมว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่เอ่อท่วม ทั้งบ้านเรือน ไร่นา และพื้นที่ทำการเกษตรกรรมต่างๆ โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อรับแจ้งปัญหาจากน้ำท่วม พร้อมตลอด 24 ชม.และสามารถออกปฎิบัติงานได้ทันที

**บิ๊กขรก.พิจิตรหนีเที่ยวไม่ดูแลน้ำท่วม

ที่ จ.พิจิตร มีรายงานข่าวว่า ขณะที่นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยอมรับว่า ในพื้นที่ จ.พิจิตรถูกน้ำท่วมแล้ว 12 อำเภอ 79 ตำบล 644 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 38,277 ครัวเรือน คนตกน้ำเสียชีวิตแล้ว 24 ราย ต้องขอกำลังทหารจากจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ให้เข้ามาช่วยเหลืออพยพขนย้ายสิ่งของกันวุ่น หลายหน่วยงานทั้งมูลนิธิและธารน้ำใจได้หลั่งไหลมาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ชาวบ้านในเขต อ.ตะพานหิน ยังได้รับความเดือดร้อนเพิ่มหลังน้ำจากแม่น้ำน่านก็พัดแนวกระสอบทรายกั้นริมแม่น้ำพัง ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วม 4 ตำบลได้แก่ ต.บางไผ่ ต.คลองคูณ ต.วังหว้า ต.วังสำโรง ชาวบ้านที่เดือดร้อนกว่า 7-8 พันครัวเรือน คนในเขตเทศบาลที่เป็นชุมชนเมืองและราษฎรจากพื้นที่รอบนอกต่างต้องการความช่วยเหลือและงบประมาณเพื่อมาเยียวยาเป็นการเร่งด่วน

แต่ปรากฏว่า ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลายอำเภอกลับเดินทางไปบาหลีก ร่วมกับคณะของปลัดจังหวัดฯ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของอำเภอตะพานหิน, อำเภอเมืองพิจิตร, ข้าราชการในสำนักงานจังหวัด, ท้องถิ่นจังหวัดฯ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับ 8 อีกหลายคน รวมทั้งหมด 30 คนด้วยกันโดยมีกำหนดกลับวันที่ 18 ก.ย.นี้โดยมีนายกเหล่ากาชาดฯ เป็นหัวหน้าคณะ

โดยมีการนัดเจอกันที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาเวลา 06.00 น.ชั้น 4 เคาน์เตอร์กรุ๊ปสายการบินไทยแถว D ประตู 2 จากนั้น 08.00 น.ได้ออกบินด้วยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ TG433 สู่จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย (6วัน5คืน) โดยเก็บค่าตั๋วเครื่องบินจากลูกทัวร์ที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการคนละ 40,000 บาท แม้ในความเป็นจริงค่าตั๋วเครื่องบินทัวร์บาหลีครั้งนี้เพียงแค่ตนละ 27,000 บาทเท่านั้นแต่ที่ต้องเก็บสูงถึง 40,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จ.พิจิตร ตอนนี้ถูกน้ำท่วม 644 หมู่บ้าน จากที่มี 888 หมู่บ้าน ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เรียกได้ว่าถูกน้ำท่วมมากกว่า 75% ชาวบ้านเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัยและไร่-นา ผู้คนภายนอกจากทั่วสารทิศไม่ว่าจะเป็นทหารหรือองค์กรต่างๆต่างตื่นตัวนำสิ่งของมาช่วยเหลือไม่ขาด รวมถึงถุงยังชีพพระราชทานที่แม้อยู่ไกล แต่ก็มาถึงมือของชาวบ้านก่อนเสมอ

ตรงกันข้ามถุงยังชีพของ จ.พิจิตร กลับมีปัญหาเรื่องการทุจริตใช้งบ 500 บาท แต่จัดซื้อจริงแค่ 300-350 บาทจนมีเสียงร่ำลือว่าผู้มีอำนาจขอค่าอนุมัติงบประมาณถุงละ 75 บาท จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธกันชุนละมุน

**พระอุบลฯเดือดร้อนไม่มีอาหารฉัน

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี หนักขึ้นทุกวัน ล่าสุดฝนยังตกหนักในพื้นที่ อ.โขงเจียม ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมสะพานและถนนทางเข้าหมู่บ้านใน ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ต้องเร่งนำความช่วยเหลือไปให้ชาวบ้าน 151 ครอบครัว ถนนถูกตัดขาดมานาน 3 วัน ส่วนทหารจาก นพค.56 ได้ระดมกำลังเร่งนำกระสอบทรายกั้นน้ำมูลเพื่อไม่ให้ไหลท่วมพื้นที่เกษตรกรรม

ขณะที่พระก็เดือดร้อนหนัก เนื่องจากไม่มีญาติโยมมาถวายเพล เพราะวัดถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่อาหารฉัน ซึ่งพระนรินทร์ ฐิตะธัมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งใน อ.โขงเจียม กล่าวว่า ยังต้องจำพรรษาอยู่ในวัด เพราะเป็นช่วงเข้าพรรษา ส่วนการออกบิณฑบาตต้องนั่งเรือไปรับบาตรจากประชาชนที่อพยพไปอยู่ในศูนย์อพยพ แต่ช่วงฉันเพลไม่มีประชาชนมาถวายอาหาร เนื่องจากวัดถูกน้ำท่วมเดินทางเข้ามาไม่ได้ ส่วนการช่วยเหลือขณะนี้ตั้งแต่วัดถูกน้ำท่วมก็ได้มีหน่วยงานทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 นำถุงยังชีพมาแจกจ่ายให้กับทางวัด ส่วนสิ่งของที่ต้องการก็ขอให้พิจารณากันเองจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่มก็ได้ เนื่องจากไม่สามารถที่จะอกไปบิณฑบาตได้

**ศอส.สรุปน้ำท่วมยังวิกฤต23จังหวัด

นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัดได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ยโสธร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี และตาก รวม 105 อำเภอ 680 ตำบล 3,847 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 240,208 ครัวเรือน 763,150 คน ผู้เสียชีวิต 83 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตร 3,417,794 ไร่

สำหรับสถานการณ์น้ำในทุกลุ่มน้ำยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งอยู่แล้วระดับน้ำที่ท่วมจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,434 ลบ.ม./วินาที และผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,266 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายชนม์ชื่น กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำพบว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางพื้นที่ภาคเหนือบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำปิงและลำน้ำสาขาในเขต จ.กำแพงเพชร มีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 3,800-3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ ซึ่งทำให้ระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร

นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดในเกณฑ์ประมาณ 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย.ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาในเขต จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม.มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10-15 เซนติเมตรต่อเนื่องหลายวัน โดยจะมีระดับน้ำสูงใกล้เคียงกับปี 53 ที่ผ่านมา

จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม.เสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับปี 53 รวมทั้งให้ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น