xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"สอบตก!น้ำท่วม โพลชี้สองมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าาวภูมิภาค - เอแบคโพลล์เปิดผลสำรวจประชาชน"รัฐบาลยิ่งลักษณ์"สอบตก พบแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แย่ลงทุกวัน อัดรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ 2 มาตรฐานช่วยเหลือไม่ทั่วถึง กลุ่มเครือญาติ-ฐานเสียงนักการเมือง-คนอยู่ริมถนนใหญ่ได้รับบริจาคแต่ของดี “สวนดุสิตโพล”ถล่มซ้ำ รบ.ปูแดงคะแนนตก "ปู"ลงพื้นที่ดูการซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี คาด 15 วันซ่อมเสร็จ ปชป.อนาถ!ปูชวนคนไทยปลูก"หญ้าแพรก"ป้องกันน้ำท่วม ให้ฉายา "ปูแตหลู"

วานนี้ (2 ต.ค.) ที่ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยนายนพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนจากคนที่เป็นทุกข์เหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 8 จังหวัดของประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า พบตัวอย่างประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมีอยู่ร้อยละ 16.6 และกลุ่มที่ประสบภัยน้ำท่วมเกือบทุกปีมีอยู่ร้อยละ 18.8 ในขณะที่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นบางปีมีอยู่ร้อยละ 44.4 และไม่เคยท่วมแต่เพิ่งจะท่วมปีนี้มีอยู่ร้อยละ 20.2

ที่น่าพิจารณาคือตัวอย่างร้อยละ 51.1 ระบุได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ แล้ว แต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด ในขณะที่เพียงร้อยละ 16.7 ระบุได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเกือบ 1 ใน 3หรือร้อยละ 32.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย

เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างจากถนนหลัก พบแตกต่างกันของการได้รับความช่วยเหลือระหว่างประชาชนที่พักอาศัยติดถนนหลัก กับประชาชนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลัก โดยพบสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่มีบ้านติดถนนหลักเพียงร้อยละ 24.8 และคนที่อยู่ห่างไกลจากถนนหลักเพียงร้อยละ 10.7 ได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอจนถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ กลุ่มคนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลักร้อยละ 54.1 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด และร้อยละ 35.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงระดับความทุกข์จากภัยพิบัติน้ำท่วมพบว่า เมื่อค่าสูงสุดอยู่ที่ 10 คะแนน ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติโดยภาพรวมมีความทุกข์ระดับมากเกือบทุกข์มากที่สุด คืออยู่ที่ 7.99 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักก็มีระดับความทุกข์มากคือ 7.04 คะแนน แต่คนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักมีความทุกข์สูงถึง 8.59 คะแนน

**อัดรัฐบาลปู 2 มาตรฐานแก้น้ำท่วม

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมมี 2 ประเภทคือความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ โดยทุกข์ทางกายที่จับต้องได้ ได้แก่มีอาหารและน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ขาดยารักษาโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพเจ็บไข้ได้ป่วย ปัญหาการขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ทรัพย์สินสูญหาย ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และบ้านเรือนสิ่งของเครื่องใช้ชำรุด เป็นต้น และทุกข์ทางจิตใจ ได้แก่ ความเครียด การถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติและรู้สึกหมดหวังเคว้งคว้างหลังน้ำลด เป็นต้น

ยังพบสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ระบุว่าการช่วยเหลือของทางรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่ทั่วถึง กลุ่มเครือญาติและฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่นแกนนำชุมชนและคนที่อยู่ริมถนนใหญ่ได้รับของบริจาคทั้งจำนวนที่มากกว่าและคุณภาพดีกว่าโดยพวกแกนนำชุมชนจะมีโอกาสคัดเลือกของดีๆ เอาไว้ก่อน และยังมีการเวียนเทียนได้แล้วได้อีก เป็นต้น ประชาชนที่เป็นทุกข์เหล่านี้ส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและนักการเมืองในถ้อยคำที่สอดคล้องกันว่า อยากให้มาเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่มายกมือไหว้พวกเราถึงหน้าบ้าน ตอนนี้พวกเราทุกข์ที่บ้านทำไมมาได้แค่กางเต้นท์แล้วให้พวกเราออกไปหา

"บางคนบอกว่า ถ้ามาเคาะประตูไม่ได้ก็ให้ช่วยส่งคนมาขนพวกเราไปเหมือนตอนขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้ง บางคนแย้งว่ามีการขนคนไปเหมือนกันแต่ไม่ได้แวะรับพวกเราไปทำให้พวกเรารู้สึกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติช่วยกลุ่มฐานเสียง หรือคนที่ใกล้ชิดพวกเขาก่อน และการช่วยเหลือก็มักจะไปเน้นกันตรงพื้นที่ที่เป็นข่าวใหญ่มากกว่า"

**เหยื่อน้ำท่วมให้คะแนนรัฐบาลปูสอบตก

เมื่อขอให้ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมประเมินความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบว่า เมื่อคะแนนความพอใจเต็ม 10 คะแนน ประชาชนประเมินความพอใจให้เพียง 4.67 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักให้ 4.76 คะแนนสูงกว่าคนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักที่ให้เพียง 4.52 คะแนน ถ้านำผลประเมินความพอใจของคนทั่วไปในประเทศเมื่อประมาณสองสัปดาห์ 5.80 คะแนนมาพิจารณา ก็จะพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพราะความพอใจของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้อยู่ที่ 4.67 เท่านั้น

จากข้อมูลที่ค้นพบนี้มีนัยทางสังคมและการเมืองที่น่าพิจารณาคือ ชาวบ้านรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติของมาตรการช่วยเหลือป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไขมีอย่างน้อยห้าประการ ได้แก่

ประการแรก ต้องทำให้ชาวบ้านเกิดความวางใจหรือ TRUST ว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะภัยพิบัติน้ำท่วมจะยังคงเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกในอนาคต

ประการที่สองรัฐบาลน่าจะใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคและท้องถิ่นออกทำสำมะโนประชากรในพื้นที่ภัยพิบัติแจงนับมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนสอดคล้องกับความเป็นจริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติมีหน่วยงานสถิติจังหวัดและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลและการสำรวจเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม

**พบพิรุธส่อทุจริตคอรัปชั่นการช่วยเหลือ

ประการที่สาม ในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซากน่าจะมีการกระจายความเสี่ยงภาระของรัฐบาลไปยังภาคเอกชนด้วยโครงการศึกษาพื้นที่นำร่องให้บริษัท ประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยง และน่าจะมีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางรายว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก เพื่อจะได้งบประมาณภัยพิบัติมาใช้ในพื้นที่หรือไม่ ในขณะที่กลุ่มนายทุนผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทานขนาดใหญ่จากรัฐหรือมีผลกำไรจากสินค้ามวลชนน่าจะใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมแสดงความรับผิดชอบทางสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR)ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับรัฐบาลอย่างจริงจังไม่ใช่แค่แผนการตลาดโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว

ประการที่สี่ ในขณะที่มีความเคลือบแคลงสงสัยปัญหาทุจริตคอรัปชั่นการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ เวลานี้ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นน่าจะประกาศรายรับรายจ่าย การบริจาคสิ่งของต่างๆ ได้ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปแล้วเท่าไหร่อย่างไรโดยแจกแจงให้สาธารณชนทั้งประเทศและประชาชนในท้องถิ่นที่ประสบภัยพิบัติรับทราบอย่างทั่วถึง เพราะหากเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อีกในอนาคตคนที่ให้จะได้มั่นใจและคนที่จะได้รับก็จะได้วางใจในความช่วยเหลือต่างๆ เช่นกันเพื่อป้องกันความตื่นตระหนกหรือ PANIC ได้

**อัด"รมต."ทำตัวไม่เหมือนตอนหาเสียง

ประการที่ห้า รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดน่าจะเข้าถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักแบบเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียง หรือมีวิธีตรวจสอบว่าการช่วยเหลือครอบคลุมไม่มีชาวบ้านตกสำรวจและประกาศให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจต่อแนวทางช่วยเหลือในสามระยะได้แก่ ระยะสั้นขณะน้ำท่วม ระยะที่สองภายหลังน้ำลด และระยะยาว เช่น ปัญหาสุขภาพ การเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย การประกอบอาชีพ เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ และแนวทางขุดลอกคลองที่จะป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เป็นต้น เพื่อทำให้ “หน้าจอกับหน้าบ้าน”ของประชาชนเหมือนกัน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเกิดความพอใจและวางใจต่อการทำงานของรัฐบาลได้

เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 8 จังหวัดของประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,083 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม

**"ดุสิตโพล"เผยคะแนนรัฐบาล-สอบตก

ด้านส่วนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ ดัชนีการเมืองไทยเดือนกันยายน 2554 พบว่า ประชาชนให้คะแนนภาพรวมรัฐบาลผ่าน ที่ 5.24 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดยสถานการณ์น้ำท่วมเป็นตัวฉุดดัชนี ทำให้ผลงานของรัฐบาลมีคะแนนลดลง แต่ยังคงให้คะแนนผลงานนายรัฐมนตรีมาเป็นอันดับ 1 ที่ 6.05 คะแนน แต่ลดลงจากเดือนที่แล้ว

ขณะที่การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ 5.58 คะแนน สภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้ 5.29 คะแนน แก้ปัญหายาเสพติดได้ 5.16 คะแนน โดยมีคะแนนการแก้ไขราคาสินค้าตก โดยได้คะแนนเพียง 4.89 คะแนน แก้ปัญหาความยากจน ได้ 4.56 คะแนน และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้เพียง 4.48 คะแนน

**ท่าวุ้งวิกฤตหนัก-อัดกรมชลประทานแย่

ทางด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่ และ อ.เมือง จ.ลพบุรี ก็ยังคงวิกฤตหนักหลังได้รับผลกระทบจากกรณีที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ได้พังทลายลงมา โดยจากการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนหลายหมู่บ้านใน ต.บางงา อ.ท่าวุ้ง ซึ่งมีระดับน้ำสูงถึง 5 เมตรและบ้านชั้นเดียวจมอยู่ใต้บาดาลนานนับเดือนแล้ว ขณะที่น้ำเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็นอย่างหนัก

จากการสอบถามนายณัฐวุฒิ เสือจร ชาวบ้านบางงา ที่พายเรือออกจากหมู่บ้านเพื่อมารับข้าวกล่องกับพี่ชายด้วยความอยากลำบาก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี โดยเร็วที่สุด เนื่องจากชาวบ้านเดือดร้อน พร้อมกล่าวด้วยว่า อยากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือในหมู่บ้านนั้นเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง เนื่องจากพบว่าในระดับตำบลและในเขตมีการติดขัดเรื่องของการติดต่อประสานงาน และแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนในหมู่บ้าน จึงอยากให้มีการสำรวจและดูแลประชาชน เนื่องจากในเวลานี้ชาวบ้านทุกคนควรรักและสามัคคีกันมากกว่าที่จะมีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับการทำงานของภาครัฐที่ล่าช้า โดยเฉพาะกรมชลประทาน โดยตำหนิว่า ถ้ากรมชลฯ ปิดกั้นประตูน้ำบางโฉมศรีตั้งแต่วันที่แตกน้ำคงไหลบ่าท่วมอย่างบ้าคลั่งทุกวันนี้ ทำให้บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวก็มี บางคนนั่งร้องไห้มองดูน้ำที่หลากไหล แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้คงปล่อยให้น้ำท่วมทรัพย์สินจนไม่มีทางแก้ไข

ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาถมให้ประตูน้ำบางโฉมศรี ชะลอความเร็วของน้ำได้กองเอาไว้ริมถนนสายเอซียจำนวนมากทั้งตะแกรงเหล็ก ทั้งหินเขื่อนขนาดใหญ่ กองเรียงรายบนถนนสายเอเชียตัดกับแยกทางไป อ.ตากฟ้า มีแต่กองหินเขื่อนและการขนหินใส่ตะแกรง มีทั้งทหารและคนงานของกรมชลประทานที่เข้ามาช่วยกัน โดยนำหินเขื่อนใส่ตะแกรงเหล็กที่ตัดไว้ความยาวและกว้าง ประมาณ 1 คิว โดยต้องขนเข้าไปที่ประตูน้ำบางโฉมศรี ระยะทาง 5-6 กม.และทางเข้าออกลำบาก

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย และคณะ ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการปิดช่องขาดบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยมีนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานแผนการปฏิบัติให้ทราบ ท่ามกลางกลุ่มชาวบ้านจาก จ.ลพบุรีกว่า 100 คน ที่มาปักหลักชุมนุมตั้งแต่เช้าเพื่อรอยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ นายกฯระบุว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเครื่องผลักดันน้ำและให้สำรวจว่ายังมีจุดใดบ้างที่ต้องเร่งผลักดันน้ำเพิ่มเติมและยังขาดอุปกรณ์ในการผลักดันน้ำหรือไม่ ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับผิดชอบเรื่องเรือผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย โดยได้สั่งการให้สำรวจจำนวนเรือและจุดอื่นๆ เพื่อทำการผันน้ำเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลการขุดลอกคลองร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเพื่อให้ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น

นายกฯกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เบื้องต้นจะใช้แนวทางของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการอยู่ คือ การใส่กล่องหินเสริมแนวกั้นเพื่อเป็นการชะลอน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้และจะเร่งดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมาอาจจะเสร็จก่อนกำหนด 15 วัน

นอกจากนี้ ยังจะดูในเรื่องของการอพยพประชาชนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อให้การขนอุปกรณ์ในการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

**สั่งขอเรือรบ“กองทัพเรือ”ชะลอน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในเวลาต่อมาอีกว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เชื่อว่าน่าจะมีทางออกในการแก้ปัญหาเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานความร่วมมือกับผู้ว่าฯชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี ในการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเส้นทางจราจรในการใช้ขนย้ายหินไปชะลอน้ำที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี รวมถึงการอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย เนื่องจากการขนย้ายหินอาจเกิดมลภาวะ

นอกจากนี้ นายกฯยังประสานเพิ่มเติมไปยังกองทัพเรือให้นำเรือมาช่วยชะลอการไหลของน้ำ รวมถึงสั่งการไปยัง รมว.ทรัพย์ฯ ให้นำจุลินทรีย์ไปหย่อนในพื้นที่น้ำท่วมขัง และเริ่มเน่าเหม็นโดยเฉพาะที่ จ.ลพบุรี โดยให้ดำเนินการทันที ขณะที่ รมว.ทรัพย์ฯรับทราบคำสั่งและเตรียมพร้อมเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงฯไว้ 3 ลำในการดำเนินการ

นายกฯ ยังได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ก็ยอมรับว่า เมื่อมีการแก้ปัญหาที่จังหวัดหนึ่งก็จะกระทบกับอีกจังหวัดหนึ่ง จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เห็นใจซึ่งกันและกัน และจะเร่งแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่า จะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

**สธ.ส่งยารักษาโรคลงพื้นที่น้ำท่วมเพิ่ม

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจนถึงวันนี้ยังมีผู้ประสบภัย 23 จังหวัด มีผู้เจ็บป่วย 4 แสนกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยารักษาโรคเบื้องต้นลงพื้นที่แจกผู้ประสบภัยแล้วรวมกว่า 1.4 ล้านชุด และในวันนี้ได้ส่งเพิ่มอีก 41,000 ชุด และสำรองยาไว้ในส่วนกลางอีก 5 แสนชุด

**ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจรับมือพายุนาลเกได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมด้วยผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียน ท่าราชวรดิษฐ์ ท่าช้าง ซึ่งพบว่ามีน้ำเอ่อท่วมขังบางจุด บริเวณท่าเรือ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในโบราณสถานของเกาะรัตนโกสินทร์ ค่อนข้างลำบาก พร้อมกล่าวยืนยันว่า แม้ว่าขณะนี้ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นแต่เชื่อว่าทาง กทม.จะสามารถรับมือได้ และมั่นใจว่าในช่วงที่อิทธิพลพายุนาลแกที่จะเข้าประเทศไทยในระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ก็เชื่อว่า กทม.จะสามารถรับมือได้เช่นกัน

**"บิ๊กจิ๋ว"อัดซ้ำนายกฯปูไล่ตามปัญหา

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐมนตรีไปนอนกับชาวบ้าน ได้แค่ภาพบนเรือ ตกน้ำตกท่ากันแล้วก็รีบกลับ ยังไม่เห็นมีอะไรเป็นเนื้องานได้ โดยเฉพาะตัวนายกฯไม่ต้องวิ่งตามปัญหาตระเวนไปดูน้ำท่วมให้มากนัก เพราะสถานการณ์อุทกภัยทุกหน่วยงานทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ให้งบประมาณแล้วปล่อยให้เขาจัดการเองอย่าคิดว่ารัฐบาลนี้จะต้องทำดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว

"ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งหลักให้ได้ว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร ทุกโครงการศึกษาไว้หมด ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว ไม่จำเป็นต้องมีโมเดลอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ควรทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาในอนาคตจะเป็นประโยนช์มาก และมองหามาตรการแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยนช์กับประชาชนโดยตรง ทั้งภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องเสียหายปีละหลายแสนล้านกับอุทกภัย โดยเฉพาะปีนี้ประชาชนได้รับความทุกข์มาก แม้แต่กรุงเทพฯ เองก็อาจจะป้องกันไม่อยู่"

**อนาถ!ปูชวนคนไทยปลูกหญ้าแพรก

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯคนนี้ไม่ถนัดในการพูดและการสัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรหากมีความสามารถและเก่งในการบริหาร แต่การออกรายการ "นายกฯยิ่งลักษณ์พบประชาชน"ซึ่งปกติจะเอารายละเอียดที่ออกโทรทัศน์จะเอาคำพูดมาออกรายการวิทยุนี่เป็นครั้งแรกที่ทำแบบนี้ก็เข้าใจในขีดจำกัดของนายกฯ แต่เมื่อท่องมาแล้ว นายกฯต้องพูดให้ถูก เพราะท่านเป็นนายกฯ การที่เรียกชื่อหญ้าแฝกเป็นหญ้าแพรก ซึ่งไม่ใช่เรื่องตลกคนที่เลือกท่านมา 15 ล้านคนติดตามฟังอยู่ และถ้าคนไม่รู้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมันผิดแล้วนำไปปฏิบัติอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าคนไปปลูกหญ้าแพรก เพื่อป้องกันน้ำท่วมประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จึงเรียกร้องว่าถ้าท่านไม่ไหวที่จะพูดก็พยายามท่องให้ถูกต้องและเมื่อพูดผิดก็ต้องมาขอโทษประชาชนและทำให้ชัดเจน

**“วัชระ”ตั้งฉายายิ่งลักษณ์ “แปตอหลู”

นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงว่า จากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพประกอบกับสิ่งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นวุฒิภาวะไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ที่ท่านไม่ยืนยันว่าเป็นดินแดนไทย หรือเรื่องกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ ล่าสุดให้ประชาชนปลูกหญ้าแพรก เพื่อป้องกันน้ำท่วม สรุปได้ว่านายกฯท่านนี้เป็นนายกฯดัมมี่ คือ ไม่มีสมองและรัฐบาลชุดนี้ได้หลอกลวงประชาชนหลายประการไม่ว่าจะเป็นนโยาบายขึ้นค่าแรง 300 บาท การยกเลิกรถเมล์ รถไฟฟรี หรือการจะลดที่ใช้ไฟฟรีจาก 95 เหลือ 65หน่วย

“ผมถือได้ว่ารัฐบาลุดนี้หลอกลวงพี่น้องประชาชนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาล “แปตอหลู”เพราะทรยศต่อสิ่งที่ได้ประกาศไว้ว่าเป็นสัญญาประชาคม”.
กำลังโหลดความคิดเห็น