xs
xsm
sm
md
lg

2 อ่างบุรีรัมย์วิกฤตเร่งระบายน้ำ – หวั่นคันดินพังทะลักท่วมใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชลประทานบุรีรัมย์ เร่งเปิดประตูระบายน้ำ 2 อ่างเก็บน้ำหลักพื้นที่ อ.เมือง หลังมีปริมาณน้ำเกินกักเก็บอยู่ในจุดวิกฤต หวั่นคันดินพังเกิดน้ำทะลักท่วมไร่นาบ้านเรือนราษฎรเป็นวงกว้าง  วันนี้ ( 5 ต.ค.)
บุรีรัมย์ - ชลประทานบุรีรัมย์ เร่งเปิดประตูระบายน้ำ 2 อ่างหลักพื้นที่ อ.เมือง หลังมีปริมาณน้ำเกินกักเก็บอยู่ในจุดวิกฤต เพื่อป้องกันไม่ให้คันดินพังเสียหายจนก่อให้เกิดน้ำทะลักท่วมไร่นาบ้านเรือนราษฎรเป็นวงกว้าง พร้อมประสานท้องถิ่น กำนัน ผญบ. แจ้งเตือนให้ชาวบ้าน และเกษตรกรเตรียมรับมือน้ำท่วม

วันนี้ (5 ต.ค.) เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เปิดประตูเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำสำคัญ 2 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก หลังมีปริมาณน้ำสูงถึง 25.17 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 96.7 เปอร์เซ็นต์ ของขนาดความจุอ่าง 26 ล้านลบ.ม. โดยระบายน้ำวันละ 1 ล้านลบ.ม. และ อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ที่มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บถึง 30 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 108 เปอร์เซ็นต์ ของขนาดความจุอ่าง 27 ล้านลบ.ม. โดยระบายน้ำวันละ 1.5 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้เนื่องจากระดับน้ำเกินกักเก็บอยู่ในจุดวิกฤต เกรงว่าหากไม่ทำการพร่องน้ำออกจะส่งผลกระทบทำให้คันดินอ่างเก็บน้ำพังทลาย และอาจส่งผลให้เกิดน้ำทะลักไหลท่วมบ้านเรือนราษฎร และนาข้าว ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นวงกว้างได้ ซึ่งการระบายน้ำครั้งนี้น้ำได้เอ่อท่วมขังนาข้าวของเกษตรกร และถนนในเขต ต.บ้านบัว แล้วบางส่วน จากนั้นน้ำไหลผ่านพื้นที่เสี่ยงภัย ต.กระสัง อิสาณ และ ต.บ้านยาง ก่อนจะไหลไปรวมในลำตะโคง อ.บ้านด่าน และไหลลงลำน้ำมูลที่ อ.แคนดง

โดยทางชลประทานได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ชาวบ้าน และเกษตรกรที่อาศัยอยู่ติดทางน้ำไหลผ่านได้ เตรียมรับมือจากภาวะน้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งการปล่อยน้ำครั้งนี้ทางชลประทานได้มีการควบคุมระดับการระบายน้ำ ให้ส่งผลกระทบกับความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด จนกว่าจะหมดอิทธิพลของพายุฝนที่จะพัดผ่านเข้ามาในช่วงนี้

นายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำในครั้งนี้ เป็นการรองรับน้ำจากพายุฝนที่จะมาอีกระลอกตามที่กร มอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ในกลางเดือนนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับการระบายน้ำออกในครั้งนี้ค่อนข้างมีปัญหาในการไหลของน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากบางจุดมีวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางอีก 20 อ่างจากทั้งจังหวัดมี 22 อ่าง ยังมีความจุที่สามารถรองรับน้ำได้ ไม่ส่งผลกระทบกับคันฝายแต่อย่างใด ส่วนทั้ง 2 อ่างนี้ จะมีการระบายน้ำต่อเนื่องจนกว่าระดับน้ำจะอยู่ในจุดที่ปลอดภัย






นายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ ผอ.โครงการชลประทานจ.บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น