xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการกับนักการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


ดือนตุลาคมของทุกปี  คือเดือนแห่งการเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ของระบบราชการไทย และเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นรับหน้าที่ใหม่ของข้าราชการที่เลื่อนตำแหน่งมาแทนที่คนเกษียณอายุราชการ หรือถ้าในยุคนี้ก็อาจเลื่อนตำแหน่งมาเพราะเป็นข้าราชการในสายอำนาจใหม่ มาแทนที่คนเก่าในสายอำนาจเก่า ที่ถูกย้ายเตะโด่งไปให้พ้นทาง ตามที่อำนาจใหม่จะจัดวาง

ข้าราชการไทยในนยุคก่อน มีศักดิ์ศรีและสำนึกในอำนาจหน้าที่ ที่ถือเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรไทยต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อมองย้อนยุคไปในประวัติศาสตร์ราชการไทย จึงจะพบจะเห็นข้าราชการไทยส่วนใหญ่ที่ซื่อสัตย์สุจริต ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เป็นแบบอย่างที่ควรเคารพยกย่องและศรัทธา เป็นหลักของการบริหารกิจการบ้านเมืองอย่างแท้จริง

แต่ต่อมาในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ข้าราชการประจำที่ควรจะเป็นหลัก และเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี เพื่อขับเคลื่อนให้ฝ่ายการเมืองบริหารจัดการบ้านเมืองได้ตามนโยบาย ที่แถลงเป็นสัญญาประชาคมต่อรัฐสภา เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร

การณ์กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายการเมืองมักจะใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างลุแก่อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเอาตามใจชอบ โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม

ขณะเดียวกับที่ข้าราชการไทยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ก็กลับยอมสิโรราบต่อฝ่ายการเมือง แล้วแต่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะนำพาไป มิหนำซ้ำ ยิ่งนับวันยิ่งจะมีการเอาตัวรอดด้วยการยอมสยบ ยอมตนเป็นสมุนรับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ

เราจึงได้เห็นภาพการวิ่งเต้น การซื้อและขายตำแหน่งทางราชการอย่างน่าอัปยศอดสู ไม่ต่างจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่ทำให้ฝ่ายการเมืองได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม การเมืองไทยกลายเป็นธุรกิจการเมือง ขณะเดียวกันที่ระบบราชการไทย ก็กำลังจะกลายเป็นธุรกิจราชการไม่แพ้กัน

เพราะลองถ้าตำแหน่งทางราชการได้มาด้วยการซื้อขาย การทำหน้าที่ทางราชการจะซื่อตรงได้อย่างไร นอกจากการเข้ามาใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อถอนทุนร่วมกับฝ่ายการเมืองที่ต้องถอนทุนจากการลงทุนซื้อสิทธิซื้อเสียงมาดุจเดียวกัน

การดำรงอยู่ในสภาวะเช่นนี้ของฝ่ายนักการเมือง และข้าราชการประจำ จึงเป็นสภาวะที่น่าวิตกกังวล และควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อขจัดวิถีทางปฏิบัติอันเลวร้ายนี้ให้หมดสิ้นลงโดยเร็ว เพื่อธำรงสถานะการบริหารจัดการบ้านเมืองให้เป็นไปโดยหลักแห่งคุณธรรม และอำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมไทยโดยส่วนรวม

ปัจจุบันโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม” ที่เรียกคำย่อว่า ก.พ.ค. มีหน้าที่เสนอแนะหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการ คุ้มครองระบบคุณธรรม โดย ก.พ.ค.จะทำหน้าที่ในลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการ ดูแลพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ของข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นด่านที่พึ่งสุดท้ายสำหรับองค์กรฝ่ายบริหาร ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาวินิจฉัย จาก ก.พ.ค.แล้ว ผู้อุทธรณ์เห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมเพียงพอ ก็สามารถนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกทางหนึ่ง

กรณีตัวอย่างที่ปรากฏชัดต่อสังคมเมื่อไม่นานมานี้ คือ กรณี นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ร้องเรียนต่อ ก.พ.ค ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกคำสั่งโยกย้ายจากอธิบดีกรมการปกครอง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

และ ก.พ.ค.พิจารณาวินิจฉัยว่ากระทรวงมหาดไทยดำเนินการโดยไม่ชอบ จึงมีมติให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งย้ายนายวงศ์ศักดิ์ และให้นายวงศ์ศักดิ์กลับไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองดังเดิม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2553 อันเป็นวันที่ออกคำสั่ง ส่วนผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนนายวงศ์ศักดิ์ โดยไม่ชอบ ให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดหาตำแหน่งใหม่ให้ต่อไป

ถือเป็นตัวอย่างการต่อสู้ของฝ่ายข้าราชการประจำที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจบาตรใหญ่ของฝ่ายนักการเมือง สมควรที่ข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้งแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง ควรจะยึดถือเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และสมควรที่ฝ่ายนักการเมืองที่ชอบใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยปราศจากคุณธรรม ควรจะได้สำนึกผิดชอบชั่วดี และลดละการกระทำที่ไม่ถูกต้องต่อไป

กรณีตัวอย่างข้างต้น คือตราบาปอัปยศที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปล่อยปละให้พลพรรคของนายเนวิน ชิดชอบ ปู้ยี่ปู้ยำข้าราชการกระทรวงมหาดไทยตามอำเภอใจ

และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็กำลังจะซ้ำรอยเดิม ด้วยการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการ สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้วยเหตุผลแท้จริงที่เพียงเพื่อจะเปิดตำแหน่งว่างไว้รองรับการย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร. เพื่อแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งขณะนี้นายถวิล เปลี่ยนศรี ได้ประกาศสู้โดยนำเรื่องไปร้องเรียนต่อ ก.พ.ค.แล้วเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครปฏิเสธว่าฝ่ายการเมืองที่ได้ครอบครองอำนาจรัฐควรจะมีสิทธิและอำนาจในการที่จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมสอดคล้องกับการที่จะมาร่วมเป็นไม้เป็นมือในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล

แต่ปัญหาก็คือว่า ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายการเมืองควรจะต้องยึดระเบียบแบบแผน หลักเกณฑ์ ในการแต่งตั้งโยกย้ายให้สอดคล้องกับธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม แม้จะไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามหลักอาวุโสหรือหลักคุณธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะน่าเกลียดพิลึกพิลั่นจนผู้คนส่วนใหญ่ยากจะทำใจยอมรับได้เหมือนที่ผ่านมา

ก่อนที่ระบบราชการไทยจะพัฒนาไปถึงขั้นมีสหภาพข้าราชการ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดแนวทางไว้ในห้วงเวลานี้ จึงเห็นมีแต่ ก.พ.ค.เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับข้าราชการที่ไม่ยอมสยบ และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับอำนาจบาตรใหญ่อันไม่เป็นธรรมของฝ่ายการเมืองอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น