xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการดีๆ ต้องลุกขึ้นสู้...

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดแพชร

นั่งเฝ้ามองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของรัฐบาลท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วด้านหนึ่งก็ได้แต่สงสารข้าราชการหลายต่อหลายคนที่ถูกเตะโด่ง และกำลังจะถูกเตะโด่งในหลายกรมหลายกระทรวง แต่อีกด้านหนึ่งประสาปุถุชนก็รู้สึกกึ่งปลงๆ กึ่งสะใจ...กล่าวคือสำหรับบางคนบางกรณีรู้ทั้งรู้ว่าถูกรังแกถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม แต่ไม่กล้าหือที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมก็สมควรแล้ว...สมควรตาย...!!

ยิ่งบางรายบางท่านมีข่าวว่ายอมแอ่นอกรับลูกดอกสีม่วงสีน้ำตาลนับสิบนับร้อยล้านสงบแน่นิ่งไปแล้ว ผมก็ไม่รู้จะร้องเพลงเกียรติศักดิ์ลูกเสือไทยให้ใครฟัง!?

นับจากกรณีท่านจาดุร อภิชาตบุตร ที่ถูกเตะโด่งจากตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลสมัคร เมื่อปี 2551 แต่ท่านได้เดินหน้าต่อสู้จนได้รับความเป็นธรรมคืนมา เป็นรางวัลให้กับคนกล้าก่อนจะเกษียณในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) แล้ว ก็เห็นจะมีกรณี ท่านวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ที่ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่เจ้าตัวลุกขึ้นสู้ จนคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ภายใต้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีมติให้คืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้กับท่าน...จนได้รับโปรดเกล้าฯ อีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2554 ก่อนที่จะเกษียณในวันพรุ่งนี้เช่นกัน

เปรียบเทียบกรณี “จาดุร” กับ “วงศ์ศักดิ์” แล้ว ต้องยอมรับว่าท่านจาดุรต้องออกแรงมากกว่า เพราะในขณะนั้นยังไม่มีตัวช่วยอย่าง ก.พ.ค.ต้องไต่ระดับการร้องทุกข์ร้องเรียนเก็บหลักฐานต่างๆ ก่อนที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองและจบลงที่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งพิพากษาเมื่อ 25 ก.ค. 2554 ให้คืนตำแหน่ง (รองปลัดสำนักนายกฯ) ให้กับท่าน...ซึ่งผมเดาเอาว่าเจ้าตัวคงจะดีใจ แต่เป็นความดีใจภายใต้ความรู้สึกว่า...ช่างเป็นความยุติธรรมที่แสนจะล่าช้าเสียนี่กระไร!?

แม้ระดับความยากง่ายในการต่อสู้ของทั้งสองท่านข้างต้นจะแตกต่างกันบ้าง แต่ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือ หัวใจและความกล้าหาญที่จะต่อสู้ การไม่สยบยอมกับความไม่ถูกต้อง

มาถึงวันนี้ก็เป็นคิวการต่อสู้ของ ท่านถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูกมติ ครม. 6 ก.ย. 2554 โยกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 ซึ่งเจ้าตัวได้ไปร้องต่อ ก.พ.ค.เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องลุ้นระทึกว่า ก.พ.ค.จะยกคำร้องหรือรับไว้พิจารณา...เนื่องจากกรณีท่านถวิลอาจไม่เหมือนกรณีของ “จาดุร-วงศ์ศักดิ์” เสียทีเดียว

เพราะเบื้องหลังมติ ครม.ที่โยกท่านถวิล ก็คืออำนาจอันล้นหลามของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องแสดงความชื่นชมท่านถวิลที่ไม่ยอมเปลี่ยนสี และประกาศเสียงดังฟังชัดว่า...ใดๆ ในโลกนี้ล้วนอนิจจัง ไม่มีกฎใดๆ ใหญ่ไปกว่า..กฎธรรมชาติและกฎแห่งกรรม...

พูดมาพูดไปผมก็นึกเสียดายท่าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ที่ยอมยกธงขาวแพ้ทางมวย “สารวัตรนินจา” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไปตั้งแต่ยกแรกๆ...

ครับ วันนี้จริงๆ แล้วตั้งใจที่จะตอกย้ำความทรงจำตัวเองและเราๆ ท่านๆ ว่าอันที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่คณะนิติราษฎร์เขาอยากให้ยกเลิกนั้น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม การแต่งตั้งโยกย้ายและการใช้อำนาจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเอาไว้ โดยบัญญัติเอาไว้ใน หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมี 2 มาตรา ดังนี้

“มาตรา 279

มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น

มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงาน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ

การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270

การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา 280

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม รวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม ตามมาตรา 279 วรรคสาม

ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้”

สารภาพว่าพออ่าน 2 มาตราในหมวดนี้จบแล้ว ผมก็เกิดอาการแน่นหน้าอกเพราะรู้สึกคับข้องใจอย่างรุนแรงกับบทบาทอันหน่อมแน้มขององค์กรอิสระที่ชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขึ้นมาทันที...แต่คงต้องยกยอดไปว่ากันต่างหากในโอกาสต่อๆ ไปสักครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวมาทั้งหมด อยากสรุปเพียงว่า...ไม่ว่าเราจะมีกฎหมาย กฎระเบียบและกลไกต่างๆ ดีเลิศประเสริฐศรีและมากมายเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การควบคุมการใช้อำนาจที่มิชอบต่างๆ หมดสิ้นไปได้ ยังต้องมีมาตรการเสริม มาตรการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องดีงามควบคู่ไปด้วย..

เหนืออื่นใดมาตรการ..ลุกขึ้นสู้เมื่อถูกรังแก จะช่วยหยุดยั้งการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลไม่มีจริยธรรมได้มากทีเดียว

            samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น