xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล” สวน “ปู” บอกไม่ผิดแล้วสั่งย้ายทำไม ชี้ สมช.โดนจุ้นหนัก ลั่นฟ้องเพื่อศักดิ์ศรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
อดีตเลขาฯ สมช.จัดเต็ม!! เชื่อใจ ก.พ.ค. ชี้สมัยทหารคุม สมช.ไม่ถูกแทรกแซงเหมือนยุคปัจจุบัน รับแม้ไม่มีเปลี่ยนเก้าอี้ ผบ.ตร.ก็ต้องถูกเล่นอยู่ดี ยันเป็นเลขาฯ ศอฉ.ตามกฎหมายสั่ง ถามนายกฯ บอกตนไม่ผิดแต่ย้ายทำไม ลั่นสู้เพื่อศักดิ์ศรี หวังเห็นกฎแห่งกรรมก่อนเกษียณ


วันนี้ (15 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการเสวนาเรื่องธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐ ในคณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดย นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ได้เข้าร่วมเสวนาด้วย พร้อมกล่าวว่าหลังจากยื่นเรื่องต่อกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แล้วตนไม่อยากให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเพราะได้ส่งเรื่องไปยังกลไกพิทักษ์ระบบคุณธรรมแล้ว ตนเชื่อมั่นในกลไกที่มีอยู่ว่าจะสามารถพิทักษ์คุณธรรมได้ ตลอดเวลาที่อยู่ที่ สมช.ได้มองเป็นความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายมาตลอดชีวิตข้าราชการ สมช.ตั้งมา 50 ปี ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงก่อตั้งมายาวนานกว่าร้อยปี ตลอดเวลามีผู้บริหารมาจากฝ่ายทหารหลายคน เช่น พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่เข้ามาอยู่ใน สมช.ในช่วงต้น ไม่เว้นแม้แต่ยุคต่อมาที่มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ จะเห็นได้ว่าท่านเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการแทรกแซงในองค์กร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมิติด้านความมั่นคงเป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร

นายถวิลกล่าวต่อว่า แต่ในยุคปัจจุบันมิติด้านความมั่นคงได้เปลี่ยนไป เริ่มมีการแทรกแซงเกิดขึ้น โดยตนได้เห็นภาพคนที่แทรกเข้ามาในองค์กรแล้วไม่ได้ทำประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ทำให้เกิดการแตกความสามัคคีเกิดขึ้น เหล่านี้อาจเป็นเพราะคนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่อาจมุ่งหมายในการเติบโตตามสายงานได้ ข้าราชการ สมช.เป็นพลเรือน แตกต่างจากคนเหล่านี้เพราะไม่สามารถย้อนกลับไปอยู่กับกองทัพได้ กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจของฝ่ายพลเรือน ตนไม่ทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเป็นหนึ่งในกระบวนการเหล่านี้เหรือไม่ แต่มั่นใจว่าถึงแม้จะไม่มีการปรับย้ายตำแหน่งที่กระทบมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตนก็เชื่อว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องถูกแต่งโยกย้าย เพราะฝ่ายการเมืองพูดมาตลอดว่าเป็นเรื่องของความโกธรแค้นแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้าระบบโยกย้ายใน สมช.ยังเป็นอย่างนี้จะทำใหการทำงานของสมช.ที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์กับงานความมั่นคงไม่เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับกำลังใจของคนทำงาน

นายถวิลกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาแทบไม่อยากเชื่อว่าเกิดขึ้น ตนถูกสั่งสอนมาตลอดให้ทำงานอย่างมืออาชีพ โดยต้องรักษาความเป็นมืออาชีพนั้นไว้ ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาตนพยายามทำงานอยู่ในขอบเขต โดยพยายามหาเวลาเข้าไปรายงานตัวต่อนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้รับทราบจาก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เชิญให้ไปพบโดยท่านได้แจ้งว่าได้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงจึงเข้าไปรายงานตัว ตลอดช่วงเวลาแถลงนโยบายได้เตรียมพร้อมในการเข้าไปช่วยสนับสนุนการแถลงนโยบาย รวมถึงการไปเป็นกรรมการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาพัฒน์

“ผมพยายามอยู่ในกรอบการทำงาน ไม่ได้ตั้งใจจะมาฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาร้องขอความเป็นธรม ผมพยายามทำอย่างนี้มาตลอดแต่ท่านฝ่ายการเมืองก็ยกเอาเรื่องที่ผมอยู่ใน ศอฉ.(ศูนย์อำนวจการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่ง ศอฉ.มีมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายเขียนไว้ว่า เลขาฯ สมช.ต้องไปเป็นกรรมการ ศอฉ. เมื่อกฎหมายมีผมก็ต้องไป ผมไม่มีอคติต่อสีใดสีหนึ่ง แต่ดูว่าอะไรเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอะไรต้องไปดำเนินงาน ผมไม่โต้แย้งประเด็นการใช้อำนาจทางกฎหมาย จะถูกหรือถูกไม่ทราบ แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่สูงกว่านั้นบัญญัติว่าการใช้อำนาจต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม ประเด็นของผมคือมันไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมท่านนายกฯพูดตลอดว่า ผมไม่มีความผิด แล้วทำไมมาโยกย้ายผม ท่านบอกว่าผมมีความถนัดเรื่องความมั่นคงซึ่งงานนั้น เลขาฯ สมช.ทำได้ดีอยู่แล้ว ผมไม่ได้สู้เพื่อกลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมแต่สู้เพื่อศักดิ์ศรีและความถูกต้อง ถ้าถูกรังแกพอทนได้แต่ถ้ารังแกด้วยระบบราชการถือว่าทำร้ายประเทศชาติ ผมจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค. ผมเชื่อในกฎแห่งกรรมผมมีอายุราชการเหลือแค่ 3 ปี ผมคิดว่าจะได้เห็นผลของกฎแห่งกรรมนั้น” นายถวิลกล่าว

ด้าน นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส ผู้ตรวจการแผ่นดิน อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า คำสั่งโยกย้ายของข้าราชการเป็นคำสั่งปกครองที่สามารถอุทธรณ์ให้เกิดความเป็นธรรม การเสนอความเห็นเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายเป็นสิ่งที่ข้าราชการจะต้องเสนอความเห็นต่อฝ่ายบริหารได้ ครั้งที่อยู่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้พยายามสร้างกฎกติกามารยาทในการบริหารงานคนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยกฎของกพ.แต่ละเรื่องที่ทำมองดูแล้วดีทุกเรื่อง แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วอาจมีปัญหาหลายประการ กพ.ได้ยืนหยัดว่าหากมีการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจะต้องชี้ออกมาให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมีเหตุมีผลอย่างไร ส่วนเรื่องที่ว่าจะไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่อไม่สามารถดำเนินการตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการซึ่งข้าราชการจะต้องยึดมั่นในหลักการที่สามารถอธิบายเหตุและผลได้

ขณะที่ นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ.กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรบุคคลของราชการมีหลักสำคัญคือหลักคุณธรรม โดยทุกประเทศใช้หลักการนี้เหมือนกันหมด ส้วนทางปฏิบัติหลักคุณธรรมจะมีการใช้มากหรือน้อยอาจมีความแตกต่างกัน ตัวกฎเกณฑ์กติกาแม้มีอยู่แต่ไม่ได้หมายความว่าในการปฏิบัติจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เดิมการโยกย้ายไม่เคยมีปัญหา มาช่วงหลังที่ต้องมีการออกระเบียบหรือกติกาขึ้นเพราะระยะหลักเริ่มมีการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม จะเห็นว่าหลักการไม่ใช่ของไม่ดีแต่มีปัญหาในวิธีปิฎิบัติ แม้รัฐธรรมนูญได้กำหนดไม่ให้มีการก้าวก่ายของฝ่ายการเมืองแต่ในทางปฏิบัติมีการกระทำที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เราจึงควรใช้หลักการของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำให้เห็นว่าการแทรกแซงโดยการเมืองไม่ใช่สิ่งปกติเพราะไม่เช่นนั้นฝ่ายการเมืองจะรู้สึกว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติ โดยบางครั้งไม่จำเป็นที่ข้าราชการที่ถูกระทำจะต้องดำเนินการแต่ผู้ที่เห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นสามารถช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรม สิ่งสำคัญตัวข้าราชการเองต้องใช้สิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนี้ ประชาชนสามารถแสดงสิทธิในฐานะประชาชนที่จะออกมาแสดงออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความไม่ถูกต้องเพราะข้าราชการเป็นของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น