xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นิติราษฎร์ สร้างรธน.แห่งรัฐไทยใหม่ ล้อมเจ้า-ลดพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่ว่า “นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวโจก กลุ่มนิติราษฎร์ จะแก้ตัวหรืออรรถาธิบายใดๆ เกี่ยวกับ 4 ข้อเสนอที่กลั่นออกมาจากหัวสมอง ก็มิอาจปฏิเสธแก่นและความคิดที่แท้จริงของพวกเขา รวมถึงความยึดโยงต่อการช่วยเหลือ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” และสายสัมพันธ์ที่มีต่อ “พรรคเพื่อไทย” ได้

เพราะผลลัพธ์แห่งข้อเสนอของนิติราษฎร์ท้ายที่สุดแล้วคือการช่วยให้ นช.ทักษิณพ้นผิดจากทุกคดีความที่เขาได้รับในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วบรรดาทาสในเรือนเบี้ยทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงคงไม่ตีปีกสนับสนุนกันอย่างครึกโครม

อย่างน้อยก็อีกช่วงหนึ่งกว่าที่จะมีคนฟ้องร้องและส่งคดีทุจริตของ นช.ทักษิณเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามปกติเหมือนดังเช่นที่นายวรเจตน์ออกตัวเอาไว้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะกินเวลานานแค่ไหน ยิ่งในยิ่งที่ทนายแผ่นดินนิยมชมชอบถุงขนมเช่นนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองไม่เห็นอนาคต

ไม่เช่นนั้นแล้วบรรดานักกฎหมายสำนักเดียวกันอย่าง รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และรศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงสภาทนายความคงไม่ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตถึงวาระซ่อนเร้นของกลุ่มนิติราษฎร์และให้ประชาชนจับตามองอย่างใกล้ชิด

เพราะฉะนั้นนายวรเจตน์มิต้องฟูมฟายและกล่าวโทษสื่อว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เขานำเสนอต่อสังคม

แต่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดก็จะพบแก่นความคิดหรือเป้าประสงค์ที่แท้จริงของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่แถลงการณ์ดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการประหวัดและมีเจตนาก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ เสมือนหนึ่งต้องการโยงเรื่องการลบผลพวงของการรัฐประหาร การแก้มาตรา 112 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาไว้ด้วยกัน

แก่นความคิดที่ว่านั้นบรรจุอยู่อย่างชัดเจนในข้อเสนอประเด็นที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” และประเด็นที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง “การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

***ขบวนการล้อมเจ้า รื้อ ม.112

กรณีมาตรา 112 กลุ่มนิติราษฎร์มีความชัดเจนว่า เป็นกฎหมายที่มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่ามาตรา 112 ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง

พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า การแก้มาตรา 112 คือการรักษาสถาบัน

แต่ถ้าหากติดตามร่องรอยความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเว็บไซต์ http://www.enlightened-jurists.com รวมถึงการให้สัมภาษณ์ในวาระต่างๆ ก็จะเข้าใจจิตเจตนาของพวกเขาได้ไม่ยากเย็นนัก

อาทิ การที่นายวรเจตน์ยังเคยให้สัมภาษณ์รายการ Intelligence - Voice TV ในหัวข้อ "กล่าวอ้าง - พาดพิง พูดปกป้องสถาบัน...?" พร้อมทั้งนำเสนอเอาไว้ในเว็บไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์เอาไว้ด้วยว่า

"...เราถูกห้ามพูด เราเก็บทุกอย่างเอาไว้ใต้พรมหมด...ผมถามว่า แล้วปัญหามันจะถูกแก้ได้ยังไงล่ะ ?....พระมหากษัตริย์จะอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ก็ต่อเมื่อพระองค์เป็นกลางทางการเมือง พ้นไปจากการเมือง..."

หรือส่วนหนึ่งบทสัมภาษณ์นายวรเจตน์ที่ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์แทบลอยด์ วันอาทิตย์ที่ 25 เม.ย.54 ที่ระบุเอาไว้ว่า....

"เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเราเสนอแบบนี้ก่อนคือ หนึ่ง ให้เลิก 112 ก่อนหรือเอา 112 ออกจากความผิดในหมวดความมั่นคงของรัฐก่อน นี่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะเราเห็นว่าความผิดเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง เรื่องความมั่นคงคือเรื่องที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของราชอาณาจักร โอเคถ้าเป็นเรื่องการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ อย่างนี้พอบอกได้ว่าเป็นเรื่องกระทบความมั่นคง แต่กรณีของการดูหมิ่น คือการพูดจาไปทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ กำหนดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ มันไกลไป เพราะเราต้องเข้าใจว่าสมัยใหม่เราแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐออกจากกัน”

เพียงแค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว นายวรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ได้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้เป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย

แล้วขณะที่ตราโทษเอาไว้หนักหนาสาหัสเช่นนี้ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังเกิดขึ้น ถามว่า เมื่อลดโทษลงให้น้อยกว่านี้ ขบวนการล้มเจ้าจะมิเหิมเกริมไปยิ่งกว่านี้ดอกหรือ

นอกจากนี้ ความจริงที่กลุ่มนิติราษฎร์ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ กฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย ถ้าหากอ้ายหรืออีผู้นั้นจะไม่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เหมือนดังเช่นที่ นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความออกแถลงการณ์ชี้ชัดว่า “ความผิดทางอาญาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นตัวบทกฎหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อยู่ในทุกรัฐธรรมนูญ เมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงไม่อาจดำเนินการใดๆ โดยลำพัง การดำเนินการใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีบทบัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น มาตรา 112 ดังกล่าว จึงมุ่งที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้ความสำคัญเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษรุนแรง สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดังกล่าว”

**รัฐธรรมนูญใหม่ ฤาตั้งใจลิดรอนพระราชอำนาจ

สำหรับกรณี “การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นั้น กลุ่มนิติราษฎร์ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า มีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์รวมอยู่ในข้อเสนอข้อนี้ด้วย

กล่าวคือ สิ่งที่มาพร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอแนะนั้นอยู่ตรงที่ข้อเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง   

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีก็คือ ทำไมกลุ่มนิติราษฎร์ถึงย้อนกลับไปไกลถึงพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

ยิ่งเมื่อผนวกกับถ้อยคำที่พวกเขา “ตั้งใจ” ใช้เป็นชื่อกลุ่มว่า “คณะนิติราษฎร์” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ประหวัดนึกไปถึงความจงใจที่จะให้สอดคล้องกับ “คณะราษฎร” ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ความโดดเด่นของถึงพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ตามที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” เขียนบทความเอาไว้อยู่ตรงที่ “ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ไม่มีคำว่าพระมหากษัตริย์เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อ ๆ มา โดยใช้คำว่า กษัตริย์เฉย ๆ ไม่ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของกษัตริย์ ก็ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น ที่สำคัญและดูเหมือนจะเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์และคนเสื้อแดงบางกลุ่มเสนอให้ทบทวนด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้า รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”   
    
นอกจากนั้น เมื่อได้อ่านบทความต่างๆ ที่บรรจุเอาไว้ในเว็บไซต์กลุ่มนิติราษฎร์ก็จะยิ่งเห็นความจริงที่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งนี้ บทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บทความชื่อ “การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในสวีเดน และการเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในลิคเตนสไตน์”ที่เขียนโดย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนิติราษฎร์ (http://www.enlightened-jurists.com/page/231)

เนื้อหาสาระของบทความชิ้นนี้พยายามทำให้เห็นถึงทิศทางการลดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆ โดยยกตัวอย่างที่สวีเดนดังมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“สวีเดนตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1974.... สาระสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ คือ การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในทางการเมือง โดยยังยืนยันให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มีมรดกตกทอดมาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น กล่าวเช่นนี้ อาจเข้าใจกันว่า ระบอบของสวีเดนก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ประมุขเป็นกษัตริย์ ดังเช่น สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น แต่หากพิจารณารัฐธรรมนูญของสวีเดนโดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเทคนิคการลงพระปรมาภิไธย-การสนองพระบรมราชโองการ”

หรืออีกช่วงหนึ่งที่นายปิยบุตรเขียนเอาไว้ว่า.....

“ในหมวดประมุขของรัฐ ยังคงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มกันของกษัตริย์ไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ ในกรณีที่กษัตริย์ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ กษัตริย์ต้องปรึกษาหารือนายกรัฐมนตรีก่อนทุกครั้ง หากกษัตริย์พักงานในหน้าที่ไปเกิน 6 เดือน หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาอาจเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาว่าสมควรถอดกษัตริย์ออกจากบังลังก์หรือไม่ ในกรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีบุคคลใดทำหน้าที่กษัตริย์ ให้สภา Riksdag เลือกบุคคลใดมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนชั่วคราว หากไม่มีบุคคลใดได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ประธานสภา Riksdag เป็นผู้สำเร็จราชการแทน”

ไม่แน่ใจว่านายปิยบุตรมีเป้าประสงค์ในการเขียนบทความชิ้นนี้อย่างไร แต่เชื่อว่าวิญญูชนน่าจะคาดเดาได้ไม่ยากนัก

ยิ่งเมื่อนำบทความดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ “นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ” องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ก็จะยิ่งเห็นว่า แนวคิดของกลุ่มนิติราษฎร์เป็นการบิดเบือนจากความเป็นจริง รวมถึงตระหนักรู้ถึงความคิดของผู้คนในระบอบทักษิณที่ถูกล้างสมองให้มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นโดยฝีมือของพวก “ซ้ายอกหัก”

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ จะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล วันอังคารที่ 25 เม.ย. 2549 ความตอนหนึ่งว่า มาตรา 7 ว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา แต่ว่าในมาตรา 7 นั้น ไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่าไม่มีบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้และขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของกฎหมาย พระราชบัญญัติทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง พระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบถ้าทำไปตามใจชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว”

และที่เด็ดที่สุดก็คือการอภิปรายในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่สรุปเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาและแทงใจดำของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า....

“การปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้นไม่เหมือนกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศอื่นๆ ไม่มีประเทศไหนที่พระมหากษัตริย์จะประทับยืนบนพื้นดิน กางแผนที่พูดคุยกับชาวบ้านด้วยภาษาธรรมดาไม่ใช้ราชาศัพท์ ภาพลักษณ์นี้คนไทยจะเห็นจนชินตาตลอดระยะเวลาครองราชย์ 60 ปี ก่อนที่พระองค์จะทรงประชวร”

“พระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นเป็นของวิเศษ 2 อย่างคือ 1 เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทยและรู้ว่าตนเองมีอารยธรรมมาเป็นพันปี ขณะเดียวกันเราก็มีระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกับพระมหากษัตริย์ จึงเป็นระบบที่เราควรรักษาให้ดำรงยั่งยืนสืบไป ดังนั้นพระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงควรเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยทุกคนพึงพอใจ”

***ล้มยุบทรท.-พลังประชาชน เลอะเทอะยกตัวอย่างศาลนาซี ตรรกะอันแสนเลอะเทอะ

ขณะเดียวกันนายวรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ก็ตั้งใจที่จะไม่ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แถมยังตีโพยตีพายอีกว่า บิดเบือนสิ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอเรื่องฟอกความผิดให้แก่ นช.ทักษิณ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายนแนบแน่นอย่างแยกไม่ออกจากการช่วยเหลือ นช.ทักษิณและวงศ์วานว่านเครือ

ดังจะเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของนายวรเจตน์ที่มีต่อสื่อหัวอกเดียวกันอย่าง “มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2554”

กรณีแรกที่นายวรเจตน์ประกาศชัดเจนคือ เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหากร่างรัฐธรรมนูญออกมาหมวดหนึ่งให้ล้างคดีดังกล่าวจะมีผลอย่างไร

“ก็ต้องคืน ถือว่าศาลไม่เคยตัดสิน นี่ผมชัดเจนเลย รวมถึงคดีอาญาที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลสั่งให้จำคุก เงินก็ต้องคืนเริ่มกระบวน การสอบกันใหม่ ถามว่าทำไมคนถึงติดใจประเด็นนี้เพราะถ้าเอาจากหลักการจากผลพวงรัฐประหารก่อน ไม่ต้องสนใจว่าเป็นเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท จะต้องคืนหรือไม่ และ คนคิดแบบนี้เป็นปรปักษ์การเมือง ส่วนจะเข้าทางคุณทักษิณไหมบางคนอาจเข้าทาง แต่เข้าทางมาจากฐานคิดอะไร ก็คุณทำคำพิพากษามาจากฐานรัฐประหารเอง (เสียงดัง)”

เรียกว่า คำตอบของนายวรเจตน์ชัดเจนอยู่ในตัวเองเพราะคิดอยู่เพียงประการเดียวว่า รัฐประหาร 19 กันยายนผิด นช.ทักษิณทำอะไรก็ไม่ผิด

กระทั่งทำให้นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ อดรนทนไม่ได้จนต้องออกแถลงการณ์สภาทนายความ ฉบับที่ 2/2554 โดยระบุว่า สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผล ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร

        ทั้งนี้ นายสักกล่าวด้วยว่า การดำเนินคดีกับ นช.ทักษิณนั้นเป็นไปตามกระบวนการปกติคือ อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องร้องต่อศาล ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาในศาลฎีกาดังกล่าว เป็นศาลและวิธีพิจารณาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และมีบางคดีที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่จำเลยได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีที่สองที่นายวรเจตน์ประกาศชัดเจนอีกเช่นกันคือ การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

“เรื่องยุบพรรคมีอยู่ 2 ครั้งจริงๆ ครั้งแรกยุคพรรคไทยรักไทยตอนตุลาการรัฐธรรมนูญ อันนั้นเราจะประกาศให้คำวินิจฉัยครั้งนั้นเสียไปถือว่าไม่มีอยู่ เพราะฉะนั้นนักการเมืองพวกนี้ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถึงแม้ความเป็นจริงจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแต่ทางกฎหมายต้องถือว่าเขาไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในระบบกฎหมายไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ ถึงแม้จะย้อนเวลาไปคืนเลือกตั้งให้เขาไม่ได้ แต่เราสามารถคลีนทางกฎหมายได้ ให้ไม่มีในคำวินิจฉัยนี้ดำรงอยู่ แต่จะประกาศว่านักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้เสียสิทธิเลือกตั้งเลย ถึงแม้ความเป็นจริงจะสูญเสียสิทธิเลือกตั้งแล้ว และย้อนกลับไม่ได้ เพราะในโลกความเป็นจริงเราไม่อาจสามารถขี่ไทม์แมชชีน แต่ทางกฎหมายเราทำได้”

“กรณีพรรคพลังประชาชนจะต่างไป เพราะกรณีพลังประชาชนคำวินิจฉัยเกิดขึ้นจากศาลรัฐธรรมนูญชุดที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 คราวนี้จะต้องมาดูเฉพาะกรณีนี้ในทางนิตินโยบายตอนนั้นจะทำอย่างไง ว่าจะจัดการให้เสียไปด้วยไหม หรือจะถือว่ามีผลทางกฎหมาย จะต้องมานั่งเลือกเอา เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผลพวงโดยตรง แต่เป็นผลพวงที่ตามมาโดยอ้อมแทน”

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คดีเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ตรงไหน?

นายวรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ต้องไม่ลืมว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญชี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนทุจริตการเลือกตั้งและกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญถัดมาที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ กรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ยกตัวอย่างเรื่องศาลประชาชนของเยอรมนีมาประกอบเหตุผลในการลบล้างผลพวงที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กรณีนี้ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้เขียนบันทึกในเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ “สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน” โดยตีแสกหน้ากลุ่มนิติราษฎร์อย่างไม่ไว้หน้าว่า....

       “ผู้ที่สนใจประวัติของนาซีเยอรมันย่อมรู้ดีว่าศาลประชาชนยุคนาซีนั้นไม่ใช่ศาลยุติธรรมตามความหมายที่เราเข้าใจกันในประเทศไทย แต่เป็นศาลพิเศษที่ฮิตเลอร์ตรากฎหมายตั้งขึ้น และเหตุที่ตั้งศาลพิเศษนี้ขึ้นก็เพราะศาลยุติธรรมเยอรมันในเวลานั้นไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจการชี้นำของฮิตเลอร์ โดยได้พิพากษาปล่อยตัวกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่ฮิตเลอร์กล่าวหาว่าเป็นตัวการวางเพลิงเผารัฐสภาเยอรมันเป็นอิสระ ฮิตเลอร์ไม่พอใจที่ตนควบคุมตุลาการในศาลยุติธรรมไม่ได้ ก็เลยอ้างอำนาจประชาชนใช้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความเสียใหม่ แล้วตั้ง ศาลประชาชนขึ้นมา โดยโอนคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งหมดมาไว้กับศาลประชาชนนี้ แล้วจำกัดเขตอำนาจศาลยุติธรรมพิจารณาคดีอาญาทั่ว ๆ ไปเท่านั้น”

“เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นได้ว่า กรณีที่เยอรมันตรากฎหมายลบล้างคำพิพากษาศาลประชาชนนาซีนั้น ยากที่จะนำมาเทียบกับกรณีของไทย เพราะตุลาการในศาลแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้นไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาอาชีพที่มีที่มาจากผู้พิพากษาอาชีพเท่านั้น คณะปฏิวัติรัฐประหารไม่มีอำนาจคัดเลือกหรือแต่งตั้งแต่อย่างใด”
และในที่สุด ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ก็ได้ตั้งคำถาม 15 ข้อต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มนิติราษฎร์ ทาง facebook  Somkit Lertpaithoon ว่า ในฐานะนักกฎหมายช่วยตอบคำถามเหล่านี้ด้วย

1.เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิกรธน. 2549
2.ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่
3. ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่

4.ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่
5.รธน. 2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?
6. คตส. ตั้งโดย คมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่

7.การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่
8.มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่
9.ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่

10.ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่
11. ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป.  อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ
12. ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่

13.ศาลรธน. ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่
14.บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่
15.คมช. เลว สสร.ที่มาจากคมช.ก็เลว  รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว   แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลวเป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่ สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วมก็เป็น สสร.ที่ดีใช่หรือไม่”

…เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในไม่ช้าสังคมคงจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของ “วรเรด” และ “นิติเรด” ได้กระจ่างแจ้งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น