ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ข้อเสนอกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ให้ “ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” กำลังถูกรุมประนามจากสังคมสื่อ นักวิชาการ นักกฎหมาย และอื่นๆ อีกมากมายยกเว้นพรรคเพื่อไทย
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มดังกล่าวใช้ชื่อว่า "คณะนิติราษฎร์" ประกอบด้วย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นางจันทจิรา เอี่ยมมยุรา นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายธีระ สุธีวรางกูร น.ส.สาวตรี สุขศรี นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์
“เหตุที่เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากได้นำเอาประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยฯ และคำพิพากษาฯ เป็นผลจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”
“ผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 ก.ย. มีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ และคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจการลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ ในหลักการ คณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการทั่วไป ส่วนที่เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญปี 2549 เฉพาะมาตรา 36 และมาตรา 37 ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสอง เป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร และรับรองการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” วรเจตน์อธิบายในการแถลงข่าวครั้งที่สอง
หลังจากถูกตั้งถามมากมายว่า ประโยชน์ทางวิชาการที่อาจารย์กลุ่มนี้แอบอ้างนั้น ทำไมตัดต่อประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย แค่วันที่ 19 กันยายน 49 จนหลายคนเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่า นักวิชาการกลุ่มนี้กำลังแอบอ้างความเป็นวิชาการ เพื่อประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร ไม่มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหารัฐประหารในปี 2534, 2520, 2519, 2514,2501คนเสียเลือดเนื้อจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนหลายคนสงสัยในความเป็นนักวิชาการที่รักประชาธิปไตย ที่สำคัญนักวิชาการกลุ่มนี้ยัง “ด่าสื่อ” ว่า เลว
“วันนี้สื่อบางแขนงบิดเบือนข้อเสนอของพวกเรา ถามว่าบางฝ่ายกลัวผลการล้มล้างรัฐประหาร เพราะตัวเองเสียประโยชน์และไม่มีที่ยืนในสังคมใช่หรือไม่ สื่อที่ทำหน้าที่บิดเบือนนั้น ขอเรียกว่าเลว”
“สิ่งที่ปรากฏในสื่อนั้นเป็น ”อศาสตร์” บางคอลัมน์เขียนว่า คีย์แมนบางคนของคณะนิติราษฎร์ ใกล้ชิดรัฐบาล ส่วนนายถาวรนั้นด่าอย่างเดียว” ต้องชื่นชมกระนั้นหรือ ในเมื่อคนส่วนมากคิดต่างอย่างสุดขั้วกับกลุ่มนิติราษฎร์
นักวิชาการกลุ่มนี้ ยังส่งสารถึงผู้อ่าน บนเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ http://www.enlightened-jurists.com ในหัวข้อ "สารถึงผู้อ่าน - ถึงประชาชนผู้รักในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย" ข้อความมดังนี้ :
"ประกาศนิติราษฏร์" 28 September 2011 สืบเนื่องจากข้อเสนอทางวิชาการ "5 ปี รัฐประหาร 1 ปี นิติราษฏร์" และคำชี้แจงรายละเอียดของข้อเสนอให้ "ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ซึ่งคณะนิติราษฎร์ได้เปิดแถลงข้อเสนอต่อประชาชนผู้สนใจ และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 และ 25 กันยายน 2554 ตามลำดับ
ปรากฏว่ามีผู้เขียนบทความ จดหมาย คำกลอน รวมทั้งส่งอีเมลมาถึงคณะนิติราษฏร์ จำนวนมาก ทั้งที่ให้กำลังใจ สนับสนุนข้อเสนอ รวมทั้งเสนอแนะเพิ่มเติม และทั้งที่ตั้งคำถาม แสดงความไม่เห็นด้วย หรือต่อว่าด่าทอ แต่ด้วยสมาชิกของคณะนิติราษฎร์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือตอบกลับอีเมลเหล่านั้นได้ทั้งหมด จึงขอส่งสารมายังทุกท่านว่า
“ คณะนิติราษฏร์ ได้รับสารเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว และขอขอบคุณในทุกคำให้กำลังใจ และสนับสนุนของประชาชนผู้มีใจรักในนิติรัฐ - ประชาธิปไตย และปฏิเสธ ไม่ก้มหัว หรือยอมจำนนต่อรัฐประหารไม่ว่า ณ เวลาใดๆ ขอขอบคุณและชื่นชมทุกท่านที่พร้อมร่วมกันยืนยันว่า ในที่สุดแล้ว ประชาชนคือรัฐาธิปัตย์ที่แท้จริงในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงจากการประกอบอาชญากรรมยึดอำนาจไปจากมือประชาชน”
กลุ่มนิติราษฎร์ไม่ได้อธิบายว่า ประชาชนที่ว่าหมายถึง คนกลุ่มไหน
จะเป็นกลุ่มเสื้อแดง 15 ล้านคน หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่เสื้อแดง 45 ล้านคน ??
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบันทึกในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยพุ่งเป้าไปที่ “คำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เป็นผลมาจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า
“การอ้างอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนขึ้นลบล้างคำพิพากษานั้น ในเชิงหลักการเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ ซึ่งหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะตั้งอยู่บนฐานของเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว แต่เพราะเป็นเสียงข้างมากที่ยืนยันหลักการถือกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าหลักนิติธรรมซึ่งข้อพิพาททั้งปวงต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลยุติธรรมที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย” (หลักการนี้แตกต่างกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่ย้ำเสียงส่วนมากมีอำนาจลบล้างคำพิพากษา)
“กล่าวอีกอย่างหนึ่ง อำนาจสูงสุดแม้จะเป็นของประชาชน แต่ก็จำกัดโดยกฎหมายเสมอ และกฎหมายที่ว่านี้มีอยู่อย่างไรก็ต้องตัดสินโดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นอิสระ คือต้องเป็นคนกลาง ที่เข้าสู่ตำแหน่งเพราะมีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางคุณวุฒิ และทางคุณธรรม”
“ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่พอจะทำให้น่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณวุฒิเป็นผู้รู้กฎหมาย รู้ผิดชอบชั่วดี และเป็นผู้ทรงคุณธรรม คือ วินิจฉัยตัดสินคดีไปตามความรู้และความสำนักผิดถูกของตน โดยตั้งตนอยู่ในความปราศจากอคติ และมีหลักเกณฑ์ทางจรรยาบรรณคอยควบคุม”
ใจความสำคัญในบันทึกดังกล่าวของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ระบุว่า “อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคำพิพากษาจะเป็นธรรมเสมอไป และวงการตุลาการไทยไม่ได้เป็นสถาบันที่แตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ก็ยังต้องถือเป็นหลักว่าคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมย่อมต้องได้รับการแก้ไขจากอำนาจตุลาการด้วยกัน”
“การปล่อยให้อำนาจนิติบัญญัติ อ้างอำนาจประชาชนเข้าแทรกแซง ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างคำพิพากษานั้น ย่อมขัดต่อหลักความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ เว้นแต่สิ่งที่อ้างว่าควรลบล้างไปนั้น แท้จริงมิได้มีฐานะ หรือมีค่าเป็นคำพิพากษา ซึ่งการจะลบล้างโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติย่อมพอจะฟังได้ ไม่ต่างอะไรกับการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม”
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีคำพิพากษาของศาลประชาชนในยุคนาซี ที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ยกตัวอย่าง ซึ่งรัฐสภาเยอรมันได้ตรากฎหมายลบล้าง ระบุว่าไม่ใช่เป็นเพราะคำพิพากษาที่ขัดต่อความยุติธรรมธรรมดา แต่เป็นเพราะกรณีดังกล่าวไม่อาจนับเป็นคำพิพากษาได้เลยต่างหาก เพราะองค์กรนาซีที่ใช้ชื่อว่าศาลประชาชน โดยแฝงอยู่ในรูปของศาล และอ้างศาลเป็นเครื่องมือก่อการร้ายและก่ออาชญากรรม
“เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นได้ว่า กรณีที่เยอรมันตรากฎหมายลบล้างคำพิพากษาศาลประชาชนนาซีนั้น ยากที่จะนำมาเทียบกับกรณีของไทย เพราะตุลาการในศาลแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้นไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาอาชีพที่มีที่มาจากผู้พิพากษาอาชีพเท่านั้น คณะปฏิวัติรัฐประหารไม่มีฃอำนาจคัดเลือกหรือแต่งตั้งแต่อย่างใด”
แปลไทยเป็นไทยก็คือ “ตุลาการในศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบกับศาลประชาชนของนาซีได้” เนื้อหาในเชิงวิชาการทางกฎหมายของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ มีลักษณะคล้ายกับ คำถามของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ว่า
“ ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิก รธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่”
“ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหาร ที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ”
หรือเจตนาแฝงเร้นที่ฉาบด้วยคำแอบอ้างทางวิชาการอย่างที่เขาพูดกันทั่วประเทศ เป็นเรื่องจริง ?!!