xs
xsm
sm
md
lg

“นิติราษฎร์” แถลง 7 ข้อล้างเฉพาะรัฐประหาร 49 อ้างต้นตอขัดแย้งการเมือง-ปัดนิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มนิติราษฎร์ ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ชี้แจงข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 ก.ย.49 โอดสื่อ-นักการเมือง เข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันไม่ใช่นิรโทษกรรม หรือล้างมลทิน แต่โบ้ยไปเริ่มทำคดีใหม่ตามกฎหมายปกติ ยืนกรานลบล้างกฎหมายเฉพาะนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร เผยธาตุแท้ไม่ลบล้างผลพวงรัฐประหารครั้งอื่น อ้างครั้งนี้ยังเป็นต้นตอความขัดแย้งทางการเมือง


วันนี้ (25 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายธีระ สุธีวรางกูร, นางสาวสาวตรี สุขศรี, นายปิยะบุตร แสงกนกกุล และ นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในหัวข้อ “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” โดยระบุว่า ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี นิติราษฎร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ไปแล้วนั้น ปรากฏว่า ได้มีการนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนจำนวนมากในลักษณะที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จนสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประกอบกับมีผู้ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจอย่างเพียงพอ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นสมควรชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

1.ในแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์ 5 ปีรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอรวม 4 ประเด็น ได้แก่ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหา หรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่า สื่อมวลชน นักการเมือง และบุคคลทั่วไปกลับมุ่งความสนใจไปในประเด็นแรกเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นพิเศษ ซึ่งคณะนิติราษฎร์ เห็นว่า สื่อมวลชนบางสำนัก และนักการเมืองจำนวนหนึ่ง เข้าใจข้อเสนอของเราคลาดเคลื่อน ทั้งโดยเจตนา และไม่เจตนา

2.คณะนิติราษฎร์ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ว่า ข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำาความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำาความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างอีกต่อไปว่าคณะนิติราษฎร์เสนอให้ “ล้างผิด” ให้แก่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาจากกระบวนการที่ริเริ่มและสัมพันธ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

3.เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำาพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำารงตำแหน่งทางการเมืองก็เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำาแหน่งทางการเมือง ได้นำเอาประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำาพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำารงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผลจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

4.คณะนิติราษฎร์ ยืนยันว่า ผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจ การลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ ในหลักการคณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป ส่วนที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เฉพาะมาตรา 36 และมาตรา 37 ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารและรับรองการกระทำาใดๆ ของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

5.การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอของเรานั้นสามารถทำได้ในทางกฎหมาย ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ สมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส, การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซีในสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ ของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่รัฐประหาร 21 เมษายน 1967 ถึง 25 พฤศจิกายน 1973 ในกรีซ, การยกเลิกเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหาร 12 กันยายน 1980 ในการไม่ถูกดำเนินคดีในตุรกี และความพยายามผลักดันให้ตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาในสมัยระบอบฟรังโก้ในสเปน เป็นต้น

6.ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดคณะนิติราษฎร์ จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น เหตุใดจึงไม่เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งอื่นๆ ด้วย คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนปฏิเสธรัฐประหารทุกครั้งที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในเบื้องต้นก่อนนั้น ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังคงดำรงอยู่ และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้

7.ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

คณะนิติราษฎร์ ขอยืนยันว่า แถลงการณ์ของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยึดมั่นหลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นธรรม หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำาลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น