xs
xsm
sm
md
lg

อ.นิติฯ มธ.ชี้ข้อเสนอ “นิติราษฎร์” ช่วยทักษิณ ผลักให้บ้านเมืองขัดแย้งสู่กลียุค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ใช้ร่มเงา ม.ธรรมศาสตร์เพื่อเคลื่อนไหวเสนอความเห็นทางการเมือง
ASTVผู้จัดการ - รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อ.นิติศาสตร์ มธ.โต้กลุ่มนิติราษฎร์อวดรู้ แต่ขาดประสบการณ์บ้านเมือง ชี้ ข้อเสนอให้ย้อนเวลากลับไปก่อนรัฐประหาร 49 จะยิ่งทำให้บ้านเมืองขัดแย้ง ถามแล้ว รบ.ยิ่งลักษณ์ ที่มาจาก รธน.50 ต้องยกเลิกไปด้วยหรือไม่ แนะอย่าพยายามปรับกฎหมายให้เข้ากับคน อัดมีคนเตือนแล้วแต่ไม่ฟังเหมือน “คนที่ทำชั่วโดยที่ไม่รู้ว่าตนกำลังทำชั่ว” ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อบ้านเมือง

วันพฤหัสบดี (29 ต.ค.) ที่ผ่านมา เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีที่กลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในนามคณะนิติราษฎร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันประกอบไปด้วย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายธีระ สุธีวรางกูร, นางสาวสาวตรี สุขศรี, นายปิยะบุตร แสงกนกกุล และ นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี นิติราษฎร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 เสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค ยกเลิกคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ คตส.ชงเรื่อง ไม่ว่า คดีทุจริตที่ดินรัชดาที่ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี รวมถึงคดีความอื่นๆ ของ คตส.

ในเวลาต่อมาข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงกฎหมาย โดยกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้ชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอของนักกฎหมายที่อ้างตัวเองว่าเป็นกลุ่มนิติราษฎร์นั้น เป็นข้อเสนอเพื่อปูทางให้มีการดำเนินการล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันหลบหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศ และไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติเพราะยิ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในวงกว้าง

ในประเด็นดังกล่าว รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาได้ให้ความเห็นไว้ว่า ข้อเสนอของนักวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎร์ไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายใดๆ อีกทั้งระบุว่านักกฎหมายนิติราษฎร์ขาดประสบการณ์ แต่ชอบทำเป็นรู้มากทั้งๆ ที่ไปเรียนต่างประเทศมาแค่ปีสองปี

“ผมจึงบอกว่า ความคิดของนิติราษฎร์น่าจะเป็นความคิดของคนหนึ่งเท่านั้นเองซึ่งอาจรู้มาก แต่ไม่มีประสบการณ์ในการเมืองบ้านตัวเองมากนัก ดังนั้น ถ้าเขาจะเคลื่อนไหวต่อโดยไม่ใช้ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเป็นเรื่องดี ไม่งั้นคนอื่นก็เดือดร้อนเหมือนกัน ผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าเขาไม่มีธรรมศาสตร์สนับสนุน เขาจะอยู่ได้หรือไม่” รศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ รศ.ดร.ทวีเกียรติ ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ และจะยิ่งทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นเข้าสู่กลียุค ทางที่ดีการประสานรอยร้าวต้องมองไปสู่อนาคตไม่ใช่กลับไปพยายามแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีก, จะทำอย่างไรให้สามารถเอาคนที่คอร์รัปชันมาลงโทษให้ได้ หรือ จะทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระ

“การที่บอกว่าจะย้อนแค่รัฐประหาร 2549 ก็ไม่รู้เอาหลักอะไร เลือกย้อนอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะย้อนก็ต้องย้อนให้สุด อันนี้วิจารณญาณจึงไม่แจ่มชัด เอาล่ะแล้วถ้าย้อนไปถึง 2549 แล้วการที่จะเลือกเอาไอ้นี่ไม่เอาไอ้นั่น แล้วใครจะเป็นคนตัดสินว่า เฉพาะคดีนี้เอาด้วย คดีนั้นไม่เอา แล้วปัญหาที่ผมอยากถาม นิติราษฎร์ ตรงๆ ว่า คุณคิดถึง วิธีการที่จะเอาคนทุจริตเข้ามาลงโทษยังไงบ้าง เพราะปัญหาสำคัญที่เกิดการปฏิวัติ ก็คือ การทุจริตคอรัปชั่นที่องค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการกับคนเหล่านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกานักการเมือง ศาลปกครอง ก็ล้วนตั้งจากรัฐธรรมนูญ 2540 และเกิดในยุคคุณทักษิณด้วย ปัญหา คือ ศาลเหล่านี้ใช้ไม่ได้เพราะถูกแทรกแซง ดังนั้น คุณต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คุณจะทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลขณะนั้น แล้วขอถามย้อน ถ้าไม่มีการรัฐประหารตอนนั้น แล้วเราจะเอาคนเหล่านี้เข้ามาลงโทษหรือเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร” นักกฎหมายจาก มธ.ระบุ พร้อมกล่าวต่อว่า

“ว่าไปแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เลว รัฐบาลนี้ก็ต้องยกเลิกไปด้วย สิ่งที่ผมอยากเสนอกลุ่มนิติราษฎร์ ก็คือ คุณอย่าปรับกฎหมายให้เข้ากับคน มันควรจะเอาคนปรับเข้ากับกฎหมาย คือ กฎหมายมีแล้ว คุณก็ใช้กฎหมายที่มีปัจจุบันทำไปและทุกคนก็เป็นไปตามระบบทุกอย่าง รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ 2550 จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ได้คนเหล่านี้มา ก็ไม่เห็นต่างกันเท่าไร แล้วถ้าเราย้อนหลังก็ได้รัฐบาลเหล่านี้แหละ ฉะนั้น ถ้าคุณมองสังคมไทยเป็น คุณก็จะรู้ว่า ตัวกฎหมายที่มันวุ่นวายอย่างนี้ เพราะเวลาคนทำอย่างหนึ่ง คุณก็แก้กฎหมายตามคน พรรคไทยรักไทยตั้งแต่แรกๆ ก็ซื้อสิทธิขายเสียง ถึงขั้นถูกยุบพรรคเป็น 1-2 ครั้ง แทนที่จะเลิกซื้อสิทธิขายเสียง กลับแก้กฎหมายให้ไม่มีการยุบพรรคมันก็เท่ากับเป็นการแก้กฎหมายให้เข้ากับพฤติกรรมคน ไม่ใช่ปรับพฤติกรรมคนให้เข้ากับกฎหมายเพื่อจะได้อยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นข้อเสนอของอาจารย์วรเจตน์เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่นำคนให้เข้ากับกฎหมาย”

ส่วนกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ออกมาแก้ตัวว่าไม่ได้เสนอข้อเสนอดังกล่าวเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือ บางคนตั้งข้อสังเกตได้อาจเสนอขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจให้ไปเข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ รศ.ดร.ทวีเกียรติ ให้ความเห็นว่า จริงๆ มีคนเตือนกลุ่มนิติราษฎร์ถึงประเด็นนี้แล้ว แต่ก็ยังดันทุรังทำต่อ ซึ่งเปรียบได้กับ “คนที่ทำชั่วโดยที่ไม่รู้ว่าตนกำลังทำชั่ว” ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงต่อบ้านเมือง

**********************************

รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ “นิติราษฎร์อย่าปรับ กม.เข้ากับคน”

@คิดอย่างไรกับข้อเสนอของกลุ่มคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้ลบล้างกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 กันยา 2549

ผมมองว่า มันไม่มีอะไรที่น่าสนใจเพราะคำแถลงการณ์ของเขาที่ว่า ประกาศให้รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ใช้ไม่ได้หรือ ประกาศให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือ เรื่องอะไร ถามว่า เขาจะให้ใครประกาศ ผมเคยเห็นสำนวนแบบนี้ สำหรับประกาศของคณะปฏิวัติเท่านั้นเอง ฉะนั้น แถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ จึงไม่ชอบด้วยทางกฎหมายใดๆ ผมบอกได้ว่า นักกฎหมายในธรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจประกาศนิติราษฎร์ เพราะมันก็เหมือนกับว่า ตัวเองก็สนับสนุนเผด็จการนั่นแหละ คือ อยากให้มีประกาศต่างๆขึ้นมา แม้แต่ในข้อสุดท้ายที่เขาบอกว่า คณะนิติราษฎร์เสนอไปเพื่อให้จัดทำในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็ถือว่า ข้อเสนอไม่มีฐานทางกฎหมายเลย เสียดายที่คนลงชื่อเป็นนักกฎหมายมหาชนทั้งนั้น จบบ้าง ไม่จบบ้างก็แล้วแต่

ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า อ.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เหตุผลทางกฎหมายมากกว่า โดยมองว่า จะถอยหลังลบล้างความผิดไปถึงไหน และหลักการก็ควรดูว่า ทำไมถึงมีการปฏิวัติ สำหรับผม การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราถอยหลังดูการปฏิวัติ มันมีการดำเนินการกับคนที่ทุจริตหรือไม่ และถ้าไม่มีการทุจริตตั้งแต่แรก เงื่อนไขการปฏิวัติก็คงไม่เกิด เพราะมันมีการแทรกแซงองค์กรอิสระตลอดเวลา ซึ่งการปฏิวัติก็เป็นการนำตัวคนผิดมาลงโทษ ผมก็ไม่เห็นว่า ทำไมคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ถอยหลังไปแค่ 19 กันยา 2549

ส่วนที่คณะนิติราษฎร์ ยกเรื่องรัฐบาลวิชี่ของฝรั่งเศส หรือ ฮิตเลอร์ ผมว่า มันคนละปัญหากัน และถ้าว่าจริงๆ แล้ว รัฐบาลวิชี่ หรือ ฮิตเลอร์ ก็ได้มาโดยระบบรัฐสภา ผมจึงอยากถามว่า ถ้าคุณเคารพระบบรัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ คุณต้องยอมรับรัฐบาลฮิตเลอร์ และรัฐบาลวิชี่ เพราะเขาได้มาจากระบบรัฐสภา และก็ถูกต้องตามกฎหมายทั้งคู่ แต่ความที่เขาเป็นเผด็จการจึงทำให้ต่างชาติเข้ามาย่ำยีประเทศเขา ฉะนั้นการที่ต่างชาติเข้ามามันก็เหมือนการปฏิวัติอย่างหนึ่งนั่นแหละ ดังนั้น ที่อ้างเรื่องวิชี่หรือฮิตเลอร์ก็ไม่น่าจะตรง และผมก็ประหลาดใจว่า นักเรียนไทยของคณะนิติราษฎร์ไปเรียนต่างประเทศมาแค่ 1-2 ปี แต่กลับไปรู้มาก ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์กับวิชี่ซึ่งเป็นยุคสมัยสงครามโลก ทั้งที่ของไทยเองก็เทียบได้ยุคจอมพล ป.ที่เราเองก็เข้ากับญี่ปุ่น พอเวลาเราแพ้ เราก็ประกาศสงครามให้เป็นโมฆะ อย่างว่า เขาคงยังไม่เกิดหรือเรียนตรงนี้จึงไปยกย่องฝรั่งมากเกินไป

ส่วนอีกประเด็นที่คณะนิติราษฎร์ มองเหมือนกับว่า เป็นผลพวงของต้นไม้ที่มีพิษ ผลไม้ที่เกิดมาจึงมีพิษตาม แต่เราก็ไม่เคยตั้งคำถามว่า แล้วต้นไม้พิษมันเกิดมาจากไหน ในเมื่อแต่เดิมมันไม่ได้มีอะไร แล้วอยู่ต้นไม้พิษก็เกิดขึ้น ซึ่งในทางกลับกัน สังคมที่เรากำลังดีๆ อยู่ก็ไม่รู้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ จะกลายเป็นต้นไม้พิษเองหรือไม่ ที่จะปล่อยผลพวงที่เป็นพิษต่อๆ มา ฉะนั้น ต่อให้คุณร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาจากนี้ก็ถือว่าเป็นผลพวงจากต้นไม้พิษเหมือนกัน

รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดจากต้นไม้มีพิษ ผมถือว่า มันมีฉบับเดียวในประเทศไทย คือ ปี 2517 สมัยนั้นเกิด 14 ตุลา 2516 พอเกิดตอนนั้น ไม่มีรัฐบาล รัฐสภา เสร็จแล้วก็เกิดสภาสนามม้า มีการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนล้วนๆ แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 ถ้าจะถอยหลังไปจริงๆ ฝ่ายนิติราษฎร์ศึกษากฎหมายไทยซักหน่อย ก็จะรู้ว่า ปี 2517 ก็มีรัฐธรรมนูญที่ดี ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นก็น่าเอาฉบับนั้นมาใช้ ผมจึงบอกว่า ความคิดของนิติราษฎร์น่าจะเป็นความคิดของคนหนึ่งเท่านั้นเองซึ่งอาจรู้มาก แต่ไม่มีประสบการณ์ในการเมืองบ้านตัวเองมากนัก ดังนั้น ถ้าเขาจะเคลื่อนไหวต่อโดยไม่ใช้ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเป็นเรื่องดี ไม่งั้นคนอื่นก็เดือดร้อนเหมือนกัน ผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าเขาไม่มีธรรมศาสตร์สนับสนุน เขาจะอยู่ได้หรือไม่

@หลักการลบล้างความผิดของการรัฐประหาร 19 กันยา ควรจะมีหรือไม่ โดยอ้างว่า ทุกอย่างจะได้กลับไปนับหนึ่ง ไม่มีความขัดแย้ง

มันเป็นไปไม่ได้หรอกโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ของที่มันแตกร้าว เราก็ต้องทำหน้าที่ประสานต่อไป ไม่ใช่กลับไปย้อนอีกที เพราะมันย้อนไปไม่ได้ เราควรจะมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรต่อ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น เพราะถ้าถอยไปก่อนปฏิวัติจะเห็นว่า มีความขัดแย้งมาก่อน ฉะนั้น การถอยหลังไป มันไม่ช่วยให้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ มันต้องประสานรอยร้าวไปข้างหน้า ฉะนั้น ข้อเสนอนี้ไม่มีประโยชน์ มันเหมือนกับการใช้กฎหมายย้อนหลัง

@ย้อนหลังในความหมายอาจารย์คืออะไร แค่ไหน
ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาเสนอย้อนหลังเพื่ออะไร อาจจะเป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ซึ่งคนไทยไหนก็ตามก็ไม่เห็นด้วย รวมทั้งผม แต่การย้อนหลังเพื่อรื้อถอนสิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพราะการปฏิวัติก็เกิดจากความขัดแย้ง ถ้าถอยไปจริงความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นอีก สู้เรามองไปข้างหน้าว่า อย่าให้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น

@แล้วถ้าต้องย้อนจริง ควรย้อนถึงเมื่อไร 2475 หรือไม่
การที่บอกว่าจะย้อนแค่รัฐประหาร 2549 ก็ไม่รู้เอาหลักอะไร เลือกย้อนอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะย้อนก็ต้องย้อนให้สุด อันนี้วิจารณญาณจึงไม่แจ่มชัด เอาล่ะแล้วถ้าย้อนไปถึง 2549 แล้วการที่จะเลือกเอาไอ้นี่ไม่เอาไอ้นั่น แล้วใครจะเป็นคนตัดสินว่า เฉพาะคดีนี้เอาด้วย คดีนั้นไม่เอา แล้วปัญหาที่ผมอยากถาม นิติราษฎร์ ตรงๆ ว่า คุณคิดถึง วิธีการที่จะเอาคนทุจริตเข้ามาลงโทษยังไงบ้าง เพราะปัญหาสำคัญที่เกิดการปฏิวัติ ก็คือ การทุจริตคร์อรัปชันที่องค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการกับคนเหล่านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกานักการเมือง ศาลปกครอง ก็ล้วนตั้งจากรัฐธรรมนูญ 2540 และเกิดในยุคคุณทักษิณด้วย ปัญหาคือ ศาลเหล่านี้ใช้ไม่ได้เพราะถูกแทรกแซง ดังนั้น คุณต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คุณจะทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลขณะนั้น แล้วขอถามย้อน ถ้าไม่มีการรัฐประหารตอนนั้น แล้วเราจะเอาคนเหล่านี้เข้ามาลงโทษหรือเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

ถ้าสังเกตดูว่า การรัฐประหารอันที่แล้วคือ เอาคนที่สงสัยว่า คอรัปชั่นตามข้อกล่าวหาทั้งหลายมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แล้วก็อยู่ภายใต้ระบบของผู้พิพากษาอาชีพด้วย นิติราษฎร์ไม่เคยตอบคำถามว่า จะเอาคนที่คอรัปชั่นมาลงโทษได้อย่างไร ขณะที่สำนวนการสอบสวนก็ทำตรงไปตรงมา แล้ววันนี้ก็จะไปรื้อฟื้นอีก ผมก็หาไม่ได้ว่า ต้นไม้ที่มีพิษ มันผิดจากตรงไหนแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น วันนี้ เราต้องช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรเมื่อผลพวงมันออกมาถึงจะทำให้ผลไม้ที่เป็นพิษ กลายเป็นต้นไม้ที่ดีขึ้นมาได้ ไม่ใช่ไปถอยหลังอย่างนี้ เพราะไม่งั้นก็จะถอยหลังไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เหมือนกับว่า คุณพยายามลบประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อลบแล้ว ปัจจุบันก็ไม่มี อนาคตก็ไม่เหลือ

ว่าไปแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เลว รัฐบาลนี้ก็ต้องยกเลิกไปด้วย สิ่งที่ผมอยากเสนอกลุ่มนิติราษฎร์ ก็คือ คุณอย่าปรับกฎหมายให้เข้ากับคน มันควรจะเอาคนปรับเข้ากับกฎหมาย คือ กฎหมายมีแล้ว คุณก็ใช้กฎหมายที่มีปัจจุบันทำไปและทุกคนก็เป็นไปตามระบบทุกอย่าง รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ2550 จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ได้คนเหล่านี้มา ก็ไม่เห็นต่างกันเท่าไร แล้วถ้าเราย้อนหลังก็ได้รัฐบาลเหล่านี้แหละ ฉะนั้น ถ้าคุณมองสังคมไทยเป็น คุณก็จะรู้ว่า ตัวกฎหมายที่มันวุ่นวายอย่างนี้ เพราะเวลาคนทำอย่างหนึ่ง คุณก็แก้กฎหมายตามคน พรรคไทยรักไทยตั้งแต่แรกๆ ก็ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถึงขั้นถูกยุบพรรคเป็น 1-2 ครั้ง แทนที่จะเลิกซื้อสิทธิขายเสียง กลับแก้กฎหมายให้ไม่มีการยุบพรรคมันก็เท่ากับเป็นการแก้กฎหมายให้เข้ากับพฤติกรรมคน ไม่ใช่ปรับพฤติกรรมคนให้เข้ากับกฎหมายเพื่อจะได้อยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นข้อเสนอของอาจารย์วรเจตน์เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่นำคนให้เข้ากับกฎหมาย

@นิติราษฎร์พยายามชี้แจงว่า คุณทักษิณต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบแบบกระบวนการปกติ
ก็นี่ไง พอหลังรัฐประหาร เขาก็ใช้รูปแบบเดียวกับที่มีอยู่เดิมแบบปกติทำได้ แต่มันก็ต้องถามกลับว่า กระบวนการปกติก่อนที่จะมีการรัฐประหารก็ทำไม่ได้ ตำรวจไม่จับ อย่างว่าแต่คุณทักษิณเลย กำนันเป๊าะ ตำรวจก็ยังไม่จับเลย การเรียกตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ไม่มีใครทำ แสดงว่า กระบวนการปกติมันใช้ไม่ได้คุณพูดได้โดยหลักการว่า ให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ แต่ว่าก่อนปฏิวัติ เขาก็มีกระบวนการปกติของเขา แต่เอาตัวเข้าสู่กระบวนการนั้นไม่ได้ เพราะถูกแทรกแซง อย่างคุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรองก็ยังไม่ถูกจับเลยตามกระบวนการปกติ คนที่เผาเมือง นำม็อบบอกให้ทำโน้นทำนี่ ยังไม่ถูกจับเลย นี่คือ กระบวนการปกติ ถามว่า แล้วจะรอให้ขาดอายุความไหม

@ถ้ามองแบบเข้าใจนิติราษฎร์ว่า เขาต้องการสร้างจิตสำนึกไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะถ้ารัฐประหารต่อไปก็ควรโดนลงโทษ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
มองอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ขอเอาคำอาจารย์วรเจตน์มาพูดว่า ให้ดำเนินการไปตามกระบวนการและกฎหมายก็มีไว้แล้วว่า ผู้ใดกบฎล้มล้างก็ทำได้ แต่ถามว่า คุณทำได้ไหม ฉะนั้นคำตอบก็มีอยู่แล้วว่า ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่เขาพูดหรือเสนอมามันก็กลับเข้าสู่ตัวเองหมดว่าทำไม่ได้ เพราะกระบวนการมันไม่ได้เข้มแข็ง มันต้องค่อยๆไปของมันแบบนี้

@การร่างรัฐธรรมนูญในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะมีแนวโน้มว่า น่าจะใส่เรื่องการยกเลิกลบล้างความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับ 19 ก.ย. คดีความพ.ต.ท.ทักษิณ เงินที่ศาลฎีกายึดในคดีทักษิณร่ำรวยผิดปกติ 4.6 หมื่นล้านบาท คดีความคตส.
ผมว่าจะเกิดกลียุค เพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาก่อนนั้น ก็เพราะการโกงของเขาถึงได้เกิดอันนี้ขึ้นมา ถ้ามีการล้างอันนี้ด้วยการถอยหลังมันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกรอบ การถอยหลังมันคือ ความขัดแย้งทั้งสิ้น ตอนนี้มันสงบแล้ว ถ้าเดินหน้าต่อก็เดินบนทางสงบไปตามระบบ แต่ถ้าถอยก็เท่ากับว่า กลุ่มนี้ประสงค์จะเกิดความขัดแย้งใช่ไหม โดยย้อนกลับไปสู่ยุคที่มีความขัดแย้ง และตอนนี้ฝ่ายที่เขาต่อสู้ก็ตีตื้น ได้คืนหมดแล้ว ได้เป็นรัฐบาลกลับมาแล้ว ดังนั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากจะช่วยเหลือคนๆ เดียว ที่ยังไม่ได้ คำตอบก็คือ เพื่อช่วยคุณทักษิณ เพราะคนอื่นเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไร แกนนำเสื้อแดงเขาก็ยอมรับ ไม่ได้ถูกจับ ศาลก็ให้ประกัน ให้สิทธิเต็มที่ ฉะนั้นการต่อสู้ทั้งหมดก็คือ เพื่อแก้ไขให้คนๆเดียว คือ คุณทักษิณ อย่างเรื่องพาสปอร์ตที่ รมว.ต่างประเทศ คิดจะคืนให้คุณทักษิณ ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรมาพูดเพราะถ้าคนไหนถูกศาลสั่งจำคุก เขาก็ยังให้พาสปอร์ตไม่ได้ แล้วจะไปคิดคืนได้อย่างไร มันข้ามช็อตเกิน

เรื่องอภัยโทษก็เหมือนกัน กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าผู้ที่เข้าเงื่อนไข คือ ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง คือ พ่อ แม่ ลูก เมีย ที่ขอได้ แต่เขาไม่ขอ ก็ไม่เข้าเงื่อนไข แต่เขาต้องการให้เอากฎหมายปรับให้เข้ากับเขา นี่คือ เขียนกฎหมายเพื่อให้เข้ากับคนๆ เดียว ทำไมคนอื่นเขาขอกันหมด เลยตัวคุณคนเดียวที่ไม่ขอ ผมก็แปลกใจทำไมคุณไม่ขอ เขาคงคิดว่า ถ้าเขาขอแล้วจะเสียเหลี่ยมทั้งๆ ที่ศาลตัดสินแล้ว

@หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า รัฐบาลพยายามช่วยเหลือคุณทักษิณแก้ผิดเป็นถูกเป็นเช่นนั้นไหม
มันก็เป็นอย่างนั้น....ความจริงคุณทักษิณมีเงินเป็นหมื่นล้าน ถ้าเขาคิดอยากทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ก็ทำได้มากมาย แต่ก็กลับทำประโยชน์ให้กับตัวเองและผมก็เชื่อเลย เวลาไปเจรจาเรื่องน้ำมันในนามรัฐบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่า แกต้องมีบริษัทหรือหุ้นน้ำมัน เหมือนที่เราเห็นในพม่าแล้ว แล้วเรื่องแค่นี้เอง ขออภัยโทษทำไมเขาถึงยื่นไม่ได้ให้คนอื่นยื่นแทน ทีนี้ถ้าเราไปแก้กฎหมายเพื่อคนๆ เดียว นิติราษฎร์ก็เข้าทางจะมาแก้ตัวอย่างไร เพราะทุกคนก็ได้ประโยชน์หมดแล้ว

@ถ้ามองเจตนาของนิติราษฎร์ก็เข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างนั้นหรือ แต่ถ้ามองแง่ดี อาจไม่ได้ตั้งใจ
แต่จังหวะคุณเป็นแบบนี้แล้วมีคนเตือนแล้ว และยังขืนทำต่อ ผมก็ถือว่า นี่ตั้งใจแล้ว ผมอยากบอกหลักอันหนึ่งที่เราเข้าใจผิดกัน ผมถามคุณนะว่า คนที่ทำชั่วโดยรู้ว่าชั่ว กับ คนที่ทำชั่วโดยไม่รู้ว่า สิ่งนั้นชั่ว คนไหนควรจะถูกลงโทษหนักกว่ากัน เรามักจะตอบกันว่า คนแรก แต่ที่จริงต้องเป็นคนที่สอง เพราะคนที่สองมันทำความเสียหายกับบ้านเมืองมากกว่า คนแรกมันยังรู้ดีรู้ชั่ว แต่คนเรามันยังไม่รู้เลย มันก็ทำไปเรื่อย ฉะนั้นไอ้นี่มันต้องร้ายแรงมากกว่า

@การเมืองปีหน้า คิดว่าจะวุ่นวายหรือไม่
คงไม่ แต่มันจะอึมครึม เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมันสอนอะไรเราพอควร อย่างตอนนี้หลายคนรอดูว่า แล้วไงต่อ แล้วผมเชื่อว่า ในฝ่ายแดงก็มีหลายส่วน ถ้าตอบแทนบุญคุณกันไม่ครบมันก็จะเกิดเรื่องได้ และการที่เขาเคยเสี้ยมสอนอะไรเอาไว้ในช่วงที่ผ่านมา มันก็จะกลับมาทิ่มแทงตัวเอง ผมมองว่า เขาอาจจะทะเลาะกันเอง

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สำนักข่าวอิศรา
กำลังโหลดความคิดเห็น