xs
xsm
sm
md
lg

"นิติราษฎร์"โยนบาปสื่อ เจตนาบิดเบือน-ปัดตั้งใจนิรโทษ"แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 25 ก.ย. ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายธีระ สุธีวรางกูร, นางสาวสาวิตรี สุขศรี, นายปิยะบุตร แสงกนกกุล และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ในหัวข้อ "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" โดยระบุว่า ตามที่คณะนิติราษฎร์ ได้จัดทำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี นิติราษฎร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ไปแล้วนั้น ปรากฏว่า ได้มีการนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนจำนวนมาก ในลักษณะที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จนสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประกอบกับมีผู้ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจอย่างเพียงพอ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นสมควรชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1. ในแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์ 5 ปีรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์ มีข้อเสนอรวม 4 ประเด็นได้แก่ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหา หรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่า สื่อมวลชน นักการเมือง และบุคคลทั่วไปกลับมุ่งความสนใจไปในประเด็นแรก เรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นพิเศษ ซึ่งคณะนิติราษฎร์ เห็นว่าสื่อมวลชนบางสำนัก และนักการเมืองจำนวนหนึ่ง เข้าใจข้อเสนอของเราคลาดเคลื่อน ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา
2. คณะนิติราษฎร์ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำาความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำาความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างอีกต่อไปว่า คณะนิติราษฎร์เสนอให้ “ล้างผิด” ให้แก่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาจากกระบวนการที่ริเริ่ม และสัมพันธ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
3. เหตุที่คณะนิติราษฎร์ เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำาแหน่งทางการเมือง ได้นำเอาประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำารงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผลจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
4. คณะนิติราษฎร์ ยืนยันว่า ผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิ และหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ และคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจ การลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ในหลักการคณะนิติราษฎร์ จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป ส่วนที่คณะนิติราษฎร์ เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เฉพาะมาตรา 36 และมาตรา 37 ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร และรับรองการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
5. การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอของเรานั้นสามารถทำได้ในทางกฎหมาย ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ สมัยระบอบวิชี่ ในฝรั่งเศส, การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซี ในสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ ของรัฐบาลเผด็จการทหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 21 เมษายน 1967 ถึง 25 พฤศจิกายน 1973 ในกรีซ, การยกเลิกเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหาร 12 กันยายน 1980 ในการไม่ถูกดำเนินคดีในตุรกี และความพยายามผลักดันให้ตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาในสมัยระบอบฟรังโก้ในสเปน เป็นต้น
6. ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใด คณะนิติราษฎร์ จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น เหตุใดจึงไม่เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งอื่นๆ ด้วย คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนปฏิเสธรัฐประหารทุกครั้งที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เหตุที่คณะนิติราษฎร์ เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในเบื้องต้นก่อนนั้น ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังคงดำรงอยู่ และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
7. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร
คณะนิติราษฎร์ ขอยืนยันว่าแถลงการณ์ของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยึดมั่นหลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง และเป็นธรรม หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะ และการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์ ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลัง

** โวยสื่อบิดเบือนแถลงการณ์

ภายหลังอ่านแถลงการณ์ นายวรเจตน์ กล่าวด้วยว่า ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนว่า ข้อเสนอของเราจะล้างความผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีความพยายามโยงว่านิติราษฎร์ ต้องการ่วยเหลือคนเพียงคนเดียวนั้น เป็นความพยายามในการบิดเบือนแถลงการณ์ของพวกเรา เป็นสิ่งที่น่าละอาย และในแถลงการณ์ฉบับแรก ได้ระบุชัดเจนว่าข้อเสนอของเราไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การอภัยโทษ หรือการล้างมลทิน แต่สื่อบางสำนักกลับออกข่าวว่า เป็นการล้างความผิด เป็นการเสนอข่าวที่ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สังคมเข้าใจผิด
" อาจจะเป็นได้ว่าแถลงการณ์และข้อเสนอ 4 ข้อ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 ยังไม่เคยมีใครมีข้อสนเอแบบนี้ ด้วยเหตุนี้สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งจึงไม่เสนอตามความเป็นจริง เนื่องจากเกรงว่า หากเสนอตามความเป็นจริงแล้ว สังคมอาจจะเห็นคล้อยไปกับพวกเรา" นายวรเจตน์ ระบุ
ส่วนคำถามที่เหตุใดต้องมีการลบล้างคำพิพากษาของศาล เพราะในความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยเหล่านั้นเป็นผลพวงมากจากการรัฐประหาร ศาลได้นำกฎหมายของคณะรัฐประหารมาใช้ ดังนั้นหากไม่ลบล้างส่วนนี้ก็เท่ากับข้อเสนอในการต่อต้านรัฐประหารของเราไม่ถึงที่สุด หลายฝ่ายก็ถามว่าหากมีลบล้างคำพิพากษาของศาล จะถือเป็นการไม่เคารพศาลหรือไม่ หรือทำให้ศาลขุ่นเคืองใจที่ไปลบล้างการคำพิพากษาในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ตรงนี้ตนเชื่อว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พิพากษาคนนั้นเป็นคนอย่างไร หากมีจิตใจฝักใฝ่เผด็จการ รับใช้ระบอบทหาร ระบอบเผด็จการ ก็คงขุ่นเคืองใจ แต่หากมีจิตใจฝักใฝ่ระบอบประชาธิปไตย จะเห็นว่าข้อเสนอของเรา เสนอมาเพื่อช่วยศาล เพราะกระบวนการต่างๆ เริ่มต้นกันใหม่หมด เพื่อให้ความยุติธรรมยุติในธรรมจริงๆ ที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดรัฐประหารบ่อย จึงไปสร้างความเชี่ยวชาญให้กับนักกฎหมายบางคน เขียนนิรโทษกรรมให้คณะปฏิวัติ ล่าสุดเขียนนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเสนอของเราถือเป็นการทำลายกล่องดวงใจคณะรัฐประหาร กลายเป็นว่าเสนอขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคน ๆเดียวให้พ้นผิด การเรียนรู้กฎหมายมีการสั่งสอนจนฝั่งรากลึกกันมาว่าเมื่อปฏิวัติสำเร็จ ก็ถือว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ และนักกฎหมายเหล่านี้ก็ไปได้ดิบได้ดี

**ม. 112 ต้องปรับปรุง เลิกได้ก็ดี

สำหรับประเด็นเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น นายวรเจตน์ กล่าวว่า เราไม่ได้เสนอให้ยกเลิก แต่กฎหมายมาตรานี้ ควรปรับปรุงเพราะในทางกฎหมายมีโทษมาก อย่างไรก็ตามหากมีการยกเลิกได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี

**ไล่"ถาวร"กลับไปเรียนกฎหมายใหม่

ส่วนการเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาวิจารณ์ 4 ข้อ เสนอของคณะนิติราษฎร์ให้มาร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อซักถามข้อสงสัยนั้น นายวรเจตน์ ยืนยืนว่า ได้มีการประสานงานผ่านเลขาฯส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ในมาร่วมรับฟังจริง เพราะเห็นว่าผู้ที่ออกมาวิจารณ์พวกตน โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ และนายถาวร ยังมีความไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกตนแถลงออกไป ยกตัวอย่างกรณีนายถาวรนั้น ตนเห็นว่าออกมาด่าอย่างเดียว โดยไม่อ่านข้อเสนอของเราเลย การที่ตนเชิญบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ท้าตีท้าต่อย หรือชวนดีเบต แต่อยากให้มาสอบถามกันมากกว่า
ดังนั้นการท้าให้ตนไปพูดที่อื่น ก็จะถูกมองว่าเป็นการท้าตีท้าต่อย สอนหนังสืออยู่จะไปท้าตีท้าต่อยอะไรกับใคร พวกตนไม่ใช่นักการเมือง ถ้าพูดกันแบบเด็กๆ ก็ให้ท่านลาออกจากนักการเมือง แล้วไปเรียนหนังสือให้เข้าใจ ให้รู้เรื่องแล้วค่อยมาเถียงกับตน การพูดโดยไม่ดูเนื้อหาแล้วมาเถียงจะเข้าใจได้อย่างไร ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ จึงเดือดร้อนอะไรกับข้อเสนอนี้ ไม่ต้องไปพูดให้คมคายว่าประเทศต้องการนิติรัฐมากกว่านิติราษฎร์ อยากถามว่าเข้าใจหรือไม่ว่านิติรัฐ คืออะไร ส่วนการกล่าวหาว่าพวกตนรับเงินรับทองเป็น 10 ล้าน เขาจะยกลูกสาวให้ และยังพยายามมุ่งโจมตีว่า พวกตนเอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเคลื่อนไหวกันเป็นจังหวะ โดยขอย้ำว่าตนไม่ได้รู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการส่วนตัว มีเพียงการรู้จักผ่านสื่อเหมือนคนทั่วๆไป และไม่มีสิ่งใดเกี่ยวพันพรรคไทยรักไทยก็เช่นกัน สิ่งที่สื่อบางฝ่ายพูดไปนั้นจินตนาการกันไปเอง ยอมรับว่าตั้งแต่รัฐประหาร พวกตนออกแถลงการณ์และประณามการยุบพรรคไทยรักไทย และวิจารณ์คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่เป็นการนำเสนอแง่มุมทางกฎหมาย เพราะตนเป็นคนสอนหนังสือ นำความคิดออกสาธารณะ ตนไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องหาเสียงกับใคร ที่สำคัญข้อเสนอของพวกตนเปิดเผยต่อสาธารณะ ชัดเจนไม่ปิดบังอำพราง หลบๆซ่อนๆ เป็นการเคลื่อนไหวทางความคิด ซึ่งต่อไปพวกเราจะผลักดันกรณีนี้ทางด้านวิชาการ ด้านการศึกษา โดยจะให้มีการทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไรหรือไม่
"สิ่งที่พวกเราออกมาเสนอนั้น ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นประโยชน์กับใคร แต่วิจารณ์ตามหลักการ หากมีการดำเนินการตามหลักความถูกต้องจริงใครที่ควรได้ประโยชน์ก็ต้องได้ ใครที่ควรเสียก็ต้องเสีย ส่วนข้อกล่าวหาว่ารับงานมานั้น วันนี้ชัดเจนว่าพวกผมรับงานแน่ แต่เป็นการรับงานที่ย้อนความคิดกลับไปในยุคปู่ทวด เชื่อมโยงกับคณะราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสามฉบับแรกเกิดในยุคนั้น พวกผมจะทำให้เจริญก้าวหน้าต่อ แต่โดนตัดตอนเมื่อปี 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้นมา ผมพูดในวาจาสัตย์ไปสู้กับอสัตย์ และใช้เหตุผลสู้กับความไม่มีเหตุผล เชื่อว่าจะชนะ" นายวรเจตน์ กล่าว

** หากถูกบีบมากๆจะไปตั้งพรรคสู้

นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า บางคอลัมน์เขียนว่า คีย์แมนบางคนของคณะนิติราษฎร์ใกล้ชิดรัฐบาล จนมีคนมาถามตนมากมาย ซึ่งยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่อรหันต์ ตนระลึกว่าจะทนกับคำเสียดสี และคำวิจารณ์ได้หรือไม่ สื่อบางสำนักเล่มเขียนการ์ตูนตัดต่อเป็นรูปตนโดยไม่ดูข้อเท็จจริง ไม่ทราบว่าอยู่ในที่นี้หรือไม่ อยากให้มาฟังจะได้เข้าใจ ไม่ใช่ไปเขียนให้เสียหายอย่างนี้ หลายคนยังวิจารณ์กันอีกว่า พวกผมจะไปเป็น คอ.นธ. ขอย้ำว่าจนถึง ณ วันนี้ ส่วนตัวยังไม่เคยคิดเล่นการเมือง แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตหากโดนบีบมากๆ ผมอาจจะไปตั้งพรรคก็ได้ แต่ยืนยันว่าวันนี้ผมยังรักและหลงใหลในวิชาการมากกว่า การจะให้ตนไปเป็น คอ.นธ.หรือ ส.ส.ร.นั้น ขอย้ำว่าไม่ได้มองที่ตำแหน่ง แต่มองว่าอยู่ตรงไหนแล้วทำอะไรได้ก็จะทำ สมมติว่าหากตนเป็น ส.ส.ร.แล้วล้มล้างรัฐประหารได้ ทำไมจะไม่ไปเป็น ขอเพียงว่าอย่าพยายามตีปลาหน้าไซ

** ย้ำปฏิวัติต้นเหตุความแตกแยก

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่คณะนิติราษฎร์เสนอออกมานั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ และมันอาจจะเกิดความขัดแย้งในสังคมได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ระบุหรือไม่ นายวรเจตน์ ตอบว่า หากจะมีการรัฐประหารเพื่อเอาผิดรัฐบาลที่สลายการชุมนุม ย้ำว่าคณะนิติราษฎร์ ต่อต้านการรัฐประหารทุกกรณี แต่จะใช้ประชามติออกมาสู้ แม้จะช้าแต่มันยั่งยืน ส่วนคำพูดของ ผบ.ทบ.นั้นคิดว่าเป็นความเป็นห่วงมากกว่า คงไม่ได้มาฮึ่มอะไร ตามที่สื่อเสนอ แต่เห็นพาดหัวข่าวแล้วก็ตกใจว่า ตัวเองตนถูก ผบ.ทบ.ฮึ่ม ก็ขอฝากไปถึง ผบ.ทบ.ด้วยว่า ข้อเสนอของพวกตนยึดในหลักวิชาการ เพื่อลดความแตกแยกในสังคม มองไม่ออกว่าจะแตกแยกได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วทั้งหมดต้องนำไปสู่การทำประชามติ เราทำช้าๆแต่ยั่งยืน แต่การใช้คำสั่งคณะปฏิวัติ หรือเอารถถังออกมาวิ่งบนถนน นั่นทำให้เกิดความแตกแยกมากกว่า วันนี้ปัญหามันฝังรากลึกแก้ยากขนาดไหนต้องย้อนไปดูด้วย
" วันนี้ความคิดนี้ได้ถูกเปิดออกจากกรง โบยบินไปสู่สังคมแล้ว ถึงพวกผมทั้ง 7 คน จะไม่อยู่ หรือเป็นอะไรไป ความคิดนี้ก็ยังฝังอยู่ในสังคม ถึงจะมีการปฏิวัติหรือเอารถถังออกมาวิ่งซักวันหนึ่ง คนรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะนำมาพูดกันต่อ แต่ยังเชื่อว่าจะทำสำเร็จได้ในยุคของเรา การจะลดความแย้งได้ต้องไม่สร้างผีมาหลอกคน การสร้างผีทักษิณ ขึ้นมาทำให้สังคมเกิดความกลัว ก็มีคนได้ประโยชน์จากตรงนี้มากมาย ถึงแม้เราไม่เสนอแต่ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว แต่สังเกตความคิดของ ผบ.ทบ.ก็มีพัฒนาการอยู่ เพราะก่อนหน้านี้บอกว่าประเทศนี้คนจะมีเสรีภาพทางความคิดไม่ได้ แต่วันนี้ท่านก็พูดว่านักวิชาการมีเสรีภาพทางความคิด" นายวรเจตน์ ระบุ

**ยันใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่เคลื่อนไหว

ด้านนายปิยบุตร กล่าวถึงข้อเสนอที่ว่า ทำไมข้อเสนอของพวกเราไม่ถอยไปถึงปี 2475 เพราะเห็นว่าการรัฐประหาร 19 ก.ย. ผลพวงความเลวร้ายยังเกิดเต็มไปหมด ต้องจัดการกับยุคนี้ก่อน ที่สำคัญในปี 2475 เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิตมาเป็นอำนาจอยู่ในมือคณะราษฎร และประชาชน ดังนั้นใครจะทำก็ทำแต่พวกตนไม่ทำ วันนี้ความสำเร็จถือว่าอยู่ในระดับหนึ่ง สังคมได้เริ่มต้นฉุกคิดว่าต่อไปการทำรัฐประหารหรือนักกฎหมายที่เข้าไปรับใช้รัฐประหารจะไม่หมูอย่างที่คิดอีกแล้ว
" อย่ามาตีปลาหน้าไซ กล่าวหาว่าเอามหาวิทยาลัยมาเคลื่อนไหวพวกผมจะแถลงงานด้านวิชาการต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งห้ามใช้สถานที่ เพราะไม่ได้มีทุนที่จะไปเปิดโรงแรมแถลง หรือหากวันหนึ่งพวกผมไปแถลงที่อื่น ก็จะถูกโจมตีอีกว่าไม่ใช่นักวิชาการ"
ขณะที่ น.ส.สาวิตรี ได้กล่าวตอบผู้สื่อข่าวถึงข้อถามที่ว่า สถานกาณณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันทำให้สื่อมวลชนอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำว่า วันนี้สื่อควรถามตัวเองว่า โดนกระทำ หรือกระทำตัวเองกันแน่ เพราะการเสนอข่าววันนี้ อย่างการที่บอกว่า ผบ.ทบ.ฮึ่ม หรือไม่พอใจ ทั้งที่ในเนื้อข่าวไม่มีอะไร ถามว่าสื่อกำลังเสี้ยมกันหรือไม่ พวกตนยืนยันเสรีภาพของสื่อเสมอในการรับรู้ และเสนอข่าวสาร และควรรู้ว่าหากไม่เสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ตรงนั้น จะทำลายเสรีภาพของประชาชน พวกตนไม่ได้โรแมนติกว่า สื่อจะเป็นกลางทางการเมืองเสมอ แต่ควรยอมรับในสิ่งที่เสนอออกมา พวกตนเรียกร้องให้เปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองได้เเล้ว วันนี้อย่ามีการบิด และเฉือนข้อมูลที่พวกตนเสนอไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่กลุ่มคณะนิติราษฎร์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามข้อสงสัย ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงตะโกนออกมาว่า หากจะตั้งคำถาม ให้ระบุต้นสังกัดด้วยว่ามาจากสำนักไหน สื่อมวลชนจึงถามได้เพียง 2-3 คำถาม เนื่องจากผู้เข้าร่วมรับฟังซึ่งส่วนมากเป็นคนเสื้แดงตะโกนด่าทอสื่อ ตลอดการแถลง รวมถึงเนื้อหาการแถลงข่าวของกลุ่มคณะนิติราษฎร์ยังพุ่งเป้าโจมตีไปที่การนำเสนอข่าวของสื่อโดยตลอดอีกด้วย

**'จาตุรนต์'หนุนล้างผลรัฐประหาร

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า เป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับสังคมไทย ที่ต้องทำอย่างรีบด่วน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสำเร็จ แต่ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดี เพราะหลายฝ่ายมีข้อเสนอเข้ามา ตนมีความเห็นและเงื่อนไขสำคัญในเรื่องนี้ คือ การค้นหา และทำความจริงให้ปรากฏ เดินหน้าดำเนินคดีให้เกิดความยุติธรรมกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะผู้เสียหายที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งการปรองดองนั้น ต้องมีกติกาที่เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งทำให้สังคมเชื่อถือกติกา และระบบ แทนที่จะออกไปสู้นอกกติกา คือคนที่มีความเห็นแตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันโดยใช้กติกาแก้ไขความขัดแย้ง
เมื่อถามว่าจะย้อนไปช่วงใดในการค้นหาความจริง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เน้นช่วงหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ว่าใครผิดและถูก เพราะมีการดำเนินคดีจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานและยังหาคนผิดไม่ได้ เมื่อความจริงโยงไปถึงไหน ก็เจาะลงไป เช่น ค้นหาความจริง ตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดง
เมื่อถามว่าจะใช้กลไกใด นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คอป. ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลนี้ ก็มีมติเห็นชอบและมอบให้ครม.บางส่วนไปประสานมติ คอป.ให้เกิดผล ตนคิดว่าควรใช้ คอป.เป็นหลักต่อไป เพราะฝ่ายค้านและรัฐบาลก็มีส่วนร่วมกัน หาก คอป.ต้องการความช่วยเหลือก็ให้เสนอมา เช่น หากส่วนราชการบางแห่งไม่ร่วมมือ รัฐบาลจะไปกำชับให้
เมื่อถามว่า บทเรียนตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาฯ สองครั้ง รวมทั้งพฤษภาทมิฬนั้น การค้นหาข้อเท็จจริงก็ยังไม่ปรากฏ ฉะนั้นการค้นหาความจริงในครั้งนี้ จะทันการณ์หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ประเด็นนี้น่าคิด เพราะพูดกันมามาก สามเหตุการณ์ข้างต้นมีความคล้ายกันคือ มีเกิดเหตุแล้วฝ่ายหนึ่งอยู่ในฐานะเหนือกว่า และคุมสถานการณ์ได้ คือพอรู้ว่าใครชนะ ใครแพ้ และนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเร็ว คือ คนสั่งการปราบประชาชนและผู้ที่ร่วมชุมนุม จนแทบไม่เหลือประเด็นในการตรวจหาความจริง และกว่าจะคิดกันได้เหตุการณ์ผ่านไปหลายปี เมื่อค้นหาได้บ้างก็ปิด และบอกว่าค้นหาไปก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะนิรโทษกรรมไปแล้ว

** หนุนดึงต่างชาติที่ปรึกษาคอป.

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า แต่ครั้งนี้เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วมันไม่จบ เพราะไม่มีใครคุมสถานการณ์ได้ เช่น คมช. ยึดอำนาจ และทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เลือกตั้งก็แพ้ ฝ่ายพรรคพลังประชาชนชนะ และตั้งรัฐบาล 2 ครั้งก็โดนยุบ และครั้งนี้ก็เช่นกัน คือพรรคเพื่อไทยชนะ และตั้งรัฐบาล และมีประเด็นว่าความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นนั้น จะทำอย่างไรต่อไป ตอนนี้ไม่มีใครตั้งประเด็นว่า ควรจะนิรโทษกรรมก่อนหรือไม่ แม้จะมีความผิดกันเยอะ หากทำแบบนี้ต่อไปจะไม่มีบรรทัดฐานคือ คนจะคิดว่าจะทำผิดอีกแล้วก็ได้รับการยกโทษ และพร้อมเริ่มต้นที่จะผิดกันใหม่
" ควรสอบสวนความผิด และถูกก่อน วันนี้ตั้งหลักกันว่าทำความจริงให้ปรากฏก่อนพร้อมกับทำเรื่องอื่นต่อด้วย วันนี้สังคมไม่ได้ตัดสินเด็ดขาดว่าจะทำแบบใด และมันจะเป็นปัญหาค้างคาต่อไป ฉะนั้นวันนี้จะต้องแลกเปลี่ยนความเห็น และนำคนต่างชาติที่มีความรู้มาช่วยแนะนำ เพราะสังคมไทยมีความรู้ในด้านนี้น้อยมาก แต่เป็นจุดที่ดีซึ่ง คอป.นำผู้ที่มีความรู้คือนำชาวต่างชาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา" นายจาตุรนต์ กล่าว
เมื่อถามว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้มีความซับซ้อนสูงมาก และแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอขึ้นมา 4 ข้อนั้น มีความเห็นอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า น่าสนใจเพราะข้อเสนอนี้ปลุกความคิดของคนไทยในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร ข้อเสนอหลายเรื่องใกล้เคียงกับ คอป.บางส่วน และคล้ายกับกรรมการสมานฉันท์ของรัฐสภาชุดที่แล้ว คือ เสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เริ่มตั้งแต่ยกเลิกฉบับปัจจุบัน สิ่งที่แหลมคมคือ ลบล้างผลการรัฐประหารนั้น เพราะกำลังเสนอแนวคิดที่ใช้ๆ กันมา คือการยอมรับการรัฐประหารที่มีการตั้งรัฐบาล และออกกฎหมาย สังคมต้องปฏิบัติตามนี้ ระบบกฎหมายไทยยอมรับว่า คำสั่งคณะรัฐประหาร คือกฎหมายโดยศาลฎีการับรองไว้ในอดีต แต่ศาลปัจจุบันนั้นก็อ้างอิงกัน ความจริง การอ้างแบบนี้มันไม่ถูก เพราะรัฐธรรมนูญที่โดนฉีกไปมันต้องใหญ่กว่าคำพิพากษา แต่สังคมไทยกลับยอมรับกัน คณะนิติราษฎร์ จึงเสนอว่าสังคมไทยควรเลิกคิดแบบนี้ และต้องปฏิเสธการรัฐประหาร หลักคิดว่าประเทศไทย จะยอมรับการรัฐประหารหรือไม่ มันทำให้เกิดการคิดใหม่หมด ข้อเสนอนี้สังคมควรนำมาคิดแบบจริงจังว่าผิดหรือถูก
เมื่อถามว่าแนวคิดดังกล่าวอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่ามันจะพัฒนาการไปในขั้นนั้นอีก เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยังขัดแย้งอยู่ เมื่อมีคนเสนอแนวคิดแก้ไขขึ้นมา ฝ่ายต่อต้านจะออกมาคัดค้าน แต่หากปล่อยไว้เฉยๆ ปัญหาจะเกิดมากขึ้น และรุนแรงกว่าการไม่ทำอะไรเลย ตนคิดว่าสังคมควรตั้งสติ และเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดแบบต่างๆ เพราะมันจะหาทางการแก้ไขเพื่อก้าวไปสู่ในจุดที่ตนกล่าวในข้างต้น

** สังคมไทยรู้เรื่องกฎหมายน้อย

ส่วนกรณีที่รัฐบาลตั้ง คอ.นธ. ขึ้นมานั้น หลักคิดคืออะไร และหวังจะให้ทำอะไรนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คอ.นธ.ไม่มีหน้าที่สั่งใคร แต่จะทำหน้าที่ศึกษา และรวบรวมความเห็นต่อสังคมและรัฐบาล คอ.นธ.จะศึกษาเน้นการใช้กฎหมาย และหลักนิติธรรมกับฝ่ายต่างๆ จุดสำคัญอยู่ที่ว่า จะศึกษาด้านใด หากศึกษาด้านนิติธรรม ตนมองว่าดี เพราะสังคมไทยมีความรู้เรื่องนี้น้อย เพราะไม่ยึดความยุติธรรมเท่าที่ควร จนประเทศเข้าสู่ความวิกฤต เพราะที่ผ่านมามักพูดคำที่คล้ายกันคือ นิติรัฐ คือประเทศปกครองด้วยกฎหมาย และการตั้ง คอ.นธ. มันคล้ายกับรัฐบาลที่แล้วตั้ง คอป. รวมทั้งกรรมการชุด นายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี
เมื่อถามว่า คอ.นธ.จะชี้สิ่งที่เป็นปัญหาและควรปฏิรูปใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทำนองนั้น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ และมีผลในการจัดองค์กรใหม่นั้น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่คือ ความยุติธรรมสมานฉันท์ ช่วงที่มันสะดุดคือ ข้อเสนอให้ฝ่ายตุลาการมาจัดการกับฝ่ายการเมืองในการจัดการโครงสร้างต่างๆ แต่ปรากฏว่ามันอิรุตุงนัง จนเกิดคำว่า สองมาตรฐาน การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จึงเปลี่ยนรูปไป และ ควรนำมาปฏิรูปใหม่คือมอบให้ คอ.นธ. ดำเนินการโดยยึดหลักนิติธรรม คือไปศึกษารัฐธรรมนูญ และเสนอให้รัฐบาล และรัฐสภานำมาผลักดันต่อไป

**"สุรเกียรติ์"ต้องทำงานอย่างอิสระ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงกรณี คณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาซึ่งบางคนมาจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัวอย่างเช่น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.ต่างประเทศว่า ไม่เป็นไร ตนได้พูดคุยกับกรรมการที่มาพบเมื่อวันก่อน เขายืนยันว่า เขาจะทำงานอย่างอิสสระ ตนจึงคิดว่า เขาต้องการแรงสนับสนุนให้ทำงานตรงไปตรงมา ปราศจากการกดดันทางการเมืองหรือทางอื่น

** เย้ย"มาร์ค"ไม่กล้าสู้หน้านิติราษฎร์

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ที่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หลายคนรวมตัวกันในนามกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอแนวคิดให้ล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 รวมทั้งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ไม่มีราคาพอ ซ้ำยังท้าให้เลิกอ้างสถานะนักวิชาการในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ออกมาให้ข่าวเรื่องนี้นั้น อีกทั้งนายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังระบุว่ากลุ่มนักวิชากรดัง มีการรับงานจากใคร หรือไม่ และดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่นั้น พรรคเพื่อไทย ขอปฏิเสธว่า ไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น
"ผมเชื่อในความเป็นนักวิชาการที่เป็นกลาง และต้องการให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริงเท่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการดูถูกการทำงานของนักวิชาการ ซึ่งกลุ่มนักวิชาการทั้ง 7 คน จะมาจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ได้มีการส่งหนังสือเชิญไปยัง นายอภิสิทธิ์ และนายถาวร แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่พรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีความกล้าพอที่จะไปเผชิญหน้ากับกลุ่มนักวิชาการ"นายพร้อมพงศ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น