xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เป้าหมาย“แม้ว”ตั้ง“อุกฤษ” ย้อนกลับ“ตุลาการภิวัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเดินหน้าแต่งตั้งคนในเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบแต่งตั้งนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ตามข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรม

การแต่งตั้งประธาน คอ.นธ.เป็นไปอย่างรวบรัด โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 วินาที แต่เมื่อดูคำแถลงของโฆษกรัฐบาล ก็จะพบว่า คณะกรรมการชุดนี้มีการตั้งสำนักงานรองรับและมีอำนาจหน้าที่ครอบจักรวาลทีเดียว

การแต่งตั้ง คอ.นธ.นั้น ได้อ้างรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 วรรค 2 ที่กำหนดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันการมีกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม การใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สุจริต ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และเพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพและความเสมอภาค ตลอดจนได้รับความยุติธรรม จากระบบกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เลือกปฏิบัติที่เกิดจากอคติต่างๆ ของผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย...จึงสมควรให้มีคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความอิสระและเป็นกลาง เป็นผู้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แนวทางและกำหนดเวลาที่กำหนดในระเบียบนี้ ซึ่งนอกจากนายอุกฤษแล้วจะมีกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 12 คน

คอ.นธ.จะมีอำนาจหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการข้อเสนอแนะ และกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สุจริตภายใต้มาตรฐานเดียวกันตามหลักนิติธรรม

และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้จัดส่งเอกสาร วัตถุ หรือข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน มอบหมายหรือจ้างองค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

นอกจากนี้ ยังให้สำนักงาน คอ.นธ.เป็นหน่วยงานในสังกัดปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งผู้อำนวยการจากข้าราชการกระทรวง รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม งานประชาสัมพันธ์ และงานเลขานุการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน พร้อมกับติดตามสถานการณ์ ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการและประสานงานตามที่ได้รับมอบหมาย สำหรับค่าตอบแทนเป็นไปตามที่ ครม.กำหนด

หลังจาก ครม.มีมติแล้วนายอุกฤษได้แถลงผ่านเว็บไซต์ http://ukrit-mongkolnavin.com ว่า งานสำคัญงานแรกคือการหาบุคคลที่จะมาร่วมเป็นกรรมการไม่เกิน 12 คน โดยจะพิจารณาจากนักวิชาการทางกฎหมาย และนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ คณบดี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกนั้นจะเชิญนักกฎหมายอาวุโสที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง มีตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ มาร่วมเป็นคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ได้ออกตัวไว้ก่อนว่า คอ.นธ.จะไม่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นๆ และภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือการพิจารณาเรื่องที่ดินรัชดาฯ ที่จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ณ เวลานี้ คำถามที่เกิดขึ้นต่อ คอ.นธ.ก็คือจะมีความเป็นอิสระตามชื่อของคณะกรรมการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานคือนายอุกฤษเอง มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะอาจารย์กับลูกศิษย์ และสมัยทักษิณเป็นนายกฯ นายอุกฤษเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรม และเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.ยส.จชต.) ที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เนื่องจาก คอส.มีแนวทางที่ไม่ตรงกับแนวคิดของทักษิณ

ในช่วงการต่อสู้คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านนั้น นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ แห่งสำนักกฎหมายนิติธีรฉัตร ลูกศิษย์นายอุกฤษก็เป็นทนายว่าความให้ทักษิณ ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยก็เป็นศิษย์เอกของนายอุกฤษ สมัยเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่สำคัญเมื่อมองจากบทบาทและแนวคิดของนายอุกฤษในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายทักษิณมาตลอด รวมทั้งมีแนวคิดสนับสนุนการคงอยู่ของการเมืองในรูปแบบเดิม และสวนทางกับกระแส “ตุลาการภิวัตน์”ที่สั่นคลอนระบบทักษิณอย่างรุนแรงเมื่อ 4-5 ปีก่อน

นายอุกฤษเคยวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 โดยอ้างว่าที่มาของตุลาการไม่ชอบธรรมเพราะมาจากการแต่งตั้งของ คมช. และไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่ากรรมการบริหารพรรคกระทำผิดแล้วต้องรับผิดชอบทั้งพรรค

ในช่วงที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2551 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทักษิณ ชินวัตรพ้นจากความผิดและให้พรรคพลังประชาชนไม่ต้องถูกยุบจากกรณีกรรมการบริหารพรรคซื้อเสียงนั้น นายอุกฤษได้ให้สัมภาษณ์ในรายการกรองสถานการณ์ ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2551 สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยนำเอาฉบับปี 2540 มาใช้ และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

“รัฐธรรมนูญ 2550 สร้างขึ้นมาด้วยความรังเกียจนักการเมือง ต้องการกำจัดนักการเมืองที่เขาเล่นการเมืองมาเป็นเวลานาน ทำประโยชน์ให้ประเทศมามาก ซึ่งถึงแม้เขาจะมีข้อเสียบ้าง แต่เราก็ต้องรู้ว่าเขาก็มีความดีช่วยประคับประคองบ้านเมืองมาได้จนถึงวันนี้”ความเห็นของนายอุกฤษ ซึ่งปกป้องการเมืองในระบบเดิมอย่างสุดชีวิต

นายอุกฤษยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนขณะนั้นว่า “บ้านเมืองของเรามีภาคการเมือง ครบทุกส่วนแล้ว ทั้ง ส.ส. ส.ว. องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นครบถ้วนอยู่แล้ว ทำไมคนที่สนใจการเมืองถึงไม่เข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ต่อไปหากการเมืองภาคประชาชนยังคงอยู่ ผมขอเสนอให้มีทหารทั้งของภาครัฐ และทหารภาคประชาชน ตุลาการภาครัฐ และตุลาการภาคของประชาชนไปเลย ซึ่งคงวุ่นวายกันใหญ่”

นายอุกฤษอ้างด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีหลายมาตราที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น มาตรา 309 ที่ระบุว่าองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะปฏิวัตินั้นไม่มีความผิด และวุฒิสมาชิกจาก 2 ส่วน คือประชาชนเป็นคนเลือกจังหวัดละ 1 คน อีกส่วนหนึ่งแต่งตั้งขึ้นมาโดยการแต่งตั้งของใครก็ไม่รู้ ที่มีอำนาจมาจากระบบเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เรียงประวัติความเป็นมาของนายอุกฤษจะพบว่า หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และรองประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คนที่ 1

ต่อมาได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ระหว่างเมษายน 2526 - 2527 เป็นประธานวุฒิสภา ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 - 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่วุฒิสภาไทยมาจากการแต่งตั้ง

หลังการรัฐประหารโดยคณะ รสช.ในปี 2534 นายอุกฤษได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2534 - 21 มีนาคม 2535 หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภา จนลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2535

นั่นย่อมสะท้อนว่า นายอุกฤษได้แอบอิงกับเผด็จการมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดปกป้องการเมืองในระบบเดิมที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉลและทุจริต ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและรักษาอำนาจของตัวเองให้อยู่นานที่สุด อันเป็นแนวคิดที่สวนทางกับตุลาการภิวัตน์ ที่มุ่งใช้หลักกฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อขจัดการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของนักการเมือง

จึงมีคำถามว่า ในฐานะประธาน คอ.นธ.นายอุกฤษจะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระเพื่อสร้างหลักประกันการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมสุจริตภายใต้มาตรฐานเดียวกันตามหลักนิติธรรมได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น