คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนิยายจีนกำลังภายในลงในคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” มาได้ปีกว่าๆ เขียนไปทั้งหมดหกสิบกว่าตอน ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์จัดพิมพ์รวมเล่มมาได้สองเล่ม เล่มแรกคือ “รหัสลับบู๊ลิ้ม” และเล่มสองที่กำลังจะออกวางแผงในไม่ช้าช่วงงานหนังสือต้นเดือนตุลาที่ชื่อว่า “ยุทธจักรสำราญ” เล่มนี้ได้ความเมตตาจากท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” เขียนคำนิยม และกรุณาตั้งชื่อหนังสือให้
“ยุทธจักรสำราญ” มีหัวรองของชื่อหนังสือที่สำนักพิมพ์ตั้งให้ว่า “คู่มือเติมความหรรษาในการอ่านนิยายจีนกำลังภายใน” อันหมายถึงว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวรรณกรรม แต่เป็นการชวนคุยและนำเสนอเพิ่มเติมในการเสริมอรรถรสในการอ่าน พูดง่ายๆ ก็คือ ผมเขียนเล่าให้ฟังในฐานะคนชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายใน ว่าอ่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วรู้สึกสนุกสนานกับมันอย่างไร บางครั้งก็นำเอาปรัชญาที่รู้สึกว่าสามารถนำมาใช้กับชีวิตจริงได้มาเล่าสู่กันฟัง จนถึงบางครั้งก็นำเสนอมุมมองว่า แท้จริงแล้วยุทธจักรในนิยายจีนกำลังภายในนั้น ก็มีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกับชีวิตจริงในสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มาถึงตอนนี้ ผมมาบอกกล่าวกับท่านผู้อ่านว่า คอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” จะขอปิดตัวลงแล้วนะครับ ส่วนจะปิดเป็นการถาวร หรือจะชั่วคราวก็ขึ้นอยู่กับผมมีเรื่องราวที่จะมาเล่าสู่กันฟังหลังจากนี้ต่อเนื่องมากน้อยเพียงไร ไม่อยากสักแต่ว่าเข็นเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาลงโดยที่ไม่ได้ลึกซึ้งมากเพียงพอ พูดง่ายๆ คือ ไม่อยากจะสุกเอาเผากินไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ รอผมตั้งหน้าตั้งตาอ่านสักระยะหนึ่ง อาจจะเปิดคอลัมน์นี้ขึ้นมาอีกครั้งในวันข้างหน้า
ผมขอตบท้ายคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” ด้วยการนำเสนอ “ความชอบส่วนตัว” ที่มีต่อนิยายจีนกำลังภายในที่ได้อ่านมา ในรูปแบบของ “ที่สุดในดวงใจ” อะไรประมาณนั้น ซึ่งทั้งนี้ความชอบของผมจะตรงใจหรือไม่ตรงใจกับผู้อ่านท่านอื่นๆ บ้าง ก็ถือว่าเป็นความชอบส่วนตัวของแต่ละคน
ผมขอเริ่มรายการแบบเวทีประกวดรางวัลหนังออสการ์ก็แล้วกัน ขอเรื่องจากตำแหน่ง “ตัวประกอบธรรมดายอดเยี่ยม” ก็แล้วกัน ตำแหน่งนี้ผมมองว่า ในนิยายจีนกำลังภายใน มีตัวละครธรรมดาๆ อยู่มากมายที่ไม่อาจเรียกได้ว่า ตัวเอก ตัวรอง ตัวร้าย หรือไม่ได้มีความสำคัญมากมายอะไรนักกับเรื่องราวโดยรวม แต่ตัวละครธรรมดาบางตัวละคร ก็อาจสร้างความประทับใจให้กับเราได้เหมือนกัน ตำแหน่งนี้ผมยกให้ “กงซุนบ้อเซ่ง” ที่อยู่ในเรื่อง “มีดบินกรีดฟ้า” เรื่องที่ผู้อ่านหลายท่านกล่าวว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในกลุ่มสนุกน้อยเกือบจะที่สุดของ “โกวเล้ง”
ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวของคนผู้นี้ไปแล้วในตอน “จอมยุทธนอกสายตา” จอมยุทธผู้นี้มีฉายา “บ้อเซ่ง” ที่แปลว่า “ไม่ชนะ” พูดง่ายๆ ว่าเขานั้น ไม่เคยต่อสู้ชนะเลยสักครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าจอมยุทธคนนี้จะมีวรยุทธอ่อนด้อย ในการจัดอันดับตำราอาวุธที่พูดถึงในซีรีส์ “ลี้น้อยมีดบิน” ในสมัยของเขานั้น คนผู้นี้จัดอยู่ในอันดับ 5 จอมยุทธผู้นี้เคยต่อสู้เพียง 4 ครั้ง กับ 4 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ใน 4 อันดับแรกแห่งยอดฝีมือยุคนั้น
“กงซุนบ้อเซ่ง” กล่าวว่า “หากเราไม่พ่ายแพ้ ในโลกนี้จะให้ใครพ่ายแพ้”
“กงซุนผู้ไม่เคยชนะ” กล้าที่จะพ่ายแพ้ และยิ่งกล้าที่จะดำรงอยู่กับความพ่ายแพ้ พ่ายแพ้แต่ไม่ล้มลง นับเป็นคุณค่าที่ควรคารวะด้วยสุราหนึ่งจอก
อันดับต่อมาคือ “ตัวประกอบยอดเยี่ยม” หรือจะเรียกว่าพระรองยอดเยี่ยมก็ว่าได้ สำหรับตำแหน่งนี้ ผมมองไปที่ตัวละครสองคน คนแรกคือ “อาฮุย” ที่แม้ว่า “ลี้คิมฮวง” จะเยี่ยมยอดจนเป็นที่กล่าวขวัญมากแค่ไหน แต่ “อาฮุย” ก็ไม่เป็นรองที่จะได้รับการกล่าวขวัญถึงเคียงคู่กับ “ลี้น้อยมีดบิน” อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผมนั้น ผมมองว่า “อาฮุย” นั้นมีความเป็น “พระเอก” จนเกินไป จึงอาจจะไม่เข้าข่ายในฐานะ “ตัวประกอบยอดเยี่ยม” ตรงประเด็นเท่าไรนัก
“อี้จับซา” เจ้าของสุดยอดกระบวนท่า “สิบสามกระบี่” ที่เป็นคู่ต่อสู้ของ “ซาเซียวเอี้ย” นั้น ถือได้ว่าเข้าข่ายตัวประกอบยอดเยี่ยมมากกว่า จอมยุทธผู้นี้ลงเอยด้วยบัญญัติกระบวนท่า “กระบี่ที่สิบห้า” เป็นผลสำเร็จในการต่อสู้กับ “ซาเซียวเอี้ย” แต่สุดท้ายกลับวกกระบี่กลับเชือดคอตาย เหตุเพราะว่าไม่อยากให้ท่ากระบี่ที่ “โหดร้ายเกินไป” อุบัติขึ้นในโลก ในขณะที่ “ซาเซียวเอี้ย” ที่เป็นยอดกระบี่ได้รับทราบกระบวนท่าดังกล่าว จึงเลิกใช้กระบี่ตั้งแต่การต่อสู้ครั้งนั้น ซึ่งเป็นการ “ปล่อยวาง” ที่เหนือกว่าการ “งมงายในกระบี่” ของ “อี้จับซา”
ในกรณีของ “ตัวประกอบยอดเยี่ยม” นั้น น่าจะมีบุคลิกที่ช่วยเสริมเติมแต่งให้ “พระเอก” ดูเด่นล้ำมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกับก็ไม่อยู่ในฐานะ “ตัวร้าย” และก็ไม่เข้าใกล้ความเป็น “พระเอก” ที่ตีเคียงคู่ไปกับตัวเอกของเรื่องนั้นๆ
ผมยกให้ “อี้จับซา” เป็น “ตัวประกอบยอดเยี่ยม” ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
“ที่สุดในดวงใจ” รายการต่อมาของผมก็คือ “สุดยอดวรยุทธ” สำหรับประเด็นนี้ คงเป็นข้อถกเถียงกันมากมายว่ากระบวนท่าของจอมยุทธคนไหนจะเยี่ยมยอดกว่ากัน หลายคนอาจจะมองถึงไปถึง สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร ดรรชนีหกชีพจร และอีกมากมายในนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” หรือแม้แต่ สามท่าสะท้านฟ้าของตระกูลตั้งที่สะบัดฝ่ามือทีนึงล้มช้างตายไปห้าเชือกใน “ศึกสายเลือด” ของ “เซียงกัวเตี้ย” ไปจนถึง พริบตามีดน้อยก็เสียบคอหอยของ “ลี้คิมฮวง” และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมกลับชอบ “วิชาลมปราณเลิศพิสุทธิ์” ของ “ตั้งเยียกน้ำ” ใน “เส้นทางของจอมยุทธ” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” มากที่สุด วิชานี้เป็นวิทยายุทธในรูปแบบแปลกและน่าสนใจ นั่นก็คือใช้ปราณที่กล้าแข็งโน้มน้าวใจให้คนที่คิดชั่วกลับใจ เป็นยอดยุทธที่ไม่ต่อสู้ด้วยกระบวนท่า แม้ว่าวิชายุทธนี้จะใช้ไม่ได้ผลกับจอมมารสุดชั่วร้าย แต่ก็ถือเป็นวิทยายุทธควรแก่การคารวะยกย่อง
สำหรับ “สุดยอดมารร้ายแห่งบู๊ลิ้ม” นั้น คงไม่ต้องเขียนถึงมากนัก เพราะผมเคยเขียนถึง “สุดยอดวิญญูชนจอมปลอม” ไปแล้ว และยกให้ “สองวิญญูชนจอมปลอม” รับตำแหน่งนี้คู่กัน ในฐานะที่เป็นมารร้ายที่แฝงด้วยคราบวิญญูชน ทำตัวเป็น “คนดีมีคุณธรรม” และในขณะเดียวกันก็วางแผนการร้ายเพื่อที่จะ “ครอบครองยุทธภพ” ไปพร้อมๆ กัน สองวิญญูชนจอมปลอมที่กล่าวถึงนี้ก็คือ “งักปุกคุ้ง” จาก “กระบี่เย้ยยุทธจักร” และ “บักเต้าหยิน” จากเรื่อง “เล็กเซียวหงส์” ตอน “หมู่ตึกภูตพราย”
อย่างไรก็ดี มีตัวละครที่ถูกวางให้เป็น “มาเฟียตัวร้าย” ที่ผมประทับใจอยู่คนหนึ่ง ก็คือ “เล่าแป๊ะ” ใน “ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่” ของ “โกวเล้ง”
ถ้าจะถามว่า “พระเอก” คนไหนในนิยายจีนกำลังภายในที่ผมชอบมากที่สุด จริงๆ แล้วผมชอบอยู่หลายต่อหลายคน ทั้งสไตล์รักชาติยิ่งชีพเช่น “ก๊วยเจ๋ง” ทั้งรูปแบบไร้เดียงสาน่ารักอย่าง “เจี๊ยะพั่วเทียน” ใน “มังกรทลายฟ้า” ทั้งจอมยุทธเสรีชนอย่าง “เหล็งฮู้ชง” ไปจนถึงจอมยุทธโลว์โปรไฟล์นิสัยดีอย่าง “ตั้งคี้ซิม” ใน “ศึกสายเลือด” หรือแม้กระทั่งจอมยุทธไม่กระบิดกระบวนที่ดุดันแบบฟาดฝ่ามือทีผู้ร้ายตับแตกอย่าง “โค่วเอ็งเกี๊ยก” ใน “ยอดบุรุษเหล็ก” ของ “เซียวอิด”
แต่ “พระเอก” ที่ผมรู้สึกว่าลงตัวมากที่สุดได้แก่ “เซียวฮื้อยี้” จอมยุทธผู้นี้สามารถดำรงตนให้มีจิตใจดีทั้งๆ ที่เติบโตขึ้นมาในหมู่คนชั่วร้าย แต่ก็ใช่ว่าจะดีจนเลิศเลอจนบางครั้งถึงขั้นรู้สึกไม่สมจริง ถนัดในการใช้เล่ห์อุบายแต่ก็ไม่ได้มุ่งร้ายหมายชีวิตใคร มีความเป็นเสรีชนระดับพอประมาณ และที่ชอบมากที่สุดก็คือสามารถ “ตัดแค้น” และวิวาทะโต้เถียงกับประเด็น “บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องชำระ” ได้อย่างลึกซึ้งถึงใจ
ส่วน “นางเอกที่ผมประทับใจ” นั้น อาจจะผิดความคาดหมายของใครต่อใคร ในความเห็นของผม “นางเอก” ส่วนใหญ่จะถูกสร้างให้มีบุคลิกโดดเด่นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวย แสนดี ฉลาด ซุกซน เจ้าเล่ห์แสนงอน บอบบาง น่าทะนุถนอม ฯลฯ อาจมีฐานะเป็นลูกสาวเจ้าสำนักเที่ยงธรรม หรือแม้แต่เป็นธิดาของจอมมารร้าย มีความโดดเด่นในกระบวนท่าวิทยายุทธ หรืออาจจะเก่งด้านอื่นเช่นค่ายคูประตูกล ไปจนถึงเชี่ยวชาญด้านหมอรักษาโรค แม้ผมจะชอบ “นางเอก” ประมาณนี้ โดยเฉพาะ “นางเอกของกิมย้ง” เกือบทุกคน อย่างไรก็ดีบรรดานางเอกเหล่านี้ผมว่ามีมากจนเกินไปแล้ว
มีนางเอกของ “โกวเล้ง” อยู่คนหนึ่ง ที่ผมมองว่าเป็นนางเอกที่น่าประทับใจและโดดเด่นไม่ซ้ำใคร นั่นก็คือ “จุ้ยเล้งกวง” ในเรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” เธอเป็นหญิงสาวที่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวกับมารดาผู้จมอยู่กับ “ความแค้น” หญิงสาวผู้นี้จึงกลายเป็น “คนติดอ่าง” เพราะขาดความมั่นใจ เวลาพูดอะไรกับใครจึงออกอาการติดอ่าง พูดจาตะกุกตะกัก แต่เมื่อ “จุ้ยเล้งกวง” ต้องการจะสื่อสารความรู้สึกของตนจากภายในให้ต่อเนื่องเข้าใจกับคนอื่น เธอผู้นี้จึงใช้วิธีการเรียบเรียงคำพูดออกมาเป็น “คำร้องทำนองเพลง” ซึ่งทำให้ “จุ้ยเล้งกวง” นางเอกนิยายจีนกำลังภายในผู้นี้ ถือเป็นนางเอกที่มีบุคลิกมีสเน่ห์ในอีกรูปแบบ
นางเอกอย่าง “จุ้ยเล้งกวง” นี้ ถือว่าสอนเราในเรื่องของการมอบ “ความรัก-ความจริงใจ-ความเอื้ออาทร” ให้กับผู้คน โดยไม่ยึดติดอยู่ในกรอบกติกาหรือกฎเกณฑ์ใดๆ เป็นการมอบให้จาก “ภายใน” โดยการชั่งน้ำหนักผิดชอบชั่วดี โดยปราศจากอคติและข้อกำหนดต่างๆ ทางสังคมจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
สำหรับ “นิยายจีนกำลังภายในที่ผมชอบมากที่สุด” มีหลายเรื่องที่ติดอันดับห้าสุดยอดของผม แต่ถ้าจะให้เลือกเพียงเรื่องเดียวแล้ว ผมตัดสินใจเลือกเอา “กระบี่เย้ยยุทธจักร” เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้ว คงไม่ต้องร่ายยาวซ้ำ สรุปสั้นๆ ก็คือ ผมมองว่า “กระบี่เย้ยยุทธจักร” เป็นเรื่องที่ทั้งสนุกแบบบู๊ลิ้ม และยังมีคุณค่าสอนใจอีกหลายเรื่อง อีกทั้งยังจัดเป็นวรรณกรรมทางการเมืองที่ล้ำค่าในความรู้สึกของผมอีกด้วย และสำหรับนักเขียนนิยายจีนกำลังภายใน ส่วนตัวผมก็ชื่นชอบ “กิมย้ง” มากที่สุดเช่นกัน
แต่ถ้ามองไปที่ “โครงเรื่อง” และการวางพล็อตของเรื่อง ผมชื่นชม “ดาบกระชากเลือด” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” และมอบตำแหน่ง “บทนิยายกำลังภายในยอดเยี่ยม” ให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้
เรื่อง “ดาบกระชากเลือด” นี้ เป็นการวางโครงเรื่องที่ใหญ่ แต่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนตามแนวทางบู๊ลิ้มคลาสิก เดินเรื่องจาก A ไป B แต่ด้วยความเรียบง่ายนั้น การบรรยายระหว่างทางเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้สนุกสนานตื่นเต้น แต่ “ซีเบ๊เหล็ง” ทำได้ดีเหลือเกิน ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความซับซ้อนในโครงย่อย ผ่านตัวละครต่างๆ ที่มีความน่าสนใจหลากรูปแบบ ทั้งยังใส่รูปแบบของการ “วางแผนรบทัพจับศึก” เพิ่มเติมเข้าไปนอกเหนือจากการต่อสู้เชิงวิทยายุทธสไตล์บู๊ลิ้ม ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ “หวงอี้” สร้างเรื่องราวของ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ขึ้นมาในภายหลัง
หลังจากบทความชิ้นนี้ ผมขออนุญาตหยุดพักคอลัมน์เป็นการชั่วคราว ขอพักสักครู่ใหญ่ก่อนจะเปิดวิกอีกครั้ง อาจจะมีเรื่องราวหัวข้ออื่นมานำเสนอ หรืออาจจะกลับคืนสู่บู๊ลิ้มอีกครั้งแล้วแต่
ลาก่อนจนกว่าจะเจอกันใหม่นะครับ