xs
xsm
sm
md
lg

สามสุดยอดของ “เซียงกัวเตี้ย” : สัปประยุทธในเจ็ดก้าว(ศึกสายเลือด) 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

ผมได้ทิ้งค้างรับปากจะเขียนถึงเรื่องนิยายจีนกำลังภายใน “ศึกสายเลือด” (ตามสำนวนอาจารย์ ว. ณ เมืองลุง) หรือชื่อภาษาจีนเดิม(ที่ผมชอบมากกว่า) “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องดังกล่าวได้รับกล่าวขานกันว่าเป็นนิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่ดีที่สุดของ “เซียงกัวเตี้ย” นักเขียนผู้ที่ “กิมย้ง” เคยกล่าวสัพยอกด้วยลีลาอารมณ์ดีว่า “คืออันดับหนึ่งในไต้หวัน และถือเป็นอันดับสองของวงการ” นั่นเป็นมุขขำๆ ของ “กิมย้ง” ที่เหมือนจะแซวนักเขียนรุ่นน้องว่า “คุณยังเทียบไม่เท่าผม” (555)

ในวงสนทนาอันมีผู้ร่วมวิสาสะได้แก่ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ท่านอาจารย์น.นพรัตน์ คุณอาทิตย์ คุณประสิทธิ์ จากซีพีออล และผม ก็ได้ลงความเห็นระหว่างการสนทนาในเรื่องนี้ว่า คงยากที่จะเถียงว่า “กิมย้ง” เป็นเบอร์หนึ่ง แต่หากจะมองถึง “เบอร์สอง” หันไปหันมามองซ้ายขวาไปที่ “เซียงกัวเตี้ย” ที่ถือ “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” อยู่ในมือ วัดกันแค่เล่มต่อเล่มกับ “โกวเล้ง” ก็คงคิดหนักในตำแหน่ง “เบอร์สอง” นี้เช่นกัน แต่หากนับผลงานโดยรวม “เซียงกัวเตี้ย” ก็ตกเป็นรอง เหตุเพราะมีเรื่องที่ดีที่สุดที่ได้รับการยอมรับเพียงเรื่องเดียว

ผมเคยเล่าถึงนามปากกา “เซียงกัวเตี้ย” แล้วครั้งหนึ่ง นามปากกานี้ใช้ร่วมกันโดยสามพี่น้องตระกูลหลิว สามพี่น้องนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “สามที่สุด” แห่งวงการนิยายจีนกำลังภายในไต้หวัน เนื่องจาก “อายุน้อยที่สุด-มีวุฒิการศึกษาสูงที่สุด-เลิกเขียนเร็วที่สุด” ผมได้เคยเขียนถึงเรื่องของพี่น้องสามคนเจ้าของนามปากกา “เซียงกัวเตี้ย” ไปบางส่วนในบทสัมภาษณ์พิเศษ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” และตีพิมพ์เป็นบทพิเศษในหนังสือรวมเล่มนิยายจีนกำลังภายในเล่มแรก “รหัสลับบู๊ลิ้ม” ที่ได้วางตลาดไปแล้ว คุณก่อศักดิ์เองก็ได้ทราบเรื่องราวที่เป็นที่สงสัยกันมานานในแวดวงนิยายจีนกำลังภายในเมืองไทย ที่สับสนกันถึงเรื่องนามปากกา “เซียงกัวเตี้ย” นี้ โดยเฉพาะเรื่อง “ศึกสายเลือด” ที่แปลโดย “ว ณ เมืองลุง” ที่สนุกสนานมาก แต่คนสับสนว่าเป็นเรื่องของ “โกวเล้ง” หรือ “เซียงกัวเตี้ย” กันแน่ สมัยก่อนโน้นเข้าใจกันว่าเป็นผลงานของ “โกวเล้ง” ในการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยยุคแรกๆ ยังใส่ชื่อบนปกว่าแต่งโดย “โกวเล้ง” แต่ต่อมาบางกระแสก็ว่าเขียนกันคนละครึ่ง แต่ช่วงหลังๆ ก็เข้าใจกันถูกต้องแล้วว่าเป็นเรื่องที่ “เซียงกัวเตี้ย” แต่งเองทั้งหมด โดยคุณก่อศักดิ์ ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับพี่รองของสามพี่น้องและได้รับการยืนยันเรื่องนี้จากปากของเขา รวมถึงมีการเล่ารายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้อีกมากมาย

พูดถึงเรื่อง “สามที่สุดของเซียงกัวเตี้ย” เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อครั้งที่ “โกวเล้ง” กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง และขณะเดียวกันก็ว่ากันว่าเขาเป็นหนุ่มเพลย์บอยสุดยอดนักปาร์ตี้ ด้วยเหตุนี้ “โกวเล้ง” แม้จะถือเป็นนักเขียนปากกาทองคำฝังเพชร แต่ก็มีปัญหากับเจ้าของสำนักพิมพ์ที่เขาลงนิยายเป็นตอนๆ อยู่บ่อยครั้ง อยู่มาครั้งหนึ่ง เจ้าของหนังสือเกิดเบรกแตกกับ “โกวเล้ง” ระหว่างที่เขามีปัญหากับการส่งต้นฉบับ “พิฆาตทรชน” เขียนไปได้ถึงตอนที่ 4 และกำลังเขียนตอนที่ 5 อีกนิดหน่อย ทางสำนักพิมพ์เกิดอาการทนไม่ได้กับอาการไม่เสมอต้นเสมอปลาย จนถึงขั้นประกาศหานักเขียนมาเขียนแทน ในตอนนั้นเองก็ได้สามพี่น้องวัยรุ่นที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ครั้งนั้นพวกเขามีอายุเพียง16-17ปีกันเท่านั้น มาเขียนต่อเรื่อง “พิฆาตทรชน” ไปจนจบ 16 ตอน พูดง่ายๆ ว่า เรื่อง “พิฆาตทรชน” นี้ “โกวเล้ง” เขียนไปประมาณหนึ่งในสาม ส่วนที่เหลือเป็นของ “เซียงกัวเตี้ย” ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ทำให้เกิดนักเขียนนิยายกำลังภายใน “อายุน้อยที่สุด” ขึ้นในวงการ

หลังจาก “พิฆาตทรชน” ที่เป็นชิ้นแรก ต่อมาจึงมี “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” หรือแปลเป็นไทยโดย “ว ณ เมืองลุง” ในชื่อ “ศึกสายเลือด” ขึ้นมา และเรื่องนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการ ทั้งสามพี่น้องเขียนนิยายเป็นงานอดิเรก พวกเขายังคงเรียนหนังสือไปควบคู่กัน และสุดท้ายทั้งสามก็เรียนจนจบ “ปริญญาเอก” กันครบสามพี่น้อง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับที่สุดที่สองว่า “วุฒิการศึกษาสูงที่สุด”

พอสามพี่น้องเรียนจบ ต่างคนก็เดินตามทางของตัวเอง และเลิกเขียนนิยายจีนกำลังภายใน ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นงานอดิเรกที่รักที่ชอบพอ รวมเวลาเพียง7ปีเท่านั้น เป็นที่มาของ “เลิกเขียนเร็วที่สุด” อันเป็นสุดท้ายของ “สามที่สุดของเซียงกัวเตี้ย” นั่นเอง

ไหนๆ ก็เขียนถึง “เซียงกัวเตี้ย” แล้วก็ต้องต่อด้วยเรื่องที่ว่า “หลิวเจ้าเสวียน” ที่เป็นคนรองในสามพี่น้อง คนนี้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นถึง “นายกรัฐมนตรี” ของไต้หวัน ในการขึ้นเป็นประธานาธิปดีสมัยแรกของ “หม่าอิงจิ่ว” แต่ต่อมาเขาก็ออกจากตำแหน่งในเวลาไม่นานนัก

ในแวดวงนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวไทย ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง “ศึกสายเลือด” นี้หลายเรื่อง แม้ในภายหลังจะมีการทราบแล้วว่าเรื่องนี้มิใช่เป็นผลงานของ “โกวเล้ง” แต่เป็นผลงานของ “เซียงกัวเตี้ย” แต่ก็ยังมีการลงรายละเอียดที่ไม่ตรงนักถึงการแบ่งงานกันเขียนของสามพี่น้อง มีบางกระแสระบุว่า พี่คนโตแต่งตอนแรก คนรองแต่งท่อนกลาง และช่วงจบเป็นฝีมือน้องสุดท้อง แต่จริงๆ แล้ว “สามพี่น้องเซียงกัวเตี้ย” นั้น สำหรับเรื่อง “ศึกสายเลือด” หรือ “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” นี้ พวกเขาร่วมกันโดยเริ่มจากการคิดโครงเรื่องร่วมกัน จากนั้นพี่ชายคนโตรับหน้าที่เขียน “บทบู๊” น้องคนสุดท้องรับภาระเขียน “บทรัก” ส่วน “หลิวเจ้าเสวียน” คนรองทำหน้าที่ดูแลเกลาภาษาทั้งหมด เพราะเป็นคนที่ภาษาดีที่สุดในสามพี่น้อง

อย่างไรก็ดี การทำงานร่วมกันในเรื่องอื่นๆ มีการแยกกันเขียนแบบไม่ได้คิดโครงร่วมกัน หรือบางเรื่องสามพี่น้องคนใดอยากจะเอานามปากกานี้ไปใช้เดี่ยวๆ ก็สามารถเอาไปใช้ได้ ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างมีเอกภาพเหมือน “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” ดังนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีสุดๆ เพียงเรื่องเดียวของพวกเขา ส่วนเรื่องอื่นนั้นถือว่ายังไม่เข้าขั้นชิ้นโบว์แดงเหมือน “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว”

หมายเหตุท้ายเรื่อง :

นิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” ที่แปลเป็นสำนวนไทย “ศึกสายเลือด” โดย “ว ณ เมืองลุง” เรื่องนี้ ถือว่าแม้จะนักอ่านหลายคนจะอ่านผ่านสายตากันแล้ว แต่ในวงกว้างยังถือว่าไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากนักเมื่อเทียบกับงานของ “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” ทั้งที่ถือว่าเรื่องนี้ไม่เป็นรองเรื่องเด็ดๆ ของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านดังกล่าวเลยทีเดียว ว่ากันว่า คอนิยายจีนกำลังภายในรุ่นก่อนๆ หลายท่านให้รับการยอมรับเรื่องนี้มาก ยกตัวอย่างเช่นคุณก่อศักดิ์อ่านซ้ำเรื่องนี้ถึงกว่า 10 รอบ แต่ยังไม่เท่านักอ่านชาวจีนคนหนึ่งที่อ่านเรื่องนี้ซ้ำถึง 20กว่ารอบ

ผมเองใช้เวลาหนึ่งเดือนอ่านเรื่องนี้ซ้ำสามรอบ จึงสามารถร่วมวงสนทนากับคุณก่อศักดิ์และท่านอาจารย์น.นพรัตน์ได้อย่างไม่ติดขัด และในที่สุดก็มีข่าวดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า อีกไม่ช้านาน จะมีการแปลเรื่องนี้ออกสู่ตลาดอีกครั้งโดยท่านอาจารย์ น.นพรัตน์และทีมงาน โปรดรออย่างระทึกและไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น