คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
เมื่อตอนที่แล้ว ผมเขียนถึงผลงานของ “ซีเบ๊เหล็ง” เรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” ที่เป็นนิยายจีนกำลังภายในอีกเรื่องที่คิดว่าสนุกสนานและเต็มไปด้วยปรัชญาข้อคิด
บอกกล่าวไปบ้างแล้วว่า เหตุไรผมจึงชอบนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ ขอสรุปสั้นๆ ให้ฟังอีกครั้งเป็นหัวข้อ โดยบางหัวข้อได้กล่าวถึงไปแล้ว และบางหัวข้อก็จะขยายความต่อในตอนนี้ รวมตลอดจนจะเขียนถึงตัวละครที่ผมชอบใจในเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” นอกจากสองตัวละครเอกที่พูดถึงไปแล้วคือ “ซิมอู” กับ “ลี้เซี้ย” รวมถึง “เหี่ยนิ้ม” นางเอกของเรื่อง
เรื่องแรกที่ผมชอบ “เส้นทางของจอมยุทธ” ก็ด้วยรูปแบบการเขียนที่วางโครง “หลายชีวิต” เขียนถึงหลากหลายตัวละคร ต่างก็มีที่มา-ที่ไป แต่มุ่งสู่จุดหมายเดียวก็คือ “การสู่ยอดยุทธแห่งบู๊ลิ้ม” ภายใต้เป้าหมายที่ต่างกัน ประสบการณ์เรียนรู้ที่ต่างกัน และด้วยวิธีการที่ต่างกัน รูปแบบโครงสร้างคือการวางตัวละครออกเป็นส่วนๆ ให้มีความเป็นมาเป็นไปในแต่ละส่วน วางให้มี “เป้าหมาย” ร่วมกัน แต่แยก “ทางเดิน” ที่ต่างกัน แล้วเอา “หลายชีวิต” มารวมหลวมผูกพันเข้าด้วยกันเป็นสายใยในหลากรูปแบบ คล้ายเป็นใยแมงมุมร้อยรัดแต่ละชีวิตให้เกาะเกี่ยวและโลดแล่นไปด้วยกันใน “เส้นทางของจอมยุทธ” เรื่องนี้
เรื่องที่สองก็คือ ฉากการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะ และแตกต่างพริ้งพรายกว่าการต่อสู้ประกระบวนยุทธในนิยายจีนกำลังภายในทั่วไป ซึ่งตรงจุดนี้ผมมองว่าเป็น “จุดเด่น” ในสไตล์การเขียนของ “ซีเบ๊เหล็ง” หากจะท้าวความไปก่อนหน้าถึงนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ผมได้ชื่นชมกับลีลาการต่อสู้แบบ “รบทัพจับศึก” ในรูปแบบที่แทนที่จอมยุทธสองฝ่ายจะประฝีมือกันแบบปกติธรรมดา กลับใส่รูปแบบของการวางตัวให้วางแผนการรบทำสงครามเข้าไปด้วย หากแต่ในเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” นี้ “ซีเบ๊เหล็ง” ได้ใช้กลวิธีของ “ต่อสู้ด้วยปัญญา” โดยการประกระบวนยุทธแต่ละครั้ง มีการต่อสู้ด้วยความคิด ไหวพริบ สติปัญญา เข้าไปด้วย เรียกได้ว่า มีการผสมผสานการต่อสู้เชิงวรยุทธกับการชิงไหวชิงพริบด้วยปัญญาระหว่างสองฝ่าย ซึ่งกลวิธีนี้ จะว่าไปแล้ว หากไม่มีฝีมือในการเขียนบรรยาย ผมคิดว่าจะนำพาไปสู่ไม่ซ้ายก็ขวา คือไม่น่าเบื่อไปเลย ก็สุดยอดไปเลย ซึ่ง “ซีเบ๊เหล็ง” เองทำได้ไปในทางหลังค่อนข้างมาก
อย่างตอนที่ “ลี้เซี้ย” ตามล่าสังหาร “ซิมอู” ตามแนวทางของเขา คือหาคู่ต่อสู้ที่เหมาะสม ก่อร่างสร้างความอำมหิตโหดร้ายในใจ เพื่อก้าวสู่ “สุดยอดแห่งดาบ” ในตอนหนึ่ง “ลี้เซี้ย” ไล่ล่า “ซิมอู” ถึงห้องพักในโรงเตี๊ยม ในขณะที่ “ซิมอู” อยู่กับ “แชเนี้ยซือไถ่” ทั้งสองฝ่ายที่ดูเหมือนว่ากำลังจะชักดาบหักหาญผลาญชีวิต พลันมีการเจรจาที่เปรียบเสมือนการรบด้วยสติปัญญายาวนานถึง 12 หน้ากระดาษ แล้ว “ลี้เซี้ย” ก็จากไปโดยไม่มีการต่อสู้เกิดขึ้น
ดังที่ “แชเนี้ยซือไถ่” กล่าวกับ “ซิมอู” ว่า
“ท่านสามารถต่อสู้กับมันหรือไม่”
“ตอนนี้ยังไม่ เพราะเพลงดาบของมันไม่สามารถจู่โจมทำลายได้ แต่ด้านสติปัญญามันไม่แน่ว่าจะสู้ข้าพเจ้าได้”
ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ก็เช่นกัน บางครั้งแม้เรากำลังด้อยกว่า แต่ถ้าเรายึดมั่นรักษาสติในการเรียนรู้ที่จะใช้ “ปัญญา” ให้เป็น ก็มิแน่ว่า ผู้ที่ด้อยด้านพละกำลัง จะต้องตกเป็นผู้แพ้ในการประลองเสมอไป
สำหรับเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” นี้ ในความคิดของผม “การต่อสู้สติปัญญา” ด้วยการเจรจาโต้ตอบกันไปมาที่ควรจะน่าเบื่อ เพราะไม่ชักดาบฟาดฟันกันเสียที กลับสร้างความเร้าใจในการเชือดเฉือนด้วยปัญญาออกมาเป็นคำพูดโต้ตอบ
จะว่าไปแล้ว “สติปัญญาที่แหลมคม” นั้น สามารถปล่อยออกผ่านทางวาจาไม่แพ้คมดาบหรือปลายกระบี่ ถือเป็นการต่อสู้ที่เร้าใจในอีกรูปแบบแง่มุม รูปแบบการต่อสู้เช่นนี้ เราจะพบเจอบ่อยมากใน “เส้นทางของจอมยุทธ” ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่า แทนที่จะรู้สึกเบื่อหน่าย แต่อ่านไปแล้วรู้สึกว่าเป็นการผสมผสานกันได้อย่างดี ในขณะที่การชักดาบแทงกระบี่ฟาดฝ่ามืออะไรต่างๆ ก็มาได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว สอดประสานอย่างแนบเนียนกลมกลืน
เรื่องที่สาม คือเรื่องสอดแทรกแง่มุมทางจิตวิทยา สร้างปมปัญหาของตัวละคร สร้างประสบการณ์ของแต่ละคน และวิถีทางที่แต่ละคนเลือกใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย รวมตลอดจนการสอดแทรกแนวคิดปรัชญาที่สะท้อนการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในรูปแบบที่ไม่ได้ชี้ชัดเชิงสอนสั่นว่าอะไรดีไม่ดี แต่พูดถึง “ทางเลือกที่แตกต่าง” ให้ผู้อ่านคิดตาม และมีข้อคิดเชิงปรัชญาสอดแทรกอย่างแนบเนียนลึกซึ้ง ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ “เส้นทางของจอมยุทธ” เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่เข้าข่ายแอ็คชั่นผสมดราม่า ซึ่งแนวทางนี้ ส่วนตัวผมถือเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่เขียนได้ยาก และ “ซีเบ๊เหล็ง” ก็ทำได้อย่างซาบซึ้งกินใจในดราม่า และเลือดลมสูบฉีดคึกคักในแอ็คชั่น
ย้อนกลับไปที่เรื่องราว “หลายชีวิต” ที่ผมกล่าวไปแล้วในตอนแรก ถึงสองพระเอกหลักของท้องเรื่อง “ซิมอู” และ “ลี้เซี้ย” ตลอดจนนางเอก “เหี่ยนิ้ม” และผมทิ้งค้างว่าจะกล่าวถึงตัวละครอีกหลายตัวละครที่ผมคิดว่าเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจที่มารวมกันแล้วทำให้โครงสร้างในรูปแบบ “หลายชีวิต” ดังที่กล่าวไว้ในประเด็นแรกนั้น ที่ทำให้ “เส้นทางของจอมยุทธ” ก้าวสู่ความเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่แปลก โดดเด่น และน่าสนใจ
ตัวละครตัวที่สี่ที่ผมชอบก็คือ “แชเน้ยซือไถ่” จอมยุทธนางชีโฉมงามผู้ผละหนีการบำเพ็ญเพียรในอารามอันสงบเข้าสู่วังวนความแค้นทางยุทธจักรหลังจากกอกอของนางถูก “ลี้เซี้ย” สังหาร นางจึงเข้าสู่เส้นทางล้างแค้นตามล่าสังหารจอมดาบใจเหี้ยมผู้นี้ “แชเนี้ยซือไถ่” ร่วมทางกับ “ซิมอู” อยู่พักหนึ่ง เธอเป็นอีกหนึ่งจอมยุทธหญิงงามที่เปี่ยมด้วยสติปัญญา
ตัวละครตัวที่ห้า “เจี่ยซิ้ง” จอมยุทธหนุ่มผู้เปี่ยมพลังฝีมือ ฉลาดล้ำเลิศ เด่นด้านชาติตระกูล มากล้นด้วยรสนิยมสูงส่ง และร่ำรวยเงินทองมหาศาล เรียกได้ว่าเข้าข่าย “กงจื้อสูงศักดิ์” อย่างเต็มรูปแบบ ชายหนุ่มผู้นี้เป็นคู่หมั้นหมายของ “โอ้วเง็กจิน” ที่ผมจะเล่าถึงเธอหลังจากนี้
อย่างไรก็ดี “เจี่ยซิ้ง” ถือเป็นจอมยุทธอาภัพ ทั้งด้านความรัก และปัญหาครอบครัว มารดาของ “เจี่ยซิ้ง” อันเป็นตัวละครตัวต่อมาที่ผมให้ความสนใจ “เจี่ยฮูหยิน” เป็นสตรีตระกูลสูงที่เหลวแหลก มักมากในกาม ต่อมานิยมความโหดร้ายทารุณ ฝึกฝีมือแนวทางซาดิสม์ที่ชื่อว่า “ตัวแทนจำแลง” จนสุดท้าย สองแม่ลูกตระกูลเจี่ยต้องพบกับโศกนาฎกรรมในบั้นปลาย
ตัวละครตัวที่เจ็ดต่อมาคือ “ตั้งชุนฮี้” หรือ “ตั้งเยียกน้ำ” ตัวละครรูปแบบ “โฉมงามพิสุทธิ์” ที่ได้รับถ่ายทอดคัมภีร์หนึ่งในสองสุดยอดของตระกูลเจี่ย “คัมภีร์ไผ่พิสุทธิ์” ที่เป็นด้านตรงข้ามกับความชั่วร้ายของ “ตัวแทนจำแลง”
“ตั้งเยียกน้ำ” เป็นหญิงชนบทในหมู่บ้านชาวประมงที่พบกับความโหดร้ายของการที่ผู้แข็งแรงข่มเหงผู้อ่อนแอ เธอจึงมีปณิธานที่จะก้าวสู่ “เส้นทางของจอมยุทธ” ด้วยการฝึกฝีมือเพื่อต่อต้านความชั่วร้ายกล้าแข็งที่ข่มเหงผู้ด้อยกว่า เธอได้รับการชี้นำจาก “โอ้วเง็กจิน” ให้เดินทางสู่ตระกูลเจี่ยเพื่อขอฝึกวิทยายุทธ และในที่สุดก็สำเร็จวิชาลมปราณ “เลิศพิสุทธิ์” ซึ่งเป็นวิทยายุทธในรูปแบบแปลกและน่าสนใจ นั่นก็คือใช้ปราณที่กล้าแข็งโน้มน้าวใจให้คนที่คิดชั่วกลับใจ เป็นยอดยุทธที่ไม่ต่อสู้ด้วยกระบวนท่า แต่ปราณ “เลิศพิสุทธิ์” ของ “ตั้งเยียกน้ำ” ช่างยิ่งใหญ่และเปี่ยมพลัง
ตัวละครตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ “โอ้วเง็กจิน” ตัวละครจอมยุทธหญิงผู้ที่มีบิดาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในยุทธจักร จอมยุทธหญิงผู้นี้อธิบายถึงเส้นทางของตัวเองไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้รับการอบรมตั้งแต่เล็ก ให้ข้าพเจ้าขุดค้นคนผู้หนึ่ง ชักนำเข้าสู่เส้นทางฝีมือ เป็นยอดฝีมือผู้ไร้ต่อต้าน เพื่อผดุงความยุติธรรม รักษาความยุติธรรมไว้ นี่คือปณิธานในชีวิตของบิดาเรา”
ส่วนตัวผมคิดว่า ปณิธานของบิดาเธอนั่นยิ่งใหญ่ แต่การมองภาพช่างแคบสั้นและช่างไร้เดียงสา หากแต่ “โอ้วเง็กจิน” นั้นลึกล้ำกว่า เธอมองข้าม “เจี่ยซิ้ง” อาจจะเพราะด้วยเขาแม้คุณสมบัติครบกระบวน หากแต่อ่อนแอทางอุดมการณ์เกินไป และเธอรู้สึกว่า “ซิมอู” นั้นมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่า
แม้ว่า “โอ้วเง็กจิน” จะเรียกได้ว่าโดดเด่นมากในช่วงแรก แต่ค่อนข้างผ่อนน้อยลงในช่วงหลัง อย่างไรก็ดี มีตอนหนึ่งที่เธอพูดถึง “ชนชั้นผู้นำ” ไว้อย่างสุดยอดลึกซึ้งเหลือเกินในความคิดของผม
เธอกล่าวถึง “ลี้เซี้ย” ว่า
“ด้านพลังฝีมือมัน นับเป็นยอดฝีมือไร้ผู้ต่อต้านแห่งยุค แต่ความประพฤติของมันมีปัญหาอยู่”
“ซิมอู” เถียงว่า
“ท่านผิดแล้ว ในความเห็นของข้าพเจ้า ลี้เซี้ยนับว่าได้ว่าเป็นวิญญูชน”
“มิผิด มันสามารถเป็นวิญญูชน แต่ไม่สามารถก้าวเป็นสุดยอดปรมาจารย์ชั้นผู้นำแห่งบู๊ลิ้มได้ ท่านสมควรทราบไว้ หากคิดเป็นผู้นำ สมควรมีความเที่ยงธรรม เผื่อแผ่ถึงผู้คนจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงสามารถก้าวสู่ความเป็นสุดยอดแห่งบู๊ลิ้มได้”